เราหลายๆ คนในเว็บนี้ที่อ่านนิยายวิทยาศาสตร์กันเป็นประจำน่าจะเคยได้ยินชื่อของคอมพิวเตอร์ควันตัม เช่นในเรื่อง Digital Fortress ของแดน บราวน์นักเขียนผู้โด่งดังกันมาบ้างแล้ว และคงคิดสงสัยกันว่าในวันหนึ่งแล้วโลกของเราจะล่มสลายลงจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ควันตัมนี้หรือไม่
ในบลอคล่าสุดของ Bruce Schneier นักเขียนและที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ได้ระบุถึงเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่าแม้ว่าคอมพิวเตอร์ควันตัมนั้นจะมีความสามารถในการแยกตัวประกอบ (Factorize) ได้ด้วยความเร็วที่สูงมาก ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วระบบการเข้ารหัสแทบทั้งหมดในโลกตอนนี้อาศัยความจริงพื้นฐานที่ว่าคอมพิวเตอร์ไม่สามารถแยกตัวประกอบได้ในเวลาที่สมเหตุผล แต่ต้องใช้เวลามากเป็น Exponential ดังนั้นหากคอมพิวเตอร์ควันตัมสามารถแยกตัวประกอบได้ในภายในเวลาที่รวดเร็วแล้ว นั่นก็หมายความว่าการถอดรหัสโดยไม่รู้แม่กุญแจก็สามารถใช้เวลาสั้นๆ ถอดรหัสได้เช่นกัน
แต่บทความในบลอคนี้ก็พูดถึงข้อจำกัดของคอมพิวเตอร์ควันตัมไว้อย่างน่าสนใจว่า แม้คอมพิวเตอร์ควันตัมจะแยกตัวประกอบได้เร็วมาก แต่เทคโนโลยีที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ควันตัมที่ซับซ้อนพอที่จะใช้ถอดรหัสที่เข้าไว้อย่างแน่นหนาในทุกวันนี้นั้นจำเป็นต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกยาวนาน โดยยกตัวอย่างการเข้ารหัส 4096 บิตที่หากการพัฒนาคอมพิวเตอร์ควันตัมทำได้อย่างต่อเนื่องเท่าๆ กับคอมพิวเตอร์ซิลิกอนปรกติแล้ว จะใช้เวลาถึง 45 ปีทีเดียว
อย่างไรก็ตามตอนนี้เองก็เริ่มมีการวิจัยถึงการเข้ารหัสแบบใหม่ๆ ที่สันนิษฐานว่าจะมีการสร้างคอมพิวเตอร์ควันตัมที่ซับซ้อนมากกันแล้ว
บทความนี้อ้างถึงบทความในนิตยสาร Scientific American เล่มล่าสุดที่พูดถึงคอมพิวเตอร์ควันตัมพื้นฐานไว้อย่างน่าสนใจ พอดีผมได้อ่านแล้วแนะนำให้ทุกคนไปหามาอ่านกันครับ ส่วนหนังสือของ Bruce Schneier นั้นมีแปลเป็นภาษาไทยแล้วเล่มหนึ่งคือ "ความลับและกลลวงในโลกเน็ตเวิร์ค" เป็นหนังสือที่พูดถึงระบบความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ไว้แบบคร่าวๆ โดยไม่ต้องอาศัยความรู้คณิตศาสตร์ชั้นสูง แนะนำให้อ่านอีกเช่นกัน
ที่มา - Emergent Chaos
Comments
อ่านแล้วผมสับสนคำว่า การถอดรหัสโดยไม่รู้แม่กุญแจ นะว่าหมายถึง Asymetric-Key Algorithm (Public-Key Cryptography) หรือ Zero-Knowledge Protocol แต่พออ่านจบคิดว่าน่าจะเป็นแบบแรกมากกว่า
PoomK
ไม่รู้แม่กุญแจ มีด้วยเหรอคับ เคยได้ยินแต่
ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ
เคยเรียนมาอยู่เหมือนกัน แต่ว่าปัญหานี้ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไรเพราะเมื่อเราจะมี quantum cryptography ใช้กันแทน โดยความยากของการถอดรหัสจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความยากทางการคำนวณ แต่จะเป็นคุณสมบัติทางฟิสิกส์ (อยากรู้อ่านต่อที่เว็บนี้ http://cam.qubit.org/articles/intros/crypt.php) นอกจากนั้นยังมี quantum teleportation ที่แยกสองควอนตัมบิทที่มันโยงกันอยู่ (entangled) ออกจากกัน เอาบิทนึงไ้ว้ที่ผู้รับ อีกบิทไว้ที่ผู้ส่ง พอบิทที่ผู้ส่งเปลี่ยนสถานะ (คล้ายๆ เขียนข้อมูลลงไป) บิทที่ผู้ส่งก็จะเปลี่ยนเป็นสถานะเดียวกัน ทำให้ผู้ส่งสามารถอ่านค่าออกมาได้
ที่บอกมานี่ออกมาจากความเข้าใจผมเอง ไม่การันตีว่าถูกเผงๆ เอามาใส่เป็นของเรียกน้ำย่อยให้ผู้สนใจหาอ่านต่อนะครับ :D
อ่านหนังสือเรื่อง Time Line (ภาพยนต์ไม่สนุกเท่าหนังสือ) ก็บอกถึงเรื่องนี้เหมือนกัน
ทำไมในความรู้สึกว่ามันยังห่างไกลจังแฮะ กว่าจะได้ใช้ในชีวิตคนธรรมดา
ให้นึกถึงสิ่งแรกถ้าพูดถึง Quantum ผมจะหมายถึง Quantum Television ที่เขาโฆษณาพวกสากกะเบือยันเรือรบในทีวีน่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นเพรียวกล้ามเป็นลอน หรือกระทะ ใบมีด เครื่องรีดผ้าอะไรอีกเยอะแยะ ไม่ได้นึกถึงวันล่มสลายอะไรเลยจริงๆ :D มีแต่จะคิดว่าเมื่อไรมันจะเลิกโฆษณาแบบนี้กันเสียที
สมัยเด้กๆ เคยรอดูรายการ Quantum TV ด้วยความใจจดใจจ่อ คิดว่าเป็นรายการวิทยาศาสตร์ ที่ไหนได้......
Lastest Science News @Jusci.net
Lastest Science News @Jusci.net
555+ +1 เหมือนกันเลยครับ
หนังสือ "ความลับและกลลวงในโลกเน็ตเวิร์ค" ที่ว่านี้เป็นของสำนักพิมพ์ไหนครับ ผมจะได้เดินหาในงานหนังสือได้น่ะครับ ขอบคุณมากครับ
ของซีเอ็ดกระมังฮะ หนังสือร่วมๆสามสีปีได้แล้ว ผมซื้อมาแล้วก็เอามาวางกองบนเตียงมาสามปีได้แล้วฮะ อ่านไม่จบซักที (ความขี้เกียจเกาะกุม)
ขอบคุณมากฮะ ^_^
เช่นกันครับ อ่านไปได้แค่ครึ่งเล่ม
เป็นหนังสือที่ดีมากครับ แต่อ่านทีไร ง่วงนอนทุกที
พูดถึง Quantum ผมนึกถึงยี่ห้อ HardDisk