Tags:
Node Thumbnail

Zachtronics นั้นมีชื่อเสียงด้านเกมแก้ปัญหาให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัด (optimization puzzle game) มาอย่างเนิ่นนาน โดยเราเคยนำเสนอเกมก่อนๆ ไปบ้างแล้ว (รีวิวเกม TIS-100, SHENZHEN I/O) และปีนี้ค่ายเกมดังกล่าวก็ได้ปล่อยเกมแนวเขียนโปรแกรมออกมาอีกครั้งในชื่อ EXAPUNKS ซึ่งมีที่มาจากการเอาคำนำ exa- ไปแทนที่ในคำว่า cyberpunk อันเป็นแฟนตาซีในตระกูลเดียวกับ The Matrix, Blade Runner, Ghost in the Shell นั่นเอง

แล้วเกมนี้จะวาดภาพโลกออกมาหน้าตาอย่างไร? เบื้องหลังระบบ/กฎเกณฑ์การแก้ปัญหาเป็นแบบไหน? มีอะไรเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากเกมก่อนหน้าบ้าง? มาพบคำตอบกันในรีวิวนี้ได้เลย

โลกการแฮกใน EXAPUNKS

ในทศวรรษ 1990 ที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างก้าวกระโดดจนเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ... ตัวละครหลักของเราก็พบกับการที่เทคโนโลยีก้าวเข้ามาอยู่ในชีวิตตามตัวอักษรจริงๆ เมื่อโรคระบาดแบบไฮเทคได้เปลี่ยนให้เซลล์บางส่วนในร่างกายเขากลายเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปซะได้!

แม้จะดูล้ำสมัยตรงที่เปิดโอกาสให้เจ้าของร่างสามารถ "แฮก" เพิ่มประสิทธิภาพร่างกายได้ แต่โลกนี้ไม่มีสิ่งใดฟรี ยิ่งขึ้นชื่อว่าโรคร้ายด้วยแล้ว ผู้ติดเชื้อ The Phage ต่างมีราคาที่ต้องจ่ายอย่างไร้ทางเลี่ยง ซึ่งได้แก่ยาต้านไวรัสอันแสนแพง หรือไม่เช่นนั้นก็คือชีวิต

บังเอิญพอดีกับสายลึกลับที่ติดต่อเข้ามา เมื่อนี่เป็นทางออกเดียวที่ช่วยต่อลมหายใจออกไปได้ ตัวเอกของเราจึงต้องดำดิ่งลงสู่โลกสีเทา โลกของเหล่าแฮกเกอร์ผู้สร้างไวรัสคอมพิวเตอร์อีกครั้ง ...

มาสร้างไวรัสแฮกโลกนี้กันเถอะ

อัตลักษณ์ของเกมจากค่าย Zachtronics คือการไม่มาจับมือเราไปหัดใช้เครื่องมือต่างๆ เพื่อแก้ปริศนา แต่จะโยนคู่มือวิธีการใช้เครื่องมือลงมาให้ศึกษากันเอาเอง ซึ่งใน EXAPUNKS คู่มือดังกล่าวมาในรูปแบบของนิตยสารสอนแฮก ที่แต่ละตอนมีเนื้อหากระโดดไปมามีเนื้อหาไม่ครอบคลุม ... นี่ก็ชวนให้ระลึกถึงนิตยสารรายเดือนสมัยก่อนที่เอา HexEdit มาแก้เซฟเกมอยู่เหมือนกัน

No Description

หน้าหนึ่งในนิตยสารสอนแฮก พร้อมกับโฆษณาในหน้าตรงข้าม

โดยภารกิจการแฮกต่างๆ ทำได้ด้วยการโปรแกรมเจ้าไวรัสคอมพิวเตอร์ EXA (ย่อมาจาก EXecution Agent -- ผู้เขียนเข้าใจว่าตั้งชื่อให้พ้องกับ exa- ที่หมายถึง 10 ยกกำลัง 18) ให้วิ่งตามลิงก์ไปในเครือข่าย เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ในเครื่องเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการสำเนาข้อมูล ปลดล๊อกระบบ แก้ไขไฟล์ หรือแม้กระทั่งทำลาย EXA จากผู้ใช้คนอื่นๆ ที่กำลังทำหน้าที่อยู่

และด้วยธรรมชาติของไวรัส สิ่งที่ทรงพลังจนน่ากลัวของมันก็คือการแพร่พันธุ์ นี่เปิดโอกาสให้เราสามารถเร่งความเร็วในการแฮกได้อย่างหลากหลายแทบไร้ขีดจำกัด ขอเพียงแค่จินตนาการให้ออกว่าจะรีดประสิทธิภาพออกมาจากฝูงของ EXA ได้อย่างไรเท่านั้น

No Description

หนึ่งในภารกิจที่เราต้องวิ่งไปฆ่า EXA ตัวอื่นในเครือข่ายเพื่อแย่งชิงไฟล์มาครอบครอง

ถ้ามองอย่างผิวเผิน แม้คำสั่งสำหรับการเขียนโปรแกรมจะมีหน้าตาคล้ายเกมก่อนๆ แต่หากดูให้ลึกลงไปแล้วจะพบว่ามีรายละเอียดแตกต่างกันเยอะมาก ตั้งแต่เรื่องยิบย่อยอย่างการมีคำสั่งคูณหารให้ใช้ได้โดยตรง ไปจนถึงระบบการสื่อสารระหว่าง EXA ที่เป็นการบรอดแคสต์ ไม่สามารถล็อกให้ EXA สองตัวใดๆ คุยกัน โดยห้ามไม่ให้ EXA ตัวอื่นๆ เข้ามาขัดจังหวะได้

แต่ความสามารถที่เพิ่มขึ้นมาอย่างน่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้นการที่ EXA แต่ละตัวสามารถถือครองและจัดการไฟล์ที่มีขนาดใหญ่ (เกือบ) เท่าไหร่ก็ได้ นี่ทำให้เราเห็นได้ทันทีว่าเจ้า EXA นี้มีศักยภาพในการคำนวณทัดเทียมกับ Turing Machine เลยทีเดียว

No Description

ฮิสโตแกรมคะแนนของแต่ละภารกิจ

เช่นเคย หลังสำเร็จเสร็จสิ้นภารกิจการแฮกแต่ละครั้ง ก็จะมีสรุปคะแนนของเราและเพื่อนๆ ขึ้นมาให้เปรียบเทียบแข่งขันกัน โดยคะแนนแบ่งออกเป็นสามหมวด สองหมวดแรกเป็นมาตรวัดที่คุ้นเคยกันดีจากเกมก่อนๆ อันได้แก่ความเร็วกับความสั้นโค้ด ส่วนหมวดสุดท้ายเป็นมาตรวัดใหม่สำหรับเกมนี้ที่จับตามองปริมาณกิจกรรมทางเครือข่าย โดยวัดจากการวิ่งไต่ลิงก์ของ EXA และการฆ่า EXA ตัวอื่นๆ ... ซึ่งเราในฐานะแฮกเกอร์ก็ควรจำกัดค่านี้ให้ต่ำ ไม่ให้เกิดความผิดปรกติน่าสงสัยขึ้นมา

และ EXAPUNKS ก็ใจดีกว่าเกมก่อนมากๆ ตรงที่แทบจะยกเลิกทุกข้อจำกัดเพื่อการไขปริศนา หากยังคิดวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมไม่ออก เราก็สามารถเขียนโค้ดได้ยาวเท่าใดก็ได้เพื่อให้โปรแกรมทำงานถูกต้องและดำเนินเนื้อเรื่องต่อ เพียงแค่แลกมากับการไม่สามารถอัพโหลดคะแนนขึ้นตารางเท่านั้น

ซึ่งถ้าเราอยากติดอันดับบนๆ ของตารางคะแนน ก็ถึงเวลาลงทุนศึกษาอัลกอริทึมในโลกความจริง เช่น การค้นหาแบบทวิภาค, การเรียงแบบเร็ว, การค้นอักขระของ KMP ทำความรู้จักกับเทคนิคการรีดประสิทธิภาพ เช่น การคลี่ลูป, การทำงานแบบคู่ขนาน แล้วนำเทคนิคต่างๆ เหล่านั้นนมาประยุกต์ปรับปรุงให้ลงล็อกกับปัญหาที่เราเจอ

แฮกเพื่อความบันเทิงเริงใจ

เช่นเดียวกับเกมก่อนๆ ในค่ายเดียวกัน EXAPUNKS ได้แถมเกมย่อยๆ ไว้ให้เล่นฆ่าเวลายามคิดหาวิธีแก้ปริศนาหลักไม่ออก โดยคราวนี้แถมมาด้วยกันถึงสองเกม!

No Description

มินิเกมทั้งสอง เกมแนวเดียวกับ FreeCell ส่วนอีกเกมคล้าย Bubble Shooter

ซึ่งถ้าสังเกตให้ดี เกมที่สองนั้นอยู่บนแพลตฟอร์มเครื่องเล่นเกมตั้งโต๊ะ นั่นหมายความว่าตามเนื้อเรื่องแล้วเราไม่ได้มีเพียงคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่ยังมีอุปกรณ์เล่นเกมอยู่เป็นจำนวนมากด้วย ... ใช่แล้ว เราสามารถที่จะแฮกหนึ่งในเครื่องเล่นเกมของเราเพื่อเขียนเกมเองได้ด้วย

No Description

การเขียนเกมซ้อนบนเกมอีกที

โดยเราไม่ต้องกังวลว่าการเขียนเกมซ้อนบนเกมแบบนี้ จะเป็นแค่การแชร์วิดีโอว่าเจ้า EXA สามารถทำอะไรได้เท่านั้น เพราะเราสามารถแจกจ่ายเกมที่สร้างนี้ให้เพื่อนๆ เล่นกันได้จริง เพียงแค่โหลดอีมูเลเตอร์เครื่องเล่นเกม TEC Redshift มาติดตั้ง แล้วลากไฟล์ดิสก์เกมเข้าไปวางเท่านั้น ก็จะสามารถเล่นเกมต่างๆ ที่รันอยู่บนเหล่า EXA ได้ในทันที

No Description

กิมมิคเล็กๆ ที่ให้ ROM เกมบนเครื่อง Redshift เป็นไฟล์รูปภาพไมโครดิสก์ซะเลย

นอกเหนือจากการแก้ปริศนาตามท้องเรื่อง และการพัฒนาเกมแบบปลายเปิดแล้ว EXAPUNKS ยังแนะนำโหมดการเล่นใหม่ที่ไม่เคยมีในเกมก่อนหน้า ซึ่งก็คือการแข่งขันแบบสนามประลองกับผู้เล่นคนอื่นๆ โดยเราจะได้โปรแกรมฝูง EXA ของเราให้ออกไปสู้กับเหล่า EXA ของคู่แข่งเพื่อแย่งกันทำงานต่างๆ เช่น ยึดครองพื้นที่ให้ได้มากที่สุด หรือย้ายไฟล์ไปไว้ในตำแหน่งที่ต้องการ

No Description

ด่านสนามประลองเพื่อแย่งชิงเวลาออกอากาศให้วิดีโอฝั่งตนถูกฉายนานกว่าคู่ต่อสู้

และถ้าทุกโหมดที่กล่าวมานี้ยังไม่ทำให้พอใจ เราจะเลือกสร้างปริศนาขึ้นมาใหม่เองเลยก็ได้ โดยคราวนี้เกมเลือกใช้ภาษา JavaScript แทนภาษา Lua แล้ว

No Description

การสร้างปริศนาด่านใหม่

เพื่อป้องกันการสร้างปริศนาที่ไม่มีคำตอบ หลังจากเราเองทดสอบว่าด่านที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้สามารถโปรแกรมเจ้า EXA ให้ทำงานได้จนจบแล้ว ก็จะมีตัวเลือกให้อัพโหลดด่านนั้นไปเผยแพร่บน Steam Workshop ต่อไป

บทสรุปการแฮก

เกมของ Zachtronics ไม่เคยเป็นเกมที่ถอดระบบจากโลกความจริงออกมาทุกกระเบียดนิ้วโดยไม่มีผิดเพี้ยนอยู่แล้ว แต่ถ้าดูในภาพรวมก็จะพบว่า หลายมุมมองในโลกที่เราอยู่ตอนนี้ก็ไม่ได้หนีไปจากตัวเกมซักเท่าไหร่เลย เช่น EXA แต่ละตัวก็เปรียบได้ดัง process หนึ่งๆ ที่กำลังรันอยู่บนระบบปฏิบัติการ การคัดลอกตัวเองซ้ำของ EXA ก็คลับคล้ายคลับคลากับการ fork process ออกมาช่วยกันทำงานเพิ่ม

หรือหากมองเทียบกับร่างกายแล้ว EXA แต่ละตัวก็คือไวรัสที่แพร่ไปยังเซลล์ต่างๆ ส่วนการอ่านและจัดการไฟล์ของ EXA ก็คงเทียบได้กับการถอดรหัส DNA นั่นเอง

แม้การเข้าใจวิธีโปรแกรมเจ้า EXA ในเกมอย่างทะลุปรุโปร่ง จะไม่สามารถนำมาใช้เขียนโปรแกรมในโลกความจริงได้ก็ตาม แต่แนวคิดเทคนิคต่างๆ ที่ตัวเกมสอดเอาแทรกไว้ ก็ดูจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้จริงได้หลายอย่างเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นความเข้าใจในการรีดความสามารถของคอมไพเลอร์ การเลือกใช้อัลกอริทึมที่เหมาะสมกับระดับความซับซ้อนของข้อมูล ไปจนถึงการมองปัญหาให้อยู่ในรูปความสัมพันธ์เวียนเกิด (recursion) เพื่อจะได้กระจายงานนั้นๆ ออกไปทำแบบคู่ขนาน

เช่นเดียวกับเกมก่อนๆ ผมคงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเกมนี้เหมาะกับทุกคน แต่ท่าทีของเกมนี้ก็นับว่าเป็นมิตรขึ้นมามากๆ แล้ว และผมคิดว่าใครที่ตั้งใจจะเอาดีด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเล่น EXAPUNKS นอกจากจะได้รับความสนุกแล้ว ก็คาดว่าจะได้เทคนิคการแก้ปัญหาเจ๋งๆ ติดไม้ติดมือกลับไปเพียบแน่นอน

Get latest news from Blognone

Comments

By: -Rookies-
ContributorAndroidWindowsIn Love
on 2 November 2018 - 14:40 #1080006

โอววว อยากเล่นจัง


เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!

By: panurat2000
ContributorSymbianUbuntuIn Love
on 2 November 2018 - 22:36 #1080103
panurat2000's picture

จะเป็นแค่การแชร์วิดีโอว่าว่าเจ้า EXA สามารถทำอะไรได้เท่านั้น

แชร์วิดีโอว่าว่า ?

สามารถโปรแกรมเจ้า EXA ให้ทำงานได้อจนจบแล้ว

ได้อจน ?

ไม่เคยเป็นเกมที่ถอดระบบจากโลกความจริงออกมาทุกระเบียบนิ้ว

ทุกระเบียบนิ้ว => ทุกกระเบียดนิ้ว

By: neizod
ContributorTraineeIn Love
on 3 November 2018 - 14:03 #1080182 Reply to:1080103
neizod's picture

เรียบร้อยครับ

By: zerocool
ContributoriPhoneAndroid
on 4 November 2018 - 05:01 #1080228
zerocool's picture

เพิ่งรู้ว่ามีเกมนี้ น่าสนใจมากครับ


That is the way things are.

By: langisser
In Love
on 4 November 2018 - 08:13 #1080230

ดูแล้วเป็นเกมที่ต้องใช้เวลาเล่นจริงจัง