บทความนี้เป็นบทความที่ผมเขียนไปลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจหน้าไอที ฉบับวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 (ชื่อบทความว่า โมเดลธุรกิจ ฟรีแต่มีกำไร) เนื่องจากข้อจำกัดในด้านเนื้อที่ทำให้บรรณาธิการตัดข้อความไปบางส่วน (ใจความหลักเหมือนกัน) ผมเลยเอาฉบับเต็มที่เขียนส่งไป นำมาลงในที่นี้ครับ
เมื่อ ค.ศ. 2004 คริส แอนเดอร์สัน (Chris Anderson) บรรณาธิการของนิตยสาร Wired ด้านเทคโนโลยีชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งชื่อว่า "The Long Tail" ลงในนิตยสารฉบับเดือนตุลาคม ตัวบทความนั้นว่าด้วยสภาพการกระจายตัวของยอดขายสินค้าในยุคดิจิทัลที่ไม่ต้องเสียค่าสต็อคสินค้า ซึ่งมันแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากการขายสินค้าแบบปกติทั่วไป ที่ถูกบีบบังคับจำนวนสินค้าที่วางขายด้วยขนาดและพื้นที่ของหน้าร้าน
การค้นพบของแอนเดอร์สันเปรียบเสมือนคัมภีร์สำหรับการค้าออนไลน์ยุคใหม่ โมเดลธุรกิจของเว็บไซต์อย่าง Amazon, Netflix, iTunes Store รวมไปถึงบริการรูปแบบใหม่อย่างเช่น บล็อก, รายการทีวีออนไลน์, สื่อภาคประชาชน ล้วนแต่สอดคล้องกับหลักการ The Long Tail ของแอนเดอร์สัน ไม่น่าแปลกใจเลยว่าหนังสือของเขา The Long Tail: Why the Future of Business is Selling Less of More (ฉบับภาษาไทยใช้ชื่อว่า "กลยุทธ์ลองเทล" แปลโดย ประวัติ เพียรเจริญ) กลายเป็นหนังสือขายดีติดอันดับ บทความต้นฉบับของแอนเดอร์สัน เป็นบทความที่คนเข้ามาอ่านมากที่สุดบนเว็บไซต์ Wired และตัวของคริส แอนเดอร์สันเองก็ขึ้นไปติดทำเนียบนักคิดนักเขียนคนสำคัญแห่งยุคเว็บ 2.0 ไปแล้วเรียบร้อย
ปี ค.ศ. 2009 แอนเดอร์สันกำลังจะกลับมาอีกครั้งกับหนังสือเล่มใหม่ของเขาที่มีชื่อว่า "Free" (กำหนดวางขายเดือนกรกฎาคม) ว่าด้วยความหมายของ "ราคา" สินค้าและบริการของยุคอินเทอร์เน็ต เขาเลือกใช้กลยุทธ์แบบเดียวกับเมื่อครั้ง The Long Tail นั่นคือส่งบทความขนาดสั้นนำทางมาก่อนหนังสือ
ในบทความชื่อ The Economics of Giving It Away ลงพิมพ์ใน Wall Street Journal ฉบับวันที่ 31 มกราคม 2009 แอนเดอร์สันเริ่มต้นด้วยการอธิบายปรากฎการณ์ของราคาสินค้าในยุคดิจิทัล ที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ จนเกือบถึงศูนย์ เขาบอกว่าในเมื่อต้นทุนในการผลิตซ้ำและแจกจ้ายสินค้านั้นแทบไม่มีค่าใช้จ่าย บริษัทและผู้ประกอบการต่างๆ จึงหันมาใช้โมเดลธุรกิจ "แจกสินค้าฟรีให้กับลูกค้าส่วนมาก และหารายได้จากลูกค้าส่วนน้อย" แทนการหากำไรจากสินค้าชิ้นต่อชิ้น
แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือฟรีทีวีที่ผู้โฆษณาสินค้าจำนวนไม่มากนัก จ่ายเงินอุดหนุนเพื่อให้ผู้ชมทั่วไปจำนวนมหาศาลสามารถรับชมรายการได้ฟรี เพียงแต่ในยุคอินเทอร์เน็ตและเว็บ แนวทางนี้เป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติมากขึ้น ครอบคลุมสินค้ามากชนิดจนถึงระดับที่เราแทบนึกไม่ออกแล้วว่ามีสินค้าอะไรที่ไม่ปฏิบัติตามนี้บ้าง
โมเดลธุรกิจแบบนี้จะสวนทางกับธุรกิจแบบเดิมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ร้านขายเบเกอรี่อาจจะแจกขนมเค้กฟรี 1 ชิ้น เพื่อสร้างการบอกต่อและทำให้ลูกค้าอีก 99 คนหันมาซื้อเค้กร้านนี้ แต่ในโลกของเกมออนไลน์ บริษัทเกมทั้งหลายต่างพยายามแจกซีดีของตัวเกมออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วหากินจากการขายสินค้าเสมือนในเกมให้กับผู้เล่นเพียงบางคน (ที่ยินดีจะซื้อสินค้าเสมือน) แทน
การที่สินค้าและบริการรุ่น "ฟรี" เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และหลายๆ ตัวก็มีคุณภาพสูงพอที่จะใช้งานแทนสินค้าแบบเดิมได้ เราจึงเห็นปรากฎการณ์ที่ผู้บริโภคย้ายมาใช้บริการฟรีบนอินเทอร์เน็ตแทนสินค้าแบบเดียวกัน เช่น โทรศัพท์ข้ามโลกด้วย Skype แทนการคุยผ่านโทรศัพท์บ้าน หรือบางคนอาจเลิกเป็นสมาชิกเคเบิลทีวี แล้วหันมาดูวิดีโอออนไลน์แทน
โดยทั่วไปแล้ว "ผู้จ่ายเงินจำนวนน้อย" บนโลกไซเบอร์แบ่งได้เป็น 3 ชนิด นั่นคือ กลุ่มลูกค้าที่ยินดีซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการรุ่นพรีเมียมที่มีความสามารถมากกว่าปกติ, ผู้ลงโฆษณา และบริษัทยักษ์ใหญ่ (เช่น กูเกิลหรือไมโครซอฟท์) ที่เข้าซื้อกิจการของเว็บขนาดเล็กแต่มีฐานลูกค้าฟรีจำนวนมาก ที่ผ่านมา โมเดลธุรกิจเหล่านี้สามารถทำงานได้ค่อนข้างดี ดังที่เราจะเห็นได้จากตัวเลขมูลค่าของโฆษณาออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี หรือข่าวการซื้อกิจการเว็บหน้าใหม่ของบริษัทดัง (เช่น กูเกิลซื้อ YouTube หรือ eBay ซื้อ Skype เป็นต้น)
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อโลกพบกับวิกฤตเศรษฐกิจ ยอดโฆษณาเริ่มฝืดเคือง และบริษัทยักษ์ใหญ่เองก็ยังเอาตัวแทบไม่รอด ทางออกเพียงหนึ่งเดียวของผู้ประกอบการดิจิทัลยุคนี้ จึงเหลือแค่หาโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่ลูกค้ารายย่อยนั้นยอมยินดีจะจ่ายสตางค์เพื่อใช้บริการ (จากที่คุ้นเคยกับบริการฟรีมาตลอด)
แอนเดอร์สันเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เค้นสมอง สร้างโมเดลธุรกิจออนไลน์แบบใหม่ๆ ขึ้นมา บริษัทจำนวนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ สร้างนวัตกรรมทางธุรกิจขึ้นมาได้ก็จะอยู่รอด (แอนเดอร์สันยกตัวอย่างเกม Tap Tap Revenge บนไอโฟน ซึ่งหารายได้จากเกมเวอร์ชันพรีเมียมที่มีเพลงประกอบจากวงดนตรีดัง และโครงการ BizSpark ของไมโครซอฟท์ ซึ่งให้บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์หน้าใหม่ใช้ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ได้ฟรี และคิดราคาเมื่อบริษัทเหล่านี้เติบโตขึ้นถึงในระดับหนึ่ง)
แต่ยังมีบริษัทชื่อดังอีกมากที่มีผู้ใช้มากมาย แต่ไม่สามารถเปลี่ยนฐานลูกค้าเหล่านี้มาเป็นเงินได้ ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ YouTube ซึ่งมีคนเข้ามาดูวิดีโอวันละมหาศาล แต่ไม่สามารถหารายได้จากค่าโฆษณาที่สมน้ำสมเนื้อกับค่าใช้จ่ายด้านแบนด์วิธในแต่ละวันได้ ถ้าไม่มีเม็ดเงินมหาศาลของกูเกิลคอยพยุงไว้ YouTube ก็ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ในทางธุรกิจเพียงลำพัง
โมเดลธุรกิจที่แอนเดอร์สันเรียกหานั้นแตกต่างกันออกไปตามแต่ละผลิตภัณฑ์และบริการ ยังไม่มีใครคิดค้นคำตอบสำเร็จรูปที่ใช้ได้กับทั้งอุตสาหกรรม เป็นไปได้ว่าแอนเดอร์สันอาจเสนอชุดของคำตอบนี้ผ่านหนังสือ "Free" ของเขา แต่ในอีกความเป็นไปได้หนึ่ง นักคิดแห่งยุคสมัยอย่างแอนเดอร์สันก็อาจไม่รู้คำตอบเช่นกัน
Comments
จบแล้ว? หรือมีต่อภาค 2 ครับ
อันนี้เป็นเหมือน "บทวิพากษ์" ให้กับตัวบทความของ Chris Anderson
ภาคต่อต้องรอกลางปีครับ
ขอบคุณครับ ผมก็ว่า มันเหมือนขาดๆ อะไรไป
.. สรุปว่าอะไรที่ใช้ๆ อยู่อาจจะมีการเสียตังค์ได้ในอนาคต...
ฮูยยยย ยังไงก็ขอ GMAIL ไว้ตัวนะ หุหุ
จะรออ่านครับ อ่าน Long Tail แล้วก็รู้สึกว่า เออ เค้าวิเคราะห์เจ๋งดีเหมือนกันนะคนนี้
หือ... "หนาใหม่"
จะได้คู่กับ "เล็กนิ่ม" ไงครับ อิอิ
แก้แล้วครับ ขอบคุณครับ
น่าจะแค่บทนำ รอเนื้อ ๆ
------
Unlimited Asian Music (ดูเอ็มวี ไทย, เกาหลี และญี่ปุ่น ฟรีๆ)
เป็นมุมมองที่ดี ทั้งบทความและบทวิพากษ์
ในความคิดกะจ้อยร่อยของผม เห็นว่าโมเดลการคิดแบบนี้ใช้ได้กับองค์กรที่ใหญ่ หรือผู้ที่พร้อมด้านเงินทุนจริงๆ จึงจะอยู่รอดได้ในโมเดลแบบนี้
อืมจะว่าไปรายเล็กก็ทำได้นะ ที่เห็นชัดๆ สมัยก่อนคือเว็บแจกสคริปท์ฟรี แลกกับคนมาแปะ banner อืม น่าจะใช่
มุมมอง ของผม ต่อบทดความนี้
ความรู้สึกแรกคือ นี่คือ โอกาสทองของนักบริหาร และ นักธุรกิจ ที่จะ แสวงหา หรือ ต่อยอด จากธุรกิจเดิม ด้วยการนำไปปรับใช้ copy idea แล้ว ไป ปรุงแต่งให้เหมาะจากนั้น นำไป action
การแจกฟรี จะทำให้เจ้ายุทธจักร ของธุรกิจบางอย่าง ต้องปรับตัว หันมาแจกฟรี บ้าง หรือไม่ก็เสียส่วนแบ่งตลาดไป
ใครๆ ก็ชอบของฟรี โดยเฉพาะ ผู้ที่ไม่รู้ต้นทุนตนเอง ทำให้หลงเป็นเครื่องมือ ของการแจกฟรี เช่น การจัดสัมนาฟรี โดย sponsor ขายสินค้า ดูเหมือนจะได้ความรู้ แต่ แทรกด้วยโฆษณาสินค้า ระหว่างการบรรยาย แม้ว่าสัมนานั้นจะฟรี แต่ต้นทุนของผู้เข้าร่วมสัมนาจริงๆ นั้นไม่ฟรี ประกอบด้วย ค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง ฯลฯ
หรือ การแจกของผ่านทางเว็บไซต์ ที่ผ่านมาบริษัทโทรศัพท์ มือถือ ประกาศ แจกมือถือรุ่นใหม่ เพียง นำป้ายโฆษณาของเว็บไปติด แล้ว แข่งขันกันว่า ใครจะได้รับคะแนะนสูงสุดจะได้ โทรศัพท์ไป ผลปรากฎ นักทำเว็บทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ มือเก๋า มือไม่เก๋า ต่างพยายามทำแต้ม ยอดคนคลิกผ่านป้าย มากมายมหาศาล บริษัทโทรศัพท์ ได้ประโยชน์ ไปเต็มๆ ไม่ต้องเสียค่าลงโฆษณา
และต่อไป เมื่อใครๆ อยากแจกฟรี ก็จะเกิด เว็บไซต์ รวบรวม จัดหมวดหมู่ จัดอันดับ ของฟรี เกิดขึ้น ปกติมีมานานแล้ว แต่เป็นพวก digital content , software
แต่ตัวกลยุทธ์ แจกฟรีคงจะไม่ใช่ กลยุทธ์ ชี้เป็น ชี้ตาย ยังต้อง ผสานกับ กลยุทธ์อื่นๆ ควบคู่กันไปอย่าง ลงตัวและเหมาะสม
นนท์
เมื่อได้ยิน ได้อ่าน ว่าของฟรี จิตผู้ไม่ได้ฝึก ย่อมเกิด อาการทางกาย รู้สึกใจเต้นแรง รู้สึกยินดี เกิดโลภะ ฯลฯ สติอยู่ไหน สติอยู่ไหน มาระงับเหตุโดยด่วน
http://www.managerroom.com/forums/forum_posts.asp?TID=6342&PN=1&TPN=1
พอดีว่าซื้อนิตยสาร Wired เล่มที่ mk พูดถึงมาอ่านเมื่อปีที่แล้ว เอาลิงก์ต้นฉบับมาฝากกัน http://www.wired.com/techbiz/it/magazine/16-03/ff_free เห็นว่าจะออกหนังสือชื่อ Free มาสักระยะแล้ว แต่ยังไม่เห็น
ส่วนตัวผมว่าเคสที่น่าสนใจก็คือพวกธุรกิจสายการบินโลว์คอส ที่เริ่มทำได้เป็นรูปธรรม อย่างลดค่าโดยสาร แต่ไปชาร์จอย่างอื่นแทน หากินจากโรงแรมที่ปลายทาง ชาร์จค่าแบกกระเป๋า เป็นไปได้กับธุรกิจภาคบริการครับ แต่ในแง่ของอุตสาหกรรมการผลิต คงเป็นไปได้ลำบากหน่อย แต่ถ้าเป็นเรื่องอินเทอร์เน็ตในประเทศที่มี Digital divide น้อยๆ หน่อยก็เป็นไปได้ครับ
ลองอ่านกันดูครับ
just my humble opinion,
jakrapong
ผมยอมจ่าย YouTube ถ้าอัพโหลดได้เกิน 10 นาที
ฮาๆ ... ผมเองนี่เรียกว่าอยู่ในใจกลางยุทธจักรนี้เลยสินะครับนั่น .... ใช่ครับ ... ของฟรีนั้นสามารถที่จะหาเงินและ Credit ได้ในระดับหนึ่งครับ แต่มีเรื่องปลีกย่อยมากมายเลยครับในการทำการตลาดของฟรีที่ดีและถูกต้อง
สูตรแรกที่ง่ายๆก่อน สินค้าดี/บริการดี - มีการพัฒนา - การการเข้าหาผู้ซื้อบริการ/สินค้า อย่างทั่วถึง - รับฟังและปรับปรุงสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง - คงความสม่ำเสมอของข้างต้นตลอดไป
ส่วนนี้เป็นส่วนแรกที่ดีครับ ... หลังจากนั้นมันแยกย่้อยอีกเป็นร้อยเป็นล้านเลยครับ
ไว้ว่างๆถ้าธุรกิจหาเงินได้แล้วจะลองเขียนดูครับ
ปล.ใจความหลักอีกครั้งครับ ... ต้องให้ต้นทุกต่ำที่สุดก่อนนะครับ แล้วจึงจะแจกฟรีได้ดีครับ
ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
:: Take minimum, Give Maximum ::
ว้าว ไปไกลถึงเขียนบทความลงกรุงเทพธุรกิจแล้ว :-)
---
Khajochi Blog : It's not a Bug ... It's a Feature
แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com
ผมเคยเป็นคอลัมนิสต์ที่กรุงเทพธุรกิจมาประมาณ 3 ปีครับ
อีกไม่นานโปรแกรมเมอร์อาจลืมตาอ้าปากได้ ^^
ผมคิดว่าในไม่ช้านี้อุตสาหกรรม Software จะเก็บตังได้ครับ โดยไม่โดนละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจาก
เทคโนโลยี 5G-6G ต่อไปในไม่ช้านะครับ ก็คือเมื่อไหร่ที่ Internet แบบ wireless เร็วสูงกว่า
3G ต่อไปก็จะไม่มีโปรแกรมอยู่ที่เครื่องลูกข่ายโดยตรงนะครับ จะมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสดงผล
การเข้ารหัส ซึ่งจะถูกเปลี่ยนไปทุกๆอาทิตย์โดยโหลดส่วนย่อยนี้มาจากเครื่องแม่ข่ายแบบ Google
ที่กระจายอยู่ทั่วโลกนะครับ เมื่อโค๊ดหรือโปรแกรมไม่สามารถแตะ หรือแกะได้ โปรโตคอลการสื่อสาร
ก็เปลี่ยนเหมือนสายพันธ์ไวรัสที่กลายพันธ์ตลอดเวลา การติดตามโปรโตคอลก็ยากครับ และเข้ารหัส
แบบ Asymmatric ที่ออกแบบเองแล้วเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรม
แทบจะทำไม่ได้นะครับ หรือทำแล้วไม่คุ้ม และก็ขายโปรแกรมให้กับคนเป็นล้านในราคาถูก
ผมคิดว่า Apple, iPhone กำลังทำอยู่นะครับ แต่ต้องต้องค่อยๆเดินหมาก
ค่อยเป็นค่อยไป แบบการเดินหมากล้อมนะครับ ถ้าเป็น Apple ก็ต้องพยายามให้ iPhone ไป
อยู่ในมือผู้ใช้ให้มากที่สุด นี่ก็มากพอควรแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องรอเวลาที่คนมีความต้องการ internet
มากขึ้นไปกว่านี้ โดยอยู่บนมือถือ 3G เมื่อใช้กันมากๆก็ต้องการ 4G หรือพวกที่ความเร็วสูงยิ่งขึ้นๆ
เมื่อถึงเวลานั้นคนก็ใช้อินเตอร์เน็ตกันแบบขาดไม่ได้ และใช้ง่ายและทั่วถึง และเมื่อว่าเวลานี้มาถึง
แนวทางการให้บริการโปรแกรมแบบที่ผมกล่าวข้างต้นก็จะเริ่มเกิดขึ้น การใช้อาจเป็นการเช่า หรือเหมาจ่าย
เพราะอาจมีการเลิกให้บริการหรือเลิกใช้บริการกันได้ จริงๆแล้วแนวทางนี้ทาง Sun Microsystem
ได้ออกแบบไว้นานแล้วด้วยภาษา Java ด้วยนะครับ
สำหรับวงการเพลงและภาพยนต์นี่น่าเห็นใจนะครับ เพราะป้องกันไม่ได้ทางเทคนิค
สามารถทำสำเนาได้ เพลงและภาพยนต์ก็อาจเป็นการส่งเสริมการขายผลิดภัณฑ์ต่างๆ
ทางอ้อมอีกทีหนึ่ง แต่ถ้าจะขายสงสัยลำบาก ต้องมาจัดการหารายได้แบบ AF, the Star
หรือ Live Concert แทนนะครับ แต่จริงๆพวกก๊อบนี่เอาเปรียบนะครับ ไม่ได้ทำอะไรเลย
ได้ตังแล้ว ควรจะมีการปรับผู้ซื้อด้วย ปรับแพงๆเลยครับ ก็จะหายไปเยอะนะครับรับรอง
เหมือนจับขายกล้วยแขกแยกนางเลิ้งอะครับ คนซื้อถูกปรับแพงก็จะจ่ายตำรวจ พอไม่อยากจ่ายตำรวจ
ร้อยสองร้อย ก็ซื้อถูกลิขสิทธิ์ดีกว่าเพราะไม่แพงครับ
เรื่องเพลงกับหนังนี่แปลกดีนะครับ
ยุคแรกสุด ไม่มีการบันทึกใดๆทั้งสิ้นเนี่ย ศิลปิน ก็เล่นเพียงข้างทางเท่านั้น อย่างดีก็ร้านอาหาร(โรงเตี๊ยม?) สถานที่เที่ยว(โรงน้ำชา?) และ ดีสุดคือในวัง หรือ บ้านคนใหญ่คนโต เงินนั้น แลกกับการเล่นในแต่ละครั้ง
พอเริ่มยุค 2 เกิด โรงละคร ที่ทั้ง แสดงและขับร้องร่วมกัน คุณภาพเสียง และภาพเริ่มดีขึ้น (เสียงสะท้อนจากโรงละครที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี ประกอบกับไฟและการจัดฉาก)เป็นยุคที่ดนตรี และการแสดงเฟื่องฟู โกยเงินได้เยอะ จากค่าเข้าชมที่สมกับราคาฝีมือ
เข้ายุคฟิล์มหนัง และ เทปบันทึกเสียงเนี่ย คนก็เริ่มได้ฟังฟรี ดูฟรีแล้วครับ เพราะ เป็นจุกเริ่มต้นของ วิทยุ และโทรทัศน์ (ยุคแรกใช้รายการสด ต่อมาใช้ฉายฟิล์มหนังทับ ก่อนเปลี่ยนเป็นบันทึกภาพ แบบม้วนวิดีโอ) จุดนี้เอง คนฝีมืองั้นๆก็เริ่มเข้ามาเป็นศิลปินได้ และ คนทั่วไปเริ่มได้เข้าถึงดนตรี และ การแสดง ทำให้ โรงละคร เจ๊งหมด (โรงหนังเจ๊งถัดมาในภาพหลัง เนื่องจาก โทรทัศน์บูม)และ ดนตรีเริ่มถูกละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นยุคที่โกยจาก สินค้าหลัก คือการแสดง และ เสียงเพลง ได้เยอะที่สุด จากการขายสื่อตัวแทน ภาพและเสียง ในราคา ที่เกินความจริง จุดนี้การเล่นสดกลายเป็นของฟรีไป เล่นคอนเสิร์ทฟรี เพื่อโปรโมทให้คน ซื้อเทป
ยุคสุดท้ายที่ค่ายเทปดาษๆเริ่มทยอยตายหายไปเนื่องจากมีแต่อุดมการณ์ขาดทักษะในการทำเงิน ส่วนหนังประเภทชั้นอยากทำแบบนี้ เอาใครเล่นก็ดังได้หมดหายไปเยอะ กลายเป็นยุคของลูกค้าที่จะเสียเงินเพื่อสิ่งที่อยากดูอยากฟัง เท่านั้น หรือ จะไม่เสียเลยชั้นก็ไม่แคร์วงการหนังจึงต้องปรับขนานใหญ่โดย ทำให้ดูหนัง ที่โรงต่างกับที่บ้านมากๆเข้าใว้ซะ กลายเป็นของหรูที่เอื้อมถึงไป ส่วนค่ายเพลง หันมาโปรโมทคน แทนเพลง เพราะ คนมองออกว่าคนไหนสวยคนไหนหล่อ มีจำนวนมากกว่าคนที่ฟังเพลงเป็น หลายสิบเท่า (ไม่ได้ว่าไม่ดีนะครับ มันเป็นการบันเทิงเหมือนกันการมองคนสวยคนหล่อเนี่ย)สุดท้ายก็ได้หนทางใหม่ คือ ใช้เพลงปั้นคน แล้วใช้คน ปั้นเงินอีกที จากเงินโฆษณา ต่างๆ การจัด event รวมถึงคอนเสิร์ทที่เรียก สปอนเซอร์ได้งามๆ กลายเป็นธุรกิจ agency ไปซะมากกว่า
แล้วพอมาถึงเรื่อง online มันก็เลยกลายเป็นแบบนี้แหละครับ ขายไม่ได้โดยตรง ต้องขายคน หรือ ขายความดังเอา แล้วเปลี่ยนบทบาทตัวเองมาเป็น agency ครับ
แถม ของเรามีเพลง open source แล้วนะครับ joey boy เปิดให้โหลดฟรี ไปเรียบร้อยแล้ว แล้วก็ทำไปทำมา มือสมัครเล่นก็เริ่มมีจำนวนมากขึ้น หลายๆครั้งที่เพลงออกมาดีกว่าพวกที่ทำขายซะอีก แบบนี้ เรื่องเพลงจะกลายเป็นส่วนประกอบตัวบุคคลซะมากกว่า ส่วนเรื่องหนังเนี่ย คงต้องหาทางกันต่อไปครับ
สุดยอดเลย วิเคราะห์ได้เห็นภาพเลยครับ ผมก็จ้องดูวงการหนังอยู่เหมือนกัน ส่วนวงการเพลง ผมคิดว่า "เริ่ม" จะเข้าที่แล้ว
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!