จากการสำรวจโดย Baker Heart Institute ของประชากรวัยผู้ใหญ่ในออสเตรเลียเมื่อปี 2005 พบว่า 70% ของผู้ชาย และ 60% ของผู้หญิงที่มีอายุในช่วง 45-65 ปี มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index: BMI) มากกว่าหรือเท่ากับ 25 (>25 = น้ำหนักเกิน, >30 = โรคอ้วน) ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าในอนาคตจะมีจำนวนผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคที่เกิดจากความอ้วน ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเข่าเสื่อม นี้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
จากรายงานนี้ทำให้มีการรณรงค์ให้มีการลดน้ำหนักในระดับชาติ และให้งบประมาณสนับสนุนสำหรับสถานที่ออกกำลังกายอีกด้วย
ไม่รู้ว่าต่อไป จะมีประเทศในทวีปเอเชียเข้าแข่งกับเขาด้วยหรือเปล่า
ที่มา Physorg
ฮอร์โมนที่ชื่อว่า Neuropeptide Y หรือ NPY โดยปกตินั้นถูกสร้างโดยสมอง เป็นที่รู้จักกันว่า เป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อความรู้สึกหิว และกระตุ้นให้กินอาหาร ที่ทรงพลังมากที่สุดเท่าที่เคยค้นพบมา จากการทดลองในหนูของ University of Western Ontario ประเทศแคนาดา พบว่า NPY ที่คิดว่าถูกสร้างโดยสมองเพียงที่เดียวนั้น ก็ถูกสร้างโดยเซลล์ไขมันที่หน้าท้องเช่นเดียวกัน คนอ้วนซึ่งมีเซลล์ไขมันที่หน้าท้องมากจึงมีการสร้าง NPY ออกมามาก และกระตุ้นให้กินมากขึ้น ดังนั้นจึงมีวงจรของการกิน และความอ้วน เกิดขึ้น ไม่รู้จบ
จากการรวบรวมงานวิจัยใน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ สวีเดน ญี่ปุ่น ที่มีการตีพิมพ์ในช่วงปีค.ศ. 2003-2007 ครอบคลุมกลุ่มประชากร 37,000 คน ซึ่งมีอายุระหว่าง 40-80 ปี พบว่า โรคอ้วน (obesity) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อม (dementia) ขึ้น 42% เทียบกับกลุ่มประชากรที่มีน้ำหนักปกติ ในขณะที่การที่มีน้ำหนักตัวน้อยเกินไป (underweight) ก็เพิ่มความเสี่ยงขึ้น 36%
ภาวะสมองเสื่อมในการศึกษานี้หมายความถึง โรคอัลไซเมอร์ และโรคสมองเสื่อมที่เกิดจากหลอดเลือดสมองเสียหาย (vascular dementia)
เมื่อสาวย้อนกลับไปจะพบว่า 12% ของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม มีโรคอ้วนเป็นตัวการร่วม และถ้าเจาะจงเฉพาะโรคอัลไซเมอร์ ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 21%