ศาลประเทศออสเตรเลียตัดสินยกฟ้องบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต iiNet ในคดีที่กลุ่มเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ฟ้องร้องโทษฐานที่อนุญาตให้ผู้ใช้แชร์ไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ได้
คดีดังกล่าวเป็นการอุทธรณ์จากคำตัดสินเมื่อปีที่แล้ว ที่ศาลชั้นต้นตัดสินว่าผู้ให้บริการไม่ต้องรับผิดชอบเช่นกัน
ความเป็นมาของคดีดังกล่าวเริ่มจากว่า กลุ่มเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ในนาม Australian Federation Against Copyright Theft (AFACT) ได้ว่าจ้างบริษัทหนึ่งให้คอยสอดส่องเครือข่ายทอร์เรนต์เพื่อหาการกระทำผิด ก่อนจะส่งที่อยู่ IP ไปให้กับ iiNet เพื่อให้ iiNet ดำเนินการบางอย่างกับผู้ใช้เหล่านี้ (เช่นระงับบริการ) แต่ iiNet ปฏิเสธคำร้องขอของ AFACT โดยให้เหตุผลว่า ลำพังข้อกล่าวหาและที่อยู่ IP นั้น ไม่เพียงพอที่จะเป็นเหตุให้ iiNet ระงับการใช้งาน และ AFACT ควรจะดำเนินเรื่องผ่านผู้มีอำนาจรัฐที่มีหน้าที่ดังกล่าว สุดท้าย บรรดาบริษัทภาพยนตร์ก็เลยฟ้อง iiNet โทษฐานที่อนุญาต (authorize) ให้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ และไม่ใช้มาตรการที่จำเป็นในการระงับเหตุดังกล่าว
ถึงแม้ว่าศาลจะตัดสินยกฟ้อง แต่ก็ระบุไว้ว่า การตัดสินยกฟ้องในคดีนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคดีในอนาคตที่ iiNet จะถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาอนุญาตให้ผู้ใช้ละเมิดลิขสิทธิ์ได้
คำตัดสินในคดีนี้ยาวและละเอียดมาก มีระบุกระทั่งว่า "Computers operate by means of binary code. A bit is either a zero or a one. A byte is 8 bits. A kilobyte is 1,024 bytes, a megabyte is 1,024 kilobytes and a gigabyte is 1,024 megabytes."
ที่มา – Ars Technica
Comments
อืม ลงนิยามไปถึงหน่วยนับข้อมูลกันเลยทีเดียว
มันห้ามกันยาก....
นึกถึงไทย ที่"ตัวกลาง"ถูกจับกลางสุวรรณภูมิ
"With the first link, the chain is forged. The first speech censured, the first thought forbidden, the first freedom denied, chains us all irrevocably."