วันที่ 13 พ.ย. Netflix จัดงานเดินพรมแดงและฉายซีรีย์เรื่อง "เคว้ง" เฉพาะ EP.1 ในโรงภาพยนตร์ เป็นการโปรโมทซีรีส์ Netflix Original เรื่องแรกที่เป็นของไทยก่อนที่จะลงฉายจริงทาง Netflix วันที่ 15 พ.ย. นี้ Blognone ได้เข้าชมด้วย จึงเขียนรีวิวหลังดูตอนแรกมาฝาก
คำเตือน เปิดเผยเนื้อหา ตอนที่ 1
เคว้ง หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า The Stranded เป็นเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่น ที่ประสบภัยธรรมชาติสึนามิจนต้องติดเกาะปินตูกว่า 30 ชีวิต พวกเขาต้องหาทางขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอกซึ่งไม่รู้ว่าจะมีการตอบรับเข้ามาหรือไม่ และต้องหาทางเอาชีวิตรอดบนเกาะ ทั้งหาน้ำ หาอาหาร
สิ่งแรกที่รู้สึกประทับใจมากๆ คือ โปรดักชั่น ถือเป็นโปรดักชั่นทำหนังระดับอินเตอร์ ภาพสวย ไม่มีกลิ่นอายของละครไทยที่ฉายบนทีวีเหลืออยู่เลย แต่ยังมีเรื่องความเนียนงานคอมพิวเตอร์กราฟิกก็ยังดูไม่แนบเนียนเท่าไรนัก ตรงช่วงนาทีสั้นๆ ที่มีสึนามิพัดเข้ามา แต่ไม่ได้กระทบความสนุกแต่อย่างใด
เนื้อหามีความน่าสนใจและน่าติดตาม นอกจากกลุ่มวัยรุ่นต้องหาทางเอาชีวิตรอดแล้ว ยังต้องรับมือกับเรื่องเหนือธรรมชาติ ความลี้ลับ ซึ่งเป็นเสน่ห์หนังไทยที่ทำได้ดีมานานแล้ว นอกจากนี้เนื้อหายังเผยให้เห็นถึงปมในใจของตัวละคร ที่ทำให้คนดูอยากรู้และติดตามต่อว่า ตัวละครนี้ จะทำอะไรในอนาคต เรื่องราวที่ตัวละครปกปิดไว้คืออะไร
นอกจากนี้เนื้อหายังสอดแทรกความรักฉบับวัยรุ่น ที่มีเรื่องราวทางเพศและประเด็นความหลากหลายทางเพศ (LGBT) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถือเป็นจุดที่ทำให้ซีรีส์น่าสนใจและดูสมจริงขึ้น แต่ทำให้อาจไม่เหมาะกับเยาวชนนัก และด้วยความที่เป็นนักแสดงใหม่กันเยอะ อาจมีจุดอ่อนเรื่องแอคติ้งอยู่บ้างที่ดูขัดใจคนดู แต่ในภาพรวมก็สามารถแสดงออกถึงอารมณ์ความกลัวได้ดี
นักแสดง เคว้ง เป็นกลุ่มวัยรุ่น และเป็นนักแสดงวัยรุ่นมีฐานแฟนคลับอยู่แล้ว พร้อมกับกำลังในการโปรโมทซีรีส์ตามสไตล์ Netflix ก็น่าจะทำให้เรื่อง เคว้ง ดังได้ไม่ยาก
Blognone เคยสัมภาษณ์เอกชัย เอื้อครองธรรม ผู้อำนวยการสร้าง เคว้ง มีประเด็นน่าสนใจ และขอย้อนความให้ฟังอีกครั้ง
เอกชัย ระบุว่า ไอเดียเริ่มต้นของ เคว้ง ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำเป็นซีรีส์ 1 ซีซั่น มันมีความสามารถเป็นซีรีส์ในหลายๆ ซีซั่นได้ เพราะ Netflix จะไม่ลงทุนในเนื้อหาที่มันจำกัดแค่ซีซั่นเดียว นอกจากนี้ Netflix ยังต้องการสร้างเนื้อหารูปแบบใหม่ขึ้นมาคือ cinematic series เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวมากแทนที่จะเป็นละครทีวี
เอกชัย เล่าให้ฟังด้วยว่า ซีรีส์ เคว้ง นั้นทั้งทีมผู้สร้างและ Netflix ทำงานร่วมกันตั้งแต่วันแรก ตั้งแต่สคริปต์ คัดเลือกตัวละคร คัดเลือกสถานที่ถ่ายทำ แต่ทีมเขียนบท และทีมถ่ายทำเป็นคนไทยทั้งหมด ก่อนเริ่มต้นถ่ายทำ Netflix จะมี onboard presentation คือเทรนนิ่งสิ่งที่ควรรู้ เช่น กฎหมาย ลิขสิทธิ์ การแคสต์ตัวละครให้มีความหลากหลาย นโยบายคอร์รัปชั่น นโยบายเกี่ยวกับการคุกคามเพศ และบางเวลาที่ต้องถ่ายฉากสำคัญมากๆ Netflix ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยจากสำนักงานในลาสเวกัสมาช่วย
เคว้ง กำกับโดย จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ ที่ฝากฝีมือไว้ในเรื่องเพื่อนที่ระลึก นักแสดงคือ นก-สินจัย เปล่งพานิช, ตั้ว-ศรัณยู วงษ์กระจ่าง, เปิ้ล-หัทยา วงษ์กระจ่าง, เมฆ-หัฒศนัย (วินัย) ไกรบุตร และนักแสดงรุ่นใหม่ แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช, มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล, โอบ-โอบนิธิ วิวรรธนวรางค์ ฯลฯ
ตัวซีรีส์ ลงฉายที่ Netflix 7 ตอนรวด วันที่ 15 พ.ย. นี้
Comments
ภาพตรงชายหาดที่นั่งรวมๆกันนี้ กลิ่น Lost มาเลย
โปรดักชั่น GMM Studio + ผู้กำกับ GDH + Netflix = ดี
หยุดดูรูปที่สองนานเลย
gmm หรือครับ?
เดาได้เลย
วัยรุ่น รัก เกย์
น่าดู บนรถไฟฟ้าโฆษณาเต็มเลย
เขียนข่าว? อะไรลง Blognone ก็ได้หมดล่ะเดี๋ยวนี้
Netflix ไงครับ สนใจก็ลองเขียนลงมั่งสิ แค่ข่าวเดียวก็ได้ badge C แล้ว
ผมเขียนมาสองข่าวแล้ว ทำไมยังไม่ได้เลยงับ T_T
เพื่อความเป็นธรรม อย่าลืมรีวิวเรื่องอื่นด้วยนะครับ ถ้าเรื่องนี้เขียนลงบล็อกนันได้เรื่องอื่นก็เขียนได้
ส่วนตัวแล้วมองไม่เห็นประโยชน์ที่จะรีวิวเลย ไม่ได้บอกว่าหนังดีหรือไม่ดี แต่มันไม่ใช่ข่าวไอทีซักเท่าไร
ผมเป็นคนบอกให้คนเขียนบทความนี้เขียนเองนะครับ เหตุผลที่ผมอยากให้มีบทความนี้คือมันเป็นละครไทยบนสตรีมมิ่งข้ามชาติเรืองแรก
ถ้าอยากให้มีเรื่องอื่นๆ ด้วย จริงๆ ผมคิดว่าหมุดหมายอื่นๆ เราก็ควรมีครับ เช่นละครที่ออนไลน์ก่อนทีวีเรื่องแรก (ผมเข้าใจว่า LINE TV ทำในไทยก่อน) หรือแพลตฟอร์มที่มีนัยสำคัญอื่น (Disney+, HBO, Apple TV+) หากมาลงทุนทำละครในไทย เราควรเทียบกลับมาได้ว่าการมาของสตรีมมิ่งมันต่างกันอย่างไรบ้าง เจ้าอื่นลงทุนดีกว่าไหม ฯลฯ
คงไม่ได้รีวิวทุกเรื่องครับ แต่เรื่องที่พูดถึงไอทีก็คงมีเรื่อยๆ เหมือนเช่นทีผ่านมา
lewcpe.com, @wasonliw
ไม่ใช่ข่าวไอทีตรงไหนครับ
ถ้าฟังเสียงในมุมของผู้อ่านผมเชื่อว่าจริงๆเขาหวังดีนะครับ หลังๆข่าวและบทความเริ่มออกไปไหนต่อไหน ในมุมผู้เขียนที่เป็นคนเขียนทุกวันอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่คนอ่านเขาสัมผัสได้จริงๆนะครับ จากคนทำงานไอทีที่ช่วงหลังเข้ามาอ่านข่าวแล้วเจอพวก กล้องรุ่นใหม่เปิดตัว, ภาพยนตร์ดูแล้วรู้สึกแบบไหน, บริษัทเกมจัดลดราคาฉลองเทศกาล
กล้องไม่ใช่ไอทีเหรอครับ
ไม่ใช่ครับ กล้องคืออิเล็กทรอนิกส์ ไอทีคือระบบสารสนเทศ
ต่อไปนี้รีวิวหนังทุกเรื่องจะลง blognone ได้แล้วเย้!
นี่คือหนังไทย (จริงๆ คือซีรีส์) เรื่องแรกที่ Netflix ออกทุนให้สร้างนะครับ ถ้านี่ไม่ใช่เรื่อง digital entertainment อีกก็คงไม่มีเรื่องไหนใช่อีกแล้วล่ะครับ
ต้องมาตรฐานเดียวกันแล้วละ
It’s a funny word, “strand”.
A “strand” is part of rope or bond.
While “stranding” means being washed up on the shore.
And being “stranded” is when you can’t go home.
นี่คือ Netflix + ไทย ให้ความสนใจหน่อยก็ดีครับ จะได้รู้ว่าโลกไปถึงไหนแล้ว เบื้องหลังเขาก็ไม่ได้ใช้แค่กล้องกับฟิมล์ถ่ายหนังนะครับ หนังสมัยนี้ใช้เทคโนโลยีเยอะมาก อย่าสนใจแต่งานของตัวเอง สนใจสิ่งอื่นๆบ้าง จะได้เอามาประยุกต์ใช้เพื่อจะทำให้งานเราดีขึ้นได้ครับ
เห็นคนเหน็บแนมเหมือนบทความนี้ไร้ค่าผมเลยอยากให้กำลังใจคนเขียนครับ
เห็นตามสื่อโฆษณาแล้ว อารมณ์ Lost มาเต็ม กลัวหลังๆ มันจะออกทะเลเหมือน Lost ด้วยรึเปล่า
คืออยากจะโยงรีวิวหนังให้มันเป็น IT ให้ได้ ด้วยเหตุผล Netflix ออกทุนให้
หลังๆ ข่าวทั่วไปเริ่มเยอะไปหมด การเมืองยังมาเหตุผลคงเพราะลงเว็บข่าวโยงเป็นข่าว IT ได้
ถ้า Google ออกทุนให้ ร้านกล้วยแขกก็คงรีวิวลงเว็บนี้ได้เหมือนกัน
ก็ได้แค่บ่นแล้่วก็อ่านต่อไป
ถ้าอย่างนั้นผมอยากทราบนิยามข่าว IT ในมุมมองของคุณหน่อยครับ
ทำไมการมี LGBT จึงไม่เหมาะกับเยาวชนครับ
นั่นสิ คนรีวิวอายุรุ่นเดอะหรือเปล่า ถึงยังเชื่อผิดว่าเด็กดูหนังที่มีเกย์แล้วจะเป็นเกย์