Tags:
Node Thumbnail

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (Department of Justice) ร่วมกับอัยการใหญ่อีก 11 รัฐ ยื่นฟ้องกูเกิลข้อหาผูกขาดบริการค้นหาและโฆษณาบนระบบค้นหา (search advertising) อย่างเป็นทางการ

ประเด็นที่กระทรวงยุติธรรมชี้ว่ากูเกิลมีพฤติกรรมผูกขาด คือการที่กูเกิลไปเซ็นสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟกับบริษัทต่างๆ (เช่น เบราว์เซอร์ สมาร์ทโฟน และผู้ให้บริการโทรคมนาคมในสหรัฐ) เพื่อให้ตัวเองเป็นเครื่องมือค้นหาหลัก โดยจ่ายเงินจำนวนเป็นหลักพันล้านดอลลาร์ต่อปี และในสัญญาบางฉบับมีเงื่อนไขห้ามติดตั้งเครื่องมือค้นหาของคู่แข่ง ส่งผลให้ไม่มีบริษัทใดขึ้นมาแข่งขันกับกูเกิลได้เลย

ในบางกรณี เช่น ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์ ยังเจอสัญญาบีบให้ติดตั้งแอพของกูเกิล (gapps) ทั้งชุด และต้องนำเสนอแอพของกูเกิลในตำแหน่งที่เด่นที่สุดด้วย

กระทรวงยุติธรรมชี้ว่าปัจจุบันกูเกิลครองส่วนแบ่งตลาด search ในสหรัฐประมาณ 80% ซึ่งสัดส่วน 60% มาจากสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟเหล่านี้ ส่วนที่เหลืออีก 20% มาจากพื้นที่ของกูเกิลเอง (เช่น Chrome)

กูเกิลยังใช้ข้อได้เปรียบเรื่องส่วนแบ่งตลาดมหาศาล สร้างรายได้จากโฆษณาบนหน้าผลการค้นหา (search engine results page หรือ SERP) มูลค่าราว 40,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และนำรายได้ก่อนนี้ไปจ่ายเป็นค่าสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟข้างต้น ทำให้คู่แข่งที่เป็น search รายอื่น (เช่น Bing หรือ DuckDuckGo) ไม่มีทางจ่ายเงินสู้กับกูเกิลได้

No Description

ฝั่งกูเกิลเองก็ออกมาตอบโต้คำฟ้องของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ โดยระบุว่าคดีนี้มีจุดบกพร่อง (flawed lawsuit) เช่น สัญญาที่กูเกิลทำกับแอปเปิลไม่ได้เป็นสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟ อุปกรณ์ของแอปเปิลมีเครื่องมือค้นหาอื่นๆ อย่าง Yahoo และ Bing ที่จ่ายเงินให้แอปเปิลด้วยเช่นกัน แต่แอปเปิลเลือกกูเกิลมาแสดงเป็นอันดับแรก เพราะเครื่องมือของกูเกิลนั้น "ดีที่สุด" ต่างหาก หรือ กรณีของ Microsoft Edge ที่พ่วงมากับ Windows และใช้เครื่องมือค้นหาเป็น Bing ตั้งแต่แรก

คดีนี้ยื่นฟ้องต่อศาลเขต District of Columbia ซึ่งถัดจากนี้ไปจะเข้ากระบวนการของศาลที่จะไต่สวนต่อไป โดยกูเกิลก็ระบุว่าพร้อมชี้แจงและอธิบายต่อศาล

สิ่งที่น่าสนใจคือ กระทรวงยุติธรรมเปรียบเทียบคดีผูกขาดของกูเกิลรอบนี้ เหมือนกับคดีผูกขาดที่ไมโครซอฟท์โดนในปี 1998 (กรณี Netscape ซึ่งจบด้วยไมโครซอฟท์ยอมความ) และคดีผูกขาดของ AT&T ในปี 1974 (จบด้วย AT&T โดนแยกบริษัท)

ที่มา - Department of Justice, คำฟ้องฉบับเต็ม, คำตอบโต้จากกูเกิล, ภาพจากกูเกิล

Get latest news from Blognone

Comments

By: zerocool
ContributoriPhoneAndroid
on 21 October 2020 - 00:06 #1181773
zerocool's picture

ผมก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจมาตลอดว่าการจ่ายเงินให้ platform อื่น ๆ เอา search engine ของตัวเองเป็นค่าเริ่มต้น น่าจะเข้าข่ายใช้อำนาจเหนือตลาด เช่น จ่ายให้ Firefox, Apple เป็นต้น เพราะ Google มีส่วนแบ่ง search engine สูงมาก


That is the way things are.

By: zyzzyva
Blackberry
on 21 October 2020 - 00:37 #1181778

น่าสนใจว่าหุ้นขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่า Alphabet จะรอด แต่หมายถึงว่าเป็นสถานการณ์วินวินสำหรับผู้ถือหุ้น คือถ้า Alphabet รอดก็ businsess as usual แต่ถ้าต้องแตกบริษัท ผู้ถือหุ้นก็จะได้หุ้นจากบริษัทใหม่ต่างๆ ที่มีโอกาสเติบโตเร็วกว่าอยู่รวมกัน

By: กาวทาท่อน้ำไทย on 21 October 2020 - 14:50 #1181877

สรุปสั้นๆ รัฐฟ้องกูเกิล กูเกิลบอก ไม่จริงขอข้าดีที่สูดแล้วอ้าง เจ้าอื่น จบ