ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ชัดเจนว่าบริษัทเทคโนโลยีจากจีนกำลังมาแรงในตลาดโลก พลังมังกรไซเบอร์ที่ผสมผสานกลยุทธ์ทั้งราคาที่ถูกกว่า และเทคโนโลยีที่เหนือกว่า (ในบางด้าน) จึงเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นเดิมๆ ได้อย่างสูสี และสามารถเอาชนะได้เรียบร้อยแล้วในหลายอุตสาหกรรม
บทความนี้จะพาไปดูสถานการณ์ปัจจุบันของบริษัทเทคโนโลยีจีน ว่าปัจจุบันอยู่ตรงไหนแล้วในตลาดโลก
หากพิจารณารายชื่อบริษัทเทคโนโลยีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (อ้างอิงตามมูลค่าบริษัทหรือ market capitalization) ในกลุ่ม Top 10 บริษัทจีนมียักษ์ใหญ่ติดอันดับถึง 2 รายคือ Alibaba (อันดับ 6) และ Tencent (อันดับ 7) ถ้าเทียบกับบริษัทหมวดเทคโนโลยีด้วยกันแล้ว ถือว่าเป็นรองกลุ่มบริษัท Top 5 ที่เราคุ้นชื่อกันดีคือ Microsoft, Amazon, Apple, Alphabet, Facebook เท่านั้น และมีมูลค่าสูงกว่าบริษัทดังๆ อย่าง Netflix หรือ Adobe ด้วยซ้ำ
ส่วนบริษัทจีนรายอื่นๆ ที่ติดอันดับ Top 30 มีด้วยกันอีก 5 รายคือ Meituan Dianping, JD, Baidu, NetEase และ Xiaomi
ถ้านับจำนวนประเทศในชาร์ทแล้ว สหรัฐอเมริกายังครองอันดับหนึ่งที่ 18 บริษัท ตามด้วยจีน 7 บริษัท ส่วนประเทศอื่นที่เหลืออย่างญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย มีติดชาร์ทเข้ามาเพียงประเทศละ 1 รายเท่านั้น
ที่มา - Mary Meeker Internet Trend 2019
ถ้ามาดูรายละเอียดเป็นรายอุตสาหกรรม ในตลาดสมาร์ทโฟนที่ชาว Blognone คุ้นเคยกันดี คงทราบว่าแบรนด์สมาร์ทโฟนระดับโลก เหลือเพียงซัมซุงและแอปเปิลเท่านั้นที่ยังคงต้านกระแส "สมาร์ทโฟนจีน" อยู่ได้ (แต่ก็ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงเรื่อยๆ) อย่างใน ตัวเลขส่วนแบ่งตลาดไตรมาสล่าสุด 2/2019 ของ IDC ซัมซุงยังครองอันดับหนึ่งที่ส่วนแบ่ง 22.7% และแอปเปิลอยู่อันดับสามที่ 10.1% ส่วนอันดับที่เหลือใน Top 6 คือ Huawei, Xiaomi, Oppo, Vivo เรียกได้ว่าจีนครองตลาดเกือบเบ็ดเสร็จ
หากลองรวมส่วนแบ่งตลาดของแบรนด์จีนทั้ง 4 รายเข้าด้วยกัน จะเห็นว่าแบรนด์จีนทั้ง 4 (เส้นสีแดง) มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกือบแตะ 45% ของโลกแล้ว (นี่ยังไม่รวมแบรนด์จีนย่อยๆ อื่น เช่น Realme, Meizu, OnePlus) และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา (คงจะถึงหลัก 50% ในไม่ช้า) ในขณะที่ซัมซุงมีแนวโน้มส่วนแบ่งตลาดลดลง (เพิ่งกลับมาโตใน Q1/2019) และแอปเปิลก็ลดฮวบในช่วงหลัง
ที่มา - IDC
เมื่อพูดถึงตลาดคลาวด์ โดยเฉพาะ public cloud แบบ IaaS (Infrastructure as a Service) ชื่อแรกๆ ที่คนนึกถึงมักเป็น 3 แบรนด์ดัง AWS, Azure, Google Cloud แต่ถ้าดูข้อมูลส่วนแบ่งตลาดโลกอย่างละเอียดแล้ว เราอาจเห็นชื่อที่คุ้นเคย (แต่หลายคนไม่รู้ว่าทำคลาวด์) อย่าง Alibaba Cloud แทรกตัวเข้ามาในอันดับ 3 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดราว 7.7% ซึ่งเยอะกว่า Google Cloud ด้วยซ้ำ
ถึงแม้ฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของ Alibaba Cloud ยังอยู่ในประเทศจีน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดที่เยอะทีเดียว และนอกจาก Alibaba แล้ว บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนรายอื่น เช่น Tencent และ Huawei ต่างก็มีบริการคลาวด์ในลักษณะเดียวกัน และกำลังจะออกมาทำตลาดนอกจีนในเร็วๆ นี้ (เมืองไทยก็เริ่มเข้ามาแล้ว)
ที่มา - Gartner
อีกวงการที่เห็นพลังของจีนได้อย่างชัดเจน คือสงครามของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทย ระหว่าง Lazada, Shopee, JD Central ล้วนแต่มี "จีน" อยู่เบื้องหลัง
กรณีของ Lazada นั้นชัดเจนว่ากลายเป็นบริษัทลูกของ Alibaba ไปเรียบร้อยแล้ว (ซื้อกิจการในปี 2016) ส่วน JD.co.th เป็นการร่วมทุนระหว่างกลุ่มเซ็นทรัลของไทย กับ JD.com เบอร์สองของอีคอมเมิร์ซจีน
ประเด็นที่หลายคนอาจไม่รู้คือ Shopee นั้นบริษัทแม่เป็น Sea Group ของสิงคโปร์ก็จริง แต่ก็มีความสัมพันธ์กับ Tencent อย่างแนบแน่น โดย Tencent ถือเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Sea Group (เคยมีหุ้นที่ราว 40% ช่วงที่ Sea ขายหุ้น IPO) ถือว่าเยอะกว่า Forrest Li ผู้ก่อตั้ง Garena/Sea ด้วยซ้ำ และมีที่นั่งในบอร์ดของ Sea ด้วย
อ่านเพิ่มเติม: วิเคราะห์ศึกอีคอมเมิร์ซไทย สุดท้ายเป็นแค่ “สงครามตัวแทนของจีน”
เมื่อพูดถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน ในยุคดั้งเดิมประกอบด้วย 3 รายใหญ่คือ Baidu, Alibaba, Tencent ซึ่งเรียกรวมกันว่า B.A.T. และมีอิทธิพลล้นฟ้า พอตัวบริษัทมีขนาดใหญ่มากก็เข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพจำนวนมหาศาลทั้งในจีนและนอกจีน
แต่ช่วงหลังเราเริ่มเห็นบริษัทจีนรุ่นใหม่ที่เริ่มมาแรงอีก 3 ราย ได้แก่ Toutiao, Meituan Dianping และ Didi Chuxing หรือตัวย่อคือ T.M.D.
ข้อมูลเพิ่มเติม: รู้จัก 3 บริษัทเทคจีนยักษ์ใหญ่ ที่ไม่ใช่ Baidu, Alibaba และ Tencent
Didi Chuxing อาจเป็นบริษัทที่ชื่อดังที่สุดในตลาดโลก เพราะเป็นบริการเรียกรถของจีน ผู้เอาชนะ Uber ได้อย่างราบคาบ
ส่วน Toutiao เป็นชื่อแอพอ่านข่าวยอดนิยมของจีน ที่คนนอกจีนอาจไม่รู้จักสักเท่าไรนัก แต่บริษัทแม่ของ Toutiao คือ ByteDance ซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกับ TikTok แอพแชร์วิดีโอสั้นที่กำลังระบาดไปทั่วโลก และเข้ามาท้าทายโซเชียลเน็ตเวิร์คของโลกตะวันตกอย่างแข็งแกร่ง
สุดท้าย Meituan-Dianping คือแอพส่งอาหารเดลิเวอรีที่ใหญ่ที่สุดของจีน (ได้รับการสนับสนุนและลงทุนโดย Tencent) ที่ครองส่วนแบ่งตลาดราว 60% ในจีน สามารถเอาชนะ Ele.me ที่เป็นบริษัทลูกของ Alibaba ได้ด้วย
ขนาดธุรกิจของ Meituan-Dianping ก็เรียกได้ว่าใหญ่มาก เพราะต้องตอบสนองคนกินอาหารทั่วประเทศจีน 400 ล้านคน ทุกวันนี้ Meituan-Dianping ต้องส่งอาหารวันละ 25 ล้านออเดอร์ และมีคนส่งอาหารในสังกัดถึง 2.7 ล้านคนถึงจะพอเพียงกับปริมาณธุรกรรมระดับนี้
อ่านเพิ่ม: แอพจีน Meituan-Dianping สร้างงานให้คน 2.7 ล้านคน ส่งอาหาร 25 ล้านออเดอร์ต่อวัน
เมื่อพูดถึง Tencent เรามักนึกถึงบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ ที่มีผลิตภัณฑ์ชื่อดังระดับโลกคือแอพแชท WeChat กับการเป็นบริษัทเกมรายใหญ่ของโลก เจ้าของ RoV (ชื่อในจีนคือ Arena of Valor หรือ Honor of King) รวมถึงยังเป็นเจ้าของสตูดิโอเกมยักษ์ใหญ่ Riot Games (ผู้พัฒนา League of Legends - LoL) และ Supercell (Clash of Clans) และถือหุ้น 40% ใน Epic Games
แต่ธุรกิจอื่นของ Tencent ยังมีอีกมากมาย ที่เข้ามาทำตลาดในไทยได้แก่ ฝั่งคอนเทนต์ Joox, Voov และล่าสุดคือ WeTV บริการสตรีมมิ่งที่เน้นคอนเทนต์จากประเทศจีนเป็นหลัก รวมถึง Sanook.com เว็บพอร์ทัลเก่าแก่ของไทยซึ่งเป็นกิจการแรกของ Tencent ในไทย, Tencent Cloud บริการคลาวด์สำหรับตลาดองค์กร
ส่วนธุรกิจอื่นที่ยังมีเฉพาะในจีน ก็อย่างเช่น Tencent Comic แพลตฟอร์มการ์ตูนออนไลน์และแอนิเมชัน, Tencent Pictures ที่ถึงขนาดมีค่ายหนังของตัวเอง, Tencent Classroom แพลตฟอร์มการศึกษาออนไลน์
นอกจากธุรกิจของตัว Tencent เองแล้ว บริษัทยังเข้าไปลงทุนในสตาร์ตอัพจำนวนมาก ที่ปัจจุบันก็เติบโตจนเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักกันทั่วไป เช่น JD.com, Sea (Garena) และ Meituan-Dianping เป็นต้น
คนทั่วไปอาจรู้จักแบรนด์ Huawei ในฐานะผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของโลก (ปัจจุบันอันดับ 2) แต่จริงๆ แล้ว รากเหง้าของ Huawei มาจากการบุกเบิกตลาดอุปกรณ์โทรคมนาคมในประเทศจีนช่วงที่เริ่มเปิดประเทศ
ก่อนหน้านี้รายได้หลักของ Huawei มาจากธุรกิจอุปกรณ์โครงข่าย ซึ่งลูกค้าหลักคือกลุ่มโอเปอเรเตอร์ทั่วโลก (ธุรกิจฝั่งคอนซูเมอร์ของ Huawei เพิ่งมีรายได้แซงหน้าได้ในปี 2018 ที่ผ่านมานี้เอง)
ส่วนธุรกิจก้อนที่สามคือ Enterprise Business ที่ครอบคลุมถึงสวิตช์ เราเตอร์ อุปกรณ์เครือข่ายในองค์กร เซิร์ฟเวอร์ สตอเรจ, โซลูชันด้านการสื่อสาร, IoT, วิดีโอจากกล้องวงจรปิด รวมถึงธุรกิจคลาวด์ด้วยเช่นกัน
การผงาดขึ้นมาของบริษัทเทคโนโลยีจากจีน เป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามไปพร้อมกัน
สินค้าและบริการของจีนช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับคนไทย (เช่น การไปขายของให้คนจีนบน Taobao) ช่วยเข้ามาแข่งขันกับเจ้าตลาดเดิมทั้งฝั่งโลกตะวันตก และแบรนด์เอเชียจากญี่ปุ่น-เกาหลี-ไต้หวัน (เช่น มือถือจีนที่เข้ามาแข่งกับแอปเปิล-ซัมซุง) แต่ในอีกด้าน สินค้าและบริการจีนก็เข้ามาแข่งกับคนไทยเช่นกัน และมักเอาชนะได้ด้วย เพราะมีต้นทุนถูกกว่า สามารถทำราคาได้ดีกว่ากิจการของคนไทย
งาน Blognone Tomorrow 2019 จึงพยายามค้นหาคำตอบว่า เราควรรับมือกับบริษัทจีนอย่างไร? โดยเชิญตัวแทนจาก 3 บริษัทคือ Tencent, Huawei และ Meituan-Dianping มาร่วมสนทนากันบนเวที
สำหรับผู้สนใจสามารถซื้อบัตร Early Bird ได้ในราคาพิเศษ 1,500 บาท (รวมอาหารว่างและอาหารกลางวันแล้ว) จากราคาปกติ 2,500 บาท ถือเป็นโอกาสซื้อบัตรในราคาถูกที่สุด
Early Bird ขยายเวลา จากหมดวันที่ 8 สิงหา เป็น 15 สิงหาคมนี้ สามารถซื้อบัตรได้จาก EventPop (สามารถออกใบกำกับภาษีได้)
Comments
มันยากมากในเรื่องเทคโนโลยี คนบ้านเราส่วนใหญ่ก็ละเมิดลิขสิทจนแวดวงแนวนี้ตายกันไปจะหมดแล้ว ถึงรัฐจะมีการสนับสนุนแต่ตอนนี้มันช้าเกินไปและยากมากที่จะสร้างสินค้าไม่ทับลายจีนถึงทำได้แต่ก็โดนกอปไปอยู่ดี
ส่วน Ecom ก็ยากเหมือนช่วงที่ ร้าน24 ทุ่มงบ ร้านโชห่วยตายหมด พอลูกค้าไม่มีทางเลือกน้อยลงก็ สร้างรายผลิตตัวเอง และราคาที่สูงขึ้น ลองดูราคาปัจจุบันกับอดีต ปัจจุบันสินค้าบางตัวไปเดินห้างยังถูกกว่าขายในเวปพวกนี้ด้วยซ้ำ
การรับมือคือ Ecom ควรมีหน้าร้านของตัวเองในช่องทางต่างๆและจัดโปรโมชั่นที่หักค่าหัวคิดของเวปดังๆออกไปและมีการรับประกันไม่ต่างจากเวปดังๆ
ลูกค้าควรค้นหาให้มากขึ้นเพื่อรักษาผลประโยชน์ตัวเองในปัจจุบันและอนาคต ถึงจะนานหน่อยแต่ก็ดีกว่าที่ปล่อยให้เวปดังรับของมาขายเองแล้วกินรวบทั้งกระบวณการ หรือสุดท้ายแบบ 24 สร้างรายผลิตขายเองได้กำไรเต็มๆ ทุ่มงบทำราคาถูกจนเจ้าเดิมตายแล้วก็ขึ้นราคาเพราะไร้คู่แข่ง
ส่วนตัวก็เซ็งตรงขนมที่ชอบซื้อตอนนี้ก็ไม่มีขายแล้วเพราะโดนกอปขายเป็นแบรน24แล้ว
ผมว่าอะไรที่เป็นแมสเราสู้ยาก
แต่อาหาร ผลิตภัณฑ์การเกษตร อะไรที่เป็นงานฝีมือ งานที่ต้องใช้ไอเดีย หรือสินค้าที่มี history ก็ยังสามารถสู้ได้อยู่
สำหรับประเทศไทย ในความคิดของผม
ต้องเอาสินค้าโอท๊อบ สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ผักผลไม้สวนต่างๆเข้าออนไลน์ให้หมด
และไทยต้องมีอีคอมเมิร์ซเป็นของตัวเอง
วันก่อนสั่งสะตอกับทุเรียนมาจากสวนที่สุราษฎร์
สั่งทุเรียนกวนมาจากนราธิวาส
เคอรี่วันเดียวถึง
อร่อยดี
รวมค่าส่งยังถูกกว่าซื้อที่ตลาดอีก
ทางหนึ่งรัฐก็ควรหาวิธีลดค่าส่ง หาเงินทุน ให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาพัฒนาสินค้าให้ชุมชน และให้เขาส่งออกขายไปทั่วโลก
มันมีเรื่องนี้ซ้อนอีกชั้นด้วยแหละครับ ส่งของจากที่ไกลๆ ทำไมถูกกว่า เบื้องหลังสมาคมฯ ผู้บิดเบือนราคาไปรษณีย์ระหว่างประเทศ
ช่วงนี้ผมว่ามันเริ่มเข้ายุคมืดของค้าขายออนไลน์ไปแล้ว ผมขายมาเป็นสิบปีรู้สึกได้เลยว่าเดี๋ยวนี้แย่มาก ไม่ใช่เรื่องยอดขายนะครับ แต่เป็นเรื่องที่ยกตัวอย่างมา
พ่อค้าจีนเริ่มตีตลาดด้วยของราคาถูกค่าส่งรวมแล้วยังถูกกว่า EMS ในประเทศ ไหนจะด้านราคาที่เรียกว่าราคาแทบจะเบียดราคาสั่งผลิตอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีมาตราการส่งเสริมการค้า การขนส่ง ภาษี อีกสารพัด อันนี้จบพ่อค้าจีน
แต่ยังมีพ่อค้าไทยอีก อย่างเช่นขายกระเป๋าสะพายใบละ 30-40 บาท คือพี่แกกะเอากำไร 5 บาท 10 บาท ถ้ามาคิดกันจริงๆ ค้าขายอยู่ในระบบแค่ต้นทุนด้านภาษีก็ไม่พอกำไรแล้ว แล้วร้านที่เค้าค้าขายถูกต้องจะไปสู้ได้อย่างไร รัฐก็ไม่ได้จริงจังกับพวกนี้เท่าไหร่ สุดท้ายบางร้านทนไม่ไหวแปลงร่างกลับมาเป็นบุลคลธรรมดา
พอหนีไปขายของที่มีกำไรอย่างเช่นพวกสินค้ามีแบรนด์ต่างๆ ไปเจอใส่พวกขายของปลอมอีก Marketplace บ้านเราสนใจไหม ก็ไม่ ขายได้ขายไปถ้ามีคนแจ้งก็ทำเป็นลบๆ เดี๋ยวคนขายก็มาลงขายใหม่ เพราะยอดขายของปลอมนี้พุ่งกระฉูดกว่าของแท้หลายเท่าตัวมาก กฎหมายด้านนี้ก็อ่อนเหลือเกิน
สรุปคือขายไปเถอะทนเอา
ผมว่ามันมีเส้นบางๆ คั่นอยู่ระหว่าง ใช้ technology เพื่อ execute งานให้สำเร็จ กับ หลงไปตามกระแสวังวนของ most updated (fancy) technology
มอง technology ให้เป็น tool ชนิดนึง ครับ
คนไทยไม่รับมือครับ คนไทยรอซื้อมาใช้อย่างเดียว
ถามว่าคนไทยเอาเงินมาจากไหน คนไทยกู้เก่งครับ
แล้วคนไทยที่มีความสามารถและพยายามทำล่ะ ก็ไม่มีทุนไงครับ ก็ต้องพึ่งพาต่างชาติ
ทำไมไปพึ่งพาต่างชาติล่ะ เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายสนับสนุนไงครับ
ทำไมรัฐบาลไม่สนับสนุนล่ะ เพราะไม่ส่งผลต่อการรับเลือกในสมัยหน้าครับ
แล้วพอไปพึ่งพาต่างชาติมากล่ะ ก็เป็นพวกชักศึกเข้าบ้านไงครับ
ชูป้ายชักศึกเข้าบ้านรัวๆ
ถ้าเข้าใจไม่ผิดในยุโรปสมัยก่อน คนที่มีความรู้ สามารถประดิษฐิ์สิ่งต่างๆ ได้ ก็ไปขอร่วมทุนจากคนที่มีเงิน รูปแบบก็เหมือนที่ startup ในประเทศเราไปขอทุนจากบริษัทใหญ่ๆ นั่นแหล่ะ แล้วต่างฝ่ายต่างก็ถือหุ้นร่วมกันตั้งบริษัท ฝ่ายนายทุนก็ไปทำพวกธุรกิจ พวกการตลาด พวกขายของ ฝ่ายนักประดิษฐิ์ก็ไปคิดไปประดิษฐิ์อะไรตามที่ตัวเองสนใจและถนัด ก็แยกหน้าที่กันไปทำตามที่ตัวเองถนัดเหมือนทำงานกันเป็นทีม
แต่คนไทยมองว่าอะไรก็ต้องทำเองหมด ตัวเองต้องฉายเดี่ยวหมด ต้องรู้ทั้งธุรกิจ ต้องรู้ทั้งทางเทคนิค ประดิษฐิ์ คิดค้นอะไรต่างๆ ด้วย ถามว่ามีคนทำอย่างนั้นได้มั้ย ก็มีแต่น้อย
อยากให้คิดกันว่าเราต้องมาร่วมมือกันทำมากกว่า ไปคนเดียวไปได้ไม่ไกลหรอก และไม่มีใครถนัดไปซะทุกอย่าง
ส่วนตัวมองว่าเวลานี้ยังตัดสินเรื่องใครจะครองตลาดได้ยาก เนื่องจากทางจีนก็มีจุดอ่อนเรื่องเทคโนโลยีพื้นฐาน ยังมีอยู่น้อย ส่วนใหญ่ Apply มาจากเทคโนโลยีบนฐานของตะวันตก จุดเปลี่ยนจะเห็นภาพชัดว่าใครจะเป็นผู้ครองอำนาจในสงครามครั้งนี้ คือ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม ยุคถัดไป และโครงสร้างพื้นฐาน AI หากใครพัฒนาได้ก่อนเป็นมาตรฐานก็ยึดครองอำนาจต่อรองครั้งนี้ไป
ส่วนคนไทย ผมว่ายังมีโอกาสอีกเยอะ เราชำนาญอะไร เชี่ยวชาญอะไร ก็ทำอย่างนั้นดีกว่า คนไทยมีอัตราการบริโภคค่อนสูง มันเป็นจุดสำคัญที่เราสามารถสร้างตลาดเฉพาะทางสู้กับรายใหญ่ได้ ทั้งพืชผลเกษตร สินค้าพื้นถิ่น อาหาร งานฝีมือ มันมีจุดที่เล่นได้อีกเยอะ โดยใช้ความได้เปรียบด้านพื้นที่มาเป็นจุดแข็ง เพียงแต่นักลงทุนส่วนใหญ่จะสนใจหรือเปล่าก็อีกเรื่อง
ตลาดมันกำลังเปลี่ยนเข้าสู่อีกยุคนึง พื้นที่ยังกว้างผู้เล่นใหญ่อย่าง Facebook, Alibaba ก็ใช่ว่าจะรอดได้ ทุกคนกำลังเริ่มนับ 1 กันกับ AI อยู่ ถ้าเราเริ่ม ก็เริ่มจุดเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน อย่าพึ่งไปมองที่ภาพใหญ่ มองที่ภาพเฉพาะจุด แล้วจะรู้ว่าโอกาสยังมีอีกมหาศาลในยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่าน ช่วงนี้เหมือนตอนมี Internet ใหม่ๆ นั่นแหล่ะ ที่ทุกคนยังงงๆ ว่า AI มันคือ อะไร ช่วยเหลืออะไรเราได้บ้าง แต่พอรูปแบบมันชัดเจน มันจะโตแบบก้าวกระโดดอีกครั้ง และกลืนยักษ์หลายๆ ตัวที่ตามไม่ทันด้วยความอุ้ยอ้ายให้ล้มหายตายจากไป คนตัวเล็กกับโอกาสแบบนี้ดีที่สุดในรอบหลายสิบปีแล้ว นี่ยังไม่นับรวมการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเงินอีกนะ โอกาสลอยอยู่เพียบ
ตอนนี้ที่จีน นับ50 แล้วเรื่อง ai
ถ้าคิดว่าสู้ไม่ได้ก็แพ้ตั้งแต่ในมุ้งแล้วหล่ะครับ ผมเองอยู่ในวงการที่เป็นบริษัทเล็กๆ ที่ต้องปะทะกับบริษัทใหญ่กว่าหลายสิบเท่ามาตลอด ดังนั้นเวลาผมจะสู้กับยักษ์ ผมจะมองว่าทุกคนเท่าเที่ยมกัน ถึงผมตัวเล็กแล้วผมจะสู้กับยักษ์ ผมก็หายักษ์รองมาช่วย หาเทคโนโลยี หรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้ามาเสนอ ยักษ์ทุกตัวมีจุดอ่อน จะล้มยักษ์อันดับแรก ก็ต้องคิดว่าเรากับเขาเท่าเทียมกันก่อนครับ แล้วค่อยหาวิธีการ เครื่องมือ พารท์เนอร์มาทำให้เราเท่าเทียมกันในการแข่งขันอีกที
ส่วนตัวมองว่า
จะสู้เรื่อง product/เทคโนโลยี น่าจะยากมาก ๆ
คือจีนมีความ ชาตินิยม สูงมาก บริษัทใหม่ ๆ เลยเกิดขึ้นมาไวมาก เพราะจีน ใช้ของ จีน
พอ อเมริกาเริ่มหืออือ ก็แบน product อเมริกา มาใช้ของจีนกันหมด
ส่วนไทยนั้น . . . . ขายให้ประเทศเพื่อนบ้านละกัน เพราะคนไทยแอนตี้ของจากไทยด้วยกันเอง แล้วพอ scale ใหญ่ขึ้นมาอีกนิดหน่อย โดนยักขยี้ยับ ใครจะหืออือใส่ไทย ไทยก็จะไม่หันหัวมาช่วยไทย แต่จะช่วยคนอื่นทับถมประเทศตัวเองอีกที
ส่วนตัวมองว่า ไปเน้นสิ่งที่ถนัด คือเรื่อง สินค้าจาก การเกษตร น่าจะไปได้ดีที่สุด
/ คนไทยเก่ง ๆ เยอะนะ แต่สภาพสังคมมันไม่เอื้อให้โตเท่าไหร่
/ ชูป้ายไฟ Xiaomi
ไทยควรจะเก็บภาษีให้ได้ครับ
ของไทยด้วยกันยังไม่ใช้เลยแล้วจะสู้ไหวได้ไง
อนาคตคงต้องไปสร้างการขายบริการสุขภาพความงาม ชลอการแก่ ที่ของเรายังถือว่ามีจุดแข็งสู้ได้อยู่
ฮาตรงหาทางรับมือจีน เลยเชิญตัวแทนจากจีนมาเสวนาซะเลย 5555
เทคโนโลยีไม่ผิด คนใช้มันในทางที่ผิดนั่นแหละที่ผิด!?!
(fallacy)รู้ว่าเราเสียเปรียบดุลการค้าจีน แล้วผมจะเรียนภาษาจีนเพื่ออะไรครับ?
ไม่น่ากลัว ส่วนตัวไม่ค่อยชอบจีน เกาหลี แต่ชอบญี่ปุ่น ฮ่า
และจากหลายปีที่ผ่านมาจีนไม่เคยมีวี่แววจะตามเมกาทัน
เพราะตอนนี้ส่วนใหญ่ที่ใช้ทั้งหมดมาจากเมกาทั้งนั้น
ทั้ง OS ทั้ง CPU ทั้ง คอมพิวเตอร์ github