รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่ารัฐบาลสหรัฐฯ เห็นชอบลดเงื่อนไขการพัฒนาจรวดเชื้อเพลิงแข็ง เปิดทางให้เกาหลีใต้สามารถพัฒนาจรวดพิสัยไกล รวมถึงจรวดนำส่งดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ 500 ถึง 2,000 กิโลเมตร หลังจากทั้งสองชาติมีข้อตกลงจำกัดการพัฒนาจรวดประสิทธิภาพสูงไว้ตั้งแต่ปี 1979
ข้อตกลงเดิมจำกัดพิสัยจรวดไว้ที่เพียง 180 กิโลเมตรเท่านั้น แต่มีการปรับข้อตกลงเรื่อยมาจนกระทั่งมีข้อจำกัดที่ 800 กิโลเมตรเมื่อปี 2012 และเกาหลีใต้พัฒนาจรวด Hyunmoo-2 พิสัย 800 กิโลเมตรเต็มข้อกำหนดได้เมื่อปี 2017 และเดิมข้อตกลงเคยจำกัดระวางบรรทุกของจรวดไว้ที่ 500 กิโลกรัม แต่สหรัฐฯ ก็ยกเลิกข้อกำหนดนี้ไปตั้งแต่ปี 2017 น่าสังเกตว่าเกาหลีใต้เองไม่ได้ยึดตามข้อตกลงนี้นัก โดยจรวด Hyunmoo หลายรุ่นมีพิสัยและระวางบรรทุกเกินกำหนด และจรวด Hyunmoo-4 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาก็ใช้เชื้อเพลิงแข็งมาก่อนสหรัฐฯ เห็นชอบอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี Kim Hyun-chong ที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านความมั่นคง ระบุว่าการปรับข้อตกลงนี้จะเปิดทางให้บริษัท, สถาบันวิจัย, และนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีจรวดได้ และเกาหลีใต้จะมีดาวเทียมตรวจการ (reconnaissance satellite) ของตัวเองเร็วๆ นี้หลังจากเพิ่งยิงดาวเทียม ANASIS-II ที่เป็นดาวเทียมสื่อสารทางการทหารของตัวเองไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นับเป็นชาติที่สิบของโลกที่มีดาวเทียมทางการทหารโดยเฉพาะ
ที่มา - South China Morning Post
ภาพดาวเทียม ANASIS-II ของเกาหลีใต้ จาก Airbus
Comments
อีกไม่นานก็ส่งดาวเทียมและนักบินอวกาศได้เองตามญี่ปุ่น จีน และอินเดียไปติดๆ
และน่าจะใช้คานอำนาจของเกาหลีเหนือได้ด้วย
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
จะทำอะไรต้องขออนุญาติเมกาด้วยวุ้ย
ถ้ามีข้อตกลงกันอยู่แล้วไม่ขอก็คงได้ครับ ก็เรียกว่าละเมิดข้อตกลง ชาติต่างๆ ก็มีข้อตกลงกับชาติอื่นที่ทำให้ต้อง "ขอ" กันอยู่เรื่อยๆ ทั้งข้อตกลงทางการค้าหรือการทหาร เวลาผ่านไปก็ปรับข้อตกลงกันใหม่
lewcpe.com, @wasonliw
ประเทศที่เมกาไปเกี่ยวด้วยส่วนใหญ่น่าจะมีข้อตกลงไม่ให้พัฒนาจรวดนำวิธีระยะไกล ระยะทางที่ห้ามก็ระยะทางที่จะยิ่งข้ามมาเมกาได้