บทความโดยคุณศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 22 กันยายน 2551 ผมเห็นว่ามีประโยชน์เลยนำมาลงซ้ำอีกครั้ง โดยได้รับคำอนุญาตจากคุณศิริพงษ์แล้ว - mk
โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ ทางเลือกที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
นึกขึ้นมาได้ว่าผ่านหูผ่านตาประกาศกำหนดปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ อย่างจริงจังโดยกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ (บิซิเนส ซอฟต์แวร์ อัลไลน์ซ) ร่วมกับ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ดีเดย์ไว้วันที่ 15 ตุลาคมนี้ เป็นเส้นตายสำหรับองค์กรธุรกิจที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ หากตรวจพบจะถูกจัดการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด โดยบีเอสเออ้างว่ามีรายชื่อบริษัทธุรกิจในมืออยู่แล้วราว 100 บริษัท
นับจากวันนี้ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน บริษัทไหนยังมีซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ก็เตรียมตัวเตรียมใจ และเตรียมเงินเผื่อเอาไว้หน่อย
พูดถึงเรื่องนี้ทำให้นึกถึงรัฐวิสาหกิจอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.ขึ้นมา องค์กรนี้เป็นองค์กรใหญ่ที่ริเริ่มเรื่องโอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ มาตั้งแต่ราวปี 2537 เริ่มจากเซิร์ฟเวอร์ขยายมาเรื่อยๆ และลงเป็นแผนจริงจังในปี 2547 ขยายการใช้งานไปสู่เดสก์ท็อป แม้ระบบปฏิบัติการที่พนักงานใช้ทั่วๆ ไปยังเป็นวินโดว์สอยู่ แต่ซอฟต์แวร์สำหรับการทำงานตัวอื่นๆ ซึ่งเป็นโอเพ่นซอร์ส ถูกขยายการใช้งานไปเรื่อยๆ อย่างเช่น โอเพ่น ออฟฟิศ หากดูตามแผนงานแล้วถึงสิ้นปีหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวน 10,000 เครื่อง ของ กฟผ.จะใช้โอเพ่น ออฟฟิศ แทนไมโครซอฟต์ ออฟฟิศ
ก็ไม่ต้องเสียเงิน และไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ใครด้วย จำได้ว่าผู้บริหาร กฟผ.บอกว่า การปรับองค์กรให้หันมาใช้โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์มากขึ้นตามแผนงานนี้ ช่วยประหยัดงบประมาณได้ราวปีละ 30 ล้านบาท
ถ้าองค์กรใหญ่ระดับ กฟผ.ยังใช้โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ ได้ ก็ไม่มีข้อกังขาอะไรแล้วละครับ
เท่าที่เห็นๆ มา คนทั่วๆ ไปเกี่ยงงอนท่าโน้นท่านี้กับโอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์ แล้วก็ก้มหน้าก้มตาใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไปโดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร บางคนก็อ้างเอาดื้อๆ ว่าก็อยากขายแพง ซึ่งว่าที่จริงแล้วของราคาแพงไม่ได้เป็นเหตุผลอันชอบธรรมให้เราต้องไปขโมย เขามาใช้ ในกรณีที่มีทางเลือกอื่นให้เลือกอยู่ไม่น้อยอย่างในเวลานี้
อันที่จริงถึงแม้จะยังใช้ระบบปฏิบัติการวินโดว์สอยู่ เพราะบางคนไม่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ แต่โอเพ่นซอร์ส ซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานทดแทนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์นั้นมีอยู่ครบถ้วนให้ใช้ ถ้าไม่พร้อมจะเสียเงินไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็ควรจะหันมาหาทางเลือกที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์
จากประสบการณ์ส่วนตัว อย่าว่าแต่พวกโปรแกรมใช้งานต่างๆ เลยครับ แม้แต่ระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ที่ผมใช้ก็เป็นลินุกซ์ในสายพันธุ์อูบุน ตูหมด ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร ถ้ามีก็หาทางแก้เอา เหมือนสมัยก่อนโน้นที่ยังใช้วินโดว์สก็มีปัญหาให้แก้อยู่เนืองๆ
แต่ลินุกซ์ได้เปรียบกว่าก็ตรงความเร็วและความปลอดภัยไร้กังวลเรื่องไวรัส มีชุมชนบนอินเตอร์เน็ตที่คอยช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา
ผมเข้าไปใน www.ubuntuclub.com ซึ่งเป็นชุมชนอูบุนตูของไทยที่แข็งแกร่ง และสักระยะหนึ่งมาแล้ว เจอเข้ากับอูบุนตูฉบับคนไทยอีกตัว ใช้ชื่อว่า "ไพเรต เอดิชั่น" ซึ่งก็คือเวอร์ชั่นที่ดัดแปลงตบแต่งจากต้นฉบับดั้งเดิม ปิดจุดอ่อนหลายๆ จุด เพื่อให้เหมาะสมสำหรับการใช้งาน ซึ่งก็สรุปปัญหามาจากประสบการณ์ที่เจอๆ กันนั่นแหละครับ สำหรับมือใหม่และคนอยากลองของโดยไม่มีพื้นฐานมาก่อน แนะนำให้เอาตัวนี้ไปทดสอบจะดีกว่าตัวต้นฉบับ สนใจก็เข้าไปดาวน์โหลดมาได้จาก http://mirror.nytes.net/linux/clubuntu/preview/somjate/ และเข้าไปหาความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งได้ที่อูบุนตูคลับ
ข้อดีของระบบปฏิบัติการแบบโอเพ่นซอร์ส อยู่ตรงที่สามารถนำมันมาดัดแปลงให้สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการใช้งาน อย่างเช่น ไพเรต เอดิชั่น เป็นตัวอย่างหนึ่ง ความจริงแล้วในต่างประเทศยังมีการดัดแปลงกันไปอีกมากมายสำหรับงานเฉพาะทาง เช่น อูบุนตู สตูดิโอ สำหรับคนทำงานด้านมีเดียโดยเฉพาะ เป็นต้น
อีกตัวหนึ่งสำหรับคอมพิวเตอร์เก่าๆ ของคนไทยก็คือ SUTLinux ที่ดัดแปลงมาจาก PuppyLinux ดาวน์โหลดได้จาก linux.sut.ac.th/download/
เหล่านี้ล้วนเป็นงานสร้างสรรค์ที่น่าชื่นชมทั้งในวงการโอเพ่นซอร์ส
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน มติชนรายวัน
Comments
รอดูครับ ว่าการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิบ้านเรา จะเอาจริง เอาจังแค่ใหน เพราะทีผ่านๆ มามันเหมือนมวยที่จดๆ จ้องๆ ถ้ามันเอาจริงๆ ซักครั้ง คนไทยจะได้ตัดสินใจซะทีว่าจะไปในทิศทางใหน
ไม่ต้องรอ "เขา" หรอกครับ เริ่มที่ "เรา" เริ่มได้เลย
แหม้ พ่อพึ่งบ่นว่าเครื่องคอมที่บ้านช้าๆแล้ว ลง Windows ใหม่ให้หน่อย
สงสัยใช้โอกาศนี้ลอง Linux ซะเลยดีกว่า...
เอางั้นเลยเนอะ
ถ้าเขาถามหาแคมฟรอกจะบอกไงละนั่น
ก็ฟ้องแม่เลยครับ...จบ
ไม่กล้าฟ้องฟ่ะ -*-
ของแบบนี้ ต้องหักดิบครับ
CMDEVHUB
เขียนเอามันส์ ลองเข้าไปดูความมันส์ได้ครับ
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ ^_^
เรื่องนี้พูดไปก็เหมือนปากว่าตาขยิบ จริงๆ แล้วผมพยายามใช้ software ถูกลิขสิทธิ์ในระดับนึง โดยอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่แพงจนเกินไปนักซึ่งก็ได้ผลพอสมควรเหลือแค่ 5 โปรแกรม แต่การจะให้คนอื่นใช้นี่จนปัญญาจริงๆ (มีเพื่อนผมคนนึงบางว่าแผ่น pantip ยังไม่กินเงินมันเลย load bit อย่างเดียว) การที่เิริ่มที่องค์กรก่อนเป็นสิ่งที่ดี แต่เรื่องพวกนี้ต้องค่อยๆ เป็นค่อยไป
การจะแก้ปัญหาซอฟแวร์เถื่อนนั้น ต้องแก้ที่ต้นเหตุครับ ไม่ใช่แก้ที่ปลายเหตุ ถ้าไม่มีการขาย ก็จะไม่เกิดการซื้อ ดังนั้นการปราบปรามในครั้งที่จะถึงนี้ ถ้าจะคิดให้ดีก็คือการใช้อำนาจในการทุจริตอย่างหนึ่ง ประชาชน หรือ องค์กร จะตกเป็นเหยื่อของการปราบปรามที่ไม่มีมนุษยธรรม การปราบปราบในครั้งนี้ก็เหมือนกับการปล้น แม้ว่าจะพูดแบบผู้ดีว่าคือการปรับ หรือการตักเตือน แต่ที่แท้จริงก็คือการทุจริตอย่างหนึ่งเท่านั้น พระพุทธเจ้าสอนว่าจะแก้ปัญหา ต้องแก้ที่ต้นเหตุครับ ถ้าท่านมีปัญญา จงคิดให้ดีว่า ผลประโยชน์ครั้งนี้ คือการร่วมมือกันในการทำให้สังคมวุ่นวายยิ่งขึ้น ถ้าเราไม่สามารถซื้อซอฟแวร์เถื่อนได้ เราก็จะหันไปใช้ของที่ถูกต้องกันเอง ถ้าจะบอกว่าดาวโหลดจาก torrent ได้ เลยตามมาจับก็ตกไปอีก เพราะจริงๆแล้วทาง isp สามารถปิดกันการเข้าสู่ข้อมูลพวกนี้ได้เหมือนกันมิใช่เหรอครับ ดังนั้นขอให้คิดให้ดี จะเกิดพันธมิตรประชาชนต่อต้านบีเอสเอรึเปล่าหว่า...
ปิด bittorrent นี่ทำไม่ได้ครับ tracker ในโลกนี้มีมากมายหลายร้อยหลายพันแห่ง แม้จะจับ package หรือ header หรือพยายามป้องกัน P2P แค่ไหน ในที่สุดก็จะมีคนพัฒนาโปรแกรมให้เอาชนะการป้องกันได้อยู่ดี ถ้าจะแก้ที่ ต้นเหตุ จริงๆ ไม่ใช่แก้ที่คนขายของเถื่อน ต้นเหตุมันคือจิตสำนึกต่างหาก
ถูกต้องหล่ะคร้าบบบบบบ แก้ที่จิตสำนึก
Ford AntiTrust’s Blog | PHP Hoffman Framework
+googol^googol
อืม นั่นสิครับต้องแก้ที่จิตสำนึก คอมพ์ของผมเองใช้ Ubuntu แบบเพียวๆเลย มันก็ทำงานได้ดีทุกอย่าง ต้องแก้ที่การศึกษาขั้นพื้นฐานเลย ให้ครู ปลูกจิตสำนึกให้เด็กไทยในเรื่องนี้ให้มากขึ้น จริงๆแล้วในการทำงานจริง Linux ก็เพียงพอแล้วกับการทำงานแทบทุกอย่างจริงๆครับ
อันนี้ความเห็นส่วนตัวหลังจากที่ได้ลองอูบุนตูมา ช่วงนั้นเครื่องปลอดโปรแกรมละเมิด มันทำให้แอบรู้สึกไปคนเดียวว่า เอ้ย เท่ห์ว่ะ ช่วงนั้นต่อมจิตสำนึกเลยถูกกระตุ้น ทุกวันนี้เวลาจะหาโปรแกรมอะไรมาใช้ ก็พยายามหาโปรแกรมโอเพ่นซอร์สมาลองก่อนเป็นอันดับแรกคับ แต่ว่าเพลง เอ็มพีสาม ที่มีอยู่เปิดฟังทีไรมันก็รู้สึกเขินๆเหมือนกันนะ
ผมใช้ ubuntu เต็มเวลามาสองปี
ถวิลหาวินโดวส์อยู่ทุกวันเพราะอยากใช้ Visio ครับ
จะมีใครทำ fund raising ไปซื้อ smartdraw มาโอเพนซอร์สมั่งมั๊ยนี่
LewCPE
lewcpe.com, @wasonliw
ผมว่าปัญหานี้ส่วนนึงมันก็เป็นเรื่องของความแตกต่างระหว่างประเทศเรากับประเทศผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้วยนะครับ
รายได้เฉลี่ยคนที่ใช้ซอฟต์แวร์ของเราเท่าไหร่ ของเค้าเท่าไหร่
ถ้าจะแก้ที่ต้นเหตุตรงนี้จริงๆ เห็นจะต้องปรับฐานเงินเดือนของทุกอาชีพในประเทศเรา
ซึ่งผมว่ามันก็ได้เวลาทำแล้วล่ะ...
การปรับฐานเงินเดือนจะส่งผลกระทบในวงกว้างหลายๆด้านครับ ชีวิตความเป็นอยู่จะถูกปรับไปหมด ข้าวของจะราคาแพงขึ้นตามเงินเดือน สำหรับคนที่เงินเดือนสูงพอสมควรอยู่แล้วก็จะไม่กระทบอะไรมากนัก แต่คนไทยที่ไม่มีเงินเดือนยังมีอยู่เยอะครับ สังคมอาจจะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ จริงๆสังคมมันก็แย่อยู่แล้วในด้านจิตใจจิตใต้สำนึก ถ้าจะปรับจริงๆก็ต้องปรับจากพ่อแม่ พ่อแม่ต้องสอนลูกรักลูกเข้าใจลูก ผมเคยติดเกมส์ครับ ตอนนี้ไม่ติดแล้ว เมื่อก่อนตอนเป็นเด็กติดเกมส์เพราะพ่อแม่ต้องทำงานตลอดเวลา ไม่มีเวลาให้เรา ไม่ได้เอาใจใส่เรา ปล่อยให้เราอยู่คนเดียว เราก็ต้องมีอะไรทำตามประสาเด็ก ก็เล่นเกมส์ครับ เป็นเกมส์ของเครื่องที่ถูกแปลงระบบเพื่อเล่นแผ่นก็อปน่ะแหละ การที่มีแผ่นก็อปราคาถูกก็ทำให้เด็กติดเกมส์ยิ่งขึ้นนะครับ ไม่ดีเลย แล้วหลายๆเกมส์สอนให้เราใช้ความรุนแรงครับ มีเกมส์ที่สอนให้เกิดความเมตตากรุณาน้อยมากจริงๆ ส่วนพ่อแม่จะเข้าใจลูกได้ก็ต้องให้ความรู้กับพ่อแม่ก่อนครับ และต้องเป็นพ่อแม่ที่เปิดใจรับด้วย ปัญหาสังคมจะว่าจริงๆส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูทั้งนั้นแหละครับ ดังนั้นต้นเหตุก็อาจจะอยู่ที่พ่อแม่ จากนั้นก็เป็นครู ครับผม พ่อแม่ต้องสอนลูกให้ดี ครูต้องสอนนักเรียนให้ดี พล่ามซะยาวเลย...
เรื่องนี้แตะตรงไหนก็ผิดตรงนั้น เพราะทุกๆส่วนเกื้อหนุนซึ่งกันหมด การไปโทษโน่นโทษนี่คงแก้ปัญหาทั้งระบบไม่ได้ ง่ายๆเริ่มที่ตัวเราก่อน ลองถามตัวเองว่าตอนนี้เราละเมิดการใช้งานแบบไม่ถูกต้องอยู่หรือเปล่า ถ้ามีให้แก้ไขที่ตัวเองก่อน ถ้าคิดอยากจะทำดี แต่ถ้าบังคับตัวเองไม่ได้ผมมีเทคนิคแนะนำ...
เมื่อก่อนผมยอมรับนะครับว่าผมก็ยังมีการใช้งานแบบละเมิดอยู่มาก คงมากกว่าปกติเพราะอยู่ในสายคอมพิวเตอร์ และคงเหมือนหลายๆคนที่อยู่ในสังคมแบบนี้ ไม่เคยคิดว่าตัวเองผิดอะไร เพราะใครๆก็คิดแบบเราทั้งนั้น และทัศนคติผมก็เปลี่ยนไปแบบไม่ได้ตั้งใจเมื่อผมทดลองใช้งานโอเพ่นซอร์ส ตัวช่วยของผมก็คือ "ลินุกส์" รู้มั้ยครับว่ามันสามารถใช้งานทดแทนวินโดว์สได้แล้วจริงๆ มีเรื่องตื่นเต้นกับเรื่องใหม่ๆให้พบเห็นทุกวัน ได้ความรู้และสนุกไปกับมัน เชื่อหรือไม่? ว่าผมติดลินุกส์เหมือนยาเสพติด หยุดเสพมันไม่ได้จริงๆ ...
ทุุกอย่างมันเป็นที่คนอื่นทั้งนั้นแหละคร้าบ ไม่ได้เกิดจากเราหรอกคร้าบ
ก็เกิดจากเรานั่นแหละครับ ต้องปลูกจิตสำนึกให้ตัวเรา จริงๆเมื่อก่อนผมก็ใช้ครับ ตั้งแต่สมัย dos, windows 3.11, netware, win95,98,ME,2000,XP ผมใช้แบบผิดๆมาตลอด แต่พอรู้จัก linux สมัยที่ redhat กำลังดัง ผมได้ลองใช้ดู รู้สึกช่วงแรกๆก็มึนๆไป พอไปเรียนต่อไอที เค้าใช้ unix ก็เลยคิดได้ เริ่มหันมาใช้ slackware ในการเรียน ฮะๆๆ มึนไปอีกเหมือนกันครับ แต่พอเปลี่ยนเป็น fedora core 5 อาการเริ่มดีขึ้น จากนั้นก็ลองหลายๆอย่าง ทั้ง SUSE, Debian, LinuxTLE ล่าสุดก็ Ubuntu เริ่มใช้ตั้งแต่เวอร์ชั่น 6 นู่น ก็คือปี 2006 แล้วก็ค่อยๆอัพมาเรื่อยๆจน 8.04.1LTS ปัจจุบันใช้ VI คล่องกว่าใช้งาน Notepadธรรมดาไปแล้วครับ สนับสนุนการใช้งาน OpenSource เต็มที่ครับผม
ถ้ามีกฎหมายที่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของผู้ผลิตซอฟแวร์ อีกหน่อย คนในบ้านเราก็พัฒนาซอฟแวร์จำหน่าย ถึงตอนนั้นอย่างไรเสียค่าแรงเราก็ถูกกว่าของฝรั่ง เราสามารถทำราคาได้ต่ำกว่าอยู๋แล้ว ขอแต่เพียงคนไทยอย่าดูถูกฝีมือคนไทยด้วยกันก็แล้วกันนะครับ เพราะที่ผ่านๆ มาคนไทยก็เคยพิสูจน์ผลงานมาแล้ว ว่ามีความสามารถไม่แพ้ฝรั่ง แต่คนไทยดันเอาของคนไทยไปละเมิด มันก็เลยพัฒนาต่อไปไม่ได้ละครับ
เป็นสิ่งที่ผมมักพูดอยู่เสมอ ๆ เวลาไปพูดเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในที่ต่าง ๆ ครับ ;) ซึ่งเดี่ยวนี้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมากครับ
Ford AntiTrust’s Blog | PHP Hoffman Framework
http://www.bangkokpost.com/240908_Database/24Sep2008_data74.php
เอาข่าวจาก bangkok post มาฝากครับ