สถานการณ์การรักษาความมั่นคงในอังกฤษมีความคืบหน้าในวันนี้ คือ ร่างกฎหมาย Investigatory Powers ที่ให้อำนาจเจ้าหนาที่สืบสวนในการเข้าถึงข้อมูลอุปกรณ์ไอทีต่างๆ ผ่านสภาในอังกฤษทั้งสองสภาแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายเหลือเพียงพระราชินีลงนามยอมรับเท่านั้น
กฎหมายตัวนี้มีการถกเถียงกันมานานเป็นปี เพราะฝั่งปกป้องสิทธิมนุษยชนเห็นว่ากฎหมายนี้ละเมิดความเป็นส่วนตัว เนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมและมีอำนาจจัดการในเรื่องต่างๆ ดังนี้
ให้อำนาจในการแฮ็กเข้าคอมพิวเตอร์ เครือข่าย อุปกรณ์เคลื่อนที่ เซิร์ฟเวอร์ รวมถึงการดาวน์โหลดข้อมูลในมือถือที่โดนขโมยหรือที่ถูกทิ้งไว้ และระบบซอฟต์แวร์ติดตามการพิมพ์ข้อความจากแป้นคีย์บอร์ด อำนาจดังกล่าวนี้จะมอบให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยสืบราชการลับ การใช้อำนาจต้องเป็นไปตามเหตุผลที่เห็นสมควร และต้องได้รับหมายอาญา (warrant) ด้วยเท่านั้น
ในบทที่ 3 ให้อำนาจการแฮ็กอุปกรณ์จำนวนมาก เจ้าหน้าที่สามารถรวบรวมข้อมูลจาก "อุปกรณ์หลายชิ้นในพื้นที่ที่กำหนด" ซึ่งรวมถึงพื้นที่ต่างประเทศด้วย หากเจ้าหน้าที่สงสัยว่าพื้นที่แถบนั้นมีโอกาสเกิดการก่อการร้าย นั่นแปลว่าเจ้าหน้าที่สามารถดึงข้อมูลจากคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้ต้องสงสัยได้ด้วย
อำนาจนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีก่อน
การใช้อำนาจในระดับนี้ จำเป็นต้องมีตำแหน่งบริหารใหม่ เพื่อเป็นคนเซ็นอนุญาต กฎหมายฉบับนี้จึงตั้ง "กรรมการผู้มีอำนาจสืบสวน" (Investigatory Powers Commissioner) และคณะกรรมการพิจารณาคดี ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี
เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน เช่น ประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ต (ชื่ออย่างเป็นทางการคือ Internet Connection Records) ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องเก็บรักษาข้อมูลนี้ไว้นาน 12 เดือน
เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก (bulk personal dataset) ไม่เฉพาะข้อมูลที่เข้าข่ายน่าสงสัย แต่เป็นข้อมูลทุกสิ่งทุกอย่างของบุคคล และอาจรวมถึงข้อมูลที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนเลยก็ได้
ที่มา - Wired
Comments
เจ้าหน้าเข้าถึง -> เจ้าหน้าที่เข้าถึง
เจ้าหนาที่ => เจ้าหน้าที่
เหมือน NSA ของเมกาสินะ
มันเป็นเรื่องของการได้มาซึ่งหลักฐานโดยมิชอบทางกฎหมายครับ ศาลสหรัฐไม่รับฟังหลักฐานก็ด้วยเหตุผลนี้อยู่แล้วครับ ส่วนอังกฤษและยุโรปจะรับฟังแตกต่างกันออกไป (แนะนำให้ทนายมาอธิบายดีกว่า)