ในงาน Dell Technologies World 2018 ที่ผ่านมา หัวข้อหนึ่งซึ่งมีการพูดถึงค่อนข้างมาก คือการขยายตัวและโอกาสของอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (Internet of Things หรือ IoT) โดยมีการตัวอย่างกรณีศึกษา และการสาธิตในโครงการที่เกี่ยวกับ IoT หลายอย่าง ซึ่งบทความนี้จะพาชมโครงการบางส่วนที่มีการนำเสนอในงานครับ
สิ่งที่จะเกิดในโลกหากมีความแพร่หลายของ IoT คือปริมาณข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นมาจำนวนมหาศาล ซึ่งต้องการวิธีจัดการและนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้งานให้คุ้มค่าที่สุด ประเมินกันว่าในเมืองหนึ่ง ๆ ที่มีการติดตั้งระบบอัจฉริยะ (Smart City) เข้าไป จะมีการสร้างข้อมูลออกมาจากอุปกรณ์ต่าง ๆ มากถึง 200PB ต่อวัน ภายในปี 2020 ขณะที่ความต้องการใช้ข้อมูลเหล่านี้ต่างต้องการความรวดเร็ว และรองรับการขยายตัวในอนาคตด้วย ความท้าทายจึงมีทั้งระบบประมวลผลที่เหมาะสมในแต่ละจุด การจัดการการส่งต่อข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งน่าสนใจว่าต่อให้ใช้เทคโนโลยีระดับ 5G ก็ยังไม่เพียงพอหากปริมาณข้อมูลที่ส่งแต่ละวันเป็นไปตามพยากรณ์
AeroFarms เป็นกรณีศึกษาที่เดลล์หยิบยกมาพูดถึงในงานครั้งนี้หลายครา บริษัทจากเมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ แห่งนี้ทำฟาร์มผักในหลังคาแบบแนวตั้ง โดยติดตั้ง IoT เก็บข้อมูลทุกอย่างในกระบวนการปลูกผัก ตั้งแต่เมล็ด อุณหภูมิ ความชื้น การถ่ายเทอากาศ สารอาหาร ระดับแสงที่ใช้ น้ำ ฯลฯ นำข้อมูลที่ได้มาจำนวนหลายหลายหน่วย มาวิเคราะห์ประมวลผล และสร้างระบบจัดการฟาร์มแบบอัตโนมัติ ให้ได้ผักที่มีคุณค่าทางอาหารและรสชาติที่ต้องการ
ผลลัพธ์ที่ได้ กระบวนการจัดการของ AeroFarms ใช้น้ำลดลงถึง 95%, ไม่ต้องใช้สารเคมีฆ่าแมลงเลยในกระบวนการ, ผลทดสอบพบว่าผักมีรสชาติดีขึ้นมาก และที่สำคัญคือได้ผลิตผลเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง 390 เท่า
Otto Motors เป็นบริษัทจากแคนาดาที่พัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติ ที่สามารถเคลื่อนที่ไปยังจุดต่าง ๆ ในพื้นที่กำหนดได้อิสระ จึงเป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการสร้าง Smart Factory และลดขั้นตอนที่ใช้คนควบคุมในการเคลื่อนที่ไปจุดต่าง ๆ หุ่นยนต์เหล่านี้มีส่วนประกอบทั้ง IoT, AI และ Machine Learning ที่ทำให้มันตัดสินใจได้ในตัวเอง
ซีอีโอของ Otto Motors มองว่าใน 10 ปีข้างหน้า จะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานทักษะ (ลดลงราว 22%) ฉะนั้นภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องหาเครื่องมือทดแทน และยังต้องสามารถเพิ่มผลิตผลได้อีกด้วย ในมุมมองว่าหุ่นยนต์จะแทนที่คนหรือไม่ เขามองว่าหุ่นยนต์จะเข้ามาแทนที่คนในงานประเภทหนึ่งเท่านั้น แล้วคนจะย้ายไปทำงานที่มูลค่าสูงขึ้นแทน
DragonflEye เป็นโครงการของบริษัท Draper ซึ่งในศาสตร์ด้าน IoT ผสมผสานกับชีววิทยาโครงสร้าง เพื่อสร้างกล้องขนาดเล็กติดตัวแมลง โดยแมลงตัวแรกที่ใช้ทดสอบคือแมลงปอ ทำการเก็บภาพผ่านกล้องในตำแหน่งมุมมองของแมลงปอ แล้วนำภาพกับพิกัดที่ได้มาใช้ในการประมวลผล เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
เป้าหมายถัดไปของโครงการนี้คือการแก้ปัญหาผึ้ง ซึ่งมีปริมาณลดลงมากกว่า 50% ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา หากพัฒนากล้องโดรนจิ๋วติดตัวผึ้งได้ ก็น่าจะสามารถได้ข้อมูลมาศึกษา หาสาเหตุและแก้ไขปัญหาการลดลงของผึ้งได้เช่นกัน
IMS Evolve เป็นผู้พัฒนาโซลูชันหลากหลาย กรณีศึกษาสำคัญตัวหนึ่งคือการติดตั้ง IoT เพื่อเก็บข้อมูลอุณหภูมิของตู้แช่เย็น และตัวอาคารสถานที่ให้กับซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ในอังกฤษ นำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลและสั่งการกลับ เพื่อปรับอุณหภูมิตู้แช่ให้มีความเหมาะสมที่สุด กับแต่ละสินค้าในนั้น โดยติดตั้งอุปกรณ์ Edge ไว้ในแต่ละตู้แช่เย็น
ผลลัพธ์ที่ได้คือการบริหารจัดการตู้แช่ในซูเปอร์มาร์เก็ตรายนี้ที่มีมากกว่า 3,000 สาขา จนผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายให้ลูกค้ามีอุณหภูมิที่เหมาะสม คุณภาพสินค้าดีขึ้น ความพึงพอใจเพิ่มขึ้น และลดปริมาณของเสียเมื่อเทียบกับการจัดเก็บแบบดั้งเดิม ไปจนถึงควบคุมการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะสมมากขึ้น
Comments
เครื่องมืด => เครื่องมือ
ในเหมาะสม ?
อื้อหือ อย่างโหด ชอบอันสุดท้าย เพราะคิดมานานแล้วว่าตู้แช่แบบนี้โคตรเปลืองไฟ
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
+1