ณ ที่แห่งหนึ่งนอกชายฝั่งเมือง Cartagena ประเทศโคลัมเบีย ทีมนักวิจัยและสำรวจจาก WHOI สถาบันวิจัยและศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเกี่ยวกับโลกใต้น้ำ ได้ส่งหุ่นยนต์สำรวจ REMUS 6000 ดำดิ่งลงน้ำลึกกว่า 500 เมตร เพื่อสำรวจพื้นที่ซึ่งคาดว่าเป็นสุสานของเรือสมบัติในตำนาน
ด้วยระบบการขับเคลื่อนแบบอัตโนมัติ REMUS 6000 แหวกว่ายท้องน้ำตรวจสอบพื้นที่จนกระทั่งมันเจอบางอย่างที่ทีมวิจัยค้นหากันมานาน ภาพที่ REMUS 6000 บันทึกได้ถูกส่งขึ้นมายังหน้าจอของคอมพิวเตอร์ผู้ควบคุมปฏิบัติการ เผยให้เห็นภาพเศษชิ้นส่วนซากเรือสมบัติอายุนานกว่า 300 ปี วินาทีนั้นทีมวิจัยและสำรวจรู้ตัวในทันทีว่าภารกิจค้นหาขุมทรัพย์มูลค่า 17 พันล้านดอลลาร์ที่เฝ้าเพียรตามหากันมานานแรมปีได้ลุล่วงแล้ว
ย้อนไปสู่ห้วงเวลาท่ามกลางยุคสมัยแห่งการท่องโลกกว้างในคริสต์ศตวรรษที่ 18 จักรวรรดิสเปนคือหนึ่งในจักรวรรดิมหาอำนาจที่แต่งกองเรือออกสำรวจน่านน้ำไกลข้ามทวีปเสาะแสวงหาแผ่นดินใหม่ บุกเบิกสำรวจดินแดนสร้างอาณานิคมและสั่งสมทรัพย์สมบัติมากมาย ข้าวของทรัพย์สินที่กองเรืออันเกรียงไกรของจักรวรรดิสเปนหามาครอบครองได้ มากมายเสียจนต้องมีการตั้งกองเรือสมบัติขึ้นเพื่อการเคลื่อนย้ายสมบัติเหล่านั้นกลับสู่สเปนแผ่นดินแม่ และหนึ่งในเรือเหล่านั้นคือเรือสมบัตินามว่า San Jose
San Jose ถูกสร้างขึ้นในปี 1698 และถูกนำมาใช้เคลื่อนย้ายสมบัติในทวีปอเมริกาใต้ จนกระทั่งวันที่ 8 มิถุนายน ปี 1708 ในระหว่างภารกิจการขนย้ายสมบัติจากปานามาสู่โคลัมเบีย กองเรือสมบัติที่มี San Jose เป็นเรือธงก็ถูกโจมตีโดยกองเรือของราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ แม้กัปตันและลูกเรือของ San Jose จะเชี่ยวชาญการรบและเตรียมพร้อมรับมือการโจมตีของข้าศึกด้วยปืนใหญ่ 62 กระบอก แวดล้อมด้วยเรือรบอีก 2 ลำ ทว่าในระหว่างการต่อสู้ ห้องเก็บดินปืนเกิดระเบิดขึ้น San Jose จึงจมลงสู่ก้นมหาสมุทรพร้อมกับ 600 ชีวิตที่อยู่บนเรือในคืนนั้น รวมทั้งเงิน, ทองคำ, มรกต และอัญมณีอีกมากมายเต็มลำเรือ
ณ ที่แห่งหนึ่งกลางเวิ้งน้ำแห่งทะเลแคริบเบียน San Jose ได้หลับใหลสงบนิ่งหลังการปะทะที่ถูกเรียกว่า "Wager's Action" บันทึกประวัติศาสตร์คือสิ่งเดียวที่ทำให้โลกยังจดจำและรู้จักเรือสมบัติลำนี้ ทว่าไม่มีใครเคยค้นพบซากเรือสมบัติของจักรวรรดิสเปนอันเลื่องชื่อนี้เลย การประเมินมูลค่าข้าวของสิ่งต่างๆ บนเรือถูกตีเป็นมูลค่าเงินในปัจจุบันสูงถึง 17 พันล้านดอลลาร์ นั่นทำให้ San Jose ถูกขนานนามว่า "จอกศักดิ์สิทธิ์แห่งซากเรือ" จนกระทั่งเวลาผ่านมานานเกินกว่า 300 ปี ในปี 2015 ทีมวิจัยของ WHOI ร่วมกับนักวิจัยนานาชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลโคลัมเบีย สามารถระบุพื้นที่โดยสังเขปของ San Jose ได้ โดยยืนยันจากภาพถ่ายใต้น้ำของปืนใหญ่สัมฤทธิ์
มาในปี 2018 นี้ ทีมวิจัยและสำรวจของ WHOI กลับมาปฏิบัติภารกิจกลางทะเลแคริบเบียนอีกครั้ง และครั้งนี้พวกเขาใช้หุ่นยนต์ดำน้ำอัตโนมัติ REMUS 6000 มาทำหน้าที่สำรวจพื้นที่โดยละเอียดเพื่อค้นหาซากเรือและข้าวของทั้งหมด จนกระทั่งนำมาสู่ข่าวความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในครั้งนี้
ความน่าตื่นตาตื่นใจกับเรื่องเล่าประวัติศาสตร์และมูลค่าของสมบัติคือสิ่งที่ผู้คนต่างสนใจใคร่รู้กับเหตุการณ์การค้นพบครั้งประวัติศาสตร์นี้ แต่ในอีกด้านหนึ่งนี่คือข่าวความสำเร็จที่ได้มาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์
300 ปีที่ผ่านมา ไม่มีใครพบเจอ San Jose แต่ทำไม REMUS 6000 จึงหาเจอ?
REMUS 6000 เปรียบเสมือนโดรนอัจฉริยะ หากแต่โลกของมันไม่ใช่ท้องฟ้าที่กว้างใหญ่ ทว่าเป็นโลกใต้น้ำที่ล้ำลึก ลึกลงไปในมหาสมุทร ที่ซึ่งการสื่อสารเพื่อควบคุมยานยนต์ด้วยสัญญาณคลื่นวิทยุหรือการระบุตำแหน่งด้วย GPS นั้นไม่อาจทำได้เพราะมวลน้ำมหาศาลคืออุปสรรคใหญ่ที่สกัดกั้นสัญญาณวิทยุไว้ ด้วยเหตุนี้งานสำรวจใต้ท้องทะเลจึงเป็นสถานการณ์ที่ผลักดันให้เกิดงานพัฒนา UUV (Unmanned Underwater Vehicle) หรือยานดำน้ำไร้คนขับขึ้น โดยมีการสร้างระบบเซ็นเซอร์และระบบควบคุมการเคลื่อนที่อัตโนมัติที่ออกแบบมาสำหรับการเคลื่อนที่ใต้น้ำขึ้นโดยเฉพาะ
ตัว REMUS 6000 เองเป็น UUV ที่ถูกออกแบบมาให้สามารถปฏิบัติภารกิจใต้น้ำได้ลึกถึง 6,000 เมตร โครงสร้างภายนอกทำจากโฟมที่มีความเหนียวเป็นพิเศษทนแรงดันน้ำมหาศาลได้ ระบบขับเคลื่อน, หน่วยควบคุม รวมทั้งระบบสื่อสารและเซ็นเซอร์ต่างๆ อาศัยพลังงานจากแบตเตอรี่ขนาด 12 kWh มันสามารถส่งข้อมูลสู่ผู้ควบคุมที่อยู่บนเรือเหนือผิวน้ำได้ผ่านทางคลื่นเสียงที่จะส่งเป็นพัลส์ (เปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย คล้ายกับการส่งสัญญาณรหัสมอร์สด้วยคลื่นเสียง)
แม้ REMUS 6000 จะสามารถสื่อสารกับผู้ควบคุมที่อยู่ผิวน้ำห่างจากมันหลายพันเมตรได้ผ่านทางสัญญาณเสียง แต่นั่นไม่ใช่การสื่อสารที่ดีเพียงพอที่ผู้ควบคุมจะใช้เป็นช่องทางในการบังคับการเคลื่อนของ REMUS 6000 ให้เคลื่อนที่ใต้น้ำไปยังจุดที่ต้องการโดยหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ ดังนั้นจึงมีการพัฒนาระบบควบคุมการเคลื่อนที่อัตโนมัติขึ้นมาโดยเฉพาะ ตัวหุ่นมีเซ็นเซอร์ที่รับรู้ถึงแรงกระทำของกระแสน้ำใต้ทะเล ทั้งทิศทางและอัตราเร็ว ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างแรงขับของยานที่จะออกแรงต้านกระแสน้ำช่วยให้มันคงตำแหน่งอยู่กับที่ได้ เส้นทางการเคลื่อนที่มันถูกโปรแกรมด้วยคอมพิวเตอร์ไว้ล่วงหน้า โดยมีระบบโซนาร์ตรวจหาสิ่งกีดขวางใต้น้ำเพื่อให้ตัว REMUS 6000 เองสามารถเคลื่อนที่หลบหลีกสิ่งกีดขวางเหล่านั้นได้ และทำการถ่ายภาพเก็บข้อมูลสำรวจพื้นที่ได้ตามตำแหน่งที่ถูกโปรแกรมไว้
แม้ REMUS 6000 จะดูเป็นหุ่นยนต์ที่มีความซับซ้อนในการใช้งาน แต่ทั้งหมดสามารถทำได้จากคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว มันจึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับทีมวิจัยและสำรวจใต้ทะเลอย่างทีมของ WHOI ที่ต้องการความสะดวกในการเคลื่อนย้ายหุ่นเพื่อการทำงานในจุดต่างๆ
ข่าวนี้ให้แง่คิดที่น่าสนใจว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่เพียงนำพามนุษย์เราก้าวเดินไปสู่อนาคต แต่มันยังพาเรากลับไปค้นพบกับประวัติศาสตร์โลกเรา ให้เราได้ค้นพบได้เห็นอะไรใหม่ๆ ที่หลบซ่อนไว้มานานหลายชั่วชีวิตคนได้เช่นกัน
ที่มา - Interesting Engineering, artnet News
Comments
เพิ่มความหวังจะได้เจอ Atlantis
แล้วสมบัติจะเป็นของใคร
555+
โรเจอร์ แน่นอนครับ
ขอฝากครึ่งหลังของแกรนด์ไลน์ด้วยครับ
เข้ามาอ่านเพราะอยากรู้เรื่องนี้แหละ สงสัยโคลัมเบียจะได้มั้ง
หา MH370 ให้หน่อย
+1
ญาติหลายคนรออย่างสิ้นหวัง โหยหาอย่างไร้ความหวัง ถ้าเอามาใช้ค้นหาได้จะดีมาก อย่างน้อยก็ได้นำร่างของญาติไปประกอบพิธีฌาปณกิจ หมดเศร้าหมดโศกเสียที หากโชคดีก็ได้กลับไปพบญาติเสียที
+1 ครับ
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
+1
ส่งสัญญาณแบบเสียงนี่ได้ภาพวีดีโอเลยหรอเนี่ย
น่าจะขึ้นมาดึงวิดีโอข้างบนรึเปล่าครับ?
คลื่นเสียงใส่ข่าวน่าจะไว้ใช้สั่งการมากกว่า
ส่วนวีดีโอส่งด้วยคลื่นเสียงได้มั้ย ตอบว่าได้ แต่ภาพ SD 1 frame อาจต้องใช้เสียงยาว 240 นาทีอะไรแบบนั้น 555
ปกติเขาจะเข้ารหัสเสียงด้วยหลายๆความถี่ โดยเฉพาะการใช้คลื่นความถี่ที่เกินจากความสามารถของหูมนุษย์จะได้ยิน จึงทำให้ส่งข้อมูลได้มากขึ้นได้
ออ ขอบคุณครับ นึกว่าคลื่นเสียงใช้ส่งข้อมูลอะไรไม่ค่อยได้ซะอีก
ชอบมาก แนวๆนี้ เขียนเรื่องอื่นอีกนะครับ
สำหรับใครที่สงสัยว่า สมบัติ 17 พันล้านที่ถูกค้นพบนี้จะถูกแบ่งกันยังไง ขออธิบายเพิ่มเติมตรงนี้ครับ (อ้างอิงจากที่มาของข่าว - artnet News)
รัฐบาลโคลัมเบียตั้งใจจะกู้เศษซากวัตถุทั้งหมดขึ้นมา แล้วสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อจัดแสดงโบราณวัตถุเหล่านั้น พร้อมห้องปฏิบัติการทันสมัยที่จะใช้เพื่อการทำงานที่จะช่วยคงรักษาสภาพของวัตถุล้ำค่าเหล่านี้ไว้ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุด โดยในขณะนี้ได้มีการระดมทุนจากประชาชนสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการขุดค้นเศษซากวัตถุที่ส่วนมากยังถูกฝังอยู่ใต้ฝุ่นดินก้นทะเล
ทางด้านรัฐบาลสเปนเองก็ออกตัวเคลมความเป็นเจ้าของวัตถุและเศษซากเรือ San Jose
ในขณะที่ UNESCO ก็ออกโรงเตือนรัฐบาลโคลัมเบียว่าขอให้ระงับแผนดังกล่าว เนื่องจากเกรงว่าอาจสร้างความเสียหาย “would cause the irretrievable loss of significant heritage”
ก่อนหน้านี้ในปี 1981 มีบริษัทจากอเมริกาชื่อ SSA (Sea Search Armada) อ้างว่าค้นพบตำแหน่งของซากเรือ San Jose และต่อสู้แย่งชิงสิทธิ์ส่วนแบ่ง จนถึงขนาดขึ้นศาลจนมีคำตัดสินว่าโคลัมเบียจะได้สิทธิ์ในการแยกเอาส่วนที่เป็น "มรดกทางวัฒนธรรม" ของโคลัมเบียออกไปก่อน แล้วส่วนที่เหลือค่อยแบ่งกันคนละครึ่งกับ SSA (ซึ่งก็มีประเด็นอีกว่า "มรดกทางวัฒนธรรม" นั้นครอบคลุมอะไรขนาดไหน)
แม้ในปี 1981 นั้นจะไม่ได้มีการดำสำรวจจนพบซากเรือ แต่ SSA ก็อ้างว่ารัฐบาลโคลัมเบียใช้ประโยชน์จากข้อมูลพิกัดตำแหน่งที่ SSA ระบุในตอนนั้นมาใช้กับงานสำรวจในปี 2015 และปี 2018 นี้ ทำให้ SSA คิดว่าตนเองสมควรได้ส่วนแบ่งด้วยอยู่ดี
WHOI ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่ขอเข้าไปอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องสิทธิ์ความเป็นเจ้าของซากและทรัพย์สมบัติในเรือ San Jose
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
แล้วศาลที่ตัดสินขอสินข้อพิพาทนั่น ศาลโคลัมเบียหรือครับ?
my blog
ขัดแย้งกันนัก ก็ทำลายมันซะเลย ไม่ต้องมีใครได้ แล้ว UNESCO ไปยุ่งอะไรเขาเนี่ย เขาต้องการอนุรักษ์รักษาให้คนรุ่นหลัง ยังจะอ้างความเสียหายอีกเหรอ ทำตัวอย่างกับศาลโลก
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
ซากเือสมบัติ > ซากเรือสมบัติ
คริสตศตวรรษ => คริสต์ศตวรรษ
ดืนปืน ?
อัญมนี => อัญมณี
แก้ไขแล้วครับ ขอบคุณครับ
ช่างไฟสมัครเล่น (- -")
เทคโนโลยีนี่น่าทึ่งจริงๆ
..: เรื่อยไป