เมื่อช่วงปลายเดือนที่แล้ว ทาง Sony ได้เปิดตัวสินค้ากลุ่มเครื่องเสียงพกพาประจำปี 2016 ซึ่งแน่นอนว่าก็รวมไปถึง Signature Series ด้วยเช่นกัน
ผมเองได้มีโอกาสไปงานเปิดตัวรอบสื่อด้วย จึงขอเก็บเอาประสบการณ์ทดลองฟังมาฝากครับ
หมายเหตุ ผมได้นำบทความที่เขียนลงบล็อกของผม มาปรับปรุงใหม่ เพื่อให้บทความกระชับมากขึ้นและให้คนที่ไม่ได้เป็นแฟน Sony สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้นครับ
ที่มาของสินค้า Signature Series นั้น คุณ Koji Nageno ซึ่งเป็น Chief Sound Engineer ประจำแผนกเสียงที่ 1 ของ Sony ได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ Sony ประสบความสำเร็จกับ Hi-Res Audio แล้ว ทีมวิศวกรและนักออกแบบของ Sony เองก็อยากที่จะสร้างสินค้าที่เป็นที่สุดดูบ้าง ประจวบเหมาะกับบริษัท Sony เองครบรอบการก่อตั้งมาได้ 70 ปีพอดี จึงได้ออกสินค้ากลุ่มนี้เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าวด้วย
สำหรับสินค้าในกลุ่ม Signature Series จะประกอบไปด้วยเครื่องเล่นเพลง Walkman ตระกูล NW-MW1, แอมป์หูฟังตั้งโต๊ะ TA-ZH1ES และหูฟัง MDR-Z1R ซึ่งรายละเอียดเบื้องต้นนั้น สามารถอ่านได้จากข่าวก่อนหน้าครับ
เพื่อเป็นการแสดงวัสดุชั้นดีและการออกแบบอย่างยอดเยี่ยม ทาง Sony ได้นำชิ้นส่วนของสินค้าในกลุ่ม Signature Series มาจัดแสดงด้วยครับ
เริ่มต้นจาก Walkman NW-MW1Z ซึ่งเป็นรุ่นย่อยที่สูงที่สุดในตระกูล NW-MW1 จุดเด่นอยู่ที่การใช้ตัวถังที่ทำจากทองแดงปลอดออกซิเจนแล้วเคลือบด้วยทอง ซึ่งนอกจากจะดูหรูหราแล้ว ยังช่วยให้เสียงดีขึ้นด้วย
ส่วนในแง่ทางเทคนิคนั้น ทาง Sony ยังคงใช้วงจรขยายเสียงดิจิทัล S-Master HX ซึ่งมีจุดเด่นคือการขยายสัญญาณเสียงในขณะที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลทั้งหมด โดยไม่มีการแปลงสัญญาณให้อยู่ในรูปแบบแอนะล็อกเลย จนกระทั่งสัญญาณออกไปยังหูฟังแล้ว เพื่อให้สัญญาณมีความเพี้ยนน้อยที่สุด
แต่วงจร S-Master HX ที่ใช้ใน NW-MW1 เองก็ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้รองรับสัญญาณเสียง LPCM ที่ความละเอียด 32 bit 384 kHz และสัญญาณเสียง Direct Stream Digital (DSD) ได้โดยตรง เพิ่มกำลังขับให้สูงขึ้น รวมทั้งการรองรับการเชื่อมต่อหูฟังแบบ balanced ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อหูฟังด้วยการแยกกราวด์ของช่องสัญญาณซ้ายและขวาออกจากกัน ทำให้สามารถขจัด cross talk หรือการที่สัญญาณเสียงฝั่งหนึ่งรั่วไปอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้มิติเสียงแบบสเตอริโอลดลง ออกไปได้
แอมป์ TA-ZH1ES เป็นแอมป์หูฟังที่จัดอยู่ในสินค้าตระกูล ES ซึ่งเป็นเครื่องเสียงแยกชิ้นระดับไฮเอนด์ ของทาง Sony ซึ่งไม่ได้จัดจำหน่ายในประเทศไทย ตัวแอมป์นั้นยังคงใช้วงจรขยายดิจิทัล S-Master HX เช่นเดียวกับสินค้า Hi-Res Audio ตัวอื่น ๆ ของ Sony แต่ความพิเศษที่นอกเหนือจากโครงสร้างเครื่องที่มีความแข็งแรงและการพิถีพิถันเลือกใช้ชิ้นส่วนเกรดอย่างดีแล้ว ทาง Sony ได้นำวงจรขยายแอนะล็อกเข้ามาใช้งานร่วมกับ S-Master HX ด้วย
สาเหตุที่นำวงจรขยายแอนะล็อกมาช่วยนั้น เพราะว่าสัญญาณที่ออกจาก S-Master HX ซึ่งเป็นสัญญาณลูกคลื่นนั้น หากแอมพลิจูดมีค่าสูง จะทำให้ลูกคลื่นเกิดความเพี้ยนขึ้นมา ซึ่งวงจรขยายแอนะล็อกจะช่วยขจัดความเพี้ยนดังกล่าวออกไป
นอกจากนี้วงจร S-Master HX ของ TA-ZH1ES เอง ยังใช้ชิป FPGA ในส่วนภาคประมวลผลของวงจร แทนการใช้ชิป S-Master แบบ IC เหมือนในสินค้าตัวอื่นของ Sony เพื่อให้วิศวกรมีอิสระในการออกแบบรูปแบบการประมวลผลสัญญาณเสียงที่เข้ามา รวมทั้งสามารถเพิ่ม DSD Remastering ที่จะทำการแปลงสัญญาณ LPCM ให้อยู่ในรูป DSD ได้อีกด้วย
หูฟัง MDR-Z1R นั้นเป็นหูฟังระดับเรือธงตัวใหม่ของ Sony ที่วางตัวในระดับที่สูงกว่า MDR-Z7 โดยได้นำแนวความคิดในหูฟังรุ่นดังกล่าวมาปรับปรุงให้ดีขึ้นไปอีก ซึ่งชุดตัวขับขนาด 70 มม. เองก็ได้ถูกปรับปรุงให้สามารถตอบสนองความถี่ได้สูงถึง 120 kHz ด้วยการใช้ไดอะแฟรมที่มีส่วนโดมทำจากแมกนีเซียมและส่วนขอบที่ทำจาก LCP เคลือบด้วยอะลูมิเนียม
ทีเด็ดของ MDR-Z1R จะอยู่ที่ตัวคัพซึ่งทำจากกระดาษ Washi แล้วปิดด้วยตะแกรงสเตนเลสอีกที เพื่อลดการสั่นพ้องของเสียงภายในคัพ ทำให้สามารถได้ยินเสียงที่มีความเบาได้
จากโครงสร้างคัพแบบนี้แล้ว หลายคนคงคิดว่า MDR-Z1R จะเป็นหูฟังแบบ open แต่คุณ Shunsuke Shiomi ที่เป็น acoustic engineer ที่รับผิดชอบออกแบบหูฟังตัวนี้ ได้บอกว่า MDR-Z1R เป็นหูฟังแบบปิด เพราะต้องการให้ป้องกันเสียงจากภายนอกเข้ามาในหูฟังเช่นเดียวกับ MDR-Z7 ครับ
เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของคัพที่คุณ Shunsuke ออกแบบ แกได้นำคัพรูปทรงเดียวกันแต่ทำเป็นพลาสติกตัน ๆ มาให้ผมลองครอบหูตัวเองดูเพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งตอนที่ผมเอาคัพพลาสติกครอบหูก็จะได้ยินเสียงคล้ายกับเสียงลม (หากนึกไม่ออก ลองเอามือครอบหูตัวเองดูจะได้ยินคล้าย ๆ กัน) แต่พอเอาคัพของ MDR-Z1R มาครอบ ก็พบว่าเสียงดังกล่าวนั้นไม่มีอยู่เลย
MDR-Z1R นั้นมาพร้อมกล่องใส่หูฟังที่ดูหรูหรา จนทำให้นึกถึงหูฟังระดับตำนานของค่ายอย่าง MDR-R10 ที่ถูกใส่มาในกล่องหุ้มหนังลักษณะเดียวกัน
ส่วนสายหูฟังที่ให้มากับ MDR-Z1R ประกอบด้วยสายหัวปลั๊ก 3.5 มม. พร้อมหัวแปลงเป็นขนาด 6.3 มม. และสายหัวปลั๊ก balanced 4.4 มม. ตามมาตรฐาน JEITA
ส่วนสายอัพเกรดที่ออกแบบกับ KIMBER KABLE นั้น สามารถใช้งานกับสายรุ่นเดิมที่ใช้งานกับ MDR-Z7 ได้เลย นอกจากนี้ทาง Sony เองยังได้ออกสาย KIMBER KABLE แบบหัวปลั๊ก balanced 4.4 มม. เพิ่มเติมอีกด้วย
ผมได้ลองใช้งาน Walkman NW-WM1 ทั้งตัว WM1A ที่เป็นตัวถังอะลูมิเนียมและ WM1Z ที่เป็นตัวถังทองแดง OFC เคลือบทอง ความรู้สึกแรกเลยคือตัวเครื่องหนักและไม่ค่อยเหมาะแก่การพกพาไปฟังเพลงระหว่างเดินทางสักเท่าไร
ส่วนตัว OS ใหม่ที่ Sony ทำเอง ผมคิดว่าน่าจะมีพื้นฐานมาจาก OS ของ Walkman เดิมที่มีพื้นฐานจาก Linux อยู่แล้ว แต่มาปรับเพื่อใช้งานร่วมกับจอสัมผัส ซึ่งหน้าตา UI นั้นทำมาสวยงาม หน้าจอคมชัด การสัมผัสไหลลื่นมาก ส่วนหลักการใช้งานเครื่องก็จะคล้าย ๆ กับ Walkman แบบปุ่มกดมากกว่าแอพ Music บน Walkman ที่เป็น Android
อย่างไรก็ตาม Sony ได้ซ่อนเมนูการตั้งค่าทุกสิ่งอย่างเอาไว้ที่ปุ่ม Settings (รูปกล่องเครื่องมือ มุมขวาล่าง) ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลหน้าจอ ตั้งค่าการเล่นเพลง ตั้งค่าตัวประมวลผลเสียง ดูรายละเอียดเพลง ฯลฯ เหมือนสมัยตอนที่ Walkman ยังต้องใช้ปุ่มกดอยู่ แถมในเมนูเหล่านั้นก็มีเมนูย่อยซ่อนลึกลงไปอีก ซึ่งผมคิดว่าทางทีมออกแบบควรจะใช้ประโยชน์จากจอสัมผัสให้มากกว่านี้ เช่น อาจจะทำไอคอนแยกต่างหากวางไว้บนหน้าจอเหมือนตอนสมัยแอพ Music บน Walkman ที่เป็น Android เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากวันงาน ผมเห็นข้อมูลเกี่ยวกับ UI ที่ Sony Japan ได้อัพเดทไว้ ทำให้ทราบว่าการตั้งค่าเสียงบางส่วนเช่น EQ นั้น สามารถเข้าถึงได้โดยการปัดหนัาจอหลักลง แล้วเลื่อนหน้าจอตั้งค่าไปตามแนวขวางเรื่อย ๆ เพื่อหาการตั้งค่าเสียงที่ต้องการครับ
ส่วนเรื่องของเสียงนั้น ผมได้เอา MDR-EX1000 ที่ผมใช้งานประจำอยู่มาลองเสียบฟังดู โดยตั้งค่า gain เป็นปกติและเปิดเพียง DSEE HX แบบ Normal สำหรับเพลงความละเอียดปกติเท่านั้น
จากการลองฟัง ผมรู้สึกว่าแนวเสียงของ NW-WM1A นั้นออกมาใกล้เคียง Walkman ZX2 คือเสียงโดยรวมจะไม่ออกมาแหลมมากนัก รายละเอียดเสียงต่าง ๆ ก็มีความคมชัดดี ส่วนตัว NW-WM1Z นั้น ผมรู้สึกว่าแนวเสียงของมันไม่เน้นไปในย่านใดย่านหนึ่ง คือเสียงไม่ได้มีเบสและแหลมเหมือน ZX100 และก็ไม่ออกมาหม่น ๆ เหมือน WM1A เสียงมีความโปร่ง ให้ความรู้สึกกว้างไม่อึดอัด และเสียงเครื่องดนตรีและเสียงร้องฟังแล้วรู้สึกหวานฉ่ำกว่า WM1A มาก
ส่วนเสียงของหูฟัง MDR-Z1R นั้น ผมได้มีโอกาสลองฟังผ่านชุด NW-WM1A ต่อด้วยสาย balanced ที่พัฒนาร่วมกับ KIMBER KABLE และชุด NW-WM1Z ต่อกับแอมป์ TA-ZH1ES ด้วยสายตัวเดียวกัน
ตอนที่ผมยกหูฟังขึ้น รู้สึกว่าน้ำหนักมันดูเบา ๆ กว่า MDR-Z7 และเมื่อสวมไปแล้วก็ไม่รู้สึกอึดอัดเลย ทั้ง ๆ ที่ Z1R เป็นหูฟังแบบ closed ส่วนเรื่องเสียงนั้น ผมคิดว่ามิติเสียงของ Z1R นั้นให้ความรู้สึกที่กว้างและไม่อึดอัดกว่า Z7 และมีเสียงแหลมที่ถูกลดปริมาณลง เพื่อให้ฟังได้สบายขึ้น ซึ่งมิติเสียงนี้จะดียิ่งขึ้นไปอีกเมื่อฟังผ่าน TA-HZ1ES ครับ
ราคาของสินค้า Signature Series แต่ละตัวนั้นทาง Sony แจ้งราคาไว้ดังนี้ครับ
สำหรับคนที่สนใจสินค้าดังกล่าว ผมเห็นมีร้านค้าตัวแทนบางเจ้าได้เริ่มเปิดให้สั่งจองกันแล้ว ซึ่งคาดว่าของน่าจะเข้ามาช่วงเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป ใครสนใจก็ลองไปติดต่อสอบถามดูกันได้ครับ
Comments
ก็อยากที่จะสินค้า ?
ในกการ => ในการ
KIMBLE KABLE => KIMBER KABLE / Kimber Kable
หวานช่ำ => หวานฉ่ำ
แก้ไขแล้ว ขอบคุณครับ
My life and hobbies blog!
Technology and Gadget blog!
เครื่องเล่นดี แอมป์ดี หูฟังดี ยังต้องลงทุนกับ source ดีๆ อีกด้วย คุณภาพตามแบงค์ในกระเป๋า
ตามกฎ SISO (shit-in, shit-out) นั่นเอง
หูทองนี่ มีเงินเท่าไรก็ไม่พอ
จริงๆมันก็พอได้อยู่นะครับ
แค่อย่าหาเรื่องไปฟังตัวแพงๆก็พอ
555
+255 เพราะเคยไปฟังหูฟัง 50,000 กว่าๆ หลังจากนั้นใส่หูอะไรก็รู้สึกไม่ดีเลยครับ
เห็นหัวข้อข่าวแล้วคิดว่าคงเป็นสาวกเฮียมั่นเช่นกัน
ราคาเฉพาะสำหรับชาวเครื่องเสียงอย่างเราๆจริงๆครับ
ซื้อแมงกะไซหรือดาวรถมาขับได้เลยทีเดียว
มีตังต์อย่างเดียวซื้อไม่ได้...
ต้องให้เมียอนุญาตด้วย.......;)
ต้องมีหูด้วย
ต้องมีสมองและสติปัญญาด้วย
กันน้ำป่าวครับ บ้านผมฝนรั่วไปจุดๆ ไอ้ที่ไม่รั่วผมก็วางสมาร์ททีวีไปแล้ว วางแท็บเล็ตไปแล้ว ตอนนี้เหลือแต่ที่รั่วๆแล้วครับ :D
เงินเหลือขนาดนี้ซ่อมบ้านก่อนมั๊ยเพ่:P
อยากได้เครื่องเล่นพกพาที่มวลเสียงหนาๆ หน่อย (เสียงหนาๆ อารมณ์คล้ายเสียงของลำโพง Marshal) มีคำแนะนำไหมงับ
Opus#1
ขอบคุณเจ้าหลาย เดี๋ยววันหยุดจิไปลองฟังเด้อ