IBM ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เปิดโครงการ P-TECH ในไทย เป็นโปรแกรมเรียน 5 ปี โดยเรียนในสายงานที่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ เริ่มต้นที่การศึกษาสายอาชีวะก่อน โดยหลักสูตรที่เรียนจะต้องครอบคลุมทักษะที่จำเป็นในยุคนี้ เช่น วิทยาศาสตร์ข้อมูล, analytics, design thinking, agile, การสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น
ในโครงการนี้จำเป็นต้องจับมือกับภาคธุรกิจเพื่อมาเป็นเมนเทอร์ในส่วนหนึ่ง และพร้อมสนับสนุนให้นักศึกษาได้ฝึกงานในสายงานที่เรียนมา โดยตอนนี้มีพันธมิตรเข้ามาร่วมแล้วคือ เอไอเอสและเครือไมเนอร์ทำเกี่ยวกับโรงแรม
ทาง IBM ระบุว่า โครงการ P-TECH ในไทยจะเริ่มศึกษากันในปีการศึกษา 2563 และในการประกาศยังไม่ระบุว่าจะมีสถาบันการศึกษาใดเข้าร่วมบ้าง โดยนักศึกษาที่จบหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรขั้นสูงตามสาขาที่เรียน นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนจาก IBM และภาคธุรกิจที่เข้าร่วม เช่น การแนะแนวจากผู้เชี่ยวชาญไอทีจากอุตสาหกรรมต่างๆ การรับนักศึกษาเข้าฝึกงานโดยได้รับค่าตอบแทน รวมถึงโอกาสในการทำงานจริงเมื่อเรียนจบหลักสูตร กล่าวคือไม่ต้องจบปริญญาตรีก็สามารถมีงานทำในกลุ่มบริษัทเหล่านี้ได้
ภาพจาก Shutterstock โดย JHVEPhoto
นาวสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุกิจในกลุ่มอินโดจีนและกรรมการผู้จัดการใหญ่ IBM ระบุว่า ตัวโครงการ P-TECH จะช่วยสร้างความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีการทำงานที่จำเป็นสำหรับอาชีพยุคใหม่ และตำแหน่งงานที่ไม่จำเป็นต้องมีปริญญาซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน โดยตำแหน่งเหล่านี้ต้องการบุคลากรที่จบการศึกษาสูงกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ แต่ไม่จำเป็นต้องถึงขั้นปริญญาตรี คามร่วมมือกับเอไอเอสและไมเนอร์จะเป็นปัจจัยที่ช่วยเตรียมทักษะที่จำเป็นให้นักเรียน ให้มีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จได้ในโลกธุรกิจจริง
P-TECH เป็นโครงการที่ IBM ทำมาแล้วใน 19 ประเทศ เริ่มทำตั้งแต่ปี 2554 คาดว่ามีการนำไปใช้ในโรงเรียน 200 แห่งภายในสิ้นปี 2562 มีพันธมิตรจากบริษัทต่างๆ 650 บริษัทในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี การดูแลสุขภาพ การผลิตขั้นสูง
Comments
แก้ตรงจุดดีครับ ปัญหาภาคเทคโนโลยีของไทย ไม่ใช่ไม่มีคน เพียงแต่คนที่ตรงกับที่ตลาดต้องการมันมีน้อย
5 ปีนี่เริ่มที่วุฒิอะไรนะ จบ ม ต้นก็เข้าได้เลย หรือว่าต้อง ม ปลาย
น่าจะมาแนวอาชีวะ ปวช. ปวส. หละมั้ง เพราะในต่างประเทศมี Polytechnic แนวอาชีวะเยอะ แต่ไม่มีตีกันแบบบ้านเรา
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว