เก็บตกบทสัมภาษณ์ Phil Spencer ใน The Verge (ตอนก่อน, ตอนก่อนๆ)
Spencer บอกว่าตัวเขาเองมอง Game Pass เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งๆ ไม่ใช่แค่บริการสมาชิกบนแพลตฟอร์ม ส่วนคำนิยามของแพลตฟอร์มนั้น เขาอ้างคำพูดของบิล เกตส์ ในอดีตว่า เราจะไม่นับเป็นแพลตฟอร์มจนกว่านักพัฒนารายอื่นๆ จะทำเงินบนแพลตฟอร์มของเราได้มากกว่าเจ้าของแพลตฟอร์มเอง ดังนั้น รายได้ของนักพัฒนา third party จึงสำคัญต่อ Game Pass มาก
สิ่งที่ไมโครซอฟท์ทำคือ ลงทุนทำเกมลง Game Pass ให้เยอะๆ จนมันเดินหน้าไปได้ด้วยตัวเองในช่วงแรก เมื่อ Game Pass โตขึ้น (ปัจจุบันมี 15 ล้านคน) ก็เริ่มชวนให้คนอื่นๆ (เช่น EA) เข้ามาร่วม เพราะสุดท้ายแล้วเกมส่วนใหญ่บน Game Pass ต้องมาจาก third party เป็นหลัก
Spencer อธิบายเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้นักพัฒนา ว่าแตกต่างกันตามความต้องการของแต่ละบริษัท ซึ่งไมโครซอฟท์เปิดกว้างกับโมเดลการจ่ายเงินหลายๆ แบบเพื่อทดลองว่าแบบไหนเหมาะสมที่สุด เพราะในช่วงแรกเป็นการจ่ายตามระยะเวลาในการเล่น แต่พบว่าพาร์ทเนอร์ส่วนใหญ่ต้องการเงินก้อนมาก่อนเลย
Spencer บอกว่าโมเดลการจ่ายเงินเหล่านี้ ช่วยเปิดโอกาสให้เกมบางเกมที่อาจไม่มีสิทธิได้วางขายปลีกแบบปกติ (เพราะผู้จัดจำหน่ายคำนวณแล้วไม่คุ้มทุน) สามารถเกิดได้ ลักษณะเดียวกับซีรีส์บางเรื่องได้เกิดบน Netflix แต่ไม่มีโอกาสได้เริ่มผลิตถ้าอยู่บนระบบทีวีแบบเดิม
อีกประเด็นที่ Spencer พูดถึงคือ Game Pass จะช่วยเปิดตลาดใหม่ๆ ให้เกมขนาดกลางและเล็ก ที่ผู้บริโภคอาจมองข้ามหากใช้โมเดลขายเกมแบบเดิม แต่พอเป็นบริการเหมาจ่าย ผู้เล่นมีสิทธิลองเกมใหม่ๆ ได้ตามต้องการ และนักพัฒนาสามารถทำเงินเพิ่มจากฐานผู้เล่นเหล่านี้ผ่านโมเดลธุรกิจแบบอื่นในเกม
ตัวของ Game Pass ยังมีฟีเจอร์ด้านโซเชียลที่ทำให้เราเห็นว่าคนอื่นๆ เล่นเกมอะไรกันอยู่บ้าง ช่วยให้ค้นพบเกมใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ xCloud ยังเป็นการช่วยขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ ไปไกลกว่าฐานผู้เล่นคอนโซลแต่เดิมด้วย
แนวทางของ Game Pass และ xCloud ที่ผู้เล่นไม่ต้องจ่ายเงินซื้อเกมก่อน จะทำให้เกมกลายเป็นตอน (episodic) มากขึ้น เพราะต้นทุนการเข้าร่วมต่ำ และนักพัฒนาเกมต้องพยายามออกของใหม่ๆ ให้ผู้เล่นกลับมาเล่นซ้ำ
ที่มา - The Verge
Comments
เป็นกำลังใจให้ครับ อย่างน้อยโมเดลนี้ก็น่าจะพอช่วยนักพัฒนารายเล็กได้บ้าง
เยียมเลย ว่าแล้วทำไมรายเล็กถึงลงเยอะมากและก็เล่นไปหลายเกมส์แล้วด้วย ฮ่า ๆ แต่ก็รอเกมใหญ่ ๆ ลงมาให้เยอะ ๆ ด้วย
เคสจ่ายต้นทุนคืนแต่แรกนี่เกมต้องเด็ดจริงๆ สินะ win-win เลย
ฟังแล้วดูดี มีอนาคต น่าจะทำให้เกมมีความสร้างสรรค์มากขึ้น
หลายๆโมเดลไม่ป๋าจริงแบบไมโครซอฟท์ทำไม่ได้ ก็ลุ้นให้เกิดได้จริงๆครับ เพราะซื้อ Pass มาเล่นแล้วบ้างเหมือนกัน
ภาพรวมคล้าย steam แต่น่าจะหล่อกว่า...รึเปล่า
ชอบโมเดลนี้นะ บางทีบางเกม แค่อยากลอง (โดยเฉพาะของ ea) เสียเงินซื้อแล้วไม่สนุก คือเปลืองเงินฟรี
ของ ea นี่ผมใช้วิธีสมัคร EA Play (ชื่อเดิม Origin Access) ตัวราคาถูกก็พอได้อยู่ เล่นเกมใหม่ ๆ 10 ชม. (แม้ตัวเกมใน 10 ชม. จะกั๊กบ้างก็เถอะ แต่ก็พอรู้คุณภาพเกมได้)
ดูแล้ว ก็ อืม ... ถ้าไม่ใช่ MS คงออกมาพูดว่า "ไม่ต้องห่วงฉัน" ไม่ได้
ในวงการนี้ถ้าไม่ใช่ Microsoft ก็ไม่น่ามีใครทำไหวแล้วแฮะ
นึกชื่อออกอยู่บ.นึง น่าจะรวยพอจะทำได้
Apple
ผมนี่รอ Google Arcade เลย
กูเกิลมี Google Play Pass กับ Stadia ครับ...
Coder | Designer | Thinker | Blogger
รอทำตลาดไทยอย่างเดียว
แบบนี้ดี จะได้ไม่ต้องซื้อเกมมาลอง บ้างที่ซื่อมาแล้ว ก็ไม่สนุก ไม่คุ้มตัง