เป็นอีกข่าวสารที่ต้องจับตามอง เมื่อศาลเกาหลีใต้ยกฟ้องคำฟ้องของ Netflix ที่กล่าวหา SK Broadband ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตว่าต้องการเก็บค่าบริการซ้อน (double billing) หลังจาก SK Broadband พยายามเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มเติมจาก Netflix
เรื่องราวเริ่มต้นจาก SK Broadband ยื่นฟ้องไปยังคณะกรรมการการสื่อสารแห่งเกาหลีในเดือนพฤศจิกายน 2019 เนื่องจาก Netflix เป็นบริการใหญ่ ใช้แบนด์วิธมาก จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมให้ผู้ให้บริการเครือข่ายบ้าง และ Netflix ก็ได้ยื่นฟ้องกลับในเดือนเมษายน 2020 บอกว่าตนไม่มีภาระผูกพันต้องจ่ายค่าธรรมเนียมนี้ และถือว่า SK Broadband เรียกเก็บเงินซ้ำซ้อน เพราะผู้ใช้งานได้จ่ายค่าธรรมเนียมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าสู่ระบบแพลตฟอร์ม OTT แยกจากค่าสมัครสมาชิกอยู่แล้ว
จนกระทั่งล่าสุด ศาลแขวงในกรุงโซล ปัดตกคำร้องของ Netflix โดยระบุว่า เป็นการเจรจาระหว่างคู่สัญญาที่เกี่ยวข้องว่าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือไม่
ด้าน SK Broadband ก็ออกมาบอกว่า Netflix จ่ายค่าธรรมเนียมใช้เน็ตในประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และสหรัฐฯอยู่แล้ว จำเป็นต้องจ่ายในเกาหลีใต้ด้วย
อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตเกาหลีมีแนวทางเรียกเก็บค่าบริการเน็ตเวิร์คจากผู้ให้บริการคอนเทนต์รายใหญ่เป็นเรื่องปกติ ก่อนหน้านี้โซเชียลใหญ่ในเกาหลีอย่าง Naver และ Kakao ก็จ่ายค่าธรรมเนียมให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว 7 หมื่นล้านวอน (ประมาณ 2,000 ล้านบาท) และ 3 หมื่นล้านวอน (850 ล้านบาท) ต่อปีตามลำดับ ซึ่งจากการคาดการณ์ Netflix จะต้องจ่ายค่าบริการเน็ตเวิร์คให้บรรดาค่ายรวมแล้ว 1 แสนล้านวอน
Netflix ระบุว่าการจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศอื่นๆ เป็นการจ่ายค่าบริการเพื่อติดตั้งเซิร์ฟเวอร์ CDN ที่ Netflix เรียกว่า Open Connect Appliance เท่านั้น ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมในการใช้เน็ตเวิร์คแต่อย่างใด
คดีนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้สตรีมมิ่งอื่นที่จะเข้ามาในตลาดเกาหลีใต้ด้วย เช่น Disney+, Apple TV Plus, Amazon Prime และ HBO Max
ในสหรัฐฯ และอีกหลายชาติ หน่วยงานกำกับดูแลมักยึดหลักความเสมอภาคทางเน็ต หรือ Net Neutrality หรือแนวคิดในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีผู้ใดได้ใช้ช่องทางด่วนพิเศษ และห้ามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตกีดกันบริการใดบริการหนึ่ง ซึ่งหากไม่มีการบังคับใช้หลักความเสมอภาคทางเน็ต ผู้ให้บริการเครือข่ายหรือ ISP จะสามารถควบคุมความเร็วและคุณภาพของเนื้อหาที่เราบริโภคผ่านอินเทอร์เน็ตได้
อย่างไรก็ตาม หลักการนี้ยังเป็นที่ถกเถียงมายาวนานและมีความซับซ้อน ภูมิภาคที่มีความจริงจังเรื่องความเสมอภาคทางเน็ตคือยุโรป ส่วนในสหรัฐฯ FCC หน่วยงานจัดการการสื่อสารและคลื่นความถี่ของสหรัฐอเมริกา เคยพยายามกำกับดูแลผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามแนวทางนี้ แต่เปลี่ยนนโยบายไปในรัฐบาลทรัมป์ อย่างไรก็ดีสหรัฐฯ ยังมีกฎหมายของแต่ละรัฐในสหรัฐฯ ที่บังคับแนวทาง Net Neutrality อยู่
ที่มา - Korea Herald, Korea Economic Daily
Comments
แสดงว่า SK ไม่ยอมให้ตั้ง CDN สินะ
อาจจะเอาทั้งสองทาง ค่าตั้งเซิร์ฟเวอร์ก็เอา จะใช้ของคนอื่นก็ได้ แต่ last mile มาผ่านก็ขอเก็บอีกที
lewcpe.com, @wasonliw
สงสัยว่าแล้ว ISP เจ้าอื่นเก็บด้วยไหม หรือมีแค่ SK ?
เพราะถ้าเป็นกม.แปลว่าเจ้าอื่นต้องเก็บด้วยสิ หรือรอศาลตัดสินแล้วเตรียมทำตาม SK กัน?
จริงๆ แล้วบริการพวกนี้มักจะใช้บริการ Network กับ CDN มากกว่า 1 ISP อยู่แล้ว แต่เหมือนมีปัญหาแค่ SK แฮะ แปลว่า ISP รายอื่นไม่มีปัญหานี้เลยหรือเปล่า
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
ผู้ใช้บริการเขาก็ไม่ได้ซื้อเน็ทตามบ้านนะ เขาเช่า Link แบบมี SLA
ISP ก็ต้องให้บริการเต็มที่กับ SLA สิ ไม่ใช่มาอิดออดขอเก็บเพิ่ม
ไม่งั้นก็เพิ่มค่าเช่า Link ไปเลย เดี๋ยวผู้ใช้บริการเขาก็เลือกเอง
นั้นขอขึ้นราคา netflix kr แล้วกันเนาะ
The Dream hacker..
เก็บค่าเน็ตผู้ใช้แล้ว และอ้อมไปเก็บค่าเน็ตผู้ใช้ผ่านบริการออนไลน์อีกที Genius!!!
ที่น่าประหลาดใจคือเหมือนเป็นวัฒนธรรมเขา พวก Kakao กับ Naver ก็จ่าย พอ Netflix เข้ามาเลยงง ไม่ยอมจ่าย ISP ก็งง ทำไมไม่ยอมจ่าย
lewcpe.com, @wasonliw
ศาลเกาหลีให้จ่าย แต่netflix ยังไม่จ่ายใช่ไหมครับ เขาจะอุทรณ์ต่อไหมหว่า
true, ais และ 3bb ถูกใจสิ่งนี้
Net Neutrality มันเป็นแนวคิดที่ซับซ้อนและเข้าใจยากจริงๆนั่นแหละ บางคนยังเข้าใจว่ามันคือจ่ายค่าเน็ตแค่ไหนก็ต้องได้ความเร็วเท่ากันอยู่เลย คงต้องรอดูยาวๆว่ากระแสโลกมันไปทางไหน ผมมองว่าทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับผลประโยชน์นั่นแหละ
ส่วนตัวในมุมมองผู้ใช้ ผมเห็นด้วยเรื่องหลักการของ Net Neutrality นะ ไม่งั้นมันคงลำบากน่าดูที่ต้องมานั่งดูว่าเน็ตค่ายไหนใช้บริการไหนได้บ้าง หรือต้องมาเลือกโปรของแต่ละค่ายอีกว่าถ้าอยากใช้บริการนั่นนู่นต้องเลือกโปรไหน
แต่ในทางปฏิบัติจริงมันก็ยากและซับซ้อนมาก ยุโรปที่ว่าจริงจังก็มีข้อยกเว้นเยอะแยะเหมือนกัน