Tags:
Node Thumbnail

ในรอบหลายปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลสมิติเวชถือเป็นหนึ่งในเครือโรงพยาบาลที่มีการปรับตัวในด้านไอทีและเทคโนโลยีมากที่สุดแห่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการเปิดให้บริการแอพอย่าง Samitivej Plus ที่ร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ หรือการให้บริการผ่าน LINE Beacon ที่ทำให้ผู้ป่วยใช้บริการได้สะดวกขึ้น

Blognone มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นพ.สมชาย กลิ่นนวม ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เครือโรงพยาบาลสมิติเวช ที่งานประชุมวิชาการประจำปี บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2561 (BDMS Academic Annual Meetings 2018) ถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในรอบหลายปีนี้ของโรงพยาบาล ซึ่งมีทั้งส่วนที่คนทั่วไปมองเห็น และส่วนที่คนมองไม่เห็น นั่นก็คือระบบโครงสร้างไอทีที่ใช้ภายในโรงพยาบาลครับ

No Description

นพ.สมชาย กลิ่นนวม ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เครือโรงพยาบาลสมิติเวช

ปัจจัยอะไรบ้างที่นำเครือโรงพยาบาลสมิติเวช ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เน้นดิจิทัลในช่วงที่ผ่านมา?

เรื่องของดิจิทัลเป็นกระแสที่มาเร็วและแรง โรงพยาบาลเองตระหนักว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน แต่จะมีอยู่สองส่วน คือเรื่องของการบริการกับการอยู่รอด ที่ผ่านมาที่เราไม่ได้เปลี่ยนเพราะมีความไม่พร้อมหลายอย่าง แต่ถึงจุดหนึ่งก็ตระหนักได้ว่าถ้าไม่เปลี่ยนคงมีปัญหาแน่ๆ เลยเปลี่ยน

เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลมีสองส่วน คืองานระบบหลังบ้าน เช่น เวชระเบียน ระบบบริหารโรงพยาบาล กับส่วนที่ติดต่อกับผู้ป่วย ในส่วนแรก การย้ายระบบสำคัญๆ อย่าง HIS (Hospital Information System) จากระบบเดิมมาเป็นระบบใหม่ที่กินเวลานาน ถือว่ายากไหมครับ?

ในเรื่องระบบสารสนเทศของโรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องที่ยาก เพราะเหมือนการปรับรุ่นไปใช้เวอร์ชันใหม่เท่านั้น แต่ส่วนที่ยากลำบากจริงๆ คือการเปลี่ยนระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR: Electronic Medical Record) เพราะเป็นการเปลี่ยนจากระบบเอกสารกระดาษ ขึ้นไปอยู่บนระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดจากการมองว่า ข้อมูลที่ได้มาจะสามารถนำไปต่อยอดได้ แต่จนบัดนี้ก็ยอมรับว่ายังไม่ไปถึงจุดนั้นที่เป็นภาพสมบูรณ์แบบ จุดที่ได้แน่นอนคือการเข้าถึงข้อมูลเวชระเบียนที่ง่ายขึ้นกว่าเดิม

แต่ก็ยังเห็นข้อจำกัดอยู่ เพราะการออกแบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด ยังคงอิงกับฟอร์มเอกสารที่เป็นกระดาษ ทำให้ทำออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

No Description

แล้วในเชิงโครงสร้างไอที เปลี่ยนไปเยอะหรือเปล่าครับ? เพราะเท่าที่เห็นก็มีการเปลี่ยนจากเครื่องคอมพิวเตอร์ปกติ ไปเป็นเครื่อง Thin Client ที่ทำงานอยู่บน VDI? (Virtual Desktop Infrastructure)

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือเราใช้ระบบ VDI คู่กับ Thin client ที่ช่วยในเชิงการจัดการให้ง่ายขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่แลกมาคือประสิทธิภาพที่ลดลง และในบางครั้งถ้าเจอปัญหาเกิดขึ้นทีก็คือไปทั้งระบบเลย ต้องจัดการอย่างระมัดระวังมาก

การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างพื้นฐานทางไอทีเหล่านี้ เจอแรงต้านจากคนในบ้างหรือไม่?

เรายอมรับว่าความยุ่งยากมีแน่นอน โดยเฉพาะกับสายแพทย์ เพราะสิ่งที่เราทำคือการเปลี่ยนงานของคนที่มาจากหลายยุค หลายเจนเนอเรชั่น ตัวอย่างเช่นผมเองที่ถนัดพิมพ์สองนิ้วจิ้มๆ มากกว่าที่จะเป็นพิมพ์แบบหลายนิ้วบนแป้นพิมพ์ ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง และเป็นความยากในจุดนี้

อีกจุดหนึ่งคือเรื่องของความละเอียด ปกติแพทย์จะทำงานได้ดีเมื่อเขียน และจะเขียนได้ไวกว่า สมมติว่าผู้ป่วยพูดมา 10 คำ เราเขียนได้ 10 คำ แต่พอต้องมาป้อนข้อมูลคอมพิวเตอร์มันมีส่วนที่ช้าลง จาก 10 คำที่ได้เขียน อาจจะเหลือสัก 5 คำ ความละเอียดที่ได้เลยไม่เท่ากัน

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องของภาษาไทยและอังกฤษด้วย แพทย์ทุกคนไม่ได้ถนัดการพิมพ์ในภาษาไทย บางคนถนัดพิมพ์ภาษาอังกฤษมากกว่าก็มี อย่างผมที่ถนัดภาษาอังกฤษมากกว่า พิมพ์ได้เร็วกว่า ก็จะพิมพ์ภาษาอังกฤษ แต่คำที่เราใช้ในเวชระเบียนก็จะดูไทยๆ ลูกทุ่งอยู่ เลยมีความยุ่งยากในจุดนี้

เครือสมิติเวชมีหลายโรงพยาบาลในเครือ (ปัจจุบันมีทั้งที่สุขุมวิท, ศรีนครินทร์, ศรีราชา, ชลบุรี, ธนบุรี และ เยาวราช - ผู้เขียน) ยากไหมครับที่จะทำให้ระบบหลังบ้านเหล่านี้เชื่อมกันและขยายตัวไปพร้อมกัน?

ระบบของสมิติเวชทั้งหมดที่เชื่อมกันจริงๆ คือที่สุขุมวิทและศรีนครินทร์ เชื่อมกันโดยใช้ระบบและเครื่องแม่ข่าย (server) ชุดเดียวกันทั้งหมด ขณะที่ในสาขาอื่นๆ จะแยกกันออกไปเป็นอิสระ ในบางแห่งใช้ระบบสารสนเทศภายในโรงพยาบาลคนละตัวกันด้วย

โครงสร้างแบบนี้จึงนำมาด้วยความยากในสองส่วน ส่วนแรกคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันระหว่างโรงพยาบาล ถ้าเป็นสุขุมวิทกับศรีนครินทร์ ระบบจะรองรับการดึงเวชระเบียน ดึงข้อมูล และใช้งานข้อมูลร่วมกันได้แบบ 100% แต่กับสาขาอื่นๆ ที่แยกออกจากกัน การแลกเปลี่ยนจะกระทำผ่าน B-Exchange ที่เป็นระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางของกลุ่ม BDMS ซึ่งจะดึงผลการตรวจรักษา ผลการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการไปได้บางตัว ซึ่งก็เป็นข้อดีในระดับหนึ่งเพราะทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องตอบคำถามซ้ำ ในกรณีที่ย้ายไปรักษาโรงพยาบาลสาขาใกล้บ้าน หรือเกิดอุบัติเหตุแล้วต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสาขาแห่งอื่น

ส่วนที่สองคือเวลาต้องการจะเปลี่ยนแปลงระบบอะไร สาขาสุขุมวิทและศรีนครินทร์ต้องมาคุยกันดีๆ ซึ่งบางทีความต้องการของทั้งสองแห่งก็ไม่ได้ตรงกันเสียทีเดียว ก็ต้องปรับกันไป แต่พอเราเปลี่ยนทั้งสองแห่งที่เป็นแกนหลักได้แล้ว สาขาอื่นๆ ที่เหลือก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน (rollout) ได้ไม่ยากแล้ว

No Description

ในรอบ 5 ปีหลัง เราเห็นภาพของการเปลี่ยนในด้านที่ติดต่อกับผู้ป่วยมากขึ้น คำถามคือ ยากกว่าหรือไม่เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงในระบบบริหารโรงพยาบาลที่เป็นงานหลังบ้าน?

ด้วยตัวธุรกิจของโรงพยาบาลเอง เราไม่มีความชำนาญหรือเชี่ยวชาญในการเอาเทคโนโลยีดิจิตัลมาใช้ประโยชน์มากเท่าที่ควร เหมือนกับเราอยากได้รถสปอร์ต McLaren ราคา 30 ล้านบาท เราก็ซื้อมา แต่พอได้มาก็ถามว่า เอามาทำอะไรได้บ้าง เช่น มีช่องทางสื่อสังคมออนไลน์เต็มไปหมด แต่เราไม่รู้จะเอาอะไรมาใส่ นี่คือความยาก

สิ่งที่เราทำ จึงเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด เอาธุรกิจหลักนำ แล้วตามมาด้วยไอที ซึ่งแก้ปัญหาของการซื้อแล้วมี มีแล้วไม่ได้ใช้ไปเยอะมาก

ความร่วมมือที่ผ่านมา อย่างเช่นธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องปรับตัวเยอะไหม เพราะน่าจะเป็นครั้งแรกที่เอาแอพมาเชื่อมกับระบบบริหารโรงพยาบาลจริงๆ?

ไม่ยากเลยครับ เพราะในระดับบริหารและนโยบายเราคุยกันชัดเจนมาก เรื่องทางเทคนิคไม่ยากเลย ทำได้ทุกอย่าง และเราคุยกันเร็วมาก ทำได้เร็วมากด้วย

No Description

จากที่เปิดตัวมา ผมคงไม่ถามลงถึงตัวเลข แต่เราเห็นผู้ป่วยเริ่มใช้ช่องทางการชำระเงินผ่านระบบ FastPay หรือ QR Code เยอะขึ้นหรือไหมครับ

เยอะขึ้นครับ จริงๆ สมัยก่อนเรามี Fast-track ที่เป็นตู้ (kiosk) ให้บริการตัวเอง แต่ผู้ป่วยก็ไม่มาใช้งาน เพราะรู้สึกว่ามันไม่ตอบโจทย์ ต้องมีเจ้าหน้าที่ชวนไปใช้ตู้เพื่อความเร็ว พอเราเปลี่ยนช่องทางการชำระเงินให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้ป่วย ก็มีคนมาใช้เยอะขึ้น

พอต้องเจอกับระบบหลายๆ อันแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นระบบ FastPay ที่พัฒนาร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ LINE Beacon ในเชิงการจัดการระบบสารสนเทศเป็นอย่างไรบ้าง?

ในเชิงระบบ ทุกๆ อย่างก็เหมือนกัน เพราะแกนหลักก็ยังคงเหมือนเดิม แต่ในส่วนงานหน้าบ้านก็เป็นอีกอย่าง ผมมองว่าการแบ่งส่วนงานระหว่างระบบหลังบ้านและหน้าบ้านให้ดีๆ จะทำให้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากครับ

No Description

หนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดของโรงพยาบาล คือการนำระบบคิวมาใช้ ในกรณีของสมิติเวชที่มี Samitivej Q ที่เริ่มนำมาใช้แล้วและเริ่มเห็นผลว่าคนไข้ใช้เวลารอน้อยลง เราจัดการอย่างไรบ้าง?

ประเด็นที่ทีมบริหารกังวลมาตลอดคือ ระยะเวลารอของผู้ป่วย เรามีเป้าหมายว่าดีที่สุดคือผู้ป่วยไม่ต้องรอ แต่เรายังไปไม่ถึงจุดนั้น และระบบคิวเองก็ไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนั้นไปทั้งหมด จุดที่มันช่วยตอบโจทย์คือช่วยให้ผู้ป่วยทราบว่า เขากำลังรออะไร และนานแค่ไหน สมมติว่ารออีก 20 คิว ก็ไปทำอย่างอื่นก่อน ทำให้เขาผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้เขาใจเย็นได้ดีขึ้น

ในการใช้งานจริง เราพบว่าเวลารอของคนไข้ลดลงในหลายจุด แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเลย การบริการโรงพยาบาลมันไม่ใช่การบริการเชิงเส้น (linear) แต่มันเป็นระบบที่ไม่แน่นอน มันสามารถสลับไปมาได้ การพึ่งระบบอย่างเดียวนั่นก็แปลว่าตัวกำหนด (trigger) เรื่องของคิวจะต้องแม่นยำมาก สิ่งที่ต้องแลกมาคือความยืดหยุ่นที่ไม่มี

เราเลยแก้ปัญหาด้วยการทำในส่วนที่เราพอจะทำได้ มีขนาดเล็ก และไม่ซับซ้อนมาก แต่ถ้าเริ่มใช้ระบบกับงานที่ซับซ้อนซึ่ง ก็คงมีปัญหา เลยทำเท่าที่ทำได้ไปก่อน

No Description

ผมเข้าใจว่าโรงพยาบาลมีทั้งช่องทางสื่อสารเยอะมาก ทั้ง Twitter, Facebook, LINE เราบริหารกันอย่างไรบ้าง?

ตามนโยบายคือฝ่ายการตลาดรับผิดชอบ แต่การที่จะดึงข้อมูลออกไปจากภายในเป็นหน้าที่ของเรา ในเรื่อง Digital Transformation และช่องทางการสื่อสารทั้งหมดโรงพยาบาลเองก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนได้มากมายขนาดนั้น ทุกอย่างที่เห็นตอนนี้คือการเริ่มต้น

ยอมรับว่าข้อมูลที่เราต้องสนับสนุนฝ่ายการตลาดก็พอมีอยู่ แต่ยังไม่เยอะพอในมุมมองของเรา

พอทราบความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ผมต้องถามกลับว่า แล้วช่วงที่ผ่านมาเราต้องขยายโครงสร้างและปรับเปลี่ยนอะไรเยอะขึ้นไหมครับ?

ในส่วนระบบหลัก คือระบบสารสนเทศของโรงพยาบาล เราไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไร แต่สิ่งที่เรากำลังสนใจคือเรื่องของข้อมูลที่ไม่อยู่ในระบบสารสนเทศโรงพยาบาล และเราเริ่มขยายในส่วนของโครงสร้างไอทีเตรียมการไปบ้างแล้ว

ตัวอย่างเช่น สมมติถ้าเราจะทำระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition) เราก็ต้องทำแยกออกมาระบบสารสนเทศหลักของโรงพยาบาลอย่างแน่นอน เพราะระบบมันปนกันไม่ได้ ในแง่นี้ระบบเหล่านี้เราถึงต้องขยายเพิ่ม แต่ในแกนหลักปัจจุบันยังไม่ต้องขยายเพิ่มมาก

ในอนาคต สมิติเวชจะมีแผนทำอะไรเกี่ยวกับทางด้านดิจิทัลบ้าง จะมีการนำพวก Machine Learning มาใช้บ้างหรือไม่ครับ?

ผมขอตอบในภาพรวมละกันครับ ในเรื่องของข้อมูลเราอยากทำกันหมดในการเอาข้อมูลมาใช้ และเรายอมรับว่ามันเยอะจริงๆ แต่เอามาใช้แบบไหนมากกว่า นั่นเป็นคำถามสำคัญ

ที่ในตลาดส่วนใหญ่กำลังคิดกันอยู่มันเป็นไปในเชิงเทคนิคไปหมด บางทีก็ซับซ้อนไป แต่ที่เรามองเราอยากได้ข้อมูลแบบอื่น เช่น ผู้ป่วยเดินเข้ามาด้วยความกังวลอะไรบ้าง เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น เราอยากรู้ว่าผู้ป่วยที่ขับรถมาโรงพยาบาลมียี่ห้ออะไรบ้าง อยู่ในกลุ่มไหน มันจะทำให้เรามองภาพได้กว้างขึ้น และให้บริการคนไข้ได้ดีขึ้น ตรงกลุ่มเป้าหมายและมีผลจริง แบบเดียวกับห้างสรรพสินค้าให้บริการแบบเจาะรายบุคคลบนฐานของพฤติกรรม แต่เรายังคิดกันไม่ออกว่าจะทำอย่างไรบ้าง เพราะนี่คือโลกของสุขภาพและการแพทย์ มีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะมาก

No Description

ขอขอบคุณโรงพยาบาลสมิติเวช, นพ.สมชาย กลิ่นนวม, และคณะทำงานการประชุมวิชาการ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ที่ได้อำนวยความสะดวกในการสัมภาษณ์ครั้งนี้

Get latest news from Blognone

Comments

By: eiken
iPhoneWindows
on 16 August 2018 - 13:29 #1065966

ถ้าโรงพยาบาลยิ่งมีปริมาณคนไข้เข้ามาใช้บริการมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเห็นผลในเรื่องของ Time management สำหรับคนที่มารักษาได้ดีมากยิ่งขึ้น แต่น่าเสียดายที่ข้อมูลการรักษาของโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศไม่ได้เชื่อมโยงถึงกัน ไม่งั้นเราอาจจะได้เห็นการพัฒนาการและต่อยอดการรักษาโรคเฉพาะทางจากสถาบันเฉพาะทาง(อย่างสถาบันมะเร็งเป็นต้น)ได้อีกเยอะเลย :)

By: lingjaidee
ContributoriPhoneAndroid
on 16 August 2018 - 13:41 #1065968
lingjaidee's picture

ตัวอย่างเช่น เราอยากรู้ว่าผู้ป่วยที่ขับรถมาโรงพยาบาลมียี่ห้ออะไรบ้าง อยู่ในกลุ่มไหน มันจะทำให้เรามองภาพได้กว้างขึ้น และให้บริการคนไข้ได้ดีขึ้น

งงกับย่อหน้าสุดท้ายของคุณหมอ .. มันจะเกี่ยวกับการบริการยังไง ?


my blog

By: eiken
iPhoneWindows
on 16 August 2018 - 13:44 #1065969 Reply to:1065968

เป็นภาษาของพวกการตลาดครับ คือแบ่ง segment ลูกค้าให้ชัดเจนเพื่อทำสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กับคนเหล่านี้

By: adente
ContributorSUSESymbianWindows
on 16 August 2018 - 14:15 #1065972 Reply to:1065968
adente's picture

มีผลกับการบริการด้วย เป็นย่อหน้าที่เรียกดราม่าได้ดีจริงๆ

By: blackdemon
Windows PhoneAndroid
on 16 August 2018 - 14:56 #1065980 Reply to:1065968
blackdemon's picture

คนขับ mclaren คงคาดหวังการบริการแบบ vip ที่จ่ายได้แบบ unlimit
ไม่เหมือน คุณขับรถญี่ปุ่นธรรมดาที่ต้องคำนึงถึงต่าใช้จ่ายระดับนึง

แบบนี้เกี่ยวกับการบริการรึยัง?

By: Hiroki-san
iPhoneWindows PhoneAndroidWindows
on 16 August 2018 - 15:12 #1065984 Reply to:1065968

คนใช้พวกญี่ปุ่นนำเข้าจะจัดยังไง Alphard Harrier และอื่นๆ

By: nrml
ContributorIn Love
on 16 August 2018 - 15:44 #1065987 Reply to:1065968
nrml's picture

ตามที่บนๆ ว่าไว้ครับ แม้มันจะดูเหมือนการแบ่งวรรณะ แต่ก็นั่นแหละครับ มันคือความจริงที่หนีไม่พ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่มีส่วนของผลกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็น่าจะพอประเมินได้ว่ากลุ่มลูกค้าที่มาใช้บริการมีระดับไหนบ้าง และมันคงไม่ใช่คีย์หลักอันเดียวที่จะเอามาประเมิน เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น คล้ายๆ กับการจัดที่จอดรถแบบ priority ตามห้างนั่นแหละครับ ที่แบ่งเป็นที่จอดรถ Super car, Super bike, Lady etc. และรถตลาดทั่วๆ ไป

By: menu_dot on 16 August 2018 - 19:18 #1066011 Reply to:1065968

ประวัติคนไข้ สำคัญมากต่อการ วินิจฉัยครับ เพราะโรคเกิดจากพฤกติกรรม สิ่งแวดล้อมที่อยู่ ยิ่งจำแนกรายละเอียดปลีกย่อยได้มากเท่าไหร่ จะยิ่ง เห็น สิ่งที่เหมือนกันมากขึ้น เช่น เพศ หญิง+ชาย อายุ แหล่งที่อยู่ อาชีพ ย่อยลงไปได้อีก ถ้าสามารถเก็บข้อมูลได้ ก็จะหาสาเหตุของโรคได้ง่ายขึ้นครับ
รถใช้อบอกอะไรได้ รถบอกฐานะได้ บอกวัสดุที่ใช้ บอกสภาพในตัวรถที่ผู้ป่วยได้สัมผัส คุณมาเองหรือรถสาธารณะ มีโอกาสไปแพร่เชื้อหรือรับเชื้อ ป้องกันการแพร่ได้
แค่เป็นส่วนหนึ่งครับ แต่การเก็บข้อมูลคงมากกว่านี้และเอาไปใช้ได้มากกว่านี้
หมอเก่งๆจะวิเคราะห์ลงลึกได้ครับ แต่ไม่ทราบว่า กรณีนี้จะเอาไปวิเคราะห์ทางการแพทย์หรือเปล่า
ส่วนตัวคิดว่าหมอคงไม่รู้เรื่องการตลาดมากนักครับ

By: MaxDOL
iPhoneWindows
on 16 August 2018 - 15:09 #1065982

กำลังดูซี่รี่ย์เกาหลี LIFE ของ Netflix เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พอดีเลย

โรงพยาบาล ก่อตั้งเพื่อ ภารกิจทางมนุษยธรรม ไม่ควรเน้นแต่การทำกำไร แต่ถ้าโรงพยาบาลขาดทุน โรงพยาบาลก็อยู่ไม่ได้

โดยส่วนตัว ถ้าในโลกอุดมคติ ไม่ควรมีสถานพยาบาลเอกชนที่เน้นทำกำไร ควรจะมีแต่สถานพยาบาลที่บริหารด้วยเงินภาษีของประชาชนเท่านั้น แบบบางประเทศที่ สถานพยาบาล และ หมอ/บุคลากรทางการแพทย์ อยู่ในสังกัดรัฐเกือบทั้งหมด แบบ UK แคนาดา ทำให้ค่ารักษาแทบจะฟรีด้วยซำ้ไป หรืออย่างน้อยๆก็ควรจะมีการควบคุมค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากคนไข้แบบ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

By: saratlim
ContributorAndroid
on 16 August 2018 - 18:09 #1066002 Reply to:1065982
saratlim's picture

ไม่นับโรงพยาบาลเอกชน ระบบสาธารณะสุขของไทย โรงพยาบาลรัฐ ดีที่สุดในโลกแล้วครับในด้านค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่แทบไม่ต้องเสียอะไรเลย .... ไม่ได้ประชดแต่เป็นแบบนั้นจริงๆ


blog

By: menu_dot on 16 August 2018 - 19:20 #1066012 Reply to:1066002

ต้องขอบคุณเลยครับ คิดว่าทุกคนคงมีโอกาสได้ใช้ในสักวัน มันช่วยคนได้เยอะมากๆเลย

By: zerocool
ContributoriPhoneAndroid
on 17 August 2018 - 00:50 #1066033 Reply to:1066002
zerocool's picture

ผมว่าของสวีเดนดีกว่าไทยมากนะ เสียค่าใช้จ่ายมากกว่าก็จริงแต่ก็รักษาได้ครอบคลุมมากกว่า ด้วยคุณภาพที่ดีมากกว่าด้วย


That is the way things are.

By: Nozomi
ContributorWindows PhoneAndroidSymbian
on 17 August 2018 - 08:47 #1066053 Reply to:1066033
Nozomi's picture

คำว่าครอบคลุมกว่าแปลว่าอะไรครับ รักษาได้หลากหลายโรคมากกว่า หรือ ทุกคนเข้าถึงได้มากกว่า

By: zerocool
ContributoriPhoneAndroid
on 17 August 2018 - 16:31 #1066129 Reply to:1066053
zerocool's picture

ด้วยเทคโนโลยีทางสวีเดนรักษาได้หลายโรคมากกว่าครับ ส่วนการเข้าถึงคงเท่า ๆ กันคือทุกคนสามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้


That is the way things are.

By: tanapon000 on 18 August 2018 - 07:14 #1066192 Reply to:1066129
tanapon000's picture

ประเทศไทยติดข้อจำกัดด้านงบประมาณครับ ยาแพงๆไม่มีสิทธิได้ใช้

By: eiken
iPhoneWindows
on 16 August 2018 - 19:01 #1066008 Reply to:1065982

ถ้าโรวพยาบาลของรัฐมีการบริหารจัดการเรื่องของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ โรงพยาบาบเอกชนคงไม่ได้เกิดขึ้นมาหรอกครับ

ปล.อย่าคิดถึงโรงพยาบาลอย่างรามาหรือศิริราชนะครับ แต่ให้นึกถึงโรงพยาบาลประจำจังหวัด ที่ต้อง refer ผู้ป่วยในกรณีเครื่องมือกับบุคลากรไม่พอ สุดท้ายโรงพยาบาลไหนเจริญสุดก็ต้องไปแบกรับเยอะสุดนั่นแหละครับ เลยกลายเป็นปัญหาเรื่องงบประมาณและบุคลากรไม่เพียงพอ #เอวัง~

By: akira on 16 August 2018 - 20:58 #1066023 Reply to:1065982

โรงพยาบาลรัฐก็ไม่ได้แย่ ถ้าปรับปรุงเรื่องการจัดการ Time management ในแต่ละเคสได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็แทบไม่ต่าง ไม่ได้บอกว่าจัดการเวลาไม่ดี เพราะคนไข้เยอะมาก แต่ถ้ามีเทคโนโลยีมาช่วยจัดการคัดแยกผู้ป่วย โดยเอาข้อมูลมูลทางชีวภาพเช่น การตรวจเลือด การตรวจต่างๆ มาวิเคราะห์ ถ้าผลคงที่ก็ไปรับยาได้เลยไม่ต้องรอ หรือถ้ามี Lab ส่ว่นตัวส่งผลทาง Online แล้วให้ Ai วิเคราะห์ ถ้าอาการคงที่ก็มาแค่รับยา ถ้าอาการแย่ ค่อยเข้าห้องตรวจเพื่อลดภาระแพทย์ ทำไมผมถึงคิดเช่นนั้น เพราะเท่าที่ดูเกือบครึ่งของผู้ป่วยนอกส่วนใหญ่เป็นการตามอาการ เว่อร์ไปไหมเนี่ย เอกชนยังทำไม่ได้เลย 555 แต่ทุกคนมีสิทธิฝันเน๊อะ

By: FutureLifePlus
iPhoneAndroid
on 16 August 2018 - 20:27 #1066019

หวังว่าในครั้งต่อไป เรื่องดิจิทัลจะไม่เปลี่ยนแปลงแค่ในระดับสมิติเวช แต่ให้เปลี่ยนแปลงในระดับ BDMS เลย