Tags:
Node Thumbnail

Transport for London (TfL) ได้เริ่มทดลองใช้งานรถบัสเพื่อให้บริการขนส่งโดยสารสาธารณะแบบใหม่ โดยใช้รถพลังงานไฟฟ้าที่รองรับการชาร์จไฟแบบไร้สาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและลดความยุ่งยากในการก่อสร้างระบบพื้นฐาน

รถบัสโดยสารสีแดงสดใสนั้นเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์โดดเด่นของกรุง London แต่แม้สีสันภายนอกจะยังคงความเป็นเอกลัษณ์ไว้ดังเดิม หากแต่เทคโนโลยีเบื้องหลังการทำงานของมันก็ได้รับการปรับปรุงตามยุคสมัย และในยุคนี้ที่ทุกฝ่ายใส่ใจกับการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จริงจังมากขึ้น TfL ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะของ London เองจึงหันมาใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้ากับพาหนะเพื่อการโดยสารเป็นหลัก

No Descriptionรถบัสโดยสารระบบไฟฟ้าแบบใหม่ล่าสุดที่ TfL จะนำมาให้บริการ (ที่มาภาพ: Irizar)

ว่าด้วยเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้าแล้วทุกวันนี้มันไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ ทั้งรถบ้านขนาดเล็ก ไปจนถึงรถบรรทุกสำหรับภาคอุตสาหกรรม กระทั่งรถบัสโดยสารที่ใช้ระบบไฟฟ้าก็มีให้เห็นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สิ่งที่ TfL ทำแล้วแตกต่างจากที่อื่น คือการเลือกใช้เทคโนโลยีที่รองรับการชาร์จไฟแบบไร้สายเพื่อให้ตอบโจทย์ต่อการใช้งานสำหรับการเดินทางภายในเมือง

หนึ่งในเทคโนโลยีออกแบบรถบัสโดยสารภายในเมืองที่ใช้ระบบไฟฟ้าซึ่งพบเห็นได้ในเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลก เป็นการใช้รถที่รับพลังงานไฟฟ้าจากสายส่งที่ติดตั้งอยู่เหนือผิวถนนเส้นทางเดินรถ ซึ่งรถแบบนี้เรียกว่าว่า "trolleybus" เนื่องจากใช้วิธีการรับพลังงานจากสายไฟที่ติดตั้งอยู่ด้านบนคล้ายคลึงกับรถราง (tram) หากแต่ตัวยานพาหนะเองไม่ได้อาศัยรางแต่มีลักษณะเป็นรถบัสที่วิ่งบนผิวถนนเช่นเดียวกับรถยนต์ทั่วไป โดยตัวรถบัสที่ใช้งานระบบนี้จะมี "แหนบรับไฟ" หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า "pantograph" เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่จะถูกติดตั้งยึดไว้กับหลังคารถและมันจะสัมผัสกับสายไฟฟ้าด้านบนเพื่อรับไฟจากระบบส่งตลอดเวลาที่ยานพาหนะวิ่งไป

No Descriptionภาพรถโดยสารแบบ trolleybus ในเมือง Parma ประเทศอิตาลี ซึ่งรถแบบนี้จะต้องติดตั้งแหนบรับไฟบนหลังคารถเพื่อรับพลังงานจากสายไฟด้านบน (ที่มาภาพ: Pieye Trains, CC BY-SA 4.0)

การออกแบบใช้งานระบบ trolleybus นี้มีโจทย์ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการออกแบบและก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าตามเส้นทางที่รถวิ่งให้บริการ ด้วยเหตุนี้ระบบ trolleybus จึงนิยมใช้กับระบบการเดินทางที่มีเส้นทางเดินรถที่แน่นอน และจะต้องมีสภาพถนนที่เหมาะต่อการติดตั้งระบบสายไฟฟ้า (ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบนี้มีการใช้กับการขนส่งภายในเมืองใหญ่เท่านั้น) ทว่าการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้านี้ก็ตามมาด้วยข้อจำกัดเรื่องขนาดความสูงของรถที่วิ่งผ่านเส้นทางดังกล่าว, ข้อจำกัดในการก่อสร้างและติดตั้งโครงสร้างระบบอื่น รวมทั้งเรื่องทัศนียภาพ

ทั้งนี้เทคโนโลยี trolleybus ถือเป็นเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนที่มีการใช้งานมานานหลายสิบปี ซึ่ง TfL เองเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มนำเทคโนโลยี trolleybus มาให้บริการผู้คนตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

No Descriptionภาพรถบัสโดยสารแบบ trolleybus ในอังกฤษเมื่อปี 1966 (ที่มาภาพ: Alan Murray-Rust, CC BY-SA 2.0)

นอกเหนือจากเทคโนโลยี trolleybus การใช้รถบัสไฟฟ้า fully electric ที่มีแบตเตอรี่ในตัวแล้วอาศัยการชาร์จไฟแบบเสียบสายชาร์จแบบเดียวกับรถบ้าน ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและผู้พัฒนาระบบชาร์จไฟก็พยายามออกแบบเทคโนโลยีให้เหมาะกับรถยนต์ขนาดใหญ่มากขึ้น ตัวอย่างเช่นการพยายามสร้างมาตรฐานชาร์จไฟแบบ MCS (Megawatt Charging System) ซึ่งเน้นการชาร์จไฟด้วยกำลังงานสูง อย่างไรก็ตามข้อเสียเปรียบของการใช้งานยานยนต์นี้คือเรื่องระยะเวลาในการชาร์จไฟต่อครั้ง ซึ่งปัจจุบันนี้ TfL เองก็มีรถบัสไฟฟ้าแบบมีแบตเตอรี่ในตัวที่จะต้องจอดชาร์จไฟแบบนี้ให้บริการอยู่แล้ว โดยจะต้องชาร์จไฟข้ามคืนเพื่อเตรียมให้บริการในแต่ละวัน

ทั้งนี้ TfL ได้เริ่มนำรถบัสแบบ fully electric มาให้บริการหลายร้อยคันในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยมีรถจากผู้ผลิตหลายราย อาทิ BYD, Equipmake and Beulas, Abellio

No Descriptionรถบัสแบบ fully electric ที่ TfL นำมาให้บริการในปี 2020 (ที่มาภาพ: TfL Newsroom)

TfL ยังคงพยายามนำเอาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าแบบใหม่มาใช้งาน และที่เริ่มนำมาทดสอบให้บริการในตอนนี้เป็นรถบัสโดยสาร 2 ชั้นที่พวกเขาเรียกว่า "pantobus" ซึ่งเป็นรถบัสที่มีรูปร่างลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกับรถ trolleybus ที่ให้บริการอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารถ pantobus นี้มีแบตเตอรี่ในตัวจึงไม่ต้องอาศัยการติดตั้งสายไฟฟ้าเหนือเส้นทางเดินรถ ตัวมันจะรับพลังงานผ่านการชาร์จที่จุดชาร์จซึ่งปัจจุบันถูกติดตั้งไว้ที่โรงรถของ TfL ในการชาร์จไฟนั้น อุปกรณ์ของสถานีชาร์จจะมีแหนบจ่ายไฟที่ยืดลงมานาบกับแผงรับไฟที่ติดตั้งไว้บนหลังคาของ pantobus และใช้วิธีการชาร์จแบบไร้สายซึ่งตัวนำไฟฟ้าไม่ได้สัมผัสกันโดยตรง แต่อาศัยการเหนี่ยวนำคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการส่งพลังงาน

การชาร์จไฟรถ pantobus ในแต่ละครั้งอาจใช้เวลาแค่เพียง 10 นาที สามารถชาร์จไฟให้เพียงพอต่อการวิ่งเป็นระยะทางราว 30 กิโลเมตร ซึ่งก็อยู่ในวิสัยที่ TfL สามารถบริหารจัดการให้สอดคล้องกับตารางเวลาเดินรถได้

ระบบชาร์จไฟแบบ pantobus นันไม่เพียงถูกออกแบบมาให้ชาร์จไฟในเวลาสั้นๆ แต่ยังทำให้พนักงาน TfL ไม่ต้องลงจากรถมาเพื่อเสียบสายชาร์จไฟ (ซึ่งมีความหมายยิ่งขึ้นหากคำนึงถึงช่วงเวลาที่สภาพอากาศไม่ดีนัก) ซึ่งแม้เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่การลดความยุ่งยากและลดขั้นตอนการทำงานในจุดเล็กๆ เช่นนี้ก็มีผลส่งเสริมเรื่องลดการเสียเวลาในการให้บริการ โดย TfL ได้เริ่มนำรถแบบ pantobus นี้มาวิ่งให้บริการในเส้นทางเดินรถสาย 132 จำนวน 18 คัน ซึ่งตัวรถผลิตโดย BYD ในขณะที่อุปกรณ์จุดชาร์จนั้นพัฒนาโดย ABB

รถโดยสารแบบ pantobus ที่เริ่มให้บริการในเส้นทางเดินรถ 132

นอกเหนือจากรถแบบ pantobus ที่ว่ามาแล้ว TfL ยังเริ่มทดลองให้บริการรถบัสอีกหนึ่งแบบซึ่งเป็นแบบใหม่ล่าสุดที่พวกเขาเรียกว่าเป็นรถแบบ "trambus" ซึ่ง TfL ได้นำเอารถจาก Irizar ผู้ผลิตรถจากประเทศสเปนมาทดลองวิ่ง โดยรถแบบ trambus นี้เป็นรถบัสชั้นเดียวที่มีตัวรับการชาร์จไฟติดตั้งไว้บนหลังคารถเช่นเดียวกับ pantobus

สิ่งที่ trambus แตกต่างจาก pantobus นั้นก็คือตัวรถที่มีรุ่นที่ลักษณะคล้ายรถพ่วงซึ่งประกอบด้วยตู้โดยสารมากกว่า 1 ตู้ ซึ่งดูเผินๆ แล้วก็คล้ายคลึงกับรถราง (tram) จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกว่า "trambus" นั่นเอง โดย TfL จะเริ่มนำเอารถแบบ trambus มาวิ่งให้บริการในเส้นทางเดินรถสาย 358

No Descriptionระบบการชาร์จไฟของรถ trambus ที่จะมีแหนบจ่ายไฟของเสาชาร์จยืดลงมาชาร์จไฟแบบไร้สายให้กับตัวรถ (ที่มาภาพ: Irizar

เรียกได้ว่า TfL พยายามผลักดันการเปลี่ยนแปลงนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในแต่ละยุคสมัยมาใช้งานเพื่อให้บริการขนส่งมวลชนมาอย่างยาวนานและน่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีในหลายด้านแก่องค์กรภาครัฐในเรื่องการพยายามปรับปรุงระบบการให้บริการเพื่อประชาชน

ที่มา - Transport for London ผ่าน Interesting Engineering, MyLondon - 1, 2, Bromley Liberal Democrats

Get latest news from Blognone

Comments

By: tom789
Windows Phone
on 28 October 2022 - 12:56 #1266857

ดูดีมาก

By: Azymik on 28 October 2022 - 13:30 #1266862

รถบัสโดยสาย

รถบัสโดยสาร

By: Nozomi
ContributorWindows PhoneAndroidSymbian
on 28 October 2022 - 17:58 #1266914
Nozomi's picture

จริงๆ เนื้อหาข่าวไม่ได้มีอะไรมาก แต่เขียนบทความให้น่าสนใจได้ดีมากๆ ครับ

By: N Pack on 28 October 2022 - 20:34 #1266930
N Pack's picture

เดี๋ยวก็มีเรื่องเหมือนสายไฟฟ้าที่เมืองหลวงของไทย
ดูแล้วไม่สบายตา 😂