Kyndryl บริษัทดูแลโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่แยกตัวมาจาก IBM เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเสือปืนไว เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับไมโครซอฟท์แทบทันที ทั้งสองบริษัทจะร่วมกันให้บริการต่างๆ ภายใต้ร่ม Microsoft Cloud กับฐานลูกค้าของ Kyndryl
เหตุผลที่ Kyndryl แยกตัวมาจาก IBM มีทั้งเรื่องโครงสร้างการเงิน และความคล่องตัวที่ Kyndryl สามารถให้บริการเทคโนโลยีของบริษัทอื่นได้ง่ายขึ้น การเซ็นสัญญากับไมโครซอฟท์ถือเป็นสัญญาณชัดเจนว่า Kyndryl สามารถขายโซลูชันของบริษัทอื่นๆ ได้ทันที
ที่มา - Kyndryl
วันนี้ (4 พฤศจิกายน ตามเวลาสหรัฐ) IBM ประกาศแยกธุรกิจบริการไอทีออกเป็นบริษัทใหม่ชื่อ Kyndryl (อ่านว่า คินดริล) ตามที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้
Kyndryl คือธุรกิจรับดูแลเครื่องและระบบ (managed infrastructure services) เดิมของ IBM โดยจะเข้าขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE) วันนี้เป็นวันแรก (ใช้ชื่อย่อว่า KD) โครงสร้างผู้ถือหุ้นคือ IBM ยังถือหุ้น 19.9% ในบริษัทใหม่ และผู้ถือหุ้นเดิมของ IBM จะได้รับหุ้นของ Kyndryl ในอัตรา 5 หุ้น IBM ต่อหนึ่งหุ้น Kyndryl
ไอบีเอ็มรายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 3 ปี 2021 มีรายได้รวม 17,618 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.3% เทียบกับไตรมาสเดียวกันในปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,130 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากไอบีเอ็มเตรียมแยกธุรกิจให้บริการ Infrastructure ออกไปในชื่อ Kyndryl ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ จึงให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถ้าปรับตัวเลขโดยแยกส่วน Kyndryl ออกไป รายได้รวมไอบีเอ็มจะเพิ่มขึ้น 2.5%
Arvind Krishna ซีอีโอไอบีเอ็ม กล่าวว่าหลังการแยกธุรกิจ Kyndryl ออกไปในต้นเดือนหน้า ไอบีเอ็มจะเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีแพลตฟอร์มด้านไฮบริดคลาวด์ และ AI เป็นศูนย์กลาง และยังดำเนินงานต่อเนื่องในธุรกิจซอฟต์แวร์และให้คำปรึกษา ซึ่งยังมีการเติบโตสูง
ปีที่แล้ว IBM ประกาศแยกธุรกิจบริการ infrastructure ตั้งเป็นบริษัทใหม่ (บทวิเคราะห์ว่าทำไมจึงต้องแยก) เวลาผ่านมาประมาณครึ่งปี ในที่สุด IBM ก็ประกาศชื่อบริษัทใหม่ว่า Kyndryl
ชื่อ Kyndryl อ่านว่า "คินดริล" มาจากการผสมคำว่า "kinship" (ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน) กับ "tendril" (กิ่งก้านของไม้เลื้อย) มีความหมายว่าเติบโตไปด้วยกันกับลูกค้าและพาร์ทเนอร์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจบริการไอที
Kyndryl จะมีสถานะเป็นอิสระจาก IBM และสามารถเป็นพาร์ทเนอร์กับคู่แข่งของ IBM ได้ มีพนักงานประมาณ 90,000 คนทั่วโลก
ข่าวสำคัญในวงการไอทีรอบเดือนนี้คือ IBM ประกาศแยกเป็น 2 บริษัท ที่หลายคนอาจยังงงๆ อยู่ว่าจะทำไปเพื่ออะไร และข่าวการแยกบริษัทอาจไม่น่าสนใจนักเมื่อเทียบกับข่าวการซื้อบริษัท อย่างการทุ่มเงินซื้อ Red Hat ในปี 2018
แต่จริงๆ แล้ว การแยกบริษัทครั้งนี้ถือเป็นแผนย่อยในแผนปรับตัวครั้งใหญ่ของ IBM ต่อจากการซื้อ Red Hat และมีความเกี่ยวโยงกันอย่างแนบแน่น
IBM เป็นบริษัทที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี ผ่านการปรับตัวให้อยู่รอดตามยุคสมัยอยู่หลายครั้ง มีทั้งการซื้อกิจการดาวรุ่งและการขายกิจการที่เติบโตช้าออกไปอยู่ตลอดเวลา การปรับตัวของ IBM รอบนี้จึงประกอบด้วยยุทธศาสตร์ทั้งสองด้าน นั่นคือการซื้อกิจการ Red Hat เข้ามา และการแยกธุรกิจออกไปตามข่าวนี้นั่นเอง
IBM ประกาศแผนการแยกธุรกิจ Managed Infrastructure Services ออกจากส่วนงาน Global Technology Services โดยจะตั้งเป็นบริษัทใหม่เพื่อโฟกัสกับเทคโนโลยียุคใหม่โดยตรง
บริษัทแห่งใหม่ของ IBM (ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีชื่อ) จะโฟกัสที่งานจัดการและพัฒนาให้โครงสร้างพื้นฐานทางไอทีของบริษัทต่าง ๆ ให้ทันกับยุคสมัยผ่านระบบ AI และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ที่จะช่วยให้โครงสร้างพื้นฐานทางไอทีและศูนย์ข้อมูลของลูกค้ามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น