ต้องยอมรับว่ากระแสเรื่องของสตาร์ทอัพในประเทศไทย อยู่ในจุดที่เป็นความสนใจมาโดยตลอดจากหลายภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการเงินการธนาคาร หนึ่งในนั้นคือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารชั้นนำของประเทศ และเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีสินทรัพย์สูงที่สุดในประเทศ
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพล ธนาคารกรุงเทพจึงจัดตั้ง InnoHub โครงการ Fintech Accelerator Program ระดับโลกในไทยครั้งแรก เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสตาร์ทอัพจากทั่วโลกที่มีผลงานเด่นชัด มาเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อสร้างประสบการณ์และความพึงพอใจที่ดีให้กับลูกค้าในประเทศไทยและอาเซียน
คุณวริทธิ์ ธโนปจัย หนึ่งในทีมงานผู้ดูแลโครงการนี้ ระบุว่า InnoHub เป็นโครงการ accelerator ระดับโลกและมุ่งไปที่เทคโนโลยีด้านการเงิน (FinTech) เป็นสำคัญ มีสตาร์ทอัพจากหลายประเทศเข้าร่วม ทั้งจากประเทศไทย สวีเดน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์โครงการนี้ยังเป็นความร่วมมือกับ Nest ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม จากฮ่องกง
สิ่งที่ InnoHub สนใจคือเรื่องที่เกี่ยวกับระบบชำระเงิน การยืนยันตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (eKYC: Electronic Know Your Customer) และปัญญาประดิษฐ์ โดยคัดเลือกจากสตาร์ทอัพทั่วโลกกว่า 119 ราย จนเหลือเพียง 8 รายที่ทางธนาคารสนใจ เพื่อมาเข้าร่วมโครงการที่ InnoHub Space เป็นเวลา 12 สัปดาห์ เป้าหมายคือการเรียนรู้และต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการจากนวัตกรรมร่วมกัน
ในแง่นี้ บทบาทของธนาคารจึงมีหน้าที่ในการแนะนำสตาร์ทอัพเหล่านี้ ให้สามารถปรับผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศไทยและอาเซียน รวมถึงการทำงานร่วมกับ Corporate ซึ่งในโครงการนี้คือการให้คำปรึกษาโดย Mentor ที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงินและเทคโนโลยีของธนาคาร เพื่อให้ผลงานที่ออกมามีโอกาสที่จะนำไปสู่การใช้งานจริงได้มากที่สุด
ตัวอย่างของสตาร์ทอัพที่ทำงานกับทางธนาคารอย่างเหนียวแน่นได้แก่ Covr Security จากสวีเดน ที่พัฒนาโซลูชั่นด้านความปลอดภัยบนโทรศัพท์มือถือ และ FundRadar จากประเทศไทย ที่พัฒนาแพลตฟอร์มให้คำแนะนำด้านการลงทุนในกองทุนรวม
Covr Security เป็นสตาร์ทอัพของสวีเดนที่ทำเกี่ยวกับโซลูชั่นด้านระบบความปลอดภัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยมาจากการพบกันระหว่าง Peter Alexanderson และ Patrick Malmberg พูดคุยกัน จนกระทั่งตัดสินใจก่อตั้งบริษัทขึ้นมา
Peter เล่าว่า เขามีประสบการณ์ทำงานกับคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี 1980 และเริ่มผันตัวมาเป็นนักธุรกิจในปี 1992 โดยก่อตั้งบริษัททำงานเกี่ยวกับความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ โจทย์ใหญ่ตั้งแต่แรกที่เขาคิดคือการมีระบบความปลอดภัยที่ไม่ต้องใช้รหัสผ่าน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้กับ Covr Security ในเวลาต่อมา ส่วน Patrick เอง เดิมทำงานด้าน Management Consulting อยู่ที่ San Francisco และแต่งหนังสือเป็นงานอดิเรก ส่วนทีมในตอนนี้มี 25 คน
Peter Alexanderson (ซ้าย) และ Patrik Malmberg (ขวา)
การเป็นสตาร์ทอัพในสวีเดนถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะวัฒนธรรมขององค์กรในสวีเดนไม่ได้มีลำดับชั้น (hierarchy) มากมาย และสภาพของประเทศสวีเดนเองก็เอื้อทำให้ต้องคิดออกไปสู่ตลาดโลก ทำให้มีบริษัทอย่าง Spotify หรือ King (ผู้พัฒนาเกม Candy Crush) เป็นตัวอย่างของบริษัทไอทีสวีเดนที่ประสบความสำเร็จในตลาดโลก
โจทย์ใหญ่ของ Covr คือบริษัทมองว่า รหัสผ่าน (password) เป็นสิ่งที่มีปัญหาในเรื่องของความปลอดภัย เพราะเราไม่รู้ว่ารหัสผ่านเหล่านี้ถูกจัดเก็บ-ส่งผ่านอย่างปลอดภัยหรือไม่ มีการใช้ซ้ำหรือเปล่า ซึ่งการแก้ปัญหาด้วยใช้ OTP ผ่านช่องทาง SMS ก็ไม่รับประกันในความปลอดภัยเสมอไป ทางออกคือการยืนยันตัวตน (authentication) แบบไร้รหัสผ่าน จากอุปกรณ์ที่ผู้ใช้มีอยู่ นอกจากจะตัดปัญหาและความเสี่ยงข้างต้นแล้ว ยังรวดเร็วกว่ามากด้วย
ผลงานของ Covr จึงเป็นระบบการยืนยันตัวตน (authentication) โดยไม่ต้องใช้รหัสผ่าน แต่ใช้อุปกรณ์ที่ผู้ใช้มีอยู่แล้ว ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือของผู้ใช้ สิ่งที่ผู้ใช้ต้องทำคือการใส่ชื่อผู้ใช้ (username) แล้วไปกด “อนุมัติ” รายการบนแอพเท่านั้น โดยไม่ต้องใช้รหัสผ่านเลย
ปรัชญาของ Covr คือการมุ่งพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่สามารถตอบโจทย์ด้านความปลอดภัยและความง่ายในการใช้งาน จึงเป็นความพยายามในการประสานระหว่างความปลอดภัยกับประสบการณ์ของผู้ใช้ ที่ผ่านมา Peter ยอมรับว่าเป็นความท้าทายที่ใหญ่มาก ส่วน Patrick เล่าว่า ปัญหานี้เป็นความท้าทายสำคัญ เขาเองเคยเจอมาแล้วด้วยการซื้อของด้วยบัตรเครดิตผ่านไวไฟที่คิดว่าปลอดภัยแล้วด้วยวิธีการที่เขาใช้ แต่ที่จริงแล้วไม่เลย หนทางจึงออกมาด้วยการออกแบบระบบความปลอดภัยเช่นนี้ คือทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าง่าย แต่ยังต้องปลอดภัย
ระบบของ Covr เองเป็นที่นิยมมากจากธนาคารต่างๆ ของสวีเดน และบริษัทก็มองโอกาสใช้งานในอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น eCommerce, รถยนต์ โรงพยาบาล ด้วยเช่นกัน เพราะแกนของระบบ Covr คือระบบการยืนยันตัวตน ที่สามารถยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้กับอุตสาหกรรมทุกประเภท
ปัจจุบัน Covr สามารถระดมทุนได้ประมาณ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังระดมทุนอีกรอบ เพื่อขยายตลาดไปทั่วโลก เพราะตลาดในแถบประเทศสแกนดิเนเวียค่อนข้างเต็มแล้ว บริษัทจึงพยายามหาโอกาสใหม่ๆ เสมอ และเริ่มมีตัวแทนจำหน่ายโซลูชั่นทั่วโลกแล้ว
สำหรับผู้ที่ติดตามวงการสตาร์ทอัพหรืออยู่วงการหุ้น น่าจะคุ้นเคยกับ StockRadars แอปดูและติดตามหุ้นที่มีฐานผู้ใช้งานเป็นอันดับต้นๆ ในไทย ซึ่ง FundRadars ก็ยังคงใช้คอนเซ็ปและรูปแบบเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนจากหุ้นรายตัว มาเป็นกองทุนแทน
คุณแม็กซ์ ธีระชาติ ก่อตระกูล ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง FundRadars เปิดเผยปรัชญาหรือ core believe ของบริษัทคือต้องการให้การลงทุนไปถึงทุกคน (democratized investment) อยากเปลี่ยนชุดความคิดด้านการลงทุนให้กับคนทั่วไป จากเดิมที่จำกัดเฉพาะคนที่มีความรู้และมีเงินอย่างเดียว ให้เข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น
ส่วนสาเหตุที่ขยายบริการจากหุ้นมากองทุน เพราะมีลูกค้า StockRadars ถามหาบริการในลักษณะเดียวกันสำหรับกองทุน บวกกับว่าหุ้นและกองทุนเป็นของคู่กันอยู่แล้ว แถมตลาดกองทุนมีขนาดใหญ่กว่าหุ้นค่อนข้างมาก เพราะคนรู้สึกว่าลงทุนกับกองทุนปลอดภัยกว่าหุ้น และกฎหมายเอื้อให้คนสนใจลงทุนมากกว่า ทางบริษัทก็สามารถดึงลูกค้ากองทุนมาเพิ่มในหุ้น และดึงลูกค้าหุ้นมาเพิ่มในกองทุนได้ด้วยเช่นกัน
เมื่อถูกถามเรื่องคู่แข่ง อย่างที่คุณแม็กซ์เกริ่นไปว่าตลาดกองทุนค่อนข้างใหญ่ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ก็เริ่มมีนโยบายที่เริ่มเปิดและเอื้อให้เกิดการลงทุนด้านนี้มากขึ้น ทำให้ FundRadar ไม่ห่วงเรื่องคู่แข่งมากนัก ไม่รวมว่าผู้เล่นที่อยู่ในตลาดก็เป็นเพื่อนๆ กันอยู่แล้ว
ส่วนจุดแข็งของ FundRadars จากการที่เติบโตมาจากสายวิเคราะห์จาก StockRadars บริษัทเลยพยายามเน้นไปที่การทำความเข้าใจและความต้องการของลูกค้า ทำให้สามารถแนะนำข้อมูลได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด
ก่อนตัดสินใจเข้ามาร่วมโครงการ Bangkok Bank InnoHub กับธนาคารกรุงเทพ คุณแม็กซ์ระบุว่าอยากที่จะพัฒนาให้ FundRadars สามารถขายกองทุนได้แต่ด้วยอุตสาหกรรมยังไม่พร้อมจากสาเหตุด้านกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ที่ยังไม่รองรับ จึงมีความคาดหวังที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับธนาคาร อีกทั้ง บลจ. บัวหลวง บริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพ ก็ถือเป็นที่หนึ่งด้านกองทุนอยู่แล้ว และยังเป็นการสร้างเสริมจุดแข็งให้กับ FundRadars ได้เป็นอย่างดี
การเข้ามาร่วมโครงการ Bangkok Bank InnoHub กับธนาคารกรุงเทพ ทำให้ FundRadars เข้าถึงทรัพยากรบุคคลด้านการเงินและบริการ weatlh management ระดับท็อป ไม่ว่าจะเป็นคนที่เข้ามาสอนในโครงการ หรือผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ซึ่งในสายงานนี้ล้วนมีใบรับรอง (certificate) ที่เยอะและหลากหลายแบบเดียวกับฝั่งไอที และค่าตัวคนเหล่านี้แพงมาก การได้เข้าถึงคนเหล่านี้ผ่านการเข้าร่วมโครงการกับธนาคาร ทำให้ FundRadars ได้ตกผลึกและหาสูตรเฉพาะของตัวเองที่เวิร์คกับทั้งธนาคารและ FundRadars ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด
ปัจจุบัน FundRadars มีการทำ Proof of Concept ร่วมกับธนาคารกรุงเทพแล้ว ขณะที่เป้าหมายคือการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า และเติบโตจากธุรกิจนี้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
Comments
ลงทุนกับStartUpแล้วก็ช่วยปรับปรุงคอลเซนเตอร์ก็ดีโทรเป็นชม.ยังไม่ได้คุยกับคนเลย
FundRadars ไม่ยอมแก้ไขให้รวมปันผลเข้าไปรวมเป็นผลงานของกองทุนซักที
FundRadars ได้นำปันผลถูกรวมเข้าไปใน Total Return อยู่แล้วนะครับ แต่ในกราฟ NAV จะไม่ถูกรวมเข้าไป
หรือว่ามีตัวไหนไม่ได้รวมหรอครับ?
ไม่ทราบว่าต้องดูตรงไหนครับ
ยกตัวอย่างกองทุน BCAP ตรงช่องTotal Return 3ปี และ 5ปี ยังติดลบอยู่เลย
ถ้าบวกปันผลผลงานไม่ควรจะติดลบครับ
เหมือนว่ากองทุนบัวหลวงไม่ได้ส่งข้อมูลการปันผลให้สมาคมบริษัทจัดการลงทุนครับ
ทำให้เรามีข้อมูลไม่ครบถ้วน ผมลองไปหาข้อมูลมาไส่เองแล้ว ตอนนี้ข้อมูล BCAP น่าจะถูกต้องแล้วครับ
ชอบคำนี้จัง "ธนาคารเก่าแก่ของประเทศ และเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีสินทรัพย์สูงที่สุดในประเทศ" อิอิ
แต่ละธนาคารเริ่มทยอยทำโครงการ ตั้งศูนย์ เป็นของตัวเองกันละ
ต่อไปผลิตภัณฑ์แนว FinTech คงจะออกมาเยอะ
อยากจะให้ทำออกมาเกื้อกูลกันมากกว่า ไม่อยากให้ทำออกมาแข่งกันเยอะเกินไป
ชอบ icon พ้องเสียงเอาเลย ฟัน เรดา ผมนึงว่าหาคลีนิคหมอฟัน 55
📸