Tags:
Node Thumbnail

Bukalapak สตาร์ทอัพสายอีคอมเมิร์ซ ที่เป็นสตาร์ทอัพรายล่าสุดของอินโดนีเซียที่เพิ่มทุนจนทำให้มีมูลค่ากิจการสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ กลายเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์นเมื่อปีที่แล้ว ต่อจาก Tokopedia, Go-Jek และ Traveloka โดยล่าสุดบริษัทได้ประกาศรับเงินทุนซีรี่ส์ D เพิ่มอีก 50 ล้านดอลลาร์ จากกองทุน Mirae Asset-Naver Asia Growth ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง กองทุน Mirae Asset และ Naver จากเกาหลีใต้

รายชื่อผู้ลงทุนก่อนหน้านี้ใน Bukalapak ก็มีทั้ง Ant Financial บริษัทการเงินเครือ Alibaba, Emtek ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในอินโดนีเซีย และกองทุน GIC ของประเทศสิงคโปร์

ถ้าพูดถึงอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในอินโดนีเซียก็ต้องเป็น Tokopedia ซึ่งเพิ่งรับทุนก้อนใหญ่กว่าพันล้านดอลลาร์เมื่อปลายปีที่แล้ว แม้ Bukalapak จะมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็มีแนวทางในการดำเนินงานที่น่าสนใจเช่นกัน

alt="Bukalapak"

Bukalapak เป็นภาษาอินโดนีเซียแปลว่าเปิดร้านขายของ ก่อตั้งเมื่อ 9 ปีที่แล้ว มียอดขายสุทธิ (GMV) ในปีที่ผ่านมาราว 4 ล้านล้านรูเปีย หรือเกือบ 9 พันล้านบาท มีจำนวนร้านค้าในแพลตฟอร์มกว่า 4 ล้านราย และผู้ใช้งานเป็นประจำกว่า 50 ล้านคน

แนวทางของ Bukalapak คือเป็นให้มากกว่าอีคอมเมิร์ซ โดยต้องการเป็นแพลตฟอร์มแนวไลฟ์สไตล์ มีสินค้าที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน อาทิ บัตรโดยสารเครื่องบิน รถไฟ ไปจนถึงสินค้าด้านการเงินการลงทุน นอกจากนี้ยังพยายามเพิ่มช่องทางการขายแบบออฟไลน์ โดยมีโครงการชื่อ Mitra Bukalapak เพื่อเป็นพันธมิตรกับร้านค้ารายย่อย สำหรับเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าดิจิทัล เจาะกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต และให้เปอร์เซ็นต์กับร้านค้า ปัจจุบันมีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 5 แสนราย และตัวแทนอิสระอีกกว่า 7 แสนคน

อีกทิศทางที่น่าสนใจของ Bukalapak คือการพัฒนาสินค้าด้านการลงทุน โดยผู้ใช้งานสามารถซื้อกองทุนรวมได้ผ่าน Buka Reksa ที่ตอนนี้มีคนซื้อหน่วยทุนหลายแสนราย โดยผลิตภัณฑ์ทางการที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือการซื้อกองทุนทองคำ

นอกจากนี้ Bukalapak ยังมีแผนในอนาคตซึ่งเป็นไปในทิศทางเหมือนสตาร์ทอัพรายใหญ่ของภูมิภาคนี้ ก็คือการเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่ง Tokopedia ได้ทำอยู่แล้ว แต่ Bukalapak มาผิดจังหวะเวลา ทำให้ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล แต่ก็ได้เริ่มร่วมมือกับพาร์ทเนอร์สาย FinTech หลายรายในประเทศไปก่อน

สำหรับเงินทุนรอบล่าสุดนั้น Bukalapak บอกว่าจะนำไปใช้ในการขยายพาร์ทเนอร์ร้านค้ารายย่อย รวมทั้งนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ การซื้อประกันภัยออนไลน์ และกระเป๋าเงินดิจิทัล

ที่มา: TechCrunch และ KrASIA

alt="Bukalapak"

Get latest news from Blognone

Comments

By: NiNeMarK
AndroidWindows
on 21 January 2019 - 09:27 #1092883

ยูนิคอร์นไทยมีบ้างรึยังครับหรืออยู่ในไข่ไดโนเสาร์ที่หวงเอาไว้อยู่

By: PH41
ContributorAndroidUbuntuWindows
on 21 January 2019 - 09:45 #1092890 Reply to:1092883
PH41's picture

ไม่เข้าใจครับ ช่วยอธิบายเพิ่มได้มั้ยครับ ?

By: มายองเนสจัง
iPhone
on 21 January 2019 - 13:57 #1092925 Reply to:1092890
มายองเนสจัง's picture

ไม่มีไรหรอกค่ะ เค้าแค่อยากแซะประเทศตัวเอง

By: whitebigbird
Contributor
on 21 January 2019 - 14:48 #1092938 Reply to:1092883
whitebigbird's picture

ลองใช้คำแดกดันที่คนทั่วไปเข้าใจไปในทางเดียวกันดูครับ คำแดกดันบางคำมันเข้าใจแค่ส่วนตัว อ่านแล้วไม่เข้าใจครับ

ผมพอจะตีความได้ แต่ถูกรึเปล่าไม่รู้

ฉะนั้นแล้วเขียนให้เคลียร์จะช่วยให้สื่อความหมายที่ต้องการจะส่งสาส์นได้ดีกว่าครับ

By: zalapao
Android
on 21 January 2019 - 10:27 #1092897
zalapao's picture

อินโดโหดมาก ตอนนี้มากที่สุดในอาเซียนเลยเปล่าเนี่ย

By: ปาโมกข์
iPhoneAndroidWindows
on 21 January 2019 - 13:59 #1092927
ปาโมกข์'s picture

อินโดประเทศนี้มาแรงเหลือเกิน
grab lazada แรกเริ่มก็มาจากอินโดด้วยใช่ไม๊

By: akira on 21 January 2019 - 16:42 #1092958

จำนวนประชากร 264 ลานคน market size ไม่ได้ธรรมดานะครับ โอกาสเกิดยูนิคอนสูงอยู่แล้ว ผมว่าที่น่าสนใจน่าจะเป็นสิงคโปร์มากกว่า โมเดลน่าจะแข่งขันในตลาดโลกได้ดีกว่า

By: medusakbpom on 22 January 2019 - 17:21 #1093120
medusakbpom's picture

เยี่ยมครับ