การใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยนั้นมีกันมาหลายปีแล้ว ทั้งในขั้นงานวิจัย และการใช้งานจริง แต่ที่ผ่านมาทั้งหมดยังต้องทำควบคู่กันไปกับการวิเคราะห์อาการโดยเแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยโดยปัญญาประดิษฐ์นั้นว่ามีความถูกต้องเชื่อถือได้มากเพียงไหน แต่ล่าสุด FDA (องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ) ได้รับรองให้สามารถใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อวินิจฉัยอาการป่วยได้โดยไม่ต้องอาศัยการตรวจทานโดยแพทย์เฉพาะทางแล้ว
การรับรองนี้มีให้สำหรับการใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชื่อ IDx-DR เพื่อวิเคราะห์ภาพถ่ายดวงตาแล้ววินิจฉัยอาการป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ซึ่งหมายถึงอาการที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป จนส่งผลให้เส้นเลือดฝอยด้านหลังดวงตาเสียหาย อาจส่งผลให้ถึงตาบอดได้ โดยการทดสอบทางคลินิกที่ผ่านมา ซึ่งใช้ภาพถ่ายดวงตากว่า 900 ภาพ IDx-DR สามารถตรวจพบผู้มีอาการป่วยได้ถูกต้อง 87% และวินิจฉัยว่าไม่ป่วยถูกต้อง 90%
ในการใช้งานจริง แพทย์หรือพยาบาลจะทำการถ่ายภาพดวงตาของผู้ป่วยด้วยเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา จากนั้นก็อัพโหลดภาพถ่ายเข้าโปรแกรม IDx-DR ซึ่งมันจะเริ่มจากการตรวจสอบคุณภาพของภาพถ่ายก่อนว่าชัดเจนละเอียดเพียงพอที่จะใช้เพื่อการวินิจฉัยโรคหรือไม่
หากภาพถ่ายใช้การได้ มันก็จะทำการประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะเบาหวานขึ้นจอตาหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้แพทย์หรือพยาบาลสามารถทำงานด้วย IDx-DR ได้โดยไม่ต้องรอจักษุแพทย์มาวิเคราะห์ภาพถ่ายอีกครั้ง ซึ่งทั้งหมดนี้เอื้อให้ผู้ป่วยสามารถรับการตรวจวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยได้สะดวกขึ้น เพราะไม่ต้องรอคิวจักษุแพทย์
ในอนาคตเราน่าจะเห็นการรับรองให้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการวิเคราะห์อาการเจ็บป่วยแทนแพทย์แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพราะหลายครั้งก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปัญญาประดิษฐ์สามารถทำงานนี้ได้ดีกว่าแพทย์ด้วยซ้ำ เช่น การตรวจหาโรคลูคีเมียแบบพิเศษ หรือการคาดการณ์อาการหัวใจวาย หรือการวินิจฉัยโรคปอด เป็นต้น
ที่มา - The Verge
Comments
โรคจอตาเหตุเบาหวาน (Diabetic Retinopathy)?
ปกติถ้าใช้คำว่า เบาหวานขึ้นจอประสาทตา หรือ เบาหวานขึ้นตา มันถึงจะเก็ตมากกว่า
ผมเห็นในวิกิพีเดียเรียอกอย่างนี้เลยเอาตามเค้าน่ะครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
นอกวิกิพีเดียไม่เห็นมีใครเรียกแบบนี้เลย จนสงสัยว่าเขียนผิดหรือเปล่า ขนาดทางเวปศิริราช หรือเวป แพทย์ม.เชียงใหม่ก็เรียกว่า ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา ทั้งคู่เลย
ผมเปลี่ยนตามที่เสนอมาครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
แพทย์อนาคต ถ้าไม่เรียนเฉพาะทาง จะตกงานเพราะ Big Data หรือไม่นะ
ลบ
รอแพทย์ที่เรียน Big Data ดีกว่าครับ \0/
เรื่องนี้เชียร์ AI เต็มที่ เพิ่งไปตรวจเบาหวานตาประจำปีพอดี ตรวจไม่กี่นาที แต่รอหมอครึ่งวัน
อาจมีคนว่า AI จะสู้หมอได้อย่างไร ต้องเจอว่าเป็นโรคที่หาหมอหลายๆคนก็รักษาไม่ได้ บอกโรคก็ผิด
กว่าจะเจอหมอที่รักษาได้ ก็แทบจะฆ่าตัวตาย ทั้งๆที่พอเจอหมอที่รักษาได้บอก มันเป็นเรื่องที่รู้กับไม่รู้เท่านั้น
ถ้าเป็นเรื่องรู้กับไม่รู้ แล้วมี AI ช่วย คงรักษาได้ตั้งแต่หมอคนแรกแล้ว ไม่ต้องเสียเงินเวลาและความทรมานไปเปล่าๆ หรือบางทีอาจจะถึงชีวิตก็ได้
เกือบตาย เพราะโรคหลอดเลือดสมองตีบ
หมอโรงพยาบาลแรก อ่านฟิลม์ MRI แล้วบอกปกติดีทุกอย่าง ทั้งๆที่อาการเข้าข่าย stroke 100% นอน รพ.14วัน ตั้งแต่เดินได้พูดได้ จนวันสุดท้าย เดินไม่ได้ พูดไม่ได้ แขนขาขยับไม่ได้ อ่านหนังสือไม่ออก ฟังคนพูดไม่รู้เรื่อง หมอหมดปัญญารักษา จึงทำเริ่องส่งต่อมาจุฬาฯ
มาจุฬาสั่งเจาะเลือดใหม่และเอาฟิลม์ MRI เก่ามาดูแค่สามชั่วโมงฟันธงเปรี้ยง หลอดเลือดฝอยอุดตัน สั่งฉีดยาละลายลิ่มเลือดทันที ผ่านไปสามวันลุกจากเตียงเองได้
แต่ก็โชคร้าย เนื้อสมองตายไปหลายส่วน ปัจจุบันสูญเสียความสามารถการควบคุมอวัยวะซีกขวาไป30% ต้องมาหัดใช้มือใหม่หัดเดินใหม่เหมือนเด็ก สมองส่วนจินตนาการภาพสามมิติ เสียหายไปครึ่งนึง(โง่ลงนั่นแหละ คือคิดเลขไม่ได้ ทำความเข้าใจหรือเชื่อมโยงสมการทางคนิตศาสร์ต่างๆไม่ได้) แต่ยังโชคดียังกลับมาอ่านหนังสือได้ พูดได้ เขียนได้(แต่ลำดับสระพยันชนะผิดพลาดตลอด แต่ถ้าพิมพ์จะผิดน้อยกว่าเขียน)
หมอบอก ถ้าเอาฟิลม์มาพบหมอเร็วกว่านี้ซักอาทิตย์นึง เราก็มีโอกาสหายเป็นปกติ100% แต่ถ้าช้ากว่านี้อีกครึ่งวัน ถ้าไม่ตาย ก็กลายเป็นผักไปตลอดชีวิต
สรุปคือหมอประสาทวิทยาโรงพยาบาลแรก(อายุมากแล้ว) ดูฟิลม์ไม่เป็นอาศัยอ่านผลเอาตามรายงานของเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์ประจำเครื่อง MRI(หน้าเด็กมาก อายุยี่สิบกว่าๆ) คือเขาเขียนรายงานมาว่าปกติ หมอแกอ่านรายงานแล้วแกก็บอกปกติ
ถ้าตอนนั้นสามารถอัปฟิล์ม MRI เข้าเครือข่ายแล้วให้ AI ข่วยวิเคราะห์ได้ สภาพร่างกายเราคงกลับมาได้ปกติมากกว่านี้
ครับนี่เป็นจุดแข็งของ AI จริงๆ วงการแพทย์น่าจะเป็นวงการแรกที่่ใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์ภาพ และการใช้หุ่นยนต์จริงจัง จะช่วยลดเคสการอ่านข้อมูลผิดพลาดที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ได้เยอะ แต่ก็อาจมีบางเคสที่ยังอาจไม่เคยพบมาก่อน แต่ก็คงน้อย เมืองไทยก็น่าจะเริ่มทำบ้าง จะได้ลดภาระอาจารย์แพทย์ในโรคที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญสูง กรณีของคุณเป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะโรคที่ต้องอ่านแปลผลจากภาพ ผมว่าเมืองไทยน่าจะมีฟิมส์เก็บทุกเคสไว้อยู่แล้ว เพียงแต่หาคนมาจัด Pattern
เจ้าหน้าที่เทคนิกการแพทย์อ่านฟิล์มได้ด้วยเหรอครับ
นั่นสิครับ
คนถ่ายภาพคือเจ้าหน้าที่เทคนิคการแพทย์
คนอ่านและวินิจฉัยภาพคือรังสีแพทย์ครับ
เป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้าจอคอมพ์ เห็นเขาพิมพ์ผลการแสกนเองกะมือ เพราะตอนนั้นเราสติดี เดินได้พูดได้ อ่านหนังสืออก ส่วนจะเป็นแพทย์รังสีเทคนิคหรือเปล่าไม่ทราบ รู้แต่ว่าพิมพ์ผลเสร็จปรินท์ออกมากแนบกับซองฟิลม์เลย ไม่ยอมเซ็นต์ชื่อในรายงานผลด้วย(หรือมันด่วนก็ไม่รู้ แต่หมอกำกับในใบคิวงานว่าด่วนเป็นสีแดงซึ่งไปถึงห้องก็ข้ามคิวไปหลายคนเลย และเห็นบางคนบ่นบอกจองคิวล่วงหน้ามาตั้งสองอาทิตย์โดนเราแซงเฉยเลย) แต่ศูนย์ MRI ทีทำการแสกนไม่ใช่เป็นของรัฐหรือของโรงพยาบาล แต่เป็นของเอกชนที่ไปตั้งอยู่ในโรงพยาบาลรัฐที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ย่านจังหวัดแถบภาคตะวันออก(ไม่ขอออกนามดีกว่า) ที่โรงพยาบาลแห่งนี้มีแพทย์เฉพาะทางประสาทวิทยาอยู่สามคน และศัลย์ฯสมองอีกสอง
อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวนะ
1. เป็นรังสีแพทย์ อย่างที่คุณว่าอาจจะประสบการณ์การอ่านผลน้อยอยู่ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการวินิจฉัยภาพถ่าย MRI
2. ไม่ใช่รังสีแพทย์ อันนี้ถือว่ามีความผิดแน่ ๆ ทั้งคนวินิจฉัยที่ไม่มีสิทธิ์และหน้าที่ในการอ่านผล ทั้งแพทย์ศัลยกรรมประสาทวิทยาที่ไม่ได้ทบทวนผลการวินิจฉัย ทั้งศูนย์ MRI ที่ประมาทเลินเล่อที่ปล่อยให้บุคลากรที่ไม่ใช่ผู้มีใบประกอบโรคศิลป์ทางรังสีอ่านผลวินิจฉัย
ส่วนเรื่องคิว MRI ไม่ต้องสนใจคนที่บ่นว่าโดนแซงครับ Stroke อันตรายถึงตาย ต้องให้ได้รับการตรวจก่อนเป็น Emergency Case อยู่แล้ว
ปัญหาของสมัยนี้ส่วนหนึ่งคือ ศาลไม่ฟังคำอ่านที่หมอที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญรังสีวิทยาอ่านครับ เพราะมีกรณีที่ฟ้องกันมาแล้ว ทำให้หมอหลายๆ ท่าน ไม่อยากอ่านฟิล์มเอง โรงพยาบาลเอกชนก็ต้องมีหมอที่จบรังสีวิทยามาอ่านให้ (ซึ่งหมอที่จบรังสี หลายครั้งไม่ได้เจอคนไข้เอง) ดังนั้นฟิล์มอ่านจากผู้เชี่ยวชาญรังสีวิทยามาอย่างไร หมอที่รักษาก็ต้องอ่านไปตามนั้นครับ เจ้าหน้าที่เทคนิค อ่านฟิล์มไม่เป็นนะครับ คนที่เขียนรายงานถึงจะหน้าเด็ก แต่น่าจะเป็นหมอรังสีอ่านครับ
ค่าตรวจสุขภาพประจำปี ค่ารักษา อีกหน่อยน่าจะถูกลง น่าจะส่งผลกระทบกับ โรงบาล ประกัน แล้วตามด้วยแพทย์ พยาบาล น่าจะมีค่าตัวถูกลง ประกันนี่โดนสองเด้งเลย รถไร้คนขับก็ทำให้ค่าประกันรถถูกลง ถ้าค่ารักษาถูกลงด้วย มีหวัง ประกันก็ต้องถูกลงตาม จนอาจทำให้คนทำประกันลดลง
ถูกลงแล้วคงไม่ทำประกันมากขึ้นเหรอ?
โอกาสที่จะรถชนมันน้อย จนไม่อยากทำ หรือ ค่าใช้จ่ายทางด้านรักษามันต่ำมาก หรือ มีการตรวจโรคเป็นประจำที่บ้านอยู่แล้วจนรู้ว่าเป็นโรคตั้งแต่เนิ่นๆ จนทำให้รักษาง่าย ค่าใช้จ่ายถูก จนไม่อยากประกัน เพราะไม่คุ้ม ประกันก็ต้องปรับตัว ลดราคาลง หรือมีผลประโยชน์มากขึ้น
ทำไมถึงคิดว่าภูกล่ะครับ ค่าลิขสิทธิบานแน่ถ้ามันใช้ได้ผลดี
ก็คงเหมือน software ระยะแรกผู้เล่นน้อยราย ค่าลิขสิทธิก็แพง แต่ระยะยาวมีผู้พัฒนามากขึ้นก็น่าจะถูกลงจนฟรีแต่ไปหารายได้ทางอื่นแทน
หรืออีกอย่างคือทำ Software ให้เช่า รายได้ดี เพราะต้องเช่าทุกปีหรือเปลี่ยนระบบใหม่
ของที่ทำงานผม Software PACS สำหรับเก็บผล X-RAY, CT SCAN, MRI, Ultrasound เช่าปีละล้านปลาย ๆ ครับ