เหตุโรคระบาด COVID-19 ทำให้คนจำนวนมากรู้จักเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่นเทคโนโลยีเชื้อตายที่เป็นเทคโนโลยีผลิตวัคซีนที่มีมายาวนาน และเหตุโรคระบาดครั้งนี้ก็มีวัคซีนเชื้อตายถึง 3 ตัว อีกเทคโนโลยีคือ mRNA ที่เพิ่งมีถูกใช้พัฒนาวัคซีนเพื่อใช้งานเป็นวงกว้างครั้งแรก
ในงาน TEDxBeaconStreet เมื่อปี 2013 Stéphane Bancel ผู้ก่อตั้งบริษัท Moderna ได้บรรยายถึงไว้ว่าทำไมเทคโนโลยี mRNA จึงเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ไม่หยุดแค่การสร้างวัคซีนต่อต้านไวรัสใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังมีโอกาสสร้างยาใหม่ๆ สู้โรคที่เราไม่เคยรักษาได้มาก่อน
กระบวนการเริ่มจากการทำงานของเซลล์ในร่างกายของเรา ที่มี DNA อยู่ภายใน DNA เป็นแม่พิมพ์ของโปรตีนจำนวนมากในร่างกาย โดยรวมแล้วเราใช้งานโปรตีนอยู่ประมาณ 22,000 ชนิด DNA จะสร้าง mRNA หรือ messenger RNA เข้าไปยังไรโบโซมเพื่อสร้างโปรตีน โดยรวมร่างกายของเราผลิตโปรตีนนับล้านล้านครั้งต่อวัน หาก DNA ของเราบกพร่อง หรือร่างกายของเราผิดปกติบางประการ กระบวนการผลิตโปรตีนก็อาจจะผิดเพี้ยนไป เช่น ขาดฮอร์โมนบางตัว หรือสารเช่นอินซูลิน
ความพยายามแก้ไขความบกพร่องของร่างกายของเรานั้นมีมายาวนาน ทุกวันนี้เราสามารถผลิตโปรตีนรูปแบบต่างๆ เพื่อทดแทนโปรตีนที่ร่างกายของผู้ป่วยผลิตเองไม่ได้ กลายเป็นยารักษาโรคอยู่ประมาณ 20 ตัว อีกด้านของความพยายามคือการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้ร่างกายของเรากลับมาสร้างโปรตีนที่ขาดไปได้อีกครั้ง แต่หลังจากพยายามอยู่นับสิบปี มีการรักษาด้วยการตัดต่อพันธุกรรมได้รับอนุญาตเพียงตัวเดียว (ข้อมูลปี 2013 ที่ Bancel บรรยาย)
Bancel ระบุว่า ก่อนหน้านี้บริษัทยาไม่ได้พัฒนา mRNA เพื่อผลิตยา เพราะตัว mRNA นั้นไม่เสถียรอย่างมาก ขณะเดียวกันตัว mRNA นั้นหากเข้าสู่ร่างกายแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมองว่าเป็นวัตถุแปลกปลอมและทำลาย mRNA อย่างรวดเร็ว แต่บริษัทยาเช่น Moderna นั้นพัฒนาเทคนิคที่จะพา mRNA เข้าไปในเซลล์เพื่อให้ไปสั่งไรโบโซมให้ผลิตโปรตีนที่ต้องการ โดยโปรตีนนั้นคือยาที่เราอยากได้จริงๆ
เนื่องจากกระบวนการทำงานของ mRNA เป็นการสั่งไรโบโซมในเซลล์ของเราเองให้โปรตีน Bancel ระบุว่าความได้เปรียบสำคัญคือเราสามารถสร้างยาที่ทำงานภายนอกเซลล์ (secreted protein) ซึ่งเป็นรูปแบบที่เราใช้สร้างวัคซีน หรือยาที่ทำงานอยู่ในเซลล์เอง (intra-cellular protein) ก็ได้
Note: โครงสร้างและการทำงานของไรโบโซมเป็นอีกแขนงหนึ่งของการวิจัยสารชีววิทยา กลุ่มนักวิจัย ได้แก่ Venkatraman Ramakrishnan, Thomas A. Steitz, และ Ada E. Yonath ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเมื่อปี 2009 จากการศึกษาโครงสร้างและการทำงานของไรโบโซม ตัว Ramakrishnan นั้นเขียนเรื่องราวของการศึกษาโครงสร้างของไรโบโซมไว้ในหนังสือ Gene Machine
ในการบรรยายเมื่อปี 2013 Bancel ยกตัวอย่างการทดลองสร้างโปรตีน VEGF ในหนูเพื่อรักษาหัวใจหลังจากหัวใจวาย การ โดย VEGF จะไปกระตุ้นสเต็มเซลล์ในหัวใจให้สร้างกล้ามเนื้อหัวใจกลับขึ้นมาใหม่ทดแทนกล้ามเนื้อส่วนที่บาดเจ็บหลังเกิดหัวใจวาย ข้อดีสำคัญของ mRNA คือมันกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง VEGF ได้ปริมาณสูงในในช่วงที่ mRNA ยังอยู่ในร่างกาย แต่เมื่อ mRNA สลายตัวไปภายใน 48 ชั่วโมงก็หยุดสร้างโปรตีนไปเอง เทียบกับการรักษาแบบตัดต่อพันธุกรรมที่ควบคุมได้ยาก จนการทดลองยาล้มเหลวเพราะหนูที่ถูกตัดต่อพันธุกรรมกลับตายเร็วกว่าหนูที่ไม่ได้รับการรักษาเสียอีก
Moderna นั้นได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่สามารถทำตลาดยาได้เลยตั้งแต่ตั้งบริษัทในปี 2010 อย่างไรก็ดีบริษัทเข้าตลาดหุ้นในปี 2018 เพื่อระดมทุนเพิ่มเติม ในปี 2019 บริษัทไปบรรยายถึงโครงสร้างไอทีที่บริษัทใช้พัฒนายาในงาน AWS เปิดเผยว่ามียา mRNA อยู่ระหว่างการพัฒนานับสิบตัว รวมถึง mRNA สำหรับสร้างโปรตีน VEGF ที่ Bancel บรรยายว่าประสบความสำเร็จในการรักษาหัวใจหนูเมื่อปี 2013 ก็เข้าสู่เฟส 2 แล้ว ขณะที่ BioNTech นั้นก็กำลังพัฒนายาอยู่ในสายการผลิตถึง 20 ตัว
เมื่อปี 2020 Moderna ได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 130,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาวัคซีน และพัฒนาได้สำเร็จ ขณะที่ Pfizer ไม่ได้รับทุนรัฐบาลสหรัฐฯ โดยตรงแต่ได้รับคำสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้ามูลค่า 1,900 ล้านดอลาร์ (60,000 ล้านบาท) และ BioNTech ที่ร่วมพัฒนายานั้นได้รับทุนจากรัฐบาลเยอรมนีมูลค่า 375 ล้านดอลลาร์ (14,000 ล้านบาท)
ภาพกระบวนการผลิต mRNA จาก Aldevron ผู้รับจ้างผลิต mRNA ให้ Moderna
กระบวนการผลิต mRNA นั้นต่างจากวัคซีน COVID-19 อื่นๆ ที่ต้องอาศัยการเลี้ยงเซลล์โฮสต์ แล้วนำเชื้อไปแพร่ในเซลล์เหล่านั้นเพื่อให้ได้ยาออกมา (อ่านเพิ่มเติมกระบวนการผลิตวัคซีน AstraZeneca) แต่อาศัยการตัดต่อพลาสมิด (plasmid) สารพันธุกรรมที่พบในแบคทีเรียที่สามารถทำซ้ำตัวเองได้หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกต้อง โดยกระบวนการผลิตแต่ละรอบอาจจะใช้เวลา 1 วันถึง 3 สัปดาห์ขึ้นกับปริมาณการผลิต
COVID-19 กลายเป็นโอกาสสำคัญของ Moderna และ BioNTech เพราะทำให้วัคซีน mRNA ได้รับการยอมรับในวงกว้างในทันที เทียบกับยาตัวอื่นๆ ที่ใช้เวลานานนับสิบปีและยังไม่สามารถนำมาใช้งานได้จริง แต่ความสำเร็จของวัคซีนจากทั้งสองบริษัทก็น่าจะทำให้ทั้งสองบริษัทมีเงินทุนเพียงพอต่อการพัฒนายาตัวอื่นๆ ไปได้อีกมาก และมีโอกาสสูงที่เราจะได้เห็นยาตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาหรือวัคซีนโรคใหม่ๆ ต่อไป
Comments
เหมือนไม่ใช่ mRNA vaccine ที่ทำออกมาทุกตัวแล้วได้ผลดีนะครับ ของ CureVac ที่เพิ่งแถลงผลการทดลองเฟส 3 ออกมาก็ประสิทธิภาพไม่ค่อยดี (จริงๆคาดเดากันว่า CureVac ใช้ Uracil แทนที่จะเป็น Pseudouracil แบบ Moderna, BioNTech ซึ่งต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรการใช้งาน)
สำหรับใครที่บอกผลข้างเคียงระยะยาว ผมก็ไม่ทราบว่าจะมีจริงหรือไม่ แต่ตัว mRNA ไม่ได้เข้านิวเคลียสเข้าไปเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมอะไร ค่อนข้างมีความปลอดภัยพอสมควร เมื่อเทียบ risk : benefit ratio รวมถึง real world scenario ที่ mRNA ให้ efficiency ที่สูงที่สุด ไม่รวมถึงที่มันกระตุ้นทั้ง CMIทางตรงและHMI ที่น่าจะเหนือกว่า Inactived killed virus vaccine ที่กระตุ้นแต่ HMI แต่ CMI แบบอ้อมๆ
วัคซีนโควิทคือวัคซีนที่ออกมาให้ใช้ได้จริงเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ปกติวิจัยใช้เวลาเป็น 5-10 ปีอย่างน้อย ทั้งหมดเกิดจากการเทเงินลงไปหลายแสนล้านบาทแบะทำการทดลองเฟสต่างๆแบบ overlap กัน
นอกจากนี้ Lipid nano particle ที่ใช้พา mRNA เข้าไปในเซลล์นี่ก็ถือเป็นคอขวดของการผลิตวัคซีน mRNA เนื่องจากมีผู้ผลิตทั้งโลกอยู่ 2-3 เจ้าเพราะติดสิทธิบัตร ไม่รวมถึงปัญหาขวดแก้วไม่พอที่โรงงานผลิตพวกนี้เจอได้บ่อยๆ
ปล. โรงงานที่เป็น outsource ที่ฝรั่งเศสของบริษัทผมไปรับจ้างผลิต mRNA vaccine นี่แหละทำให้กระทบ supply สินค้าตัวอื่นที่โรงงานนี้ผลิตทั่วโลกเลย
patent เหลืออายุอีก 8 ปี อาจจะได้ใช้ในยาอีก 1-2 ตัวก็น่าจะหมดอายุไปเองล่ะครับ
เรื่องผลดีหรือไม่ดีนี่ก็คงขึ้นกับหลายอย่าง รวมถึงความปลอดภัยด้วย ไม่ใช่ว่า mRNA สลายไปใน 48 ชั่วโมงแล้วมันจะปลอดภัยโดยตัวมันเอง ถ้าโปรตีนที่ผลิตมันอันตรายมันก็อันตรายอยู่ดี (Bancel ก็พูดเรื่องนี้ไว้ตอนสัมภาษณ์หลังบรรยายในปี 2013)
lewcpe.com, @wasonliw
ต่อไปเราจะมีวัคซีนป้องกันมะเร็งทุกชนิดได้ไหม
มะเร็งมีหลายสาเหตุครับ แต่กลไกหลักคือการแบ่งเซลล์ไม่รู้จบทำให้เกิดก้อนมะเร็ง แล้วความพยายามจะหยุดกลไกลนั้นมันยากเอามากๆ
ถ้าวัคซีนหลอกให้เซลล์ภูมิคุ้มกันสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ก็น่าจะได้นะ
[ถูกลบ]
การแนะนำยาที่ไม่ได้รับอนุญาตจะถูกแบนนะครับ
lewcpe.com, @wasonliw
อ่านกฏได้ที่ไหนเหรอครับ
ตอนนี้น่าจะยังครับ เอาจริงๆ ตอนนี้เราก็ยังไม่รู้กลไกการเกิดและพัฒนาของมะเร็งอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง
ตอนนี้ได้แต่ลุ้นว่าจะหา membrane protein ที่จำเพาะของเซลล์มะเร็งให้ได้ เพื่อพัฒนายาที่เป็นพิษเฉพาะเซลล์มะเร็งเท่านั้น หรือ วัคซีน (ซึ่งผมก็คิดว่ามันก็ย้อนแย้งในตัวเอง เพราะถ้ามันดันมีจริงๆ กลไกภูมิคุ้มกันร่างกายควรจะผลิตแอนติบอดีกำจัดเซลล์มะเร็งไปได้ตั้งแต่แรก รึเปล่า?)
เชื้อตายดีที่สุด ชมพูว์เลือกซี้โนแว่คคร่ะ ศรึกษามาอย่างดี เขียนสรรพคูณเต็มหน้า a4 ชวนพี่น้องไปฉีดกันกับเหล่าซุปตาปาตี้
ของดีเข็มเดียวก้อพอนะคร๊ะ เข็มสองไม่ต้องถามว่าไปฉีดมายัง มาดอนน่า อาเอ็นเอ เอนโอ อะไร ไม่เชื่อคร่ะ ยี้..
กลับบอร์ดปาล์มค่ะซิส ที่นี่แมนๆคุยกันครัช
ไม่แมนก็คุยกันได้ครับ ในนี้ก็มีสมาชิกสุภาพสตรีหลายท่านที่เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสม่ำเสมอ
เขาแซวเป็นมุขรึเปล่าครับ
เปิดตัวได้อย่างสวยงามจริง ๆ mRNA
มีคนเคยว่าเป็นวัคซีนมรณะ
m=ม R=ร N=ณ A=ะ
แต่ตอนนี้ไอ้ที่ว่าวิ่งพล่านหามาใช้ใหญ่แล้วมั้ง
มันเป็นวิธีคิดของประเทศห้ามพัฒนาครับ
เจอของใหม่ นอกตำรา นี้ไปไม่เป็นกัน
สงสารไอโอเขานะครับ 5555
ถึงจุดนี้ ก็ต้องขอบคุณเทคโนโลยีนี้ที่ทำให้มนุษย์เรายังพอมีวัคซีนไว้ลดความรุนแรงของ Covid-19 ได้อยู่ หวังว่าเทคโนโลยี mRNA จะได้รับการพัฒนาต่อไปได้อีกเยอะๆนะครับ
..: เรื่อยไป
เหลือแค่พัฒนาแล้วช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและผลิต รวมถึงทำให้ผลิตได้ในปริมาณมากๆ เหมือนวัคซีนทั่วไปก็ดีเหมือนกัน ทำให้ราคาถูกลงไปอีก และไม่ขาดแคลนอีกเลย
ความล้มเหลว คือจุดเริ่มต้นสู่ความหายนะ มีผลกระทบมากกว่าแค่เสียเงิน เวลา อนาคต และทรัพยากรที่เสียไป - จงอย่าล้มเหลว
อืม... เออ... แค่ตอนนี้ mRNA นอกจากจะดีกว่ามากแล้ว ผลิตก็ง่าย ผลิตได้เร็ว update ก็เร็ว และถูกกว่า วัคซีนแบบเก่าๆ เยอะนะครับ ในระดับ disrupt วงการสบายๆ
อ้าว ไม่ใช่ มรณะเหรอครับ เห็นอีกฝั่งกรอกหูว่างั้นมาตั้งนาน
เป็นการสั่งไรโบโซมในเซลล์ของเราเองให้โปรตีน >> เป็นการสั่งไรโบโซมในเซลล์ของเราเองให้ผลิตโปรตีน
หลังจากหัวใจวาย การ โดย VEGF จะไปกระตุ้น >> หลังจากหัวใจวาย โดย VEGF จะไปกระตุ้น