เราเห็นโครงการ Libra ของ Facebook สูญเสียพันธมิตรหลายรายในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มจาก PayPal ตามด้วย Visa, Mastercard, eBay, Stripe ล่าสุดมีสมาชิกถอนตัวอีก 2 ราย คือ Booking Holdings เว็บไซต์จองโรงแรมรายใหญ่ของโลก (บริษัทแม่ของ Booking.com และ Agoda) และบริษัทด้านการจ่ายเงินในแถบละตินอเมริกา Mercado Pago
การถอนตัวของ Booking Holdings และ Mercado Pago ทำให้สมาชิกของ Libra Association หายไปแล้ว 7 ราย จากทั้งหมดที่เปิดตัวมา 28 ราย โดยบริษัทใหญ่ๆ ที่ยังคงเป็นสมาชิกอยู่คือ Uber, Lyft, Spotify, Vodafone ส่วนรายอื่นๆ เป็นบริษัทด้านบล็อคเชนและบริษัทลงทุน venture capital (VC)
อย่างไรก็ตาม Facebook ยังเดินหน้าโครงการ Libra ต่อไป โดยจัดประชุมในหมู่สมาชิกที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และแต่งตั้งบอร์ดของ Libra จำนวน 5 คน ประกอบด้วยตัวแทนจาก Facebook, PayU, Andreessen Horowitz, Xapo Holdings และ Kiva Microfunds
ที่มา - Reuters
Comments
ถอนตัวจริงจังขึงขังไม่เหมือนตอนมาเกาะขอบโต๊ะขอเป็นพาทเนอร์ ??
แปลกๆ เหมือนมีคนในเงามืดไล่เช็คบิลไปทีละราย
ไม่มีใครไล่เช็คบิลหรอก ก็แค่สละเรือเอาตัวรอดเท่านั้นเอง
สกุลเงินใหม่ที่อยู่ในมือเอกชน ใครจะยอมให้เกิด ถ้ามีเงามืดจริง ก็คงเป็นคนทั้งโลกแหละ แล้วแบบนี้จะเรียกว่าเงามืดอยู่ได้ไหม
อาจจะเพราะหลายๆประเทศเตรียมออกมาตราการควบคุมเพิ่มขึ้นละมั้งครับ
จริงๆแค่ VISA, Master ถอนตัว ที่เหลือจะทยอยถอนตามก็ไม่แปลกล่ะครับ
ตัวอื่นที่คล้าย Libra ได้เกิดขึ้นแล้วโดยบริษัทอเมริกันที่อยู่ในวงการ Crypto แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป
ตัวไหนครับ?
ผมมองว่า สกุลเงินดิจิตอลลักษณะนี้ ต้องมีผู้เล่นรายใหญ่ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานในวงกว้าง
ถ้าแค่แนวคิดหรือเทคนิค ตอนนี้ บ. เทคฯ หลายๆ แห่งน่าจะทำตามได้ไม่ยาก
แต่จะผลักดันให้เห็นผลจริง มันต้อง บ. ที่ทำโซเชียลเน็ตเวิร์ค ระดับโคตะระบิ๊ก ช่วยกันดัน
ถ้าไม่ใช่ FB ก็ยังมองไม่ออกว่า ใครจะทำได้
แค่ไม่เป็นที่รู้จักก็ไม่คล้าย Libra แล้วครับ
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
และสามารถใช้งานได้เป็นวงกว้าง?
ผมว่าน่าสนใจนะถ้าเจ้าอื่นก็ทำได้ หมายถึงใข้ในวงกว้าง เพราะถ้ามันมาแนวๆเดียวกันทำไมเขาถึงไม่โดนตรวจสอบ หรือโดนแต่ไม่มีข่าว
ว่าแต่ตัวไหนหรอครับ
ไม่ใช่อำนาจมืดอะไรหรอก
ปรกติการที่ธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจเข้าไปร่วมกลุ่มทำสิ่งที่กระทบต่อระบบการเงิน ยิ่งเกี่ยวกับการโอนถ่ายเงินจำนวนมากๆ ได้ จะโดนตรวจสอบหนักขึ้นจากรัฐบาลในแต่ละประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะหน่วยงานที่ดูแลการฟอกเงินจะเข้ามาตรวจสอบหนักกว่าปรกติ ซึ่งเวลาเข้ามาตรวจสอบทีก็ปวดหัวที เพราะมันเพิ่มต้นทุนฝั่งธุรกิจ ถึงแม้จะทำถูกต้องหมดทุกอย่างยังไงก็มีต้นทุน แถมโดนแปะตราว่าบริษัทมีความเสี่ยงต่อปัญหาการฟอกเงินในอนาคตอีก เวลาจะไปทำธุรกิจอะไรเพิ่มเติม หรือกู้เงินก็จะลำบากเพิ่มขึ้น
ฉะนั้นมันก็สมเหตุสมผลว่าทำไมถอนตัว เพราะหนทางมันไม่ได้ง่ายแบบที่หวังไว้แบบนั้น
มัวแต่ประกาศแต่ไม่ออกมาสักที นักลงทุนก็เดินจากไปละครับ
ชักช้า ก็เริ่มการถอนตัวอย่างนี้แหละ
ไม่ได้ช้า แต่โดนเตะตัดขาจากทุกภาคส่วนครับ เตะตั้งแต่อเมริกา ไปยันยุโรป โดนขู่ด้วย regulation ต่างๆ นาๆ จนแทบจะดำเนินกิจการไม่ได้ ใครจะเอาด้วย
ยุบเถอะ ไม่น่าเกิดละแบบนี้
เรื่องบางเรื่องมันเกินกำลังเอกชน เรื่องนี้ถ้าอยากผลักดันให้มันเกิดได้ มาร์คต้องลงเล่นการเมือง(อาจจะส่งตัวแทน) คุมอเมริกาได้ ก็คุมกระแสโลก
มาร์คก็เล่นการเมืองอยู่นะครับ
ฝั่งการเงินเน้นๆถอนตัวไปเกือบหมดละ เหลือแต่พวกสายเทคโนโลยี