ครั้งแรกของไทยที่หน่วยงานตำรวจ ร่วมมือกับภาคเอกชนจัดการแข่งขัน ให้คนทั่วไปมาแสดงความสามารถในการตรวจจับและรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ที่นับวันมีจำนวนมากขึ้น
บริษัท MFEC และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. ร่วมกับกระทรวงดีอี ร่วมมือกันจัดงานสัมมนาพร้อมการแข่งขันความปลอดภัยไซเบอร์ภายใต้ชื่อ งาน TCSD Cyber Security Conference 2019
จุดประสงค์ของงานคือ เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยอันตรายบนโลกออนไลน์ ให้ความรู้ด้านกฎหมายไซเบอร์ โดยในงานแข่งขันครั้งนี้ ได้บริษัท MFEC และ Secure D ผู้มีประสบการณ์ด้านไอทีมาออกแบบรูปแบบและโจทย์การแข่งขันให้
ภายในงานจะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือกิจกรรมจัดการแข่งขัน "TCSD Cyber Security Competition 2019" ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 แสนบาท ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของงาน และกิจกรรมสัมมนาด้าน Cyber Security สร้างความตระหนักรู้และวิธีป้องกันอันตรายจากภัยไซเบอร์และภัยบนออนไลน์จากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ที่โรงแรม Centra by Centara Government Complex Hotel&Convention Center ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมสัมมนาฟรี
คุณดำรงศักดิ์ รีตานนท์ Chief Cyber Security Officer ของ MFEC ให้รายละเอียดในส่วนกิจกรรมการแข่งขันที่ถือว่าเป็นไฮไลต์ว่าผู้เข้าแข่งขันจะได้เจออะไรบ้าง ดังนี้
โจทย์การแข่งขันในรูปแบบ CTF สาย Offensive Security เจาะหาคำตอบจากช่องโหว่ในระบบ เช่น เมื่อมีกิจกรรมของแฮกเกอร์เกิดขึ้น ทางผู้จัดการแข่งขันก็เอาข้อมูลจากกิจกรรมนั้นมาให้ผู้เข้าแข่งขันดูว่า เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้าง โดยผู้จัดการแข่งขันจะซ่อน Flag ใครหา Flag เจอ และนำมาให้ผู้จัดการแข่งขันได้ คนนั้นๆ ก็จะได้คะแนนไป ยิ่งหาเจอเร็วยิ่งได้คะแนนเยอะ
ตัวอย่างโจทย์อีกประเภทคือ Reverse Engineering หรือการที่แฮกเกอร์ซอฟต์แวร์ในแอนดรอยด์ธรรมดาๆ ไป reverse ทำให้มันกลายเป็น Source Code จะทำให้เจ้าของเครื่องมองข้ามการตรวจสอบรหัสผ่านของซอฟต์แวร์นั้น ทำให้แฮกเกอร์ข้ามผ่านการป้องกันได้
คุณศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ MFEC ระบุว่า การแข่งขันและการประชุมนี้เป็นนิมิตหมายอันดีในการสร้างความร่วมมือในอนาคต อาชญากรรมปกติเกิดขึ้นในซอยเปลี่ยว แต่อาชญากรรมไซเบอร์เกิดขึ้นได้ทุกที่ การสร้างความรู้เท่าทันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
คุณศิริวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีระบบนิเวศน์สอดรับกับ Digital Economy ต่อให้เศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจดิจิทัลก็จะโตขึ้นอยู่ดี การซื้อขายออนไลน์ทุกวันนี้ยังอยู่แค่ราว 3% เท่านั้น ขณะที่ประเทศอื่นที่เริ่มอยู่ตัวแล้วเศรษฐกิจดิจิทัลอยู่ที่ 20% วันหนึ่งประเทศไทยจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ ซึ่งมันจะกลายเป็นเงินมหาศาล ถ้าเราไม่มีพื้นฐานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เท่ากับเศรษฐกิจดิจิทัลจะถูก Disrupt ได้ง่าย
คุณศิริวัฒน์ ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ในยุคดิจิทัล 4.0 คนที่ทำเงินเยอะที่สุดไม่ใช่ Facebook, Google, Amazon, Apple แต่เป็น Freud 4.0 ภัยคุกคามทั่วโลกจะสูงมาก ตัวเลขการถูกโกงในไทยนั้นมันแค่น้ำจิ้ม เราจึงควรร่วมกันสร้างความตระหนัก และกระตุ้นให้ตำรวจเข้าใจกลุ่ม White Hacker หรือแฮกเกอร์ที่ทำเพื่อสนับสนุนความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่ง MFEC เห็นด้วยอย่างมากที่ บก.ปอท. จะเข้าหาคนกลุ่มนี้มากขึ้น
พ.ต.ท.อมรชัย ลีลาขจรจิตร รอง ผกก. กลุ่มงานสนับสนุนคดีเทคโนโลยี บก.ปอท. ให้ข้อมูลสถิติอาชญากรรมไซเบอร์ในปัจจุบันว่า ในปี 2561 มีมูลค่าความเสียหายจากอาชญากรรมดังกล่าว 527 ล้านบาท เฉพาะคดีที่มาแจ้งกับ บก.ปอท. โดยตรงมีราว 2,700 คดี ไม่รวมโรงพักอื่น ๆ และคดีที่ความเสียหายน้อยจนคนไม่มาแจ้งความ ส่วนในปี 2562 มีมูลค่าความเสียหาย 371 ล้านบาท มีจำนวนคดีที่มาแจ้งเพิ่มขึ้นคือ 2,871 คดี ส่วนประเภทคดีส่วนใหญ่คือ Scam หลอกเอาเงิน, การทำ social engineering
TCSD Cyber Security Competition 2019 เปิดรับสมัครทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 1-20 กันยายน 2562 และแข่งขันทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 28-29 กันยายน 2562 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยผู้สมัครจะเข้ามาแข่งขันเวลาไหนก็ได้ ผู้ที่ผ่านการคัดเลือก จะมาแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เริ่มจากเที่ยงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 จนถึงเที่ยงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรม Centra by Centara Government Complex Hotel & Convention Centre
สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมแข่งขันได้ที่ http://bit.ly/2LjNpWf หรือติดตามรายละเอียดการแข่งขัน และงานสัมมนา เพิ่มเติมได้ที่ : Facebook Page “TCSD Cyber Security Competition” หรือ Facebook ID :115274919840969 หรือ https://tcsd.go.th
Comments
รู้สึกว่าแก้ไม่ตรงจุด ช่วยอะไรไม่ได้มาก
อยากแก้ให้ได้จริงต้องเริ่มที่
- กฏหมาย เอาตัวอย่างกฎหมายของประเทศที่มีที่มีกฎหมาย eCommerce ใช้มาเป็น 10 ปี+ มาปรับปรุงก็ได้ (ของประเทศอื่นมีกระทั่งวิธีเก็บภาษีจาก eCommerce) ออกเพื่อทุกคน ไม่ต้องอ้างเพื่อความ...นั้น เพื่อคน...นี้
- คนใช้ ใช้อย่างเข้มงวดเท่าเทียม ไม่เลือกบุคคล
- ผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ไม่ใช่หยวนๆ นิดหน่อยๆ (ถ้า คนใช้ กล้าจับแม้กระทั่งเสือ หมู,หมา,กา,ไก่ ก็ไม่กล้าแหกกฏ)
พวก CTF พวกนี้เป็นเหมือนการฝึกทักษะ แล้วหาตัวคนที่ทำงานด้านนี้ มากกว่าครับ ไม่ใช่เพียงแค่ MFEC นะครับ EDTA ก็จัด Thailand-CTF เพื่อหาตัวเยาวชนไปแข่ง Cyber SEA game ครับ บริษัทใหญ่ๆ ก็มี CTF กัน เช่น GoogleCTF หรือ FacebookCTF
ถ้าไม่คิดอะไรมากก็นึกว่าดูบอลครับ แต่เบื้องหลังของกีฬาฟุตบอล ก็จะมีการวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาที่โตขึ้น อันนี้คือผลพลอยได้ครับ
ตอนนี้ระดับอุดมศึกษาในไทยยังตื่นตัวด้านนี้น้อย การจัดลีคแข่งขันพวกนี้ ทำให้เด็กๆ สนใจกันเยอะขึ้น ส่งผลดีในตลาดแรงงานสาย Secure ในอนาคตครับ
ซ้ำ
ก่อนอื่นช่วยตามคดีที่เค้าไปแจ้งไว้เยอะแยะด้วย ดาราแจ้งยังเงียบกริบเลย