บริษัทยิบอินซอย (Yip In Tsoi) อาจไม่มีชื่อในวงกว้างมากนัก แต่ในแวดวงไอทีก็เป็นที่รู้จักในฐานะบริษัทด้าน SI (Systems Integrator) รายใหญ่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน อยู่เบื้องหลังโครงการไอทีขนาดใหญ่ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
แต่ในยุคที่ทุกวงการถูก disrupt จากกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี บริษัทไอทีอย่างยิบอินซอยก็หนีไม่พ้นความจริงข้อนี้ Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารของบริษัทสองท่านคือ คุณมรกต ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และ คุณสุภัค ลายเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ว่าบริษัท SI จะมีแนวทางการปรับตัวรับมืออย่างไร
"ยิบอินซอย" เป็นบริษัทที่มีความเป็นมายาวนาน ชื่อบริษัทมาจากผู้ก่อตั้งคือ "นายยิบ อินซอย" ชาวจีนที่อพยพมายังประเทศไทย ในอดีตบริษัททำกิจการด้านเหมืองแร่ แต่ภายหลังก็ขยายธุรกิจออกมาหลายสาขา ปัจจุบันมีธุรกิจหลัก 3 ด้านคือ การเกษตร-ปุ๋ย, สีทาบ้านยี่ห้อ Sissons และธุรกิจด้านโซลูชั่นไอที
ยิบอินซอยอยู่ในธุรกิจไอทีมานาน 30-40 ปี ปัจจุบันเรียกตัวเองว่าเป็น total solution provider คือให้บริการด้านไอทีได้ครบวงจร ทำได้ตั้งแต่ให้คำปรึกษา (consult) พัฒนาระบบ และรับเอาท์ซอร์สงานด้านไอทีจากลูกค้า
ยิบอินซอยยังมีธุรกิจด้านไอทีผ่านบริษัทลูกหลายบริษัทในเครือ เช่น TCCL, Tangerine
ผู้บริหารของยิบอินซอย ให้ข้อมูลว่าในรอบปีที่ผ่านมา ธุรกิจไทยเร่งทำ digital transformation กันมากขึ้น ในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารเห็นได้ชัดมาก ธนาคารกำลังแข่งกันปรับตัวในเชิงธุรกิจ ไอทีกลายเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ เพราะคนสามารถทำธุรกรรมโดยไม่ต้องไปสาขาอีกแล้ว ความสัมพันธ์ของลูกค้ากับผู้จัดการธนาคารสูญหายไป โอกาสในการเปลี่ยนธนาคารจึงมีมากขึ้น เพราะลูกค้าไม่มีความผูกพันใดๆ กับตัวบุคคล วัดกันที่ความสะดวกของช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก
บางธนาคารที่ปรับตัวเร็ว เปลี่ยนวิธีการลงทุนด้านไอทีไปมาก กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแบบเดิมที่ต้องใช้เวลานานเป็นปีเริ่มไม่ตอบโจทย์ เพราะธุรกิจแข่งกันเร็ว ใช้เวลาจัดจ้างนาน พิจารณานานไปก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะทำโครงการสำเร็จหรือไม่ ธนาคารจึงเปลี่ยนแนวคิดมาเป็น "เริ่มก่อน เฟลก่อน" ถ้าเฟลแล้วเริ่มต้นใหม่ ใช้แนวคิดแบบสตาร์ตอัพ ผลคือระยะเวลาทั้งหมดที่ใช้ยังน้อยกว่ากระบวนการแบบเดิมด้วยซ้ำ ตอนนี้บางธนาคารมองว่าระยะเวลาจัดซื้อ 2-3 เดือนอาจช้าไปแล้ว
ที่เห็นชัดคือธนาคารภาคเอกชนปรับตัวกันเร็ว แต่ธนาคารภาครัฐยังช้าอยู่ เพราะไม่ต้องแข่งขันด้านการตลาดมาก จากที่ผ่านมาธนาคารของรัฐจะตอบสนองเร็วต่อเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาล
ยิบอินซอย มองว่าแต่ละอุตสาหกรรมมีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงไม่เท่ากัน เราเห็นภาคธนาคารเร่งปรับตัวกันอย่างหนัก แต่บริษัทประกันกลับยังช้าอยู่ ตอนนี้การซื้อประกันยังมีอุปสรรคยุ่งยากมากมาย ถ้ามีคนทำลายกำแพงนี้ได้สำเร็จ เช่น นำระบบแช็ทบ็อตมาใช้งาน หรือเปิดให้ลูกค้าจัดการกรมธรรม์ได้เองแทนการทำผ่านตัวแทน ตลาดประกันจะเปลี่ยนไปจากที่เห็นตอนนี้มาก ตอนนี้ก็เริ่มมีกระแสการเปลี่ยนแปลงบ้างแล้วแต่ยังเป็นผลิตภัณฑ์ประกันราคาถูก (low cost) รูปแบบในอนาคตน่าจะคล้ายกับการซื้อตั๋วเครื่องบิน สมัยก่อนต้องซื้อผ่านเอเยนต์ ตอนนี้ทุกคนซื้อออนไลน์ได้หมด
ส่วนตลาดค้าปลีก (รีเทล) เดิมทีใช้การตลาดที่เน้นความหวือหวา ใช้ดาราคนดังมาช่วยเปิดตัวสินค้า แต่จากนี้ไปจะต้องเน้นความแม่นยำ (precision) ของการยิงแคมเปญ ต้องวิเคราะห์ข้อมูลและทำการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย แคมเปญจะต้องอิงตัวบุคคลมากขึ้น
ตอนนี้เครือห้างสรรพสินค้าใหญ่ของไทยทั้งสองราย ใช้วิธีเก็บข้อมูลลูกค้าจากจุดขาย (POS) ร่วมกับบัตรสะสมแต้มต่างๆ เพื่อให้ทำการตลาดแบบตรงเป้ามากขึ้น สิ่งที่เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้วคือเครื่อง POS เพราะเดิมทีเก็บเฉพาะข้อมูลยอดขายของพนักงาน แต่ไม่เก็บข้อมูลว่าขายสินค้าอะไรให้ใคร ทางห้างก็จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีติดตามสต๊อกให้ละเอียดขึ้น พอรู้ข้อมูลสต๊อกแม่นยำแล้ว ระบบจัดการหลังบ้านก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด
คุณสุภัค ลายเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) ของยิบอินซอย
จากเดิม ฝ่ายไอทีมีสภาพเป็น "เกาะ" ในองค์กรที่ไม่มีใครเข้ามายุ่งเกี่ยวมากนัก คนภายนอกฝ่ายอาจมองว่าเป็นสถาบันที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ ฝ่ายอื่นๆ ต้องเข้ามาพึ่งพาอาศัย แต่จากนี้ไป ฝ่ายไอทีจะต้องทำตามความต้องการจากฝั่งธุรกิจมากขึ้น ก่อนหน้านี้ ฝ่ายไอทีกำหนดเองได้ว่าอยากทำอะไรหรือไม่ทำอะไร แต่จะกลายเป็นไอทีต้องทำตามการตลาด
แต่สุดท้ายแล้ว ความสำเร็จของฝ่ายไอทีก็ขึ้นกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กรว่าสนับสนุนแค่ไหน บางองค์กรมอบภารกิจให้เยอะแต่งบน้อย ก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร จากประสบการณ์ของยิบอินซอย พบว่าผู้บริหารที่มีพื้นฐานมาจากสายไอทีจะเข้าใจความสำคัญ และสนับสนุนโครงการด้านไอทีดีมาก แต่ผู้บริหารนอกสายจะไม่เข้าใจเรื่องนี้
เดิมทีบทบาทของฝ่ายไอทียังเป็นฝ่ายที่ไม่ทำเงินให้องค์กร (cost center) จึงอาจไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก แต่ตอนนี้ฝ่ายไอทีกลายเป็นอาวุธของธุรกิจ เอาไว้ฟาดฟันกับคู่แข่ง ถ้าผู้บริหารเข้าใจตรงนี้ ปรับ mindset ก็จะช่วยได้มาก
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากคือกระบวนการขาย (เซลส์) สมัยก่อนเซลส์จะตั้งต้นจากผลิตภัณฑ์ (product) แล้วเข้าไปหาลูกค้า แต่สมัยนี้ เซลส์ต้องเข้าใจธุรกิจของลูกค้ามากขึ้น ต้องขาย "คุณค่าต่อธุรกิจ" (business value) ให้ได้ก่อน แล้วจะใช้ผลิตภัณฑ์อะไรเป็นเรื่องตามมาทีหลัง จริงๆ แล้ววงการ SI พูดคำว่า "ขายโซลูชัน" กันมานาน แต่ในความเป็นจริงก็ทำกันไม่ค่อยจะได้ ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ต้องทำให้ได้จริงๆ
ถ้าหาก SI อยากจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างมีกำไร ก็ต้องเข้าไปช่วยนำลูกค้าได้ว่าธุรกิจควรเสริมความสามารถด้านไอทีอย่างไร มีความเป็นที่ปรึกษา (consultant) มากขึ้น แต่ SI ก็ต้องมีความเข้าใจธุรกิจของลูกค้าอย่างจริงจัง เข้าใจทุกอย่าง ทั้งธุรกิจของลูกค้า คู่แข่ง สภาพตลาด เพราะไม่อย่างนั้นเข้าไปนำเสนอแล้ว ลูกค้าจะไม่สนใจ ดังนั้น SI ต้องปรับคนของตัวเองหนักมากให้ก้าวตามทันลูกค้า
ยิบอินซอย ยอมรับว่าตัวเองเป็นบริษัทเก่าแก่ มีความอนุรักษ์นิยมสูง แต่ก็ตระหนักว่าถ้าตัวเองไม่เปลี่ยนก็อยู่ไม่ได้ในระยะยาว ตอนนี้ก็เริ่มทดลองแนวทางใหม่ๆ หลายอย่าง เช่น flexible working hours ปรับเวลาเข้างานให้ยืดหยุ่นตามความต้องการของพนักงาน ในอนาคตก็อาจลอง work at home หรือ ทำงานร่วมกับพนักงานในสถานะอื่นๆ ที่นอกเหนือจาก full time มากขึ้น ที่ผ่านมาบริษัทก็ใช้วิธีแยกบริษัทลูกเพื่อความคล่องตัว มีอิสระในการทำงานดีกว่า
การหานวัตกรรมจากสตาร์ตอัพก็เป็นอีกเรื่องที่ยิบอินซอยกำลังเริ่มทำ และน่าจะเริ่มเห็นการดำเนินการในปีหน้า (2561) อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนของสตาร์ตอัพในบ้านเราคือยังไม่ค่อยสนใจวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจและการเงินมากนัก ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถประเมินความเสี่ยงด้วยโมเดลทางการเงินแบบเดิมๆ ได้
Comments
ชอบครับ บทสัมภาษณ์ นี้
มีทั้งมุมมองด้านธุรกิจ และ ด้าน IT สัมพันธ์กัน
กระแสโลกกำลังค่อยๆ เปลี่ยน ต้อง update และ patch ตัวเองทุกๆ 2 เดือน!