วันนี้ผมไปงาน WTTC2008 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์คจัดโดยศูนย์ไทยกริดร่วมกับกระทรวงวิทย์ หน้าที่ตามเคยของผม คือคุยกับชาวบ้านและนักข่าว พยายามให้เขาเข้าใจว่า ประเทศไทยควรจะรับรู้ว่าเทคโนโลยีใหม่ๆมีอะไรกัน จะได้ไม่ตกรถไฟ ปีนี้เราเชิญ ดร.โทมัส เสตอริ่ง บิดาของแบวูฟล์คลัสเตอริ่งเทคโนโลยีมาได้ ท่านได้ทิ้งข้อคิดไว้หลายประการครับ
ดร.โทมัส เสตอริ่ง เคยทำงานอยู่ NASA ที่ NASA Goddard Space Center ต่อมาย้ายไปที่ NASA JPL ปัจจุบันท่านทำงานที่ Louisiana State University ครับ ท่านผู้นี้เป็นผู้ให้กำเนิดเทคโนโลยีของคลัสเตอร์บนลินุกซ์ที่เรียกว่า แบวูฟล์คลัสเตอริ่งเทคโนโลยี (Beowulf Cluster)
ตอนที่ท่านทำงานที่ NASA Goddard Space Center ท่านเป็นคนแรกๆที่มองเห็นศักยภาพของระบบพีซี โอเพนซอร์สและลินุกซ์ ว่าหากนำพีซีจำนวนมากมาต่อเชื่อมกันผ่านเครือข่ายความเร็วสูง และลงลีนุกซ์ ใครๆก็สร้างซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ใช้เองได้ในราคาถูก ตอนนั้นในราวปี 1994 ไม่มีใครเชื่อเลย ทาง NASA เองก็ซื้อเครื่องซูปเปอร์คอมพิวเตอร์แพงๆ จาก CRAY และ SGI มาตลอด ดร.โทมัส เสตอริ่ง และทีมงานได้ทำ PC 486DX100 มีหน่วยความจำ 64 Mb มาต่อผ่าน Fast Ethernet Switch และนำโปรแกรมประยุกต์ต่างๆของ NASA มาทดลอง ปรากฎว่า เร็วพอๆ กับเครื่องซูปเปอร์คอมพิวเตอร์แพงๆ ที่มีทำให้คนเริ่มเปลี่ยนความคิด เมื่อทาง NASA ยอมรับเลยทำให้เทคโนโลยีคลัสเตอร์แพร่ออกไปและเปลี่ยนแปลงโลกครับ ปัจจุบันถ้าเราดูที่รายชื่อ Top 500 คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก ท่านจะพบว่าเป็นคลัสเตอร์เกือบทั้งหมด ผมได้มีโอกาสช่วยเป็นล่ามแปลคำสัมภาษณ์ของดร.โทมัส เสตอริ่ง ให้สื่อมวลชนฟัง มีหลายประเด็นที่น่าสนใจครับ ขอเล่าสู่กันฟังดังนี้
ในเรื่องเทคโนโลยีของซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ ท่านบอกว่าเรามีปัญหาใหญ่ทั้งโลก นั่น คือ ระบบปฏิบัติการที่ใช้ ตัวไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้ ภาษาโปรแกรมที่ใช้ เป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเมื่อ 30 ปีก่อน แต่ไม่มีใครยอมเปลี่ยน ทำให้ความก้าวหน้าของวงการนี้เป็นกราฟเส้นตรง ในขณะที่เทคโนโลยีพื้นฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นการทำชิปนั้นดีขึ้นเป็น exponential ผลคือ เราติดในวิกฤติอย่างรุนแรง ช่องว่างระหว่างเทคโนโลยีที่ใช้สร้างคอมพิวเตอร์ได้กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีพื้นฐานกว้างขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ทำให้เราได้คอมพิวเตอร์ที่ช้ากว่าที่ควรจะได้มาก
ความเร็วในการทำงานของคอมพิวเตอร์เริ่มอยู่ตัว ความเร็วของซีพียูคอร์จะค่อนข้างคงที่ ขีดจำกัดนี้ทำให้การขยายตัวของฮาร์ดแวร์จะออกทาง Horizontal คือ เพิ่มจำนวนคอร์ไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามเรายังมีแค่ภาษาโปรแกรมและเทคนิคที่พัฒนาโปรแกรมแบบขนานให้ทำงานพร้อมกันได้ไม่กี่สิบหรือไม่กี่ร้อยงาน ท่านบอกว่าเราต้องการแนวทางที่ทำให้เกิดการพัฒนาโปรแกรมแบบขนาน ที่ทำงานพร้อมกันได้นับพันล้านงานจึงจะดึงศักยภาพของคอมพิวเตอร์ในอนาคตออกมาได้ อันที่จริง ดร.โทมัส เสตอริ่ง กำลังทำวิจัยเรื่องนี้อย่างหนักอยู่ โดยใช้เทคโนโลยีแบบ message driven architecture เป็นหลัก
การออกแบบในวงการคอมพิวเตอร์ยังสามารถปรับปรุงได้อีกมาก ท่านมองว่าเรามักเน้นการต่อยอดเทคโนโลยีเดิมโดยการเพิ่มความซับซ้อนไปเรื่อย ทำให้บริษัทมีภาระในการบำรุง รักษาซอฟต์แวร์สูงมาก นอกจากนั้น การทำงานยังมีขีดจำกัดมาก ท่านมองว่าการออกแบบคอมพิวเตอร์แห่งอนาคตจะเกิดจากการสร้างระบบที่ทำงานแบบง่ายมากๆ จำนวนมหาศาลมาเชื่อมโยงกัน และโปรแกรมประยุกต์จะทำงานแบบขนานอย่างมหาศาลบนระบบนั้น ถ้าเราดูร่างกายที่ซับซ้อนของมนุษย์ ก็ประกอบด้วยเซลล์ง่ายๆ จำนวนมหาศาลที่เชื่อมกัน และทำงานพร้อมกัน ตอนนี้เรื่องเหล่านี้ก็ยังไม่มีแนวคิดที่ได้ผลจริงจัง
สำหรับประเทศไทย ท่านให่้แนวคิดว่า เรามีโอกาสในการแข่งกับคนทั้งโลกครับ เนื่องจากเทคโนโลยีในโลกไม่คงที่ ทุกช่วงเวลาหนึ่งเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนครั้งใหญ่ ทุกคนต้องหยุดเรียนรู้ของใหม่หมด ดังนั้นประเทศไทยก็จะมีความสามารถพอกับทุกที่เนื่องจากทุกคนก็เพิ่งเริ่มใหม่หมด ผมได้เห็นความจริงข้อนี้จากโครงการกริด เนื่องจากเรามีขีดความสามารถในระดับเอเชียได้ปัจจัยหนึ่ง คือ ทุกคนเพิ่งเริ่มเหมือนเราหมด ท่านพูดถึง พี่น้องตระกูล Wright ที่มีกันสองคนก็สร้างเครื่องบินได้ เพราะทุกคนก็เริ่มที่จุดนั้นหมด อย่างไรก็ตามประเทศไทยต้องการ
สุดท้านท่านแถมว่า ทำการใหญ่ต้องมี วิสัยทัศน์ (vision) ชัดเจนว่าเทคโนโลยีใดกำลังมา และ มีแรงใจ (will) ที่จะทุ่มกำลังทำให้บรรลุผลให้ๆได้
อือม ผมว่าตรงนี้แหละยากที่สุดสำหรับประเทศไทยเรา เราเป็นสมาชิกระดับก่อตั้ง NATO เลยครับ (NATO = NO ACTION TALK ONLY)
Comments
NATO ;-)
ประเทศเราเป็นสมาชิกถาวรของ NATO นะครับจะบอกให้ โดยเฉพาะคนในสภา เหอๆ
ปล. ขอแก้เป็น No Action, Talk(Bullshit) Only ได้ไหม
+1 ให้คำว่า Bullshit ครับ ;)
ช่ายๆ ไม่ได้ลงไม้ลงมือทำ (NA) ^_^Y
notz-dev :: RIA Develop & Design
ผมเงียบ แล้วใช้มือทำงานให้เสร็จ ถึงแม้จะออกมาไม่ดี แต่ก็ดีกว่าคนที่เอาแค่จินตนาการ แล้วมันก็เป็นได้แค่ฝันลมๆ แล้งๆ (แอบเหน็บใครบางคน เขาอาจจะอ่านในนี้ครับ)
ผมว่าอยู่ที่มุมมองนะ
เราต้องมีคนกลุ่มหนึ่งพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น
และเราก็ต้องมีคนกลุ่มหนึ่งที่คิดสิ่งใหม่เช่นกัน
ความฝันเป็นสิ่งที่ดี ถ้าฝันแล้วลงมือทำ (สำเร็จไม่สำเร็จอีกเรื่อง แต่ก็ได้ลงมือทำ)
ผมเชื่อว่าคนทุกคนมีความฝันไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง แต่จะทำหรือไม่ทำก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ควรทำลายความฝันและความตั้งใจของคนอื่น
ปล. ผมไม่ได้ถูกแทงใจดำ แต่ก็ไม่อยากให้ใครทำลายความฝันคนอื่น
คือว่า ฝันแล้วทำ ผมก็ไม่ว่าอะไรอ่ะครับ แต่นี่ฝันแล้วไม่ทำ แถมยังขัดแข้งขัดขา ทำลาย+ทำร้าย กำลังใจ กันด้วย อ่ะสิ แบบนี้ผมไม่ไหวอ่ะ
แล้วเคยเจอไหม ไม่ฝันแล้วยังไม่ทำ ดีแต่เอาหน้าตากับเสียงไปออดอ้อนเจ้านายให้เคลิบเคลิ้ม เอาผลงานคนอื่นไปแอบอ้างแถมชอบนินทาคนอื่นให้รำคาญ พอถึงเวลาปรับเงินได้ดีกว่าคนอื่นทุกที ทำงานแล้วท้อสิ้นดี
ถูกใจคำว่า NATO จัง หุหุ^^
My Blog -> http://paiboonpa.wordpress.com
อยากให้ประเทศเราสนใจ research ด้านเทคโนโลยีแบบเป็นจริงเป็นจังบ้างจัง อยากเห็นแบบ bell lab ในไทย ^^ หรือว่ามีอยู่แล้วแต่ผมไม่รู้
ศูนย์แบบ Bell lab ไม่มีหรอกครับ ถ้ามีเดี๋ยวจะประเทศไทยจะอดได้รางวัล No-BELL
หว้า... งั้นประเทศไทยคงได้แน่ๆ เลย ฮ่าๆๆๆๆ
ลองดูนี่ครับ แค่ขำขำ หุหุ
ASIAN
Absolutely Slow and In-Active Nation
National Product!
แสดงว่า OTOP นี่สวนกระแส
Talk Too Much Do Nothing
เป็นกำลังใจให้ครับ.. เห็นด้วยกับที่ว่าเราทุกคนต้องเริ่มต้นใหม่เหมือนกันหมดครับ แต่พื้นฐานการคิดและการทำงานของเราต้องแน่นพอและพร้อมที่จะสู้กับคนอื่นได้นะครับ เพราะไม่อย่างนั้นเราก็จะช้ากว่าเพื่อนหรือคนอื่นๆ เสมอไปครับ
Education --> Innovation --> Product
ตรงนี้เห็นด้วยเต็มๆ เลยครับ ก่อนอื่นเราต้องเรียนรู้สิ่งที่มีอยู่แล้วก่อน และต้องมีพื้นฐานที่แน่นพอสมควร ถึงจะนำความรู้ไปใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ (รู้แค่งูๆ ปลาๆ ก็ทำให้เรียนจบไปได้เท่านั้น) ต่อมาก็นำความรู้ที่มีอยู่มาคิดค้นอะไรใหม่ๆ แล้วถ้าความคิดนั้นมันใช้ได้ ก็นำมาสร้างเป็น product ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่งั้นมันก็เป็นแค่งานวิจัยอยู่บนหิ้ง
แต่ปัญหาสำคัญก็คงอยู่ที่ NATO นี่แหละ คนไทยเราเป็นกันเยอะครับ (ผมก็ด้วย) ก่อนเราจะไปโทษรัฐบาลว่าไม่สนับสนุนอย่างงั้นอย่างงี้ น่าจะเริ่มจากที่ตัวเราก่อนนะครับ ว่าเราได้เรียนหรือทำงานอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง