Janet Jackson เป็นศิลปินหญิงชาวอเมริกันที่มีผลงานเพลงมากมาย แต่ล่าสุดเพลง "Rhythm Nation" จากอัลบั้มที่ 4 ของเธอซึ่งปล่อยออกมาเมื่อปี 1989 ถูกหยิบยกมาพูดถึงในฐานะเพลงที่มีอานุภาพทำให้คอมพิวเตอร์บางเครื่องพังได้
Raymond Chen วิศวกรซอฟต์แวร์ของ Microsoft แชร์เรื่องราวที่เพื่อนร่วมงานจากฝ่ายสนับสนุนผลิตภัณฑ์ Windows XP เล่าให้ฟังว่า บริษัทผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายใหญ่รายหนึ่งค้นพบว่ามีเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กบางรุ่นของตนเองพังเสียหายเมื่อเปิดคลิปมิวสิควิดีโอเพลง "Rhythm Nation" และนั่นทำให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ดำเนินการทดสอบเพื่อสืบสวนหาสาเหตุ
ภาพจากมิวสิควิดีโอเพลง "Rhythm Nation"
ในระหว่างการทดสอบพวกเขาพบว่าเครื่องโน้ตบุ๊กบางรุ่นจากผู้ผลิตรายอื่นก็มีปัญหาแบบเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กบางเครื่องที่ไม่ได้เปิดเพลง "Rhythm Nation" เองโดยตรงก็มีสิทธิ์พังเสียหายได้เหมือนกัน หากมันถูกวางไว้บริเวณใกล้กับเครื่องที่เปิดมิวสิควิดีโอเพลงดังกล่าว
จนท้ายที่สุดปริศนาก็ไขกระจ่างเมื่อทีมวิเคราะห์ปัญหาพบว่าเพลง "Rhythm Nation" มีคลื่นเสียงที่มีความถี่สั่นพ้องกับความถี่ธรรมชาติของฮาร์ดดิสก์จานหมุนที่กำลังทำงานในเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ผลก็คือเมื่อเปิดเพลงดังกล่าวฮาร์ดดิสก์จะเกิดการสั่นพ้องจนแรงสั่นสะเทือนที่รุนแรงก่อให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ ซึ่งปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นกับเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกยี่ห้อที่ใช้ฮาร์ดดิสก์รุ่นเดียวกัน
หลังการค้นพบต้นตอของปัญหาทีมวิศวกรจึงใส่ฟิลเตอร์ในระบบเสียงของเครื่องโน้ตบุ๊กเพื่อกรองเอาสัญญาณคลื่นเสียงความถี่อันตรายออกไปเพื่อให้การเล่นเพลงดังกล่าวปราศจากคลื่นความถี่เจ้าปัญหา ทว่าหากเพลงดังกล่าวถูกเล่นจากระบบเล่นไฟล์เสียงอื่นที่ไม่มีฟิลเตอร์นี้ คลื่นความถี่สั่นพ้องก็อาจยังคงสามารถสร้างปัญหาให้กับฮาร์ดดิสก์ในเครื่องโน้ตบุ๊กเฉพาะรุ่นเหล่านั้นได้อยู่ดีหากมันได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการเล่นเพลงนั้น
อย่างไรก็ตามคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้ฮาร์ดดิสก์จานหมุนกันแล้ว นั่นทำให้ความเสี่ยงที่จะเจอปัญหาจากความถี่สั่นพ้องอันเกิดจากไฟล์เสียงที่เปิดบนเครื่องคอมพิวเตอร์ลดน้อยลงไปมาก
ที่มา - Microsoft DevBlogs ผ่าน The Next Web
Comments
ในข่าวบอกว่าเป็นรุ่น 5400 rpm ที่พัง หวังว่ารุ่น 7200 rpm ที่ใช้อยู่จะรอดนะ
็HDD รุ่นไหนคือรุ่นไรหว่า
อยากให้มี tag JuSci รวมงานพวกนี้ไว้จังครับ
อ่าน ๆ ดู เหมือน August fool ยังไงก็ไม่รู้สิครับ
ตอนแรกผมอ่านจากเว็บตปท.ก็นึกว่าเป็น joke ครับ แต่พอไปหามีเลข CVE จริงๆด้วย
https://nvd.nist.gov/vuln/detail/CVE-2022-38392
https://cve.mitre.org/cgi-bin/cvename.cgi?name=CVE-2022-38392
งี้มีใครก่อวินาศกรรม โดยออกแบบเสียงให้ตรงคลื่นพอดีแรงๆ แล้วลากเครื่องเสียงเล่นเสียงนั้นเข้าศูนย์ข้อมูลกูเกิ้ลนี่วินาศเลยนะ
ต้องหาทางเอาลำโพงไปวางไว้ใน DC โดยไม่ถูกจับได้ก่อน แล้วเปิดโดยไม่ให้คนอื่นได้ยิน (เสียงย่าน 25 KHz ขึ้นไปน่าจะรอด) ส่วนความเสียหายที่ผมคาดว่าจะเกิดขึ้นคือพัดลมระบายอากาศน่าจะพังจนต้องปิดระบบเพื่อกันเครื่องสุกครับ
เกิดได้บ้างมากครับ ลองหาคลิปชื่อ Resonance Bridge ดูครับ สะพานเป็นสิ่งก่อสร้างที่ได้รับปัญหาจาก การสั่นพ้อง มากที่สุดอันนึงเลยครับ
โอ้ ช่างบังเอิญ
..: เรื่อยไป
คนใช้hddต้องระวังเรื่องเสียงนะ ส่งผลครับ อันนี้ทราบมานานแล้ว
The Last Wizard Of Century.