กลุ่มนักวิจัยร่วมหลายมหาวิทยาลัยในจีนประกาศความสำเร็จในการสาธิตคอมพิวเตอร์ควอนตัมระดับ Quantum Supremacy ที่เป็นเส้นแบ่งระดับศักยภาพของการสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัม ด้วยการแก้ปัญหา boson sampling ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ธรรมดาเป็นเวลานานเพื่อคำนวณ
คอมพิวเตอร์ Jiuzhang ที่ใช้ในรายงานวิจัยนี้คำนวณการกระจายตัวของโฟตอนที่ผ่านวงจรแสง ประกอบด้วยอินพุต 100 จุด, ตัวแยกแสง (splitter) 300 จุด, กระจกสะท้อน 75 แผ่น, และเอาท์พุตอีก 100 จุด โดย Jiuzhang สามารถให้เอาท์พุตเป็นโฟตอน 76 โฟตอนแสดงผลทำนายการกระจายตัวของแสงได้ภายใน 200 วินาที เร็วกว่าคอมพิวเตอร์ธรรมดาประมาณร้อยล้านล้านเท่าตัว (1014) ทำให้ทีมวิจัยประกาศว่าได้ผ่านจุด Quantum Supremacy แล้ว
ปีที่แล้วกูเกิลประกาศความสำเร็จจุดเดียวกันนี้โดยสาธิตการแก้ปัญหา Schrödinger-Feynman algorithm แม้จะมีการโต้แย้งจากไอบีเอ็มว่าการสาธิตยังไม่ถึงจุด Quantum Supremacy ก็ตาม แต่ความก้าวหน้าของกูเกิลก็แสดงให้เห็นว่าวิทยาการด้านนี้เริ่มเข้าใกล้จุดที่จะสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมสำหรับประมวลผลงานเฉพาะทางบางอย่างแทนที่การใช้คอมพิวเตอร์ธรรมดาได้แล้ว ทางด้านไมโครซอฟท์เคยออกมาระบุว่าปัญหาระยะสั้นที่เป็นไปได้คือการแก้ปัญหา nitrogen fixation ที่จะทำให้พลังงานในการผลิตปุ๋ยต่ำลงมาก
ทีมวิจัย Jiuzhang ระบุกับ Global Times ว่าทีมงานน่าจะสร้างคอมพิวเตอร์ควอนตัมทั่วไป (universal quantum computer) ได้ภายใน 15-20 ปี
รายงานวิจัยตีพิมพ์ลงในวารสาร Science DOI: 10.1126/science.abe8770
ที่มา - Phys.org, Global Times
ภาพ prism โดย Hans
Comments
(x) doubt
ผมเคยคิดเล่น ๆ ว่าทำไมคอมพิวเตอร์ไม่หันมาผลิตด้วยแสงบ้าง น่าจะเร็วปรู๊ดปร๊าดดี แต่นึกไม่ถึงเลยว่ามันจะเกี่ยวกับควอนตัมด้วย ผมยังต้องเรียนรู้อีกมาก
หมายถึง Optical Computing รึเปล่า มีช่วงนึง hype กันมาก นำโดยบริษัท Optalysis ที่ประกาศในปี 2014 ว่าในปี 2020 จะทะลุ exaflop ให้ได้ แต่ก็เงียบๆไป เหมือนว่าข้อเสียหลักของมันให้ผลออกมาเป็น analog แทนที่จะเป็น digital แต่ของแบบนี้ต้องดูกันยาวๆ ขนาดบริษัท D-Wave ที่ทำ Quantum Computing คนยังนึกว่าเป็นเรื่องปาหี่ในช่วงแรกๆ แต่สุดท้ายก็ได้งานจากยักษ์ใหญ่อย่าง NASA กับ Google
คงอยู่ไม่ถึงวันนั้นแฮะ 15-20 ปี
พูดซะรู้สึกแก่เลยครับ
ประกอบเป็นด้วยอินพุต >> ประกอบด้วยอินพุต
อีกนายเลย กว่าจะได้ใช้
ดูนายอาร์มแล้วจะอ๋อ ทำไมนักข่าวชอบข่าวแบบนี้
ผมไม่ค่อยเข้าใจ มันเกี่ยวอะไรกับปุ๋ยครับ..หรือปุ๋ยธรรมดาทั่วไปมันคือปุ๋ย...งง
คำนวณประสิทธิภาพการตรึงไนโตรเจน (nitrogen fixation) ในปุ๋ยครับ
คือ nitrogen fixation ที่แปรรูปโมเลกุลไนโตรเจนในอากาศให้กลายแอมโมเนีย ซึ่งเป็นสารตั้งต้นสำคัญในด้านอุตสาหกรรมเคมีต่างๆ รวมถึงปุ๋ยเคมี ที่เอาไปใช้ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ มันเป็นกระบวนการที่นิยมเอามากๆ มากขนาดว่ากันว่าไนโตรเจนที่อยู่ในร่างกายคนครึ่งหนึ่ง ท้ายที่สุดมาจากกระบวนการนี้กันเลยทีเดียว
ซึ่งกระบวนการนี้ทั้งโลกมันใช้พลังงานมากครับ ว่ากันว่า 1-3% ของพลังงานในโลกถูกใช้เฉพาะในกระบวนการนี้เพียงอย่างเดียว
ถ้าสามารถหาวิธีที่ประหยัดพลังงานมากขึ้นในการตรึงไนโตรเจน ก็น่าจะส่งผลดีกับโลกโดยรวมมากขึ้น