วานนี้ที่การประชุม Huawei Connect 2017 อันเป็นการประชุมประจำปีฝั่งองค์กร (enterprise) ของ Huawei ระดับนานาชาติ จัดขึ้นที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอยู่หลายประการ แต่สำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นปาฐกถา (keynote) ช่วงเช้าที่มี Guo Ping รองประธานและซีอีโอหมุนเวียนของ Huawei ขึ้นมาเป็นผู้กล่าวนำครับ
หมายเหตุ ผมเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยคำเชิญของทาง Huawei ครับ
Guo Ping, Rotating CEO, Huawei (ภาพทางการ)
ต้องเข้าใจก่อนว่า Huawei มีหลายหน่วยธุรกิจ (Business Unit: BU) แต่หน่วยสำคัญจะประกอบไปด้วย ฝั่งผู้บริโภค (consumer), ผู้ให้บริการ (carrier) และธุรกิจองค์กร (Enterprise Business) ส่วนฝั่งธุรกิจล่าสุดที่ถูกขยับขึ้นมาเป็นหนึ่งในส่วนธุรกิจที่สำคัญคือคลาวด์ (Cloud) โดยเริ่มเปิดให้บริการคลาวด์ในฐานะ IaaS (Infrastructure as a Service) มาตั้งแต่ปี 2015 แต่เริ่มให้ความสนใจจริงจังในช่วงปีที่ผ่านมา
Guo ระบุตั้งแต่เริ่มขึ้นเวทีว่า เป้าหมายของ Huawei คือการเป็น 1 ใน 5 ผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) รายสำคัญของโลก โดยชี้ให้เห็นว่า ในรอบ 2 ทศวรรษนับจากนี้ ความต้องการในการประมวลผลทางคอมพิวเตอร์จะมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝั่งของ AI และ Analytics และด้วยศักยภาพของบริษัทที่ใช้ทั้งการออกแบบชิปเอง รวมไปถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่บริษัทลงทุนทำเอง (รวมถึงเครื่อง server) ก็ทำให้บริษัทมีจุดที่ได้เปรียบอยู่ในเชิงอุปกรณ์
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ในการไปถึงจุดนั้นของ Huawei ไม่ใช่แค่เรื่องของการสร้างโซลูชั่นครบวงจรหรือการใช้อุปกรณ์ตัวเองให้เป็นประโยชน์ แต่เป็นการสร้างพันธมิตรในกลุ่มของผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะ แบบเดียวกับพันธมิตรสายการบิน คือการเน้นความสำคัญที่ข้อมูลมากกว่า โดยให้เหตุผลว่า แต่ละผู้ให้บริการคลาวด์ในแต่ละประเทศ ย่อมต้องเจอกับข้อจำกัดของตัวเองในแต่ละประเทศ (data sovereign) ดังนั้นความสำคัญจึงลงไปอยู่ที่ระดับของข้อมูลและการย้ายระหว่างพันธมิตร เพื่อทำให้งานของลูกค้าย้ายขึ้นเวลาต้องการไปเปิดตลาดใหม่ๆ (ตัวอย่างคลาวด์ที่ถูกยกมา เป็นคลาวด์ที่มาจากฝรั่งผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งหมด เช่น Orange) และใช้มาตรฐานอย่าง Openstack เพื่อจะทำให้คลาวด์สามารถทำงานร่วมกันได้
นอกจากประเด็นสำคัญนี้แล้ว Guo ระบุเพิ่มว่าบริษัทจะไม่หากำไรหรือเงินจากข้อมูลของลูกค้า เพราะต้องการปกป้องผลประโยชน์ของลูกค้าที่ใช้บริการของบริษัทอย่างเต็มที่
การสร้างคลาวด์ของ Huawei ไม่ใช่แค่การสร้างแพลตฟอร์ม IaaS อย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการรวมเอาเทคโนโลยีของบริษัทที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อ สายเคเบิลใยแก้วนำแสง ระบบความปลอดภัยต่างๆ มาใช้งานร่วมกัน และมีการตกลงร่วมกับคู่ค้า (Partners) ไปหลายรายแล้ว ทั้งบริษัทอย่าง Microsoft, IBM, NEC ไปจนถึงบริษัทในท้องถิ่นด้วย
ในส่วนของบริษัทเองก็ใช้งานทั้งคลาวด์ของตัวเอง และคลาวด์ของผู้ให้บริการรายอื่นๆ ไปด้วยเช่นกัน
หลังจากนั้นก็ถึงเวลารายละเอียดของ Huawei Cloud แถลงโดย Zheng Yelai หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคลาวด์และอุปกรณ์ไอที โดยชูความสำเร็จในฐานะคลาวด์ที่ประสบความสำเร็จมากในจีน การเป็นสมาชิกระดับแพลตินัมของ Openstack และการเติบโตของ Huawei Cloud ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยยกกรณีตัวอย่างเช่น Volkswagen และ T-Mobile ในการสร้างระบบบน Huawei Cloud เพื่อใช้งานสำหรับธุรกิจของตนเองในประเทศจีน และ CERN ที่ใช้ Huawei Cloud ในฐานะส่วนหนึ่งของการสร้างระบบสำรองข้อมูลและประมวลผลข้อมูลจาก LHC เพราะ CERN เองมีข้อจำกัดในเรื่องการลงทุน การใช้ Cloud จึงเป็นทางออก โดย CERN เลือกใช้งาน Open Telekom Cloud เป็นหลัก รวมถึงการร่วมกับ Huawei ในการร่วมกันพัฒนา OpenStack ด้วย
ของสำคัญวันนี้คงหนีไม่พ้น การเปิดตัวบริการ Enterprise Intelligence (EI) ซึ่งเป็นบริการ AI ที่ตอบโจทย์ขององค์กรขนาดใหญ่ มีทั้งเทคโนโลยี OCR และเทคโนโลยีการตรวจจับใบหน้า รูปภาพ และอื่นๆ อีกมากมาย เริ่มให้บริการไปบ้างแล้ว โดยมีทั้งกรณีการจัดการจราจรของเมืองเสิ่นเจิ้น หรือการใช้งานธุรกิจประกันภัย
นอกจากนี้แล้ว ยังเปิดบริการที่เรียกว่า Two-way migration เพื่อให้ลูกค้าย้ายข้อมูลไปมาระหว่างคลาวด์และซอฟต์แวร์ของผู้ให้บริการรายอื่นได้โดยง่าย (เช่น Azure, VMware) และแถลงเรื่องของความปลอดภัยตั้งแต่ระดับโครงสร้าง โดยบอกว่าบริษัทได้รับความไว้วางใจจากบริษัทกว่า 95% ใน 1,000 บริษัทแรกของจีน และ 197 บริษัทในรายชื่อ Fortune 500
ในช่วงถามตอบ สิ่งหนึ่งที่ Guo เองบอกว่ายังไม่ค่อยพอใจกับ Huawei Cloud นักคือประสบการณ์ในการใช้งานและส่วนติดต่อผู้ใช้ที่ควรอัพเดตให้ทันสมัยมากกว่านี้ โดยระบุว่าบริษัทจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้คลาวด์ของตัวเองขึ้นสู่ 1 ใน 5 ของระดับโลกครับ