กูเกิลประกาศปรับนโยบายของแพลตฟอร์มประมูลซื้อโฆษณา โดยผู้ลงโฆษณาจะเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานได้น้อยลง เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มากขึ้น
แพลตฟอร์มโฆษณาของกูเกิล สามารถเจาะจงโฆษณาผู้ใช้เป็นรายบุคคล (personalized ads หรือ targeting) โดยผู้ลงโฆษณาสามารถนำข้อมูลระบุตัวผู้ใช้ (เช่น อีเมลหรือเบอร์โทร) ที่ได้จากช่องทางอื่น (เช่น ประวัติการซื้อสินค้าในร้าน) เพื่อมายิงโฆษณาซ้ำไปยังผู้ใช้รายนั้นได้
แพลตฟอร์มของกูเกิลยังสามารถวิเคราะห์ได้ว่าผู้ใช้เข้าหน้าเว็บประเภทใด (contextual content categories) เพื่อให้ลงโฆษณาที่สอดคล้องกับประเภทของเนื้อหา (เช่น เข้าเว็บข่าวกีฬา จะได้ลงโฆษณารองเท้า ไม่ใช่ลงโฆษณาของเล่น)
แต่กลายเป็นว่า นักโฆษณานำช่องทางนี้ไปใช้วิเคราะห์ดูว่าผู้ใช้รายนั้นๆ สนใจเนื้อหาหรือสินค้าประเภทใดด้วย ช่องว่างตรงนี้ทำให้เกิดการสร้างประวัติความสนใจของผู้ใช้เป็นรายคน ซึงอาจละเมิดความเป็นส่วนตัวได้ หากนักโฆษณานำข้อมูลนี้ไปแชร์ที่อื่น
กูเกิลจึงประกาศปิดไม่ให้นักโฆษณาเข้าถึง content categories ในตอนประมูลซื้อโฆษณา โดยจะมีผลในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 เป็นต้นไป
กูเกิลอธิบายการตัดสินใจครั้งนี้ว่า เกิดจากการหารือกับหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหลายราย (ที่ระบุชื่อคือ Irish Data Protection Commission ของไอร์แลนด์)
การเปลี่ยนนโยบายของกูเกิลย่อมถูกวิจารณ์จากฝั่งผู้ลงโฆษณา โดย Digital Content Next สมาคมด้านเนื้อหาออนไลน์ ระบุว่าการปิดกั้นข้อมูลเหล่านี้ ยิ่งทำให้ "กูเกิล" ในฐานะคนที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้มากที่สุด มีอำนาจต่อรองกับผู้ลงโฆษณามากยิ่งขึ้นไปอีก
ที่มา - Google, Financial Times
Comments
ซึง => ซึ่ง
Coder | Designer | Thinker | Blogger