Tags:
Node Thumbnail

บริษัทไอทียักษ์ใหญ่หลายแห่งมีตำแหน่ง Distinguished Engineer ที่ถือเป็นตำแหน่ง Executive ของสายงานวิศวกรรม (เทียบเท่ากับ Vice President หรือ Managing Director ในตำแหน่งสายงานบริหาร) บริษัทใหญ่ที่มีประวัติยาวนานอย่าง IBM ก็มีตำแหน่งนี้ และเราเพิ่งได้เห็น "คนไทยคนแรก" ที่ได้รับตำแหน่ง Distinguished Engineer ซึ่งมีอยู่ประมาณ 40 คนทั่วโลก ที่ได้รับการแต่งตั้งในปีนี้

Blognone มีโอกาสพูดคุยกับ คุณวิศรุจน์ อัศวรักษ์ ที่มีตำแหน่งเป็น Chief Technology Officer ของไอบีเอ็มประเทศไทยอีกตำแหน่ง และเป็นสมาชิกของ IBM Academy of Technology ชุมชนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของ IBM ด้วย

No Description

อยากให้อธิบายเรื่องตำแหน่ง Distinguished Engineer ให้คนนอกฟัง

IBM เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับงานในสายงานเทคนิคค่อนข้างมาก พนักงานที่เติบโตมาจากตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ หรือ สถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์สามารถเติบโตได้ตามสายงานเทคนิค โดยมีเส้นทางอาชีพ (career path) ที่สามารถไปต่อได้เทียบเท่ากับ Vice President ขององค์กรฝั่งบริหาร

พนักงาน IBM ทั้งโลกมีคนที่ได้รับแต่งตั้งตำแหน่ง Distinguished Engineer ในปีนี้ประมาณ 40 คน โดยในกลุ่มประเทศอาเซียนมี 2 คนที่ได้รับการแต่งตั้ง

นอกจากนี้ยังมี Academy of Technology ของ IBM ระดับโลก เป็นศูนย์รวมคนสายเทคนิคจากทุกสายงานย่อย เช่น IBM Research, IBM Consulting, IBM Technology Group มีจุดประสงค์เพื่อสร้างชุมชนแลกเปลี่ยนความรู้กันภายในบริษัท มีระบบสมาชิกที่ชัดเจน มีการตั้งทีมทำงาน (working team) ไปทำโครงการต่างๆ เช่น เซสชันการแชร์ความรู้ หรือทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย ออกรายงานการศึกษาแนวทางด้านเทคโนโลยีในเซกเตอร์ต่างๆ

งานที่ทำอยู่ในตอนนี้คืออะไร

ผมเข้าทำงานกับ IBM มาตั้งแต่ปี 1990 และทำงานกับหน่วยงานด้านการเงินการธนาคารของไทยมาตลอด ก่อนหน้าที่ทำงานฝั่ง IBM Consulting ซึ่งเน้นการทำงานที่ใกล้ชิดกับองค์กรฝั่งลูกค้า ช่วยแก้ปัญหาทั้งระบบงาน กระบวนการทางธุรกิจ วางแผนยุทธศาสตร์

พอได้รับตำแหน่งเป็น CTO ของ IBM Thailand ก็มีความรับผิดชอบมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการทำ digital transformation ขององค์กร ซึ่งช่วงหลังเราจะได้ยินคำว่า digial journey ในฝั่งหน้าบ้านที่ต้องปรับตัวตามความต้องการของลูกค้า และการทำ modernization ของระบบ back office หลังบ้านให้คล่องตัวมากขึ้น

No Description

อยู่ในแวดวงไอทีฟากธนาคารมานาน เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

กลุ่มธนาคารเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่นำระบบไอทีมาใช้งาน ในยุคแรกๆ นำระบบประมวลผลธุรกรรม (online transaction processing) มาใช้ แต่สมัยก่อนธนาคารยังมองลูกค้าแยกตามบัญชีธนาคาร (account-based) และแยกตามผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น กลุ่มเงินฝาก กลุ่มเงินกู้ กลุ่มการลงทุน

ภายหลังเราเริ่มเห็นว่าธนาคารเปลี่ยนมุมมองทางไอที จาก transactional และ account-based มาเป็นการมองที่ตัวลูกค้า (customer-based) เราเห็นการทำ CRM รอบตัวลูกค้าธนาคาร การเปิดช่องทางใหม่ๆ และการทำช่องทางที่ลูกค้าใช้บริการได้เอง (self-service channel) เช่น ตู้เอทีเอ็ม

ยุคถัดมาเราเห็นการปรับกระบวนการของสาขาให้ดีขึ้น ให้บริการลูกค้าได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ลูกค้าไปธนาคารไม่ต้องรอคิวนาน ไม่ต้องรอกระบวนการเอกสารหลายวัน มีการทำระบบสมาร์ทคิว ไล่มาถึงยุคของ mobile banking และล่าสุดผมมองว่าเป็นยุคของ Open Banking และ Open API

ยุคของ Open Banking เป็นอย่างไร

เราจะเห็นการให้บริการของธนาคาร (Banking as a Service) ที่ออกไปอยู่นอกธนาคารมากขึ้น ช่วงหลังเราเห็นธนาคารหลายแห่งเปิด API ให้เชื่อมต่อกับพาร์ทเนอร์จากอุตสาหกรรมอื่น เช่น ค้าปลีก เราจึงเห็นบริการธนาคารไปฝังอยู่ในพื้นที่ของร้านค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้าบ้างแล้ว ตรงนี้เรียกว่า embedded product คือเตรียมบริการการเงินให้พร้อมให้ไปอยู่ตรงไหนก็ได้

บางธนาคารเริ่มเปิด Open API ให้ลูกค้าสามารถเปิดบัญชี ขอสินเชื่อ จากบริษัทในเครือหรือคู่ค้าโดยตรง เรียกได้ว่าตัวบริการด้านการเงินเหมือนเดิม แต่ตัวช่องทางการบริการ (distribution channel) เปลี่ยนไปจากเดิม

อยากให้มองอนาคตของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีของไทยยุคหน้า

โครงการอย่าง National Corporate Digital Identity (NCID) หรือ ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านบล็อกเชน ซึ่งเป็นการวางพื้นฐานการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการในโลกดิจิทัล
ที่ IBM ทำร่วมกับ ARV บริษัทในเครือ ปตท. คือหนึ่งในตัวอย่างของการวางโครงสร้างพื้นฐานไอทีเพื่อรองรับยุคต่อไป แพลตฟอร์มดังกล่าว จะช่วยให้องค์กรและธนาคารไทยดำเนินกระบวนการ KYC โดยเฉพาะในเรื่องการรับรองหนังสือมอบอำนาจ (power of attorney) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น จากรูปแบบการดำเนินการในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับเอกสารจำนวนมาก ส่งผลให้ใช้เวลาในการดำเนินการอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ หรือในบางกรณีมากกว่าหนึ่งเดือน เมื่อนำระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบเข้ามาช่วย ทำให้ใช้เวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์

นอกจากนี้ สิ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจยังมีเรื่องเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (central bank digital currency หรือ CBDC) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีโครงการทดลองนำร่องอยู่แล้ว สิ่งนี้จะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจยุคหน้าเช่นกัน

Get latest news from Blognone

Comments

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 1 August 2022 - 11:43 #1256828
btoy's picture

Banking as a Service นี่สำคัญมากเลยในยุคนี้ ใครทำได้ดีก่อนก็จะดึงเอายอด transaction วิ่งเข้าธนาคารได้เยอะกว่า


..: เรื่อยไป

By: whitebigbird
Contributor
on 1 August 2022 - 13:41 #1256862
whitebigbird's picture

โดยรวมผมชอบใช้ลาซาด้ากว่า แต่หลังๆ ใช้ช็อปปี้บ่อยมากเพราะจ่ายเงินด้วยวิธีสแกน QR code ได้

ก่อนหน้าถ้าจะจ่ายผ่าน mobile banking มีขั้นตอนเหมือนกันทั้ง 2 เจ้านี้ คือผมต้องโอนเงินไปบัญชีธนาคารที่แต่ละเจ้ามีให้ใช้ ซึ่งไม่ใช่บัญชีหลักของผม ก็ถือว่าซับซ้อนเท่าๆ กันทั้ง 2 เจ้า

แต่ตอนนี้ใช้ QR code ของช็อปปี้สะดวกดีกว่ามาก ไม่ต้องสนว่าจะใช้ธนาคารไหนเลย