คำเตือน: ใครที่กำลังเพลิดเพลินกับอาหารและเครื่องดื่ม อาจพิจารณาเก็บข่าวนี้ไว้อ่านทีหลัง
การล้างมือคือกิจกรรมที่ดีที่ส่งเสริมสุขลักษณะให้กับทุกคนในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะหลังเสร็จกิจส่วนตัวในห้องน้ำมาหมาดๆ เราล้างมือด้วยสบู่ก็เพื่อชำระเอาสิ่งสกปรกรวมทั้งเชื้อโรคที่อาจเปรอะเปื้อนอยู่ไปให้พ้นจากมือเรา เพื่อที่ว่าหลังจากนั้นหากเราไปหยิบจับฉวยอะไรเข้าปาก เชื้อไม่พึงประสงค์จะได้ไม่ตามลงระบบทางเดินอาหารของเราด้วย ไหนจะเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อและสิ่งสกปรกไม่ให้ไปติดกับสิ่งอื่นหรือคนอื่นที่เราไปสัมผัส
แต่มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าเราอุตส่าห์ล้างมือจนมั่นใจในความอนามัยแล้วก็ดันเอามือนั้นไปรอรับการพ่นเชื้อแบคทีเรียใส่โดยเครื่องเป่าลมร้อน ถึงมือจะแห้งแต่เผลอๆ ก็อาจเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียมากยิ่งกว่าตอนก่อนเข้าห้องน้ำเสียอีก
นักวิจัยจาก University of Connecticut รายงานผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้เครื่องเป่ามือในห้องน้ำสาธารณะโดยการใช้แผ่นเพลตใส่เจลอาหารเลี้ยงเชื้อจำนวนหลายแผ่นไปวางไว้ในห้องน้ำหลายห้องเป็นเวลา 2 นาที ก่อนจะนำแผ่นเพลตเหล่านั้นกลับมาทำการเพาะเชื้ออีก 18 ชั่วโมง
พวกเขาพบว่ากลุ่มแผ่นเพลตที่ถูกนำไปวางในห้องน้ำที่ไม่มีการใช้งานเครื่องเป่าลมร้อนเลย สามารถเพาะเชื้อจุลินทรีย์ได้โดยเฉลี่ย 6 โคโลนี ในขณะที่แผ่นเพลตอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกนำไปไว้ในห้องน้ำและโดนเครื่องเป่าลมร้อนพ่นลมใส่เป็นเวลา 30 วินาทีด้วย เพาะเชื้อจุลินทรีย์เติบโตได้ 18-60 โคโลนี โดยบางแผ่นพบเชื้อมากถึง 254 โคโลนี การศึกษาและวิเคราะห์ผลการทดสอบนี้นำมาสู่ข้อสรุปได้ว่ามีเชื้อแบคทีเรียและสปอร์ของมันมากมายอยู่ในเครื่องเป่าลมร้อน และแน่นอนว่าพบในลมที่เครื่องเป่าออกมาด้วย
หากคลางแคลงใจว่าอันที่จริงเชื้อแบคทีเรียที่ไหนก็พบได้ การเกิดและสะสมของเชื้อแบคทีเรียก็ดูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วทุกแห่ง แค่ต้องหมั่นทำความสะอาดก็จะพอแล้วล่ะก็ ต้องดูเพิ่มเติมในรายละเอียดลงไปอีกว่า เชื้อแบคทีเรียในห้องน้ำนั้นไม่ได้รวมตัวกันอยู่เฉพาะจุดแบบธรรมดา เพราะงานศึกษาวิจัยอีกงานหนึ่งจาก University of Leeds ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2012 ระบุว่าอากาศภายในห้องน้ำนั้นมีเชื้อแบคทีเรียลอยคว้างอยู่เต็มไปหมด และสิ่งที่ทำให้เชื้อพวกนี้ฟุ้งกระจายในอากาศก็มาจากแรงกระทำของน้ำตอนกดชักโครกนั่นเอง (ใช่แล้ว พอเรากดชักโครก หลายอย่างที่เรามองเห็นถูกกดหายลงไป แต่ความจริงมีอะไรหลายอย่างที่มองไม่เห็นพุ่งสวนขึ้นมาฟุ้งเต็มอากาศไปหมด) ซึ่งการที่มีเชื้อลอยเต็มอากาศ และอาจกล่าวได้ว่ามีเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่มีคนกดชักโครก นั่นย่อมหมายถึงมีเชื้อที่พร้อมจะให้เครื่องเป่าลมร้อนดูดเข้าไปสะสมในตัวมากยิ่งกว่าในพื้นที่ทั่วไปนอกห้องน้ำมาก
ทีมวิจัยของ University of Connecticut บอกว่าการติดแผ่นกรองที่ได้มาตรฐาน (ตัวอย่างเช่นผ่านการรับรองของ HEPA) ก็พอจะช่วยลดจำนวนเชื้อโรคที่หลุดออกมากับลมที่เครื่องเป่าได้บ้าง แต่แผ่นกรองก็มีอายุการใช้งานของมัน หากลืมเปลี่ยนหรือรอบการเปลี่ยนช้าเกินไป ก็เปล่าประโยชน์ และไม่ใช่ว่านึกอยากจะติดแผ่นกรองเข้าไปในเครื่องเป่าลมร้อนแล้วก็จะติดเข้าไปได้ทุกเครื่อง ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือในขณะที่ใช้งานเครื่องเป่าลมร้อนนั้นใช่ว่าลมที่สัมผัสโดนมือจะเป็นลมที่ออกมาจากเครื่องซึ่งผ่านแผ่นกรองเพียงอย่างเดียว การที่ลมซึ่งถูกเป่าออกมาด้วยความเร็วที่อาจสูงถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ย่อมทำให้เกิดแรงดูดที่จะดึงเอาอากาศโดยรอบบริเวณใต้เครื่อง (ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ปลอดเชื้อ) ให้ไหลตามมาพ่นใส่มือด้วย
แล้วเราจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเราสะอาดขึ้นอีกสักนิดก็ยังดี?
ทีมวิจัยของ University of Connecticut แนะนำให้ใช้กระดาษชำระสำหรับเช็ดมือมาใช้งานแทนเครื่องเป่าลมร้อน ซึ่งตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยก็เองก็เริ่มทยอยนำเอาม้วนกระดาษชำระสำหรับเช็ดมือไปติดตั้งในห้องน้ำ 36 แห่งทั่วบริเวณวิทยาลัยแพทย์ของสถาบัน ส่วนวิธีการที่จะช่วยลดไม่ให้เชื้อแบคทีเรียทั้งหลายออกมาลอยฟุ้งกันเต็มอากาศในห้องน้ำไปหมดนั้น ทีมวิจัยของ University of Leeds บอกว่าการปิดฝาสุขภัณฑ์ก่อนกดชักโครกก็จะพอช่วยได้ แต่แน่นอนที่สุดทั้งหมดต้องมีการหมั่นดูแลรักษาความสะอาดในห้องน้ำมาร่วมด้วย
ที่มา - Ars Technica, เอกสารงานวิจัยของ University of Connecticut, เอกสารงานวิจัยของ University of Leeds
Comments
ถึงจะไม่พูดถึงแบคทีเรียเลย แต่ไอ้เครื่องเป่าแบบสอดมือลงไปเนี่ย เป่าทีน้ำเต็มเสื้อ
ส่วนแบบเอามือไปรองก็ไม่แห้ง สุดท้ายสะบัดๆสัก 10 ทีแล้วเช็ดด้วยกระดาษหนึ่งแผ่น แห้งกว่าเยอะ
เรื่อง feces spray นี่เคยอ่านเจอ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้น่ะนะ...
เครื่องนี้ผมไม่เคยใช้เลย เคยอ่านเจอจากที่ไหนซักแห่งว่าเชื้อโรคเติบโตได้ดีในบริเวณที่อบอุ่น
ซึ่งผนังไต้เครื่องจุดที่สัมผัสลมเนี่ยหล่ะ จุดเพาะเชื้อเลย แถมเป่าให้ฟุ้งกระจายอีก
เจอคนใช้แต่ละที ผมจะพยายามเดินห่างๆ ไม่เข้าไปใกล้ รังเกียจ
ใช้เครื่องเป่าลมเย็นแทน ตึงโป๊ะ!
ส่วนตัวไม่เคยใช้ เพราะรู้สึกว่าเปลืองไฟ และไม่เห็นจะแห้งไปกว่าสะบัดหลาย ๆ ทีแล้วเช็ด
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
ใน TBBT เชลดอนบอก ลิงจามใส่มือยังสะอาดกว่าโดนเครื่องนี้เป่าอีก ตั้งแต่นั้นมา กลัวเลยเครื่องนี้ 555
แม่เจ้า เชื่อเชลดอนเลย
ไม่เคยเข้าใจห้างสรรพสินค้าหรือ community mall ที่ยังติดเครื่องเป่าลมร้อนนี่เลย เคยมีรายงานออกมานานแล้วด้วยว่ามันไม่สะอาด เต็มไปด้วยเชื้อโรค
That is the way things are.
เท่าที่จำความได้ผมถูกสอนว่าเครื่องนี้เป่าลมสกปรกมาตั้งแต่เกือบ 20 ปีก่อนแหนะครับ
ปิดฝาก่อนกดชักโครก ผมทำตลอดนะไม่ว่าจะที่บ้านหรือข้างนอก กดเสร็จแล้วรอแป๊บนึงค่อยเปิดฝา เพราะถ้าปิดทิ้งไว้ คนที่มาใช้ที่หลังไม่กล้าเปิด (ผมก็ไม่กล้าเปิด)
Pandora Box มากๆอะ ฝาที่ปิดไว้
รู้ทั้งรู้ว่าควรกดก่อนเปิด แต่บางทีเราก็เปิดไปเลย...
OTL
ในความเป็นจริงผมว่าร่างกายคนปกติไม่ได้อ่อนแอ่ขนาดนั้นครับตามใดที่ระบบภูมิคุ้มกันยังทำงานได้ปกติ เชื้อพวกนี้คงเป็นเรื่องปกติของร่างกายเราต้องเจอทุกวัน ถึงเราเลี่ยงการเป่ามือแล้วการกดน้ำชักโครกที่ว่ามันคงฟุ้งติดเต็มตัวเราอยู่ดี บางคนถือโทรศัพท์เข้าไปเล่นแล้วเอามาแนบหูแนบหน้าอีก ไม่อยากคิด 555
เคยมีงานวิจัยบอกว่าหน้าจอโทรศัพท์มือถือ สกปรกกว่าฝารองชักโครกอีกนะครับ
เอาจริงๆคงไม่ค่อยมีผลกับคนส่วนใหญ่เท่าไหร่ครับ
สังเกตจากการเข้าห้องน้ำสาธารณะชายตามที่ต่างๆนับสิบปี, ผู้ชายเกิน 40% เข้าห้องน้ำแล้วไม่ล้างมือ, ในกลุ่มคนที่ล้างมือกว่า 90% ไม่ถูสบู่ อย่าเรียกว่าล้างเลย การไม่ถูสบู่ก็เป็นแค่การทำให้มือเปียกน้ำเท่านั้น ไม่ได้ทำให้สะอาดอะไร ... แปลว่าปกติมันก็สกปรกกันเกือบ 100% อยู่แล้วครับ จะใช้เครื่องนี่หรือไม่ใช้ก็สกปรกทั้งนั้นแหล่ะ
การล้างมือโดยไม่ถูสบู่นั้นดีกว่าไม่ล้างเลย ไม่ใช่แค่การทำให้มือเปียก ลองหาอ่านเรื่อง foodbourne illness กับ diarhrea ดู ในแอฟริกา ครัวเรือนที่ล้างมือด้วยน้ำเปล่าก่อนปรุงอาหาร มีอัตราการเกิด foodbourne illness หรือ diarhea ต่ำกว่าครัวเรือนที่ไม่ล้างมือเลยก่อนปรุงอาหาร
การล้างด้วยน้ำเปล่าก็ช่วยได้มากแล้ว ลองศึกษาดูใหม่นะครับ
That is the way things are.
ในประเทศที่มีอากาศหนาว เครื่องพวกนี้มันดีมากนะ
ผมล้างน้ำอุ่นเอา (ที่มักจะมีเสมอ เท่าที่เจอมา)
ที่ผมเจอจะแบบเป่าลมธรรมดาไล่น้ำให้อยู่หยดอยู่ในเครื่อง
ส่วนแบบไทยๆ เก่าๆ หน่อยจะแบบเป่าลมร้อน
ไม่รู้แบบไหนดีกว่า หรือแย่ทั้งคู่ก็ไม่รู้
เชือ --> เชื้อ
ขอบคุณครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
MythBusters เคยทดลองเคสอะไรประมาณนี้อยู่ครับ ตอนนั้นมีบอกด้วยว่าชักโครกสาธารณะห้องในสุดมักจะสะอาดกว่า เพราะคนชอบเข้าห้องแรกๆกัน
@zumokik
ต้องเข้าห้องรองสุดท้ายครับ สะอาดกว่า
ก่อนเข้าห้องน้ำ ดึงทิชชูมาปิดฝา กดชักโครกปิดชักโครก ทำธุระเสร็จเปิดประตูล้างมือ ดึงทิชชูมาเช็ดมือเอาทิชชูนั้นปิดก๊อกกับเปิดประตู แล้วเอี้ยวตัวมา ทิ้งขยะโดยที่เท้า เกี่ยวประตูไว้ไม่ให้ปิด และออกไปโดยไม่จับอะไร