ทีมนักวิจัยจาก University of Washington ได้ทำการทดลองชาร์จไฟแบบไร้สายให้กับโทรศัพท์มือถือด้วยเทคนิคใหม่โดยการยิงแสงเลเซอร์จากระยะไกลได้เป็นผลสำเร็จ
ที่ผ่านมาถึงตอนนี้ การชาร์จไฟแบบไร้สายแทบทั้งหมดเป็นการส่งผ่านพลังงานผ่านคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในย่านความถี่คลื่นวิทยุทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของ Qi ซึ่งใช้คลื่นในช่วง 100 - 205 kHz, มาตรฐาน PMA ซึ่งใช้คลื่นในช่วง 277 - 357 kHz หรือมาตรฐาน A4WP ที่ใช้คลื่นความถี่ 6.78 MHz แต่ในเมื่อคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นใช่ว่าจะมีเพียงคลื่นวิทยุ ทีมวิจัยจึงทดลองใช้คลื่นแสงมาทำหน้าที่ส่งผ่านพลังงานดูบ้าง
พวกเขาใช้เครื่องยิงลำแสงเลเซอร์ (เป็นรังสีอินฟราเรดย่านใกล้) ส่งผ่านพลังงานแบบต่อเนื่องด้วยกำลัง 2 วัตต์ เป็นระยะทาง 4.3 เมตร ไปยังตัวรับพลังงานซึ่งจะเปลี่ยนพลังงานให้อยู่ในรูปพลังงานไฟฟ้าเพื่อชาร์จไฟให้กับสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดก็ตาม โดยขนาดของชุดการทดลองนี้สามารถส่งผ่านพลังงานไปยังพื้นที่เป้าหมายขนาดประมาณ 25 ตารางเซนติเมตร
ทีมวิจัยระบุว่าสามารถปรับแต่งเครื่องยิงเลเซอร์ให้เพิ่มกำลังการยิงให้ยิงลำแสงได้ไกลขึ้นเป็น 12 เมตร พร้อมทั้งขยายขนาดของลำแสง ทำให้ตกกระทบพื้นที่เป้าหมายขนาด 100 ตารางเซนติเมตรได้ ซึ่งพื้นที่เป้าหมายขนาดดังกล่าวเปรียบได้กับพื้นที่ว่างเล็กๆ บนโต๊ะทำงาน ที่ซึ่งเราจะสามารถวางสมาร์ทโฟนกี่เครื่องก็ได้ในบริเวณนั้นเพื่อรับการชาร์จด้วยเลเซอร์ 2 วัตต์ได้ทั้งหมด ซึ่งทีมวิจัยระบุว่าความเร็วในการชาร์จไฟด้วยเลเซอร์นี้เปรียบได้กับการเสียบสายชาร์จไฟโดยตรง
สำหรับตัวสมาร์ทโฟนเองที่จะใช้ระบบชาร์จไฟด้วยเลเซอร์นี้ จะต้องติดตั้งแผ่นรับพลังงานไว้ด้านหลังของเครื่อง ซึ่งมันจะทำหน้าที่แปลงพลังงานที่ได้รับจากเลเซอร์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ ทั้งนี้ทีมวิจัยยังได้พัฒนาแผ่นรับพลังงานโดยคำนึงถึงเรื่องความร้อนที่เกิดจากการชาร์จด้วยเลเซอร์ด้วย จึงได้เพิ่มแผ่น thermoelectric ที่เป็นแผ่นบางเรียบทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานความร้อนให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าช่วยเติมประจุให้แบตเตอรี่อีกทางหนึ่ง และยังมีแผ่นโลหะอีกชุดหนึ่งที่จะทำหน้าที่เป็นแผงระบายความร้อน ช่วยปลดปล่อยความร้อนส่วนที่เกินกว่าจะเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ทันด้วย
ใช่แต่เพียงเรื่องของระบบการยิงลำแสงเพื่อส่งพลังงานอันเป็นหัวใจของงานวิจัยนี้เท่านั้นที่น่าสนใจ ทว่าหลักการทำงานแวดล้อมอื่นๆ ต่างก็ผ่านกระบวนการคิดและมีการใช้เทคนิคที่น่าสนใจเช่นกัน อย่างเรื่องของการเปิดและปิดโดยอัตโนมัติของเครื่องยิงลำแสง รวมทั้งเรื่องของความปลอดภัยที่ต้องคิดหาวิธีป้องกันไม่ให้ลำแสงเลเซอร์พลังงานสูงนี้ตกกระทบและทำอันตรายต่อร่างกายของผู้ใช้
สำหรับระบบการเปิดและปิดเครื่องยิงลำแสงนั้น จะอาศัยการตรวจจับสัญญาณจากสมาร์ทโฟนที่ติดตั้งตัวรับพลังงานจากเลเซอร์ไว้ ตัวสมาร์ทโฟนจะปล่อยคลื่นเสียงที่หูมนุษย์ไม่อาจได้ยินออกมา คลื่นเสียงดังกล่าวสามารถตรวจจับได้ด้วยไมโครโฟนพิเศษที่ติดตั้งไว้กับระบบเครื่องยิงลำแสง และจากการตรวจจับคลื่นเสียงจนสามารถยืนยันตำแหน่งของสมาร์ทโฟนว่าอยู่ในพื้นที่ชาร์จไฟแล้ว (ซึ่งหมายถึงพื้นที่เป้าหมายการยิงลำแสงขนาด 25 ตารางเซนติเมตรในที่นี้) ระบบก็จะยิงลำแสงเลเซอร์เพื่อส่งพลังงานไปชาร์จไฟให้แก่สมาร์ทโฟน
ส่วนระบบเพื่อความปลอดภัยที่ตัดการทำงานยิงลำแสงเลเซอร์เพื่อป้องกันมิให้ก่ออันตรายต่อผู้ใช้นั้น อาศัยการออกแบบเครื่องยิงลำแสงเลเซอร์ให้ยิงลำแสงออกมาหลายลำ โดยบริเวณกึ่งกลางของเครื่องยิงลำแสงนั้นจะเป็นช่องยิงลำแสงพลังงาน (ลำแสงพลังงานนี้คือลำแสงเลเซอร์หลักที่จะส่งพลังงานไปให้สมาร์ทโฟนซึ่งอาจเป็นอันตรายได้หากตกกระทบร่างกายผู้ใช้) บริเวณด้านข้างโดยรอบของช่องยิงลำแสงพลังงาน ยังมีช่องยิงลำแสงอีก 4 ช่อง ซึ่งช่องยิงลำแสงเหล่านี้จะทำหน้าที่ยิง "ลำแสงป้องกัน" ทั้งนี้ในการทดลองจริง ทั้งลำแสงพลังงานและลำแสงป้องกันจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (ลำแสงป้องกันสีแดงที่ปรากฏในภาพประกอบ เกิดขึ้นจากการปรับตั้งเป็นพิเศษเพื่องานถ่ายภาพประกอบการนำเสนองานวิจัยเท่านั้น)
ลำแสงป้องกันนี้เป็นลำแสงเลเซอร์พลังงานต่ำ ในขณะทำการชาร์จไฟให้สมาร์ทโฟน ลำแสงป้องกันนี้จะตกกระทบกับตัวสะท้อนแสงที่ติดตั้งไว้กับแผ่นรับพลังงานที่อยู่ด้านหลังสมาร์ทโฟน และสะท้อนกลับมายัง photodiode ที่เครื่องยิงเลเซอร์ ซึ่งตัว photodiode นี้จะทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับการสะท้อนของลำแสงป้องกัน หากมีวัตถุอื่นใดมาบดบังลำแสงป้องกันมิให้สะท้อนกลับมายัง photodiode นี้ได้ ระบบจะเข้าใจว่าวัตถุนั้นกำลังจะเคลื่อนเข้าไปตัดผ่านแนวลำแสงพลังงานอันจะเป็นอันตรายได้ ถึงตรงนี้ระบบจะทำการหยุดยิงลำแสงพลังงานทันที
ทีมวิจัยได้ปรับปรุงระบบหยุดยิงลำแสงพลังงานเมื่อมีวัตถุบดบังลำแสงป้องกันให้ตอบสนองรวดเร็วจนแน่ใจว่า ไม่มีวัตถุใดที่เคลื่อนด้วยอัตราเร็ว 44 เมตรต่อวินาที จะเคลื่อนที่ตัดผ่านแนวลำแสงพลังงานได้ทัน ซึ่งตัวเลขอัตราเร็ว 44 เมตรต่อวินาทีนี้มีนัยสำคัญในฐานะสถิติอัตราเร็วสูงสุดที่มนุษย์จะสามารถเคลื่อนไหวร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งได้โดยอ้างอิงจากการศึกษาด้านสรีรวิทยา
คำถามที่น่าสนใจต่อไปก็คือ มีโอกาสมากน้อยเพียงใดที่งานวิจัยนี้จะได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อการเข้าสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่ายจริง
ที่มา - UWNews via SlashGear, เอกสารงานวิจัย
Comments
ต่อยอดเอาไปชาร์ทดาวเทียม หรือสถานีอวกาศ ก็น่าจะได้นะ
พวกนั้นรับจากแสงอาทิตย์โอเคอยู่แล้วมั้งครับ ยิงแสงขึ้นไปนี่จะเหลือสักกี่ %
มีแต่จะทำกลับกันครับ จำได้ว่าญี่ปุ่นมั๊งที่ออกไอเดียรวบรวมพลังงานที่ได้จากแสงอาทิตย์บนอวกาศแล้วส่งผ่านคลื่น Microwave ลงพื้นโลกเพื่อแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลน/ลดการใช้นิวเคลียร์
ตัวอย่างก็มี GX-9900 ครับผม /เจอถีบ
ระบบนี้มีการใช้งานในระดับ prototype นะครับ อยู่ใน ZGMF-X56S //หลบเท้า
น่าจะเป็น GX-9900 กับ GX-9901 มากกว่าน่ะครับ
ผมหมายถึงระบบในตัวกระทู้ครับ
ที่ใหม่กว่าจะเป็น Orbital Elevator ที่ส่งพลังกลับมาที่โลกครับ พัฒนาอีกหน่อยจะได้เตา GN เลย
น่าจะอีก 2 ปีครับ (2020) จะปล่อยโรงไฟฟ้าต้นแบบขึ้นสู่อวกาศ
idea นี้นึกถึง microwave power plant ของ simcity เลย
เคยได้ยินพวกแนวคิดนี้ ไม่รู้มีจริงยัง แบบจรวจเดินทางไกลๆ ส่งพลังงานด้วย Laser ไปยังยาน
จรวดเดินทางไปที่ไหนล่ะครับ ยิงจากบนผิวโลกก็ไม่ได้นะครับแสงกระเจิงหมด อย่างน้อยก็ต้องไปยิงนอกชั้นบรรยากาศ
เคยอ่านเจอมานานมาแล้วอะครับ ลองหาเกี่ยวกับ Laser propulsion
น่าจะยิงจากบนโลกนะครับ ตั้งเป็นฟาร์มยิงขึ้นฟ้าไป
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Laser_propulsion
จากข่าวนี้เลยครับผม
หาอยู่นานเลย เพราะคุ้นจริงๆ ว่าเหมือนเคยอ่านจาก BN แต่นึก Keyword ไม่ออก
เป็นคนละลักษณะกันนะครับ แต่พอย้อนกลับไปอ่านแล้วก็นึกขึ้นได้ว่ายิงจากพื้นโลกแบบนั้นแล้วมันจะคุมลำแสงยังไง - -
พอเข้าใจครับ อันนึงเป็นพลังงานแบบชาร์จแบต (โทรศัพท์ไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน) ส่วนข่าวเก่าเป็นผลักดันขับเคลื่อน Propulsion
แต่มันต่อเนื่องมาจากที่ยิงตรงจากพื้นโลกนี่แหละครับ
ชอบตรงแนวคิดแบบ proactive
เอาไปทำที่ชาร์ตรถไฟฟ้าตอนรถติดบนถนน
ความคิดดีครับ ติดตรงเสาไฟข้างถนนซะเลย
หมายถึงขับมาชนเพื่อชาร์จรึครับ -.-
ยกมือถามครับ มันจะมีผลกระทบกับ CMOS Sensor ไหมครับ (ตามตัวอย่างด้านล่างเลย)
https://www.youtube.com/watch?v=qzyKLoEDb64
สุดยอดมาก แต่ขอใช้แบบเสียบสายเหมือนเดิมดีกว่า ท่าทางจะไม่ปลอดภัย
ไอ้ที่ระเบิดทุกวันนี้มันก็เสียบสายไม่ใช่เหรอครับ
เลเซอร์ 2W เผลอมองเข้าตาตรงๆก็ตาบอดถาวรล่ะครับ
ผิวหนังยังไม่รอด เจอเลนส์รวมไปเรตินาก็ไหม้แน่ๆ ล่ะครับ
2W พลาดไปโดนนิดเดียวนี่ จบเลย
เช้ด อย่างล้ำ
แนวคิดดีครับ แต่คงดีกว่าถ้ารอจนเขาพัฒนา จนความถี่คลื่นที่สามารถชาร์ตได้เป็นความถี่ที่ช่วงคลื่นยาวกว่านี้ (คลื่นวิทยุ ไมโครเวฟ) หรือสั้นกว่านี้ (แต่คงไม่ถึงระดับรังสี) เพราะคลื่นพวกนี้น่าจะผ่านสิ่งกีดขวางได้ดีกว่า visible wave
อยากรู้ถึงความคุ้มค่า
จ่ายไฟฟ้าไปเท่าไหร่ ชาร์จเก็บไปเท่าไหร่ สูญเสียไปในพื้นที่ที่ไม่มีเครื่องมารับพลังงานไปเท่าไหร่
44 เมตร/วินาที
ไม่ได้กันแมลงวันบินผ่านซินะ
เลเซอยิงยุง กะเรเซอยิง แมงวัน น่าสนฆะ
PoFo (Power-over-Fiber Optical)
น้้น => นั้น
นึกถึงกันดั้มเลย ยิงเลเซอร์ชาร์จไฟใส่หน้าผาก