สัปดาห์ที่ผ่านมา Blognone มีโอกาสได้เข้าร่วมงาน AWS Summit 2017 งานประชุมประจำปีในภูมิภาค ซึ่งจัดในกรุงเทพเป็นครั้งแรก มีทั้งช่วงคีย์โน้ตโดย Adrian Cockcroft รองประธานฝ่ายกลยุทธ์สถาปัตยกรรมคลาวด์และช่วงสัมภาษณ์ Nick Walton ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของ AWS
ตลาดคลาวด์ของ AWS ในระดับโลกเติบโตเร็วมาก โดยเฉลี่ยมี MAUs เดือนละหลายล้านรายและเฉพาะไตรมาสแรก อัตราการเติบโตจากปีที่แล้วเพิ่มขึ้นถึง 43% ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาผู้ให้บริการคลาวด์ ขณะที่ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยอัตราการเติบโตในไตรมาสแรกอยู่ที่ 13%
ขณะที่ AWS Marketplace เองก็เติบโตตามไปด้วย ปัจจุบันมีลูกค้าที่แอคทีฟอยู่มากกว่า 135,000 ราย มีซอฟต์แวร์มากกว่า 3,800 ตัวและผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อิสระ (ISVs) อีกกว่า 1,200 ราย
ด้วยอัตราการใช้งานของ AWS ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ AWS Certified Solution Architect - Associate ใบรับรองของ AWS ได้รับการจัดอันดับจาก Global Knowledge ว่าช่วยทำให้เงินเดือนสูงขึ้นเป็นอันดับ 3
ลูกค้าของ AWS ไม่ได้มีแต่สตาร์ทอัพหรือองค์กรภาคเอกชนเท่านั้น ภาครัฐก็เป็นลูกค้าด้วย หนึ่งในองค์กรภาครัฐที่เป็นลูกค้าสำคัญคือ NASA โดยกระบวนการติดตามการลงจอดของยานบนดาวอังคารก็ผ่าน AWS
จุดเด่นของบริการ AWS คือบริการต่างๆ ที่มีความหลากหลายและครอบคลุม ช่วยให้การทำงานผ่านคลาวด์ในองค์กรราบรื่นมากขึ้น โดยทาง AWS เองก็มีการออกฟีเจอร์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นในแต่ละปีในอัตราก้าวหน้า อย่างในปี 2015 AWS ออกฟีเจอร์ใหม่ 722 ฟีเจอร์ ขณะที่ปีที่แล้วออก 1,017 ฟีเจอร์
คุณ Nick บอกว่าเรื่องฟีเจอร์เป็นจุดเด่นที่สุดของ AWS โดยในระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา คู่แข่งพยายามเลียนแบบฟีเจอร์เหล่านี้มาโดยตลอด ซึ่งการออกฟีเจอร์ใหม่ ทาง AWS จะฟังเสียงลูกค้าเป็นหลักว่าต้องการความสามารถไหน เช่นเดียวกับการเพิ่มฟีเจอร์ในดาต้าเซ็นเตอร์ที่สิงคโปร์ ที่คุณ Nick บอกว่าจะได้ฟีเจอร์ใหม่เทียบเท่ากับในสหรัฐและจะช้าจะเร็วแค่ไหน จะฟังเสียงความต้องการจากลูกค้าเป็นหลักแต่ก็จะพยายามเพิ่มฟีเจอร์ให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ (คุณ Nick ใช้คำว่า mandate เลยทีเดียว)
ใช่ว่าองค์กรใหม่ๆ เท่านั้นที่จะเลือกใช้งานบริการคลาวด์ แต่องค์กรแบบเก่า (Traditional Organization) ก็เริ่มปรับตัวมาสู่เทคโนโลยีคลาวด์กันมากขึ้นด้วย ตัวอย่างองค์กรแบบเก่าในบ้านเราคือ King Power โดยปัญหาหลักๆ ขององค์กรแบบเก่าเหล่านี้ในการใช้งานคลาวด์ คือวัฒนธรรมและรูปแบบการทำงานที่แตกต่างจากองค์กรใหม่ๆ
พันธมิตรเป็นกลยุทธ์สำคัญของ AWS ในการเข้าถึงและให้บริการต่างๆ แก่ลูกค้า อย่างการช่วยเหลือด้านการ migrate ไปคลาวด์ ไปจนถึงการฟังเสียงตอบรับ พันธมิตรหลักๆ ของ AWS ในไทยคือ True IDC และ Hitachi Consulting
ถึงแม้บริการด้าน Machine Learning บน AWS จะค่อนข้างหลากหลาย แต่ก็ยังตามหลัง Google อยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งตรงนี้คุณ Nick ยอมรับว่าการแข่งขันด้าน Machine Learning บนคลาวด์นั้นค่อนข้างสูง ซึ่งบริษัทเองก็พยายามลงงบประมาณและทรัพยากรด้านนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้มากยิ่งขึ้น
Comments
AWS ในไทยมีบริษัททรูเป็น partner น่าจะรุกตลอดไทยได้เยอะอยู่
แต่ส่วนตัวผมก็ยังใช้ Google cloud ต่อไปครับ ^^
ไตรมาศ => ไตรมาส
กลยุทธ => กลยุทธ์
พาร์?เนอร์ => พาร์ทเนอร์
ตามหลัก => ตามหลัง
ทรัพยากรณ์ => ทรัพยากร