จากที่ประกาศไว้ว่า GitHub จะดึงโค้ดทั้งหมดใส่แผ่นฟิล์ม ฝังไว้ใต้ดินที่ขั้วโลกเหนือ ภายใต้โครงการ GitHub Arctic Code Vault เพื่อเก็บรักษาซอฟต์แวร์ของมนุษยชาติ (ตามเป้าหมายคือ 1 พันปี)
วันนี้ GitHub นำโค้ดไปฝังใต้ดินขั้วโลกเหนือเรียบร้อยแล้ว โดยดึงโค้ดจาก public repository ทั้งหมด ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2020 คิดเป็นข้อมูล 21TB แล้วบันทึกลงฟิล์มเฉพาะ piqlFilm ของบริษัท Piql ที่ใช้เก็บรักษาข้อมูลเป็นระยะเวลานานๆ จำนวน 186 ม้วน
ตอนแรกทีมงาน GitHub จะบินไปที่นอร์เวย์เพื่อฝังม้วนฟิล์มเหล่านี้ที่ขั้วโลกเหนือด้วยตัวเอง แต่สถานการณ์ไวรัสระบาดทำให้เดินทางลำบาก จึงส่งฟิล์มให้พาร์ทเนอร์ที่นอร์เวย์ไปฝังในเหมืองเก่าบนเกาะ Svalbard บริเวณขั้วโลกเหนือ ฟิล์มเหล่านี้ถูกเก็บใน Arctic Code Vault สำเร็จเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2020
คนที่เป็นเจ้าของโค้ดโอเพนซอร์สบน repo ที่ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ จะได้ป้าย Arctic Code Vault Contributor ที่ท้ายโพรไฟล์ใน GitHub เป็นที่ระลึกด้วย
ที่มา - GitHub Blog
Comments
ยินดีด้วย แต่การเก็บนานไม่ได้แปลว่า จะอยู่นานตามกำหนด ผมคงอยู่ไม่ถึง แต่มันมีความจริงที่ยืนยันได้
อยากรู้ว่าวิธีการบันทึกลงฟิล์มแบบนี้มันเหมือนลง magnetic tape ไหมครับ แล้วถ้าเหมือนขั้วแม่เหล็กที่ขั้วโลกมันจะไม่ทำลายเหรอครับ
ดูในคลิปเหมือนเอา Binary ไปเข้ารหัสแบบ QR Code นะครับ เพราะฉะนั้นก็คงเก็บในลักษณะของภาพบนฟิล์มเลย
แง ไม่ทัน orz
นึกถึงฉากหนึ่งในหนังเรื่อง The Time Machine ที่มีบรรณารักษ์อิเล็กโทรนิคโฮโลแกรมที่ถูกเก็บไว้ แล้วพระเอกไปพูดคุยด้วยในอีกหลายแสนปีข้างหน้า
ปล.เกร็ดความรู้ เกาะ Svalbard คือที่เดียวกันกับที่มี Svalbard Global Seed Vault ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชของโลก สถานที่ที่ใช้เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชกว่า 900,000 ชนิดจากทั่วโลกเอาไว้ เพื่อสำรองเมล็ดพันธุ์พืชเมื่อเวลาเกิดวิกฤตการณ์รุนแรงหรือเกิดการขาดแคลนขึ้นในโลก
เก็บไว้นานขนาดนั้น ถ้าต้องใช้คงได้แค่เปิดมาอ่านโค๊ดอย่างเดียว ไม่สามารถรันได้เพราะพวก compiler, runtime, os คงกลายพันธ์ไปหมดแล้ว
อย่างน้อยก็มี linux
ลองนึกถึง plot แบบ dr stone ดูก็ได้ครับ
อารยธรรมหายไปหมด อย่างน้อยก็ไม่ต้องนับ 1 ใหม่
(แต่ถ้าเป็นตามเรื่องนั้น เทปคงเน่าไปล่ะ เพราะ timeline ในเรื่องมัน 3000 ปี)
ผมว่า source ของ compiler / runtime / os มันก็ไปด้วยกันนะครับ
แต่หลายอย่างก็อาจจะใช้ไมใ่ได้แล้วนั่นแหล่ะ
การเก็บนั้นอาจไม่ได้มองเพียงแค่ ให้คนจากอนาคตมาชม แต่เพื่อรักษานวัฒกรรมเอาไว้เวลาเผชิญหน้ากับภัยพิบัติ อาทิพายุสุริยะอาจทำให้คอมเจ๊ง ไฟฟ้าเดี้ยง อะไรที่เก็บเอาไว้ในดิสพังหมดทั้งโลก
เก็บเป็นฟิลม์
แบบนี้เวลาจะใช้งาน ต้องสแกนฟิลม์+OCR ออกมาสินะ
ได้ badge Arctic Code Vault Contributor เรียบร้อยแล้ว
จบละ รู้งี้จะรีบแก้บั๊กโค้ดตัวเองก่อนวันที่เค้าดึงโค้ด กลายเป็นว่าโค้ดที่มีบั๊กที่เคยทำไว้ก็จะอยู่ไปอีกชั่วกาลนานเลยสินะ
งั้นต้องเปลี่ยนหัวข้อข่าวแล้วล่ะ
GitHub นำบั๊กของมวลมนุษย์ไปฝังที่ขั้วโลกเหนือแล้ว ตั้งเป้าเก็บรักษานาน 1 พันปี
^ ^"