เมื่อวันที่ 25 ที่ผ่านมาทางกทช. ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องร่างหลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ไปแล้ว ในตอนนั้นผมได้ร่างความเห็นและประเด็นที่ผมกังวลให้ mk และคนในกลุ่มบางคนไป แต่เนื่องจากงานในวันนั้นคนเยอะมาก mk ซึ่งไปร่วมงานจึงไม่ได้ขึ้นพูด แต่ก็ไม่มีปัญหาเพราะทางกทช. เปิดให้เราส่งอีเมลเข้าไปได้
บทความนี้จึงเป็นประเด็นต่างๆ ที่ผมกังวลถึงหลักเกณฑ์ในประเด็นต่างๆ ที่อาจจะมีปัญหาในอนาคตได้ โดยมี 2 ประเด็นคือการใช้งาน Femtocell และเกณฑ์การควบคุมคุณภาพบริการ
ขณะที่ร่างฉบับนี้สนับสนุนการแข่งขันค่อนข้างดีในหลักการ เช่นการสนับสนุนการแบ่งปันเครือข่าย และการทำ MVNO อย่างไรก็ตามมีประเด็นเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นมาหลายปีแล้วนั่นคือ Femtocell
Femtocell (Femto Forum) เป็นเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความครอบคลุมของสัญญาณที่ยังคงมีปัญหาจนทุกวันนี้แม้ในประเทศที่มีการติดตั้งเครือข่าย 3G ไปนานแล้วอย่างออสเตรเลีย โดยการเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถตั้งเสาบริการ 3G ขนาดเล็กกำลังส่งมักไม่เกิน 20mW และรองรับเครื่องลูกข่ายได้เพียง 2-16 เครื่อง โดยเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการผ่านทางเครือข่ายมีสายเช่น ADSL และเนื่องจากผู้ใช้ต้องติดตั้งเครือข่ายเอง ผู้ให้บริการมักตอบแทนด้วยค่าโทรที่ถูกลง เช่น AT&T นั้นเปิดให้ผู้เปิดบริการ AT&T 3G Microcell สามารถโทรจากเสาในบ้านของตนได้ไม่จำกัด
บริการจาก Femtocell นั้นทำให้เกิดการติดตั้งที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการติดตั้งไปยังบ้านหรือตำแหน่งของผู้ใช้งานโดยตรง
ดูเหมือนร่างหลักเกณฑ์ของกทช. ฉบับนี้ไม่ได้ตระหนักถึงบริการเช่นนี้นัก โดยไม่มีความชัดเจนว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะสามารถอนุญาตให้ผู้ใช้งานรายย่อยติดตั้งเสาสัญญาณในบ้านหรือในบริษัทได้หรือไม่ หรือหากทำได้ จะติดกฏเกณฑ์ในเรื่องของการทำ Roaming และ MVNO ไปด้วยทำให้เกิดความยุ่งยากต่อการเปิดบริการนี้จนอาจจะทำไม่ได้ในทางปฎิบัติ
กทช. ควรเปิดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตสามารถให้อนุญาตแก่ผู้ใช้บริการรายย่อย อนุญาตให้มีการคิดค่าบริการเป็นกรณีพิเศษเพื่อเป็นการต่างตอบแทนให้กับผู้ใช้ รวมถึงการทำให้เกิดความชัดเจนในการแบ่งปันเครือข่ายเพื่อให้ไม่เป็นการปิดกั้นบริการเช่นนี้ และบริการรูปแบบอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ร่างหลักเกณฑ์นี้มีการกำหนดคุณภาพการบริการไว้ว่า "ผู้รับใบอนุญาตจะต้องรองรับอัตราการส่งข้อมูลด้าน downlink (ความเร็วในการส่งข้อมูลผ่านอากาศจากสถานีฐานไปยังอุปกรณ์ของผู้ใช้บริการ) ได้ไม่น้อยกว่า 700kbps"
เกณฑ์นี้มีข้อน่าสังเกต 3 ประการ
โดยทั่วไปแล้วเมื่อเราพูดถึงบริการ 3G เรามักพูดถึงบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น ข้อกำหนดความเร็วฝั่ง downlink แต่เพียงอย่างเดียวดูเหมือนจะให้ความสนใจต่อบริการดั้งเดิมเช่น HTTP, FTP ฯลฯ มากกว่าบริการใหม่ๆ
ขณะที่บริการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับ 3G นั้นมักเป็นบริการที่ต้องการการรับประกันความหน่วง เช่น VoIP (Skype, Google Talk, SIP), หรือกระทั่ง Twitter, Instant Messaging ต่างๆ และอีกหลายบริการที่ต้องการความเร็วในการอัพโหลดที่สูงเช่น บริการถ่ายทอดสด (Qik, Twitvid, YouTube) การร่างโดยไม่กำหนดความเร็วทั้งสองรูปแบบเอาไว้เป็นการเปิดช่องให้ผู้บริการสามารถปิดกั้นบริการเหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ เช่นบริการ VoIP นั้นโดยทั่วไปยอมรับความหน่วงได้ไม่เกิน 250ms ในทางปฎิบัติแล้วบริการ 3G ในไทยตอนนี้จาก TOT ก็มีความหน่วงอยู่ที่ 100-180ms เท่านั้น
อีกประเด็นหนึ่งคือการไม่เปิดให้ผู้ให้บริการสามารถให้บริการที่ความเร็วต่ำๆ ได้ อาจจะเป็นปัญหาที่ตกถึงตัวผู้ใช้เอง บริการเช่น TOT 3G ทุกวันนี้ไม่มีแพ็กเกจการใช้งานแบบไม่จำกัด และมีค่าใช้จ่ายต่อ MB ค่อนข้างสูง เป็นข้อจำกัดต่อบริการที่ต้องการการออนไลน์ตลอดเวลา ขณะที่บริการเหล่านี้มีจำนวนมากที่ไม่ต้องการความเร็วสูงนัก เช่นอีเมล, Instant Messaging, Social Network (Facebook), Microblogging (Twitter) ฯลฯ ผู้ให้บริการสามารถที่จะให้บริการความเร็วต่ำแต่เก็บค่าบริการต่ำมาก เช่น Sonera ในฟินแลนด์ที่เก็บค่าบริการการใช้งานแบบไม่จำกัดเพียง 4 ยูโรต่อเดือน (160 บาท) แต่ให้ความเร็วเต็มที่เพียง 40MB แรก แต่หลังจากนั้นจะจำกัดความเร็วเหลือ 64kbps การเปิดกว้างเช่นนี้ทำให้คนมีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการข้อมูลในค่าใช้จ่ายที่ต่ำมากได้
ควรเปลี่ยนความเร็วในร่างหลักเกณฑ์นี้เป็นความเร็วเพื่อใช้วัดพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุมแล้วเท่านั้น และเปิดให้ผู้ให้บริการสามารถทำความตกลงกับผู้ใช้บริการถึงความเร็ว และเงื่อนไขของการใช้บริการได้ ตามเวลาและสภาวะการใช้งานที่เปลี่ยนไป
Comments
อยากให้มีการประกัน Latency และการประกันว่าจะไม่มีการกีดกันการใช้ VoIP อย่างแน่นอนและเด็ดขาดครับ สำคัญมาก
@TonsTweetings
Latency น้อยๆจะได้เก็บผักลื่นๆ
{$user} was not an Imposter
3G! 3G! 3G! 3G! 3G!
สุดยอด ครับ เสนอไปเลยครับ เห็นด้วยทุกประการ ผมคิดไม่ถึงด้านพวกนี้เลยนะครับ
คำว่า สังเกต ไม่มีสระอุ เสมอครับ
ฟินแลนด์ แนวทางของคุณสุดยอดมากครับ! (คิดได้ไง!!!)
Femtocell ก็น่าสนใจแฮะ แต่เชียงใหม่สัญญาณ 3G AIS ถึงบ้านด้วย ^__^
โดยรวมแล้วน่าสนใจครับ ผมสนับสนุนเต็มที่ อยากเห็นเมืองไทยช่วยกันพัฒนาแบบนี้ครับ
ติด Femtocell ทั่วมหาวิทยาลัยนี่ ท่าจะทดแทน cordless phone + PBX
ลงชื่อสนับสนุน ข้อเสนอนี้ 1 เสียงครับ
เอกศักดิ์ ช่างหลก
ตอนนี้ยังไม่ควรยก Femtocell ขึ้นมาพิจารณานะผมว่า มันควรจะใช้ในกรณีที่บริเวณนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะวางเครือข่ายให้บริการจริงๆ
ตามที่ผมเข้าใจเนี่ย จะว่าไปแล้วมันคือการผลักภาระมาให้ผู้บริโภคโดยสมบูรณ์แบบ จัดการซื้อเองติดตั้งเอง มีปัญหาก็เรียกช่างเอง จ่ายเอง แถมอีกหน่อยคอลเซ็นเตอร์บอทของแต่ละเจ้าก็จะมีข้ออ้างเพิ่มอีก "เป็นที่ Femtocell ของท่านละคะ" หรือ "เป็นที่ ISP ละค่ะ" เหมือนที่บอก "น่าจะเป็นที่เร้าเตอร์ที่ใช้ไม่ใช่ของเราค่ะ" เบื่อมาก
อีกอย่าง Femtocell เป็นการนำสัญญาณเนตบรอดแบนด์(เนตบ้าน) มาเข้าเครื่องเพื่อส่งสัญญาณ 3G ให้โทรศัพท์มือถือ กลายเป็นว่าจำนวน data cap ก็จะไปลงกับทั้ง เนตบ้าน(ที่ตอนนี้ส่วนมากยังไม่ได้จำกัดกัน) และ 3G แถมอาจต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการส่งผ่านข้อมูลจาก ISP เนตบ้านไปที่ผู้ให้บริการมือถืออีก คราวนี้ยิ่งโกลาหลใหญ่ ขนาด Number portability ที่มีแค่ผู้ให้บริการมือถือยังไม่เห็นวี่แววเลย นี่ต้องร่วมมือกับ ISP บ้านอีก แล้วมันจะมีข้อผูกมัดมั้ยว่ามือถือค่ายไหนต้องใช้ ISP อะไรอีก
ส่วนตัวคิดว่าการยก Femtocell เข้ามาตอนนี้ทำให้ปัญหาที่ยังไม่ได้รับคำตอบเพิ่มมากขึ้นไปอีก เผลอจะเข้าข่ายผู้ให้บริการขายเครื่องซะเอง แล้วก็ไม่ต้องรีบตั้งเสา หากินกับ Femtocell ไปเรื่อยๆก่อน จะยิ่งทำให้การพัฒนาที่ควรจะเป็นช้าลงได้นะครับ
ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับไม่ได้แปลว่ามันจะถูกหรือเป็นไปตามนี้ มีข้อโต้แย้งยังไงตรงไหน ทักท้วงได้ครับ
เรื่อง Femtocell เห็นด้วยครับ เพราะคำว่า สัญญาณครอบคลุม ตามแผนที่ เราเห็นเป็นแถบสีกว้าง ๆ ว่ามันครอบคลุม แต่ในทางปฎิบัติ ในบริเวณที่อยู่กันหนาแน่น สิ่งก่อสร้างที่โครงสร้างซับซ้อน มักจะมีจุดบอดเล็ก ๆ เต็มไปหมด ดังนั้น ตามหน้าที่ของ ผู้รับใบอนุญาติ ในข้อกำหนดที่ต้องวางเครือข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ ทาง กทช ควรมีข้อกำหนดส่วนนี้ไปด้วยให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผลักภาระไปสู่ผู้บริโภคไปทั้งหมด
เมื่อมีข้อกำหนดเรื่่องความครอบคลุม แล้วก็สามารถบังคับเอาตามข้อกำหนดในใบอนุญาติ เป็นข้อกำหนดย่อย
เรื่องของการ อนุญาติ Femtocell และ ภาระผูกพันของ ผู้ให้บริการ กับเจ้าของ femtocell และส่วนแบ่งค่าใช้จ่าย
การมีข้อกำหนดตรงนี้ที่ชัดเจนจะทำให้ ลดข้อขัดแย้งกังขาของแต่ละฝ่าย เจ้าของตึกหรือสำนักงานหรือส่วนตัว เห็นว่าสัญญาณไม่ดี ก็ไปติดต่อขอติดตั้ง แล้วต้องมีส่วนแบ่งค่าใช้จ่าย ( ตรงนี้พูดได้ยากว่าเพราะตึกมันซับซ้อนเกินไป หรือ โครงข่ายทำมารองรับไม่ถึง ข้อจำกัดทางวิศวกรรมและการลงทุน )
เรื่องการรับประกันความเร็ว จริง ๆ ต้องครอบคลุมแง่มุม Qos อื่น ๆ ที่นิยมใช้กันของระบบเครือข่าย เรื่องความ เรื่องความเร็วที่กำหนดตามข้อกำหนด ไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไรกันแน่นะครับ ส่วนตัวคิดว่า น่าจะหมายถึงความเร็วสูงสุด ที่รองรับ คือคำว่า รองรับ ไม่ได้หมายความว่า ต้องส่งแบบนั้นตลอดเวลา เรื่อง package ก็น่าจะมองในอีก layer หนึ่ง โมเดลก็คงคล้าย ๆ อินเตอร์เน็ต ที่คู่สัญญา ตกลงซื้อขายกัน ตามข้อกำหนดสัญญา ( ซึ่งผมว่าควรมีโมเดลมาตรฐานออกมา มีข้อกำหนดหัวข้อต่าง ๆ ไว้ ให้ทางผู้ให้บริการต้อง อธิบายให้ชัดเจน ครอบคลุม พฤติกรรมเฉพาะความเป็น mobile ข้อกำหนดซื้อขายเหล่านี้ มีในธุรกิจอื่นแล้วเช่น อสังหาริมทรัพย์ที่ต้องกกำหนดรายการวัศดุและยี่ห้อคร่าว ๆ )
เรื่องของบริการความเร็วต่ำ น่าจะกำหนดไว้ให้เป็นข้อผูกพัน ลักษณะคล้าย ๆ ที่กำหนดเรื่องต้องรองรับชนบท
อาจจะต้องจัดสรรโควต้า งานพวกนี้ด้วย เช่น sensor device หรือ agent ต่าง ๆ ไม่แน่ใจนะครับว่าผลของตลาดใหญ่ที่ต่อไปจะเทไปทาง 3g แล้ว gprs เดิมอาจมาครอบครองตลาดส่วนนี้แทนหรือเปล่า แต่พูดถึงความง่ายของ 3g น่าจะง่ายกว่า เพราะในแง่ของธุรกิจ package เหล่านี้ดูแล้วผลตอบแทนไม่ดึงดูดให้ลงทุนทำ
3G มีไว้ให้คนรวยใช้ ผมคิดแบบนั้นนะ
พออ่านเรื่อง บริการความเร็วต่ำ แล้วโดนเลย อยากให้มี
มันไม่ง่ายเลยที่จะทำ GIF ให้มีขนาดน้อยกว่า 20kB
อันนี้เป็นจดหมายฉบับเต็ม ที่ผมส่งไปยัง กทช. เมื่อวาน (รวมสองประเด็นข้างต้นแล้ว) เผื่อมีใครสนใจครับ
http://bit.ly/thai3gcomment
เป็นประเด็นที่ควรจะมีการพิจารณาด้วยจริงๆครับ
ผมอยากให้มันมาลดจุดบอดบริเวณที่ adsl เข้าไม่ถึง