Tags:
Node Thumbnail

ย่อหน้าแรกๆ ขอแจ้งข่าวสำหรับผู้ที่รู้จัก Creative Commons ดีอยู่แล้วก่อนนะครับ โครงการแปลงสัญญาอนุญาต Creative Commons ให้ใช้งานกับระบบกฎหมายในประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์ นั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือการแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะประกาศใช้บนเว็บไซต์ของ Creative Commons ต่อไป

งานแถลงข่าวจะมีขึ้นในวันที่ 2 เมษายนนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (ตรงข้ามมาบุญครอง) เวลา 13.00-16.00 น. (รายละเอียด) ที่ต้องจัดวันธรรมดาเพราะว่ากลุ่มเป้าหมายหลักคือนักข่าว แต่ว่าถ้าใครสนใจและสามารถปลีกตัวจากเวลางานมาได้ก็ยินดีครับ สำหรับบุคคลากรที่จะมาในนามของหน่วยงานและต้องการจดหมายเชิญแบบเป็นทางการ สามารถติดต่อมาที่ผมได้โดยตรง markpeak @ gmail

ถ้าใครว่างแต่ยังลังเลว่าจะมาดีหรือไม่ มางานนี้คุณจะได้

  • รู้จักกับ Creative Commons ในแง่มุมต่างๆ เช่น มีไว้ทำอะไร ใช้งานอย่างไร มีแบบไหนให้เลือกใช้บ้าง
  • ฟังประสบการณ์ของผู้ที่ใช้ Creative Commons ในงานของตนเองแล้ว
  • ไขข้อข้องใจ ประเด็นปัญหาด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาด้านกฎหมายและทรัพย์สินทางปัญญา นานๆ ทีจะมีนักกฎหมายตัวจริงมาให้สอบถาม ฟันธงลงไปชัดๆ ว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้

โดยส่วนตัวผมคิดว่า กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์จากงานนี้โดยตรง คือ ผู้ที่ศึกษาและสนใจงานด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (อาจเป็นนักศึกษาด้านนิติศาสตร์ที่เอกมาทางด้านนี้) และผู้ที่สนใจประเด็นแง่วัฒนธรรม โดยเฉพาะการขับเคลื่อนวัฒนธรรมเสรี (free culture) อย่างเช่นนักศึกษาสายมานุษยวิทยา ถ้าใครมีเพื่อนเรียนด้านนี้ก็ฝากประชาสัมพันธ์ด้วยครับ

รู้จักกับ Creative Commons

ในโอกาสที่ Creative Commons ฉบับประเทศไทย (ไม่ใช่ "ฉบับภาษาไทย") เสร็จสมบูรณ์ ผมก็ขอนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ อธิบายเรื่อง Creative Commons เผื่อว่าจะมีผู้อ่าน Blognone หน้าใหม่บางคนที่อาจไม่เคยได้ยินชื่อของมันมาก่อน

ถ้าให้ผมนิยาม Creative Commons แบบสั้นๆ ก็จะได้ว่า ชุดของสัญญาอนุญาตแบบเปิดกว้าง

แปลความกันสักเล็กน้อย

  • "สัญญาอนุญาต" มันคือ "สัญญา" แบบเดียวกับที่เราต้องเซ็นเวลาทำนิติกรรมต่างๆ คือมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายแพ่ง ที่ใช้คำว่า "สัญญาอนุญาต" นั้นมาจากคำเต็มว่า "สัญญาอนุญาตให้ใช้งาน" ภาษาอังกฤษคือ license
  • "ชุด" แปลว่ามีสัญญาหลายฉบับ รวมกันเป็นชุด
  • "เปิดกว้าง" จะอธิบายต่อไป

ทรัพย์สินทางปัญญา

ก่อนอื่นแนะนำคำศัพท์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านนี้ก่อน

  • ลิขสิทธิ์ (copyright) แปลว่า "สิทธิ์ของผู้สร้าง" ครอบคลุม "ตัวชิ้นงาน" สร้างสรรค์ประเภทต่างๆ เช่น งานเขียน ภาพวาด งานดนตรี ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์ (ส่วนประเด็นว่าอะไรเป็นงานสร้างสรรค์บ้าง อันนี้ต้องคุยกันยาว ไม่ขอลงในรายละเอียด เอาเป็นว่าโดยส่วนมากแล้วก็เป็นงานที่เราเห็นได้ทั่วไปว่ามันถูกสร้างสรรค์ขึ้น) หลังจากสร้างงานขึ้นมาและเผยแพร่ ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของผู้สร้างโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องไปลงทะเบียนนู่นนี่นั่นแต่อย่างใด
  • สิทธิบัตร (patent) คุ้มครอง "กระบวนการ" ในการสร้างสรรค์ผลงาน สิทธิบัตรจะต่างจากลิขสิทธ์ตรงที่ต้องยื่นขอ "จดสิทธิบัตร" ไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีขั้นตอนด้านเอกสารและค่าใช้จ่าย
  • ทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) เป็นคำรวมๆ ที่คลอบคลุมลิขสิทธิ์, สิทธิบัตร และแนวคิดอื่นๆ ที่ผมไม่ได้เอ่ยถึง เช่น เครื่องหมายการค้า (trademark) และความลับทางการค้า (trade secret) เป็นต้น

ในโลกยุคปัจจุบัน ประเทศส่วนมากใช้ระบบกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาตามสนธิสัญญากรุงเบิร์น ซึ่งประเทศไทยก็เซ็นสัญญากับเขาด้วย

ตามสนธิสัญญากรุงเบิร์นนั้น "ลิขสิทธิ์" หรือสิทธิ์ในการหาประโยชน์จากชิ้นงาน จะตกเป็นของผู้สร้างโดยทันทีที่เผยแพร่ผลงานนั้นออกไปยังคนอื่น ความเป็นเจ้าของสิทธิ์นี้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ (ในทางกฎหมาย) และสิทธิ์อันนี้สามารถส่งต่อให้กับผู้อื่นได้

ถ้าเราต้องการนำผลงานชิ้นนั้นๆ ไปใช้งานต่อ กระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายแบบเป๊ะๆ ก็คือเราต้องทำเรื่องขออนุญาตไปยังเจ้าของผลงาน (ซึ่งจะต้องเสียเงินหรือไม่ก็แล้วแต่เจ้าของ) ส่วนเจ้าของจะให้สิทธิ์เพียงบางส่วน (เช่น JK Rowling ให้สิทธิ์ Warner Bros. นำ Harry Potter ไปทำภาพยนตร์เท่านั้น ไม่สามารถนำไปทำละครเวทีได้) หรือจะขายสิทธิ์ทั้งหมดขาด ก็ขึ้นอยู่กับการตกลงกันในระหว่างการเจรจา

เมื่อเจ้าผลงานของเสียชีวิตไประยะเวลาหนึ่ง (ซึ่งต่างกันตามรูปแบบของงานและกฎหมายในแต่ละประเทศ แต่เฉลี่ยก็หลัก 30-50-75 ปี) ผลงานชิ้นนั้นจะเปลี่ยนสภาพเป็น "สมบัติสาธารณะ" (public domain) ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ และทุกคนสามารถนำมันไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใครก่อน (เหมือนกับขุดดินหรือตักน้ำในที่สาธารณะ) อย่างเช่น ตอนนี้ถ้าผมอยากนำงานของเชคสเปียร์มาพิมพ์ขายใหม่ ก็ไม่ต้องขอใคร ลงทุนแค่ค่ากระดาษอย่างเดียว

ปัญหาของกฎหมายลิขสิทธิ์

กฎหมายลิขสิทธิ์นั้นสร้างขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของเจ้าของผลงาน ซึ่งมันทำงานได้ดีในกรณีที่เจ้าของต้องการนำผลงานนั้นไปหาประโยชน์ (เช่น ขายเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพ) แต่ในกรณีที่เจ้าของไม่ต้องการนำไปหาประโยชน์ (เช่น งานสร้างสรรค์ของหน่วยงานรัฐที่ไม่หวังผลกำไร) มันก็เริ่มมีปัญหา

สมมติว่าองค์กรไม่หวังผลกำไร A ผลิตเอกสารหรือบทความให้ความรู้กับประชาชนขึ้นมา บทความชิ้นนี้มีประโยชน์มาก และผู้สร้างก็อยากให้บทความนี้เผยแพร่สู่ประชาชนจำนวนมากที่สุด โดยไม่หวังประโยชน์ แต่ถ้าผมต้องการนำบทความนี้ไปใส่ในหนังสือรุ่นหรือวารสารในสถานศึกษา ขั้นตอน (ที่ถูกต้องตามกฎหมาย) ก็คือผมต้องทำหนังสือขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังหน่วยงาน A เพื่อขอใช้งาน ตามเรื่องราวก็ไม่ควรจะมีปัญหาอะไร หน่วยงาน A ตอบกลับมาว่ายินดี และสุดท้ายแล้วผมเอาบทความชิ้นนี้ไปลงในหนังสือได้ตามต้องการ

ฟังดูเหมือนไม่มีอะไร แต่เอาเข้าจริงแล้ว มันมีค่าใช้จ่ายแฝงเป็นจำนวนมาก

  • ค่าใช้กระดาษ ซอง แสตมป์ เพื่อส่งไปยังหน่วยงาน A
  • ค่าโทรศัพท์ไปสอบถามว่า เอกสารที่ส่งได้รับหรือยัง อนุญาตหรือยัง
  • ค่าเสียเวลาในการสื่อสาร ลองคิดดูว่าถ้าหนังสือมันต้องปิดต้นฉบับวันนี้ แต่เราต้องส่งเอกสารไปขออนุญาตก่อน แถมยังต้องรอตอบรับ

อันนี้แค่กรณีตัวอย่างแบบง่ายๆ เท่านั้นนะครับ มันจะเริ่มยากขึ้นถ้ามีเงื่อนไขแปลกๆ เข้ามา เช่น บริษัท B ทำสารคดีที่ฉายทางโทรทัศน์ ได้ประโยชน์เป็นค่าโฆษณา แต่วันหนึ่งผู้บริหารของบริษัท B ไปคุยกับผู้บริหารสถาบันการศึกษา คุยไปคุยมาผู้บริหารสถาบันการศึกษาอยากขอสารคดีนี้ไปเผยแพร่ ผู้บริหารของ B ตกลง ค่าใช้จ่ายที่จะตามมาคือ

  • ค่าปรึกษาทางด้านกฎหมาย ว่าเขียนสัญญาอย่างไรคนอื่นจึงจะนำสารคดีไปใช้โดยไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของ B เสียหาย
  • ค่าเสียเวลา ต้องปรึกษาทนาย
  • ถ้างานใหญ่ก็อาจจะต้องนัดผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายเข้ามาเซ็นสัญญากัน ก็มีกระบวนการนัดหมายและเตรียมงานอื่นๆ ตามมาอีก

ค่าใช้จ่ายแฝงที่ยกตัวอย่างเหล่านี้ กลายเป็นกำแพง (ทางกฎหมาย) ระหว่างผู้ที่ต้องการนำเนื้อหาไปใช้งาน และเจ้าของเนื้อหา (ที่ยินดีให้นำไปใช้งานอยู่แล้ว อันนี้มองเฉพาะกรณีที่ยินดีอนุญาตให้ใช้) และในหลายๆ ครั้งมันเลยทำให้เรา "เสียโอกาส" ที่จะนำเนื้อหาดีๆ มีคุณค่าไปทำประโยชน์ต่อ ทั้งที่ใจของเจ้าของเค้าอนุญาตอยู่แล้ว ทั้งที่จริงๆ แล้วแค่เขียนเมลไปบอกสักฉบับก็น่าจะพอแล้ว น่าเสียดายไหมครับ?

ทางออก

วิธีการแก้ปัญหาข้างต้นก็ทำได้หลายทาง ดังนี้

  1. นำไปใช้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต อันนี้ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์แน่นอนถ้าจะว่ากันจริงๆ (เพียงแต่เจ้าของจะฟ้องหรือไม่ ก็อีกเรื่องนึง)
  2. นำไปใช้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาต ถ้าเข้าข่าย fair use (การใช้งานโดยชอบธรรม เช่น กรณีใช้เพื่อการศึกษา) แต่ว่าขอบเขตของ fair use ก็ยังไม่ชัดเจน และต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ
  3. เจ้าของประกาศให้งานของตนเป็นสาธารณสมบัติ (public domain) ใครๆ ก็นำไปใช้ได้โดยถูกกฎหมาย
  4. เจ้าของประกาศเงื่อนไขการใช้งานเพิ่มเข้ามาเป็นพิเศษ (ถือเป็น "สัญญา") เช่น บอกว่าเอาไปใช้ได้นะถ้าคุณส่งโปสการ์ดกลับมาให้ผมดูเล่นสักใบ (Linux ช่วงแรกๆ เคยเป็นแบบนี้) หรือที่คุ้นๆ กันหน่อยก็ เอาไปใช้ได้นะถ้าไม่นำไปใช้เพื่อการค้า

ข้อ (4) นี่ล่ะครับเป็นรากฐานของ Creative Commons

Creative Commons

No Description

ปัญหาของข้อ (4) ก็คือต่างคนต่างประกาศกันมั่วไปหมด คนนำไปใช้ต่อก็เลยสับสน (แถมยังมีประเด็นว่าเจ้าของงานจำนวนมาก ไม่รู้ว่ามันทำแบบนี้ได้) โครงการ Creative Commons เลยแก้ปัญหาดังนี้

  • จัดชุดของเงื่อนไขที่เจอบ่อยๆ (เช่น ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า, ห้ามดัดแปลงต่อ) เข้าไว้ด้วยกัน
  • สร้างแบรนด์ให้มันหน่อย โดยทำเป็นโลโก้ CC ที่เราอาจจะเคยเห็นกันมาบ้าง (ถ้าไม่เคยเห็น เลื่อนลงไปท้ายสุดของหน้าครับ) คนดูจะได้เข้าใจว่าถ้าเห็นโลโก้นี้ แปลว่าทำอะไรกับมันได้บ้าง เฉกเช่นเดียวกับเวลาคนเห็นสัญลักษณ์ ©
  • สร้างความคุ้มครองทางกฎหมาย โดยเขียนสัญญาที่มีผลบังคับใช้จริงๆ ในทางกฎหมาย (ที่คนธรรมดาอ่านไม่รู้เรื่อง) ขึ้นมา เวลามีคนมาฟ้องว่าสัญญาแบบ CC นี้เป็นสัญญาเก๊ ฝ่ายคนประกาศ CC จะได้สู้คดีแล้วชนะ (มีคนชนะมาแล้วในต่างประเทศ)

เรื่องชุดของเงื่อนไขและโลโก้ ผมขอเขียนถึงคร่าวๆ ว่ามี 4 แบบหลักๆ ดังนี้

  • Attribution (ตัวย่อ by) คนนำไปใช้ต้องอ้างอิงด้วยว่าเอามาจากไหน
  • Non-Commercial (ตัวย่อ nc) ห้ามนำไปใช้เพื่อหาประโยชน์นะจ๊ะ
  • No Derivative (ตัวย่อ nd) ในกรณีที่เรารู้สึกว่าภาพวาดหรือเพลงของเรา perfect แล้ว ห้ามไปเปลี่ยนมันนะเว้ย
  • Share Alike (ตัวย่อ sa) คนที่นำผลงานของเราไปใช้ งานที่ออกมาต้องเป็น Creative Commons เหมือนกันด้วย (แถมยังต้องเป็น CC แบบเดียวกัน หรือแบบที่เข้ากันได้) จุดหมายก็คือต้องการเผยแพร่ให้เกิดงานที่เป็น CC เยอะๆ

หมายเหตุ: ถ้าใครคุ้นเคยกับ GPL ในโลกของซอฟต์แวร์ ก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน (จะมองว่า GPL เป็นสัญญาแบบหนึ่งใน CC ก็พอได้ โดยจะเป็น cc-sa แต่ว่าในรายละเอียดแล้วยังใช้ด้วยกันไม่ได้ อ่านข่าว วิกิพีเดียกำลังดำเนินการเพื่อความเข้ากันได้กับครีเอทีฟคอมมอนส์ และ ครีเอทีฟคอมมอนส์มุ่งหน้าสู่รุ่น "3.5" เข้ากันได้กับวิกิพีเดียมากขึ้น ประกอบ)

No Description

เจ้าของผลงานสามารถเลือกผสมผสานเงื่อนไขทั้ง 4 แบบได้ตามต้องการครับ อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาการเคารพในสิทธิ์ของผู้สร้าง Creative Commons ทุกประเภทจะมี by อยู่ในเงื่อนไขเสมอ ผมขอไม่ลงรายละเอียดของ CC แต่ละแบบ และวิธีการประกาศใช้ ถ้าสนใจสามารถเข้าไปที่หน้า License Your Work ของเว็บไซต์ Creative Commons กรอกฟอร์มแล้วจะได้ตราสัญลักษณ์ของ CC ที่เหมาะกับเงื่อนไขของเรามาใช้งาน

ตัวอย่างของ Blognone ใช้สัญญาอนุญาตแบบ Creative Commons Attribution ก็แปลว่า ถ้าคุณต้องการนำเนื้อหาของ Blognone ไปใช้งาน ก็เอาไปได้เลย ขอเพียงแค่บอกว่าเอามาจาก Blognone และลิงก์มายังข่าวต้นฉบับเท่านั้น เอาไปรวมเล่ม (derivative) เพื่อขาย (commercial) ก็ได้ครับ ไม่ได้ห้ามไว้

ทำไมจึงควรใช้ Creative Commons

ก่อนอื่นผมขอย้ำว่า ไม่ใช่งานทุกชนิดที่ควรใช้ Creative Commons

งานที่เหมาะจะประกาศเป็น Creative Commons คืองานที่ตั้งใจเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่คนทั่วไปอยู่แล้ว (เท่านั้น) Creative Commons เป็นแค่ "เครื่องมือ" ในการตัดตอนกระบวนการเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายที่ผมยกตัวอย่างให้ดูข้างต้นออกไป

ในความเป็นจริงแล้ว คนเราสามารถใช้ทั้งลิขสิทธิ์เต็มรูปแบบ (copyright) และ Creative Commons ควบคู่กันไปได้ ตัวอย่างเช่น นาย C เป็นช่างภาพฝึกหัดที่ยังไม่มีชื่อเสียง

  • สำหรับภาพถ่ายเวอร์ชันความละเอียดต่ำที่แสดงบนเว็บ เขาประกาศว่าเป็น Creative Commons
  • ภาพเดียวกันที่ความละเอียดสูงๆ สำหรับใช้ในงานพิมพ์ เป็นลิขสิทธิ์ของนาย C ตามปกติ (และแน่นอนว่าต้องขออนุญาต)

นาย D แวะเวียนเข้ามาเห็นภาพของนาย C ว่าสวยจัง เอาไปลงเว็บของตัวเองซึ่งสามารถทำได้ทันทีเพราะนาย C ประกาศเอาไว้แล้วว่าทำได้ เผอิญว่าเว็บของนาย D มีคนเข้าเยอะมาก ภาพนั้นดันไปเตะตา บก. E เข้าให้ บก. E เห็นชื่อของนาย C ใต้ภาพ (เพราะคุณพี่ D เคารพสัญญาอนุญาต เอารูปมาลงแล้วขึ้นชื่อให้ว่าเอามาจากที่ไหน) เลยติดต่อไปยังนาย C สุดท้ายแล้วภาพที่ว่าได้ลงปกนิตยสาร FHM เป็นต้น

งานนี้ทุกฝ่ายแฮปปี้

  • นาย C ได้เงินจากการขายภาพเวอร์ชันความละเอียดสูง แถมดังเพราะรูปตัวเองได้ลงปก FHM อนาคตอาจกลายเป็นช่างภาพอันดับหนึ่งของประเทศ
  • นาย D ได้รูปไปลงเว็บให้คนอ่าน แถมดีใจเสียอีกช่วยนาย C ให้ดัง
  • บก. E ได้งานคุณภาพไปลงปกหนังสือ

เห็นประโยชน์ของ Creative Commons กันหรือยังครับ :D

มีใครใช้ Creative Commons กันแล้วบ้าง

เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด ถ้าเอาที่ดังๆ พอให้เรียกน้ำย่อย

No Description

ของเมืองนอก

No Description

ของไทย

  • เนื้อหาในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งหมดเป็น Creative Commons
  • งานวิจัยทั้งหมดบนเว็บของ TDRI (สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย)
  • ผู้ให้บริการบล็อก GotoKnow เพิ่มตัวเลือกให้ผู้เขียนบล็อกสามารถบอกว่าเนื้อหาในบล็อกของตัวเองเป็น CC ได้ ถ้าเข้าไปดูใน G2K ตอนนี้จะมีโลโก้ CC เต็มไปหมด (Exteen กับ Diaryis ก็รีบๆ นะครับ กดดันออกอากาศเลย)
  • ผลงานของกลุ่มคนทำหนังสั้นและสื่ออิสระ บนเว็บไซต์ Fuse.in.th ในเครือ Bioscope
  • นิตยสารออนไลน์ OnOpen (หมายเหตุ: ผมไปเขียนคอลัมน์ให้เขาด้วย พื้นที่โฆษณา)
  • Joys Magazine วารสารออนไลน์ด้านเกม การ์ตูน และไลฟ์สไตล์
  • บล็อกของ phuphu บล็อกเกอร์คนดัง Exteen

Creative Commons ประเทศไทย

ถาม: ทำไมต้องทำ?

ตอบ: เพราะว่า Creative Commons ต้นฉบับถูกสร้างขึ้นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีระบบกฎหมายบางจุดแตกต่างจากเมืองไทย (ใครจำ Civil law/Common law สมัยเรียนมัธยมกันได้บ้าง?) จึงต้องมีการแปล ทบทวน รีวิว ตรวจแก้ กันหลายรอบให้ Creative Commons ใช้งานในไทยได้อย่างสมบูรณ์

ถาม: แล้วจะได้อะไร

ตอบ: ได้ความสบายใจว่า ถ้าเราประกาศงานของเราเป็น CC แล้วมีคนละเมิดเงื่อนไขของเรา ตอนฟ้องกันโอกาสชนะจะเพิ่มขึ้นสูงมาก เพราะว่าทีมกฎหมายได้ตรวจสอบกันแล้วว่าสัญญาที่แปลงให้ใช้งานในประเทศไทยได้ มันไม่มีอะไรขัดกับกฎหมายลิขสิทธิ์เมืองไทย

ถาม: ใครเป็นคนทำ

ตอบ: คณะกรรมการซึ่งเป็นอาสาสมัครหลายท่าน (ผมเป็นหนึ่งในนั้น รายชื่อเต็มๆ ดูได้จากเว็บไซต์ของ Creative Commons Thailand) ส่วนกระบวนการด้านกฎหมายนั้นเป็นฝีมือของสำนักงานกฎหมายธรรมนิติ ซึ่งเป็นบริษัทด้านกฎหมาย (law firm) อันดับต้นๆ ของประเทศ

ถาม: เสร็จแล้วจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง

หลังการแถลงข่าว ตัวสัญญาเวอร์ชันประเทศไทยจะขึ้นบนเว็บไซต์ Creative Commons อันหลัก ต่อไปก็ลิงก์ไปยังสัญญาเวอร์ชันไทยแทนที่จะเป็นสัญญาเวอร์ชันภาษาอังกฤษ (ดูตัวอย่าง สัญญาภาษาญี่ปุ่น)

ไขข้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Creative Commons

  • ลิขสิทธิ์ในตัวงานยังเป็นของเจ้าของเช่นเดิม การประกาศใช้ CC เป็นแค่การบอกว่าสามารถเอาไปใช้งานได้โดยไม่ต้องขอ ในบางเงื่อนไข
  • ต่างจากการยกให้งานเป็นสาธารณะสมบัติ (public domain)
  • เจ้าของสามารถเปลี่ยนสิทธิ์ของชิ้นงานได้เสมอ (แต่งานเก่าที่เผยแพร่ออกไปแล้ว ก็จะยังใช้สัญญาอนุญาตแบบเก่าต่อไป)
  • งานคนละชิ้น สามารถใช้สัญญาอนุญาตคนละแบบได้ไม่มีปัญหา
  • เจ้าของยังสามารถขายหรือหาผลประโยชน์จากงานสร้างสรรค์ของตัวเอง ผ่านช่องทางการเจรจาใต้กรอบลิขสิทธิ์ได้เช่นเดิม (ดูตัวอย่าง C-D-E ข้างต้น)

มาใช้ Creative Commons กันเถอะ!!!

การใช้ Creative Commons

  • ไม่เป็นพิษเป็นภัย เลือกใช้เฉพาะงานที่อยากใช้ และลิขสิทธิ์ทั้งหมดยังเป็นของเรา
  • เผยแพร่งานของเราต่อไปในวงกว้าง (อาจจะ) ได้ชื่อเสียง เงินทอง เกียรติยศ ความก้าวหน้าทางอาชีพ ฯลฯ
  • ถ้าคนใช้งานที่เป็น CC กันมากๆ ในอนาคตเราก็สามารถหาวัตถุดิบมาดัดแปลงเป็นงานนู่นนี่นั่นได้ง่ายขึ้นมาก (ส่งเสริมการต่อยอดอย่างไม่ละเมิดลิขสิทธิ์)
  • เป็นการทำประโยชน์ให้สังคม ส่งเสริมการแบ่งปัน ได้บุญ (ถ้าจะมองให้เป็นแบบนั้นนะครับ) ในแง่องค์กรอาจถือว่าทำ CSR ก็ได้

สุดท้ายนี้ผมขอชักชวนให้ผู้อ่าน Blognone ทุกคนที่มีบล็อก (หรือพื้นที่แสดงผลงานส่วนตัวอื่นๆ เช่น Multiply) เขียนถึงข่าว Creative Commons ฉบับประเทศไทยเสร็จสมบูรณ์ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการต่อยอดอย่างสร้างสรรค์และถูกกฎหมายในเมืองไทย คุณสามารถนำเอาบทความนี้ไปปู้ยี่ปู้ยำได้เต็มที่ (แหงล่ะ มันเป็น CC นี่) ขอเพียงแค่อ้างอิงที่มาว่ามาจากที่ไหน และผมก็ขอชักชวนอีกว่า บล็อกหรือผลงานที่คุณสร้างเสร็จแล้ว ก็น่าจะทดลองใช้ CC ด้วย (ถ้าไม่เคยใช้จะได้ลองประเดิม) สามารถประกาศเฉพาะงานชิ้นนั้นๆ ไว้ได้ต่อท้ายบทความครับ

ถ้าใครเขียนถึง Creative Commons หรือมีผลงานที่เป็น CC อยู่แล้ว และอยากเผยแพร่ (เราก็อยากรู้ว่าคุณใช้) แปะลิงก์ไว้ในคอมเมนต์กันได้ตามสะดวก ส่วนใครที่จะไปร่วมงานเปิดตัว CC ด้วย เจอกันที่งานครับ

ข้อมูลอ่านประกอบ

Get latest news from Blognone

Comments

By: tomoomoo on 28 March 2009 - 13:54 #93613

เหมือนตัวอย่าง C-D-E จะสลับตัวละครกันอยู่นะครับ..หรือผมเข้าใจผิด

By: nat3738
ContributorAndroidRed HatUbuntu
on 28 March 2009 - 14:10 #93615 Reply to:93613

คิดเหมือนกันครับ รู้สึก C จะสลับกับ D

By: Lightwave
iPhoneAndroidWindows
on 28 March 2009 - 14:57 #93619 Reply to:93615

สลับกันจริงด้วย - -"

By: mk
FounderAndroid
on 28 March 2009 - 21:11 #93658 Reply to:93619
mk's picture

แก้เรียบร้อยแล้วครับ

By: l2aelba
iPhoneAndroid
on 28 March 2009 - 17:42 #93629
By: adamy
iPhoneAndroidBlackberryUbuntu
on 28 March 2009 - 21:08 #93657

ไม่ได้ประกาศเป็นทางการครับ ... แต่ FuKDuK.tv blog.fukduk.tv และ Mag.fukduk.tv ทั้งสามตัวนี้เป็น Creative Commons By NC ครับผม ตั้งแต่วันแรกที่เปิดบริษัทเลยครับ

ยินดีด้วยครับ ... ตั้งน่าัตั้งตารอมานานเสียทีครับ ... ติดแค่กฏหมายไทยนี่แหล่ะครับ ... ตอนนี้กำลังดำเนินการเอาตรา "ซีซี" ไปลง End Credit ทุกรายการอยู่ครับผม

ขอบคุณครับ สวัสดีครับ

:: Take minimum, Give Maximum ::

By: NarzE
iPhoneUbuntu
on 29 March 2009 - 00:57 #93704
NarzE's picture

อาจจะได้ไปร่วมงานด้วย ใกล้มหาลัย

*การ์ตูนเรื่อง Code Geass ก็มี CC นะ :D

By: unclepiak
ContributoriPhone
on 29 March 2009 - 08:11 #93713
unclepiak's picture

ตัวอย่างเช่น นาย C เป็นช่างภาพฝึกหัดที่ยังไม่มีชื่อเสียง

  • สำหรับภาพถ่ายเวอร์ชันความละเอียดต่ำที่แสดงบนเว็บ เขาประกาศว่าเป็น Creative Commons
  • ภาพเดียวกันที่ความละเอียดสูงๆ สำหรับใช้ในงานพิมพ์ เป็นลิขสิทธิ์ของนาย C ตามปกติ (และแน่นอนว่าไม่ต้องขออนุญาต)

ในวงเล็บเขียนผิดหรือเปล่าครับ ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็น (และแน่นอนว่าต้องขออนุญาต)
ช่วยยืนยันอีกที ขอบคุณครับ

By: mk
FounderAndroid
on 29 March 2009 - 09:54 #93716 Reply to:93713
mk's picture

แก้ไขแล้วครับ ขอบคุณครับ

By: pisitman
iPhoneAndroidIn Love
on 29 March 2009 - 09:13 #93715
pisitman's picture

ขออนุญาตินำไปเผยแพร่นะครับ ผมเอาลงที่ pantip.com ห้องกล้องครับ

By: Bongbank
ContributoriPhoneAndroidBlackberry
on 29 March 2009 - 13:32 #93723
Bongbank's picture

อ๊ากกก ดีใจเว็บไซต์มหาวิทยาลัยของผมเป็น CC กะเขาด้วย lolz

By: norasama
Symbian
on 30 March 2009 - 01:45 #93743
norasama's picture

ฝากแก้ Details Joys Magazine ด้วยครับ มีทั้งเกม การืตูน และไลฟ์สไตลจิปาถะนะครับ เดี๋ยวคนเข้าใจผิดว่ามีแต่การ์ตูน ^ ^"

By: mk
FounderAndroid
on 30 March 2009 - 08:38 #93755 Reply to:93743
mk's picture

แก้ไขให้แล้วครับ

By: pit
ContributoriPhoneAndroidWindows
on 30 March 2009 - 12:00 #93778

เจอกันในงานน่ะครับ ฝึกงานที่หอศิลป์ฯ พอดี
(ที่จริงรู้จากเอกสารขอใช้สถานที่แล้วล่ะ ฮิฮิฮิ)

By: emptyzpace on 30 March 2009 - 17:17 #93806

มันจะช่วยเรื่องการก๊อปปี้คอนเท้นแบบหน้าdanของเวบบ้านเราได้มั้ยน้อ

อ่อ นึกอีกที มันไม่เกี่ยวกับ cc ซินะ มันเกี่ยวกับจิตสำนึก

By: khajochi
WriteriPhoneIn Love
on 31 March 2009 - 15:21 #93926
khajochi's picture

น่าบยินดีมากมายครับ น่าจะทำเสื้อมาขายฉลอง CC ประเทศไทยนะครับเนี่ย :)

---
Khajochi Blog : It's not a Bug ... It's a Feature


แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com

By: ter_
iPhone
on 31 March 2009 - 22:08 #93972

เข้าไปทดสอบหน้า http://creativecommons.org/license/?lang=th ตรง
"ชื่อที่จะให้ระบุที่มาถึง" กับ
"ที่อยู่อินเทอร์เน็ต"
เหมือนว่ามันจะ Gen html code มาผิดอะครับ