มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) โชว์ผลงานการสร้างเครือข่ายกริดภายใต้ชื่อ TCG@NUS หรือชื่อเต็มว่า Tera-scale Campus Grid สำหรับใช้ภายในมหาวิทยาลัย NUS โดยวัตถุประสงค์ของเครือข่าย TCG@NUS คือ การรวมพลังคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ใน NUS มาใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
TCG@NUS มีลักษณะคล้ายกับโครงการ SETI@home และโครงการอื่นๆที่ทำงานบนแพลตฟอร์ม BOINC ที่เป็นการสร้างเครือข่ายของคอมพิวเตอร์เพื่ออุทิศพลังประมวลผล แต่ TCG@NUS เลือกใช้แพลตฟอร์ม Grid MP ของบริษัท Univa UD ในการพัฒนา ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถส่งงาน (หรือโปรแกรม) ไปให้คอมพิวเตอร์ที่ว่างงานหรือมีภาระน้อยที่กระจายตัวตามหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัยได้ อันทำให้มหาวิทยาลัยสามารถใช้คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้วให้เกิดประสิทธิภาพสูง อีกทั้งใช้พลังงานไฟฟ้าของคอมพิวเตอร์เหล่านั้นได้อย่างคุ้มค่าอีกด้วย จากแหล่งข่าวที่ iSGTW ระบุว่า TCG@NUS สามารถรวมพลังของโปรเซสเซอร์ได้มากกว่า 2,600 คอร์ จากคอมพิวเตอร์พีซี 1,400 เครื่อง และเซิร์ฟเวอร์ 222 เครื่อง
ขณะนี้และที่ผ่านมา TCG@NUS ประมวลผลงานหลากหลายชนิด ตั้งแต่งานด้านวิศวกรรมการเงินไปจนถึงการทำเหมืองข้อมูล ซึ่ง TCG@NUS สามารถลดเวลาในการประมวลผลของงานที่มีความซับซ้อนได้เป็นอย่างมาก อาทิเช่น งานที่อิงบนแบบจำลองมอนติคาร์โลงานหนึ่งที่เดิมทีคาดว่าจะใช้เวลาถึง 50 วันในการประมวลผลจนเสร็จ พอมาประมวลผลบน TCG@NUS ทำให้ลดเวลาประมวลผลเหลือเพียง 1 วันเท่านั้น และบริษัท Patsnap ได้นำงานชนิดหนึ่งมาประมวลผลบน TCG@NUS ทำให้ประมวลผลจนเสร็จสิ้นได้ภายใน 10 วัน ซึ่งจากเดิมคาดว่าจะใช้เวลาถึง 2 ปี ถ้านำงานดังกล่าวไปประมวลผลบนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียว
ที่มา - INTERNATIONAL SCIENCE GRID THIS WEEK (iSGTW) และ NUS
Comments
เด็ดไปเลยนะครับ แต่มหาลัยในประเทศไทยจะทำตามบ้างหรือเปล่านี่ซิ เพราะพวกเหมืองข้อมูลหรือการประมวลผลแบบสูงๆ ไม่ค่อยมีมากในไทยซะด้วยซิ
หายากครับ ส่วนมากก็ตัวใครตัวมัน
I will change the world, to the better day.
I will change the world, to the better day.
ถ้าเรื่องการทำเหมืองข้อมูล ผมไม่ค่อยทราบเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นงานประเภทประมวลที่ซับซ้อนหรือต้องใช้พลังการประมวลผลมากๆ มหาลัยในไทยก็มีงานแบบนี้เยอะเลยทีเดียวครับ โดยเฉพาะงานทดลอง งาน simulation หรือเวลาจะปั่นเปเปอร์หรืองานตีพิมพ์เนี่ย ต้องการพลังในการประมวลผลสูงมากๆ นอกจากนี้ กริดหรือคลัสเตอร์ ยังสามารถประมวลผลงานเดี่ยวๆ (งานที่เป็นอิสระจากกัน) ที่มีจำนวนมหาศาลได้
ในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง มีคลัสเตอร์เป็นของตนเอง ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ เขาก็จะส่งงานไปที่คลัสเตอร์ของตนเองก่อน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มหาลัยหรือภาควิชา ไม่มีคลัสเตอร์หรือมีจำนวนคอมไม่พอในการประมวลผลงานหนักๆ เขาก็จะส่งงานนั้นมาคำนวณที่กริด อย่างเช่น ไทยกริดครับ
JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom)
http://javaboom.wordpress.com
My Blog
เฮ้อๆประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นอะไรหรือครับ?
ปล. เคยเข้าไปดู thaigrid ไหมครับ?
ผมว่าปัญหาคนไทยคือ ไม่สนใจข่าวทางวิชาการบ้านตัวเอง และสื่อเองก็ไม่นิยมเสนอผลงานทางวิชาการเหล่านั้นด้วย
ทั้งๆ ที่ประเทศไทย มีผลงานทางวิชาการมาก มากจริงๆ
เทคโนโลยี หรือ ผลงานต่างๆ ก็มีชื่อเสียงระดับโลก
แต่เหมือนกับว่าไม่มีใครสนใจนำเสนอสู่สังคม
บ่นบ้าง เฮ้อ......คนไทย
พูดอีกก็ถูกอีกครับ
ผมเห็นด้วยกับคุณ jane นะครับ ที่ผลงานวิชาการของไทยหลายงานมีคุณภาพ และมีชื่อเสียงระดับโลก แต่อีกมุมหนึ่ง ผมมองว่าคนทั่วไปหรือแม้แต่นักข่าวมีโอกาสเข้าถึงฐานข้อมูลผลงานตีพิมพ์ได้ยาก เช่น IEEE, ACM, Springer เป็นต้น นอกจากนี้ ภาษาในงานวิชาการกับภาษาข่าวก็แตกต่างกัน และนักข่าวต้องมีความรู้เทคนิคในเรื่องนั้นๆมากพอสมควรที่จะนำเสนอข้อมูลวิชาการในภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายครับ
จริงๆผมอยากนำเสนอข่าววิชาการด้าน high performance computing ของไทยนะครับ แม้ว่าที่ผ่านมา ผมมีส่วนร่วมใน thaigrid ก็ตาม แต่ผมก็ไม่ได้ติดตามข่าวจาก thaigrid มานานแล้ว ตอนนี้การเสนอข่าววิชาการของไทย ต้องเป็นไปในแนวที่ว่า นักวิชาการหรือนักวิจัยจะต้องวิ่งไปหานักข่าว หรือเป็นนักข่าวซะเองครับ จะรอนักข่าววิ่งไปหา ประชาชนคงไม่ได้ข่าวกันสักที
ถ้าหากท่านใดมีผลงานตีพิมพ์อย่าง journal หรือ conference ของคนไทยหรือถ้าจะดีมากๆ ก็เป็นงานที่ท่านตีพิมพ์เอง ท่านสามารถขัดเกลาให้เป็นภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น และนำมาเสนอใน blognone ก็ได้นะครับ
JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom)
http://javaboom.wordpress.com
My Blog
ผมกดคอมเมนต์ซ้ำอีกแล้ว ...
งั้นตรงนี้ ผมขอแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าหากท่านใดมีผลงานด้าน high performance computing จะลองนำไปเสนอข่าวที่ iSGTW หรือ HPCwire ดูก็ได้ครับ ผมมองในมุมที่ผมอยู่สิงคโปร์นะ ผมมองว่าสิงคโปร์เขาโปรโมทตัวเองเก่งครับ ไทยเราจะทำงั้นดูก็ได้ นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว เรามีเรื่องดีๆให้โปรโมทเยอะแยะเลย
JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom)
http://javaboom.wordpress.com
My Blog
"นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว เรามีเรื่องดีๆให้โปรโมทเยอะแยะเลย"
เห็นด้วย + ถูกใจ 1000%
เราเลิกบ่น อิง การเมืองก็ดีนะครับ เพราะผมรู้สึกว่า เมื่อเราเลือกข้างกันแล้ว มันทำให้ไม่สพอารมพอควร เวลาเรามาตอบ/คุย กัน แบบอิงการเมืองแบบนี้
ผมจะเริ่มที่ตัวผมเองก่อนดีกว่า ผมจะเลิก/ไม่ comment ที่พาดพิงการเมือง ทำให้คนอื่นๆ เสียความรู้สึกครับ
ผมว่าสิ่งที่้บ้านเราขาดคือสื่อทางเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพล ตลาดบ้านเราค่อนข้างแคบ สิ่งพิมพ์เหล่านี้นอกจากคุณภาพไม่ดีแล้วยังขาดความมีอิทธิพล
กำลังคิดทำกับห้องเล็ปอยู่เหมือนกัน ว่าแต่ กริด กับ คลัสเตอร์ ต่างกันอย่างไรครับ (ขี้เกียจอ่าน + หาข้อมูลนะครับ ขอถามหน่อยละกัน)
ในฝั่งวิชาการมันก็ต่างกันอยู่ครับ คลัสเตอร์ (Cluster) คือกลุ่มของคอมพิวเตอร์ที่กระจุกตัวรวมกันบนเครือข่ายหนึ่งๆ (โดยส่วนใหญ่อยู่บนเครือข่ายวงเดียวกัน) แล้วก็แชร์ทรัพยากรร่วมกัน (เช่น CPU และ storage) โดยมีซอฟต์แวร์ที่ช่วยบริหารและเชื่อมต่อให้เกิดเครือข่าย Cluster ดังกล่าว ดังนั้น เราสามารถนำ Cluster ไปประมวลผลร่วมกันในงานเดียวกันแบบขนาน หรืออาจจะเอางานหลายๆงานซึ่งเป็นอิสระจากกัน ส่งไปประมวลผลบน Cluster ก็ได้
ถ้าเป็นกริด (Grid) ตามอุดมคติที่ Globus หรือตามที่ Ian Foster เจ้าพ่อ Grid เคยกล่าวไว้ มองว่าเป็นการเชื่อมทรัพยากรคอมพิวเตอร์ระหว่างหน่วยงานหรือองค์กรที่มีนโยบายแตกต่างกัน หรือเป็นคนละองค์กรกันไปเลย โดย Grid จะทำให้เชื่อมความหลากหลายของทรัพยากรและนโยบายให้เป็นหน่วยเดียวกันได้ ก็กลายเป็นกลุ่มกลุ่มเดียวเสมือนเป็นองค์กรเดียวกัน และจากนั้น เราจะนำงานไปประมวลผลแบบขนานหรือเอางานเดี่ยวๆหลายๆงานไปประมวลผล ก็สามารถทำได้เช่นกันเหมือนกับ Cluster
หากมองในฝั่งธุรกิจ คำศัพท์ Grid กับ Cluster มันกำกวมครับ (ซึ่งไม่ใช่ Cloud Computing เท่านั้นที่กำกวม) โดยบริษัทหลายเจ้า (แม้กระทั่ง IBM, Oracle, และ Sun) มองว่า Grid กับ Cluster มันก็เรื่องเดียวกันแหละครับ คือเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์หรือรวมทรัพยากรคอมพิวเตอร์เข้าหากัน แล้วร่วมกันประมวลผลหรือแก้ไขปัญหา
ถ้า IBM เขาจะบอกว่า Grid คือ การพัฒนาโปรแกรมให้เป็นหน่วยย่อยๆที่สามารถกระจายการประมวลผลไปให้คอมพิวเตอร์หลายเครื่องได้ (ซึ่ง Cluster ก็เป็นงั้น) ส่วนทาง Sun บอกว่า Grid แบ่งออกเป็น Cluster Grid, Campus Grid, และ Global Grid ถ้ามองง่ายๆก็คือไล่ตั้งแต่ระดับแลนของหน่วยงานหนึ่งๆ(Cluster Grid), Campus Grid แลนหรือแวนของสถาบันเดียวกัน (ระดับองค์กร), จนกระทั่ง Global Grid หรือระดับแวนระหว่างองค์กร
JavaBoom (Boom is not Java, but Java was boom)
http://javaboom.wordpress.com
My Blog
ของไทยก็มีนะครับ
แต่ไม่เห็นมาลงข่าวเลย
มหาลัยผมก็เคยมีอบรมมานานแล้ว
Thaigrid
มีหลายๆ มหายลัยเข้าร่วมครับ
สุดยอดเลยครับ
เครื่อง thaigrid มก. เห็นว่าคนต่อคิวใช้งานกันแทบไม่ทันแล้ว
จริงๆต้อง thaigrid sipa นะ :P แต่เอาเหอะ
ไม่ถึงขนาดแทบไม่ทันหรอกครับ ก็เป็นห้วงๆ แต่คนใช้ก็ค่อนข้างแน่นครับ
"จริงๆต้อง thaigrid sipa นะ :P แต่เอาเหอะ
ไม่ถึงขนาดแทบไม่ทันหรอกครับ ก็เป็นห้วงๆ แต่คนใช้ก็ค่อนข้างแน่นครับ"
ลืมไปครับ อ้างอิงผิด ..พอดีเห็นมันตั้งโด่เด่อยู่แถว มก. เหอๆ
อยากให้มันเกิดในไทยจิงๆ - -"
test
ต้องช่วยกันครับ คนละไม้ละมือ หลายๆ ความคิด ใครทำอะไรอยู่ก็มุ่งมั่นเข้านะครับ (อย่าง blognone ในความคิดผมก็เป็นหนึ่งในนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย)
และก็ภูมิใจไว้เถอะครับว่า เราได้คิดและทำเพื่อประเทศก็พอ...แค่นี้ก็ไม่เสียชาติเกิดแล้ว ^^