เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา Northrop Grumman บริษัทด้านอากาศยานของสหรัฐฯ ได้ยิงยาน MEV-2 (Mission Extension Vehicle) หุ่นยนต์อัตโนมัติที่จะทำหน้าที่ยืดอายุดาวเทียมสื่อสารที่กำลังใช้งานเป็นครั้งแรก โดยน่าจะยืดอายุดาวเทียม Intelsat 1002 ออกไปอีกอย่างน้อย 5 ปี
ยาน MEV เป็นยานที่จะขึ้นสู่วงโคจรและไปเกาะกับดาวเทียมสื่อสารที่เชื้อเพลิงหมดไปแล้ว แล้วทำหน้าที่ควบคุมวงโคจรแทนเครื่องยนต์เดิมของดาวเทียมสื่อสาร ทำให้ตัวดาวเทียมสามารถรักษาวงโคจรได้ต่อไป โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมายาน MEV-1 สามารถเชื่อมต่อเข้ากับดาวเทียม Intelsat 901 ได้สำเร็จแม้ตัวดาวเทียมจะอยู่ในวงโคจรสุสานที่ใช้สำหรับทิ้งดาวเทียมหมดอายุไปแล้วก็ตาม เมื่อ MEV-1 เชื่อมต่อได้สำเร็จก็สามารถดึง Intelsat 901 กลับมาสู่วงโคจรค้างฟ้าและให้บริการได้อีกครั้งตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
MEV-2 ที่กำลังเชื่อมต่อกับ Intelsat 1002 ในต้นปี 2021 นี้มีความพิเศษคือตัวดาวเทียมหลักยังคงให้บริการต่อเนื่อง โดยคาดว่าระหว่างการเชื่อมต่อสัญญาณจะขาดหายไปไม่เกิน 20 นาทีเท่านั้น หลังจากเชื่อมต่อแล้วเชื้อเพลิงของ MEV-2 จะทำให้ Intelsat 1002 ให้บริการต่อไปได้อีก 5 ปีเป็นอย่างน้อย หลังจากนั้นยาน MEV จะถอดตัวเองออกจากดาวเทียม Intelsat 1002 และไปให้บริการดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่เชื้อเพลิงเหลือน้อยต่อไป
ธุรกิจยืดอายุดาวเทียมนับเป็นธุรกิจใหม่ที่เจ้าของดาวเทียมเดิมอาจจะต้องการยืดอายุดาวเทียมออกไปแทนที่จะยิงดาวเทียมใหม่ ทาง Intelsat จะจ่ายเงินค่าใช้เชื้อเพลิงของ MEV ปีละ 13 ล้านดอลลาร์
Northrop Grumman วางแผนขยายธุรกิจซ่อมบำุรงดาวเทียมต่อไปในอนาคตเป็นยาน MRV (Mission Robotic Vehicle) ที่สามารถขนอะไหล่เช่นโมดูลเชื้อเพลิงขึ้นไปเติมให้กับดาวเทียมในอวกาศ หรืออาจจะซ่อมแซมบางส่วน
ที่มา - The Verge, Northrop Grumman
ยาน MEV-2
วิดีโอสาธิตการเชื่อมต่อ MEV-1 เข้ากับดาวเทียม Intelsat 901
Comments
อ่านแล้วเหมือนตัว MEV จะเอากลับมาใช้ใหม่ได้ด้วย
ถ้าร่วมมือกับ SpaceX ที่เอาจรวดกลับมาใช้ใหม่ได้
ต้นทุนงานด้านดาวเทียมน่าจะถูกลงเยอะมาก
คิดว่าไม่น่าจะทำได้นะ ตัว MEV ถ้าไม่มี Heat shield หรือเป็นรูปทรงที่เป็นแคปซุลแบบ Dragon คงจะต้านแรงเสียดสีอากาศตอนกลับโลกไม่ได้ กว่าจะกลับถึงคงไหม้หายไปซะก่อน (ถ้าไม่ถูกต้องยังไงอย่าว่าผมเลย แค่เล่นเกม KSP มากไป 555)
จากข่าว
"หลังจากเชื่อมต่อแล้วเชื้อเพลิงของ MEV-2 จะทำให้ Intelsat 1002 ให้บริการต่อไปได้อีก 5 ปีเป็นอย่างน้อย หลังจากนั้นยาน MEV จะถอดตัวเองออกจากดาวเทียม Intelsat 1002 และไปให้บริการดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่เชื้อเพลิงเหลือน้อยต่อไป"
ผมเลยเข้าใจว่ามันเอามาใช้ได้หลายรอบครับ
หรือจริงๆ MEV มันมีเชื้อเพลิงมากกว่า 5ปี แต่ตัวดาวเทียมฝืนอยู่ได้แค่ 5ปี
พอจบ 5ปี มันจะโดดไปเกาะดาวเทียมดวงอื่นได้โดยไม่ต้องกลับโลก?
ถ้าเป็นอย่างหลังนี้ เอาไปโมฯเป็นโดรนย่องเฉือด ลอยไปไล่สังหารดาวเทียมศัตรูทั่ววงโคจรได้สบายเลย ?
MEV กลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ก็ได้ไม่กี่ครั้งเพราะตัวมันเองก็มีเชื้อเพลิงจำกัดด้วยครับ (จริงๆ น่าจะได้อีกแค่ครั้งเดียวด้วยซ้ำ อย่างมาก็สอง)
และการออกแบบตัวยึดเกาะก็ต้องออกแบบพิเศษให้ยึดเกาะเฉพาะดาวเทียมลูกค้าของ MEV เท่านั้น ซึ่งมันพูดคุยกันตั้งแต่ตอนสร้าง MEV ละ (ไม่ใช่ไปเกาะใครก็ได้ครับ)
ต่อไปอาจมีมาตรฐานกลางในการสร้างหัวจ่ายเชื้อเพลิงดาวเทียม เหมือนประเด็นหัวชาร์จไฟรถไฟฟ้าตอนนี้ก็ได้ :D
ต่อไปอาจจะเป็นว่า มีหัวจ่ายมาตรฐานกลาง มีสถานีเก็บเชื้อเพลิง มียาน service ดูดเชื้อเพลิงจากสถานีไปเติมดาวเทียมให้ ดวงไหนเชื้อเพลิงหมดแล้วยังอยากใช้อยู่ก็จ่ายเงิน เจ้าของสถานีก็ส่งยานไปเติม + คอยส่งจรวดเอาเชื้อเพลิงขึ้นไปเติมที่สถานีให้พอใช้
ตัว MRV รุ่นต่อไป (ยิงปี 2023) จะใช้ pod เชื้อเพลิงไปลอยทิ้งไว้ในวงโคจรครับ แล้วมียานหลัก โคจรไปด้วย พอมีลูกค้า ยานหลักจะไปจับ pod ไปแปะดาวเทียมลูกค้าอีกที
lewcpe.com, @wasonliw
โอ้ ดีฮะ แทนที่จะทำหัวจ่ายกลาง ทำเป็น pod ใช้แล้วทิ้งแทนก็ดีแฮะ
ผมว่าที่ต้องคุย+ออกแบบตัวยึดเกาะพิเศษ
เพราะต้องไม่สร้างความเสียหาย หรือขัดขวางการทำงานของดาวเทียมเป้าหมาย นะครับ
แต่ถ้าจะมุ่งร้าย ก็ขอมีมือจับกับเป้าหมายได้ติดก็พอแล้ว
(แผงโซล่าห์นี่น่าจะจับง่าย)
จากนั้นจะมีกงจักรหั่นไว้เป้าหมาย
หรือฆ้อนใช้ทุบ
หรือที่อ๊อกเหล็กไว้เผาแผงวงจร
ก็ตามสะดวกละ ?
Northrop Grumman บริษัทอเมริกานี่ ทำไมใช้จรวจเจ้าอื่นละเนี่ย