Tags:
Node Thumbnail

งานนักพัฒนาอย่าง Developer หรือ Software Engineer กำลังได้รับความนิยม เงินเดือนก็ค่อนข้างสูง แต่จบไม่ตรงสาย จะเปลี่ยนมาสายนี้ได้อย่างไร คำถามนี้น่ากลายเป็นหนึ่งคำถามยอดฮิตไปแล้วในปัจจุบัน

คุณลิ่ว วสันต์ ลิ่วลมไพศาล ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone และ CTO ของ MFEC บริษัทให้คำปรึกษา พัฒนาและวางระบบไอทีองค์กรชั้นนำของไทย ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่ได้จบมาทางสาย Computer Science แต่มีความสนใจจะพัฒนาทักษะด้านโปรแกรมมิ่ง ไปจนถึงหางานด้านนี้อย่างจริงจัง

No Description

คิดว่าคนที่จบไม่ตรงสายและอยากเป็น Dev ควรจะเริ่มต้นยังไงดี?

ลองเริ่มต้นเขียนโค้ดและรันโปรแกรมดูเลยว่าชอบไหมและเข้ากับเราไหม เช่น ทุกวันนี้มีแพลตฟอร์มฝึกเขียนโปรแกรมอย่าง CodeWars หรือ IDE ออนไลน์อย่าง CodePen เราสามารถลงมือทำเลยได้เพราะปัจจุบันการซื้อคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องเล็กลง คอมพิวเตอร์อยู่กับเราในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และราคาก็ไม่แพงเหมือนเมื่อก่อน

อีกอย่างหนึ่งคือการลองลงคอร์สเรียนระยะสั้นหรือคลิปวิดีโอ Tutorial ต่าง ๆ ใน YouTube ที่มีอยู่แล้วและฟรีค่อนข้างเยอะ หรือถ้าจะซื้อคอร์สเรียนที่ต้องเสียเงินก็หาได้ง่าย

ส่วนถ้าเราลองเรียนคอร์ส Basic Programming ซักคอร์สนึงไม่ยาวนัก ก็เป็นจุดเริ่มต้นอีกส่วนที่ดีและมีราคาไม่แพง ถ้ารู้สึกว่ายังไม่ใช่ ให้ลองถามตัวเองดูก่อนว่าเราอาจจะต้องการคอร์สที่มีคนช่วยแนะนำและสามารถถามตอบคำถามระหว่างทางหากเราติดปัญหา ซึ่งราคาอาจจะสูงหน่อยซักประมาณ 10,000-20,000 บาทหรือเรียน onsite ราว 50,000-100,000 บาท แต่การเรียนคอร์สแบบนี้ก็จำเป็นที่จะต้องคิดให้มากขึ้น

ก่อนฝึกโค้ดดิ้งหรือลงเรียนสักภาษา ควรทำความเข้าใจภาพรวมของการทำงานคอมพิวเตอร์ก่อนไหม เช่น ระบบ binary การคอมไพล์ต่างๆ เพื่อปูพื้นแบบ 0 ก่อนไป 1

อันนี้เป็นเรื่องที่เถียงกันยังไม่จบว่าเราควรให้คนเรียนแบบ top-down หรือ bottom-up กันดี มุมมองของคุณลิ่วคือไม่จำเป็นนัก เราสามารถสอนให้คนเข้าใจการควบคุมคอมพิวเตอร์ได้โดยคนควบคุมไม่ต้องเข้าใจคอมพิวเตอร์ไปทั้งหมดว่าภายในมันทำงานอย่างไร และความเข้าใจอย่างจำกัดก็สร้างมูลค่าได้แล้ว

No Description

เรื่องการคิด algorithm รู้สึกมันเหมือนการทำโจทย์เลขที่อาจต้องใช้ความคุ้นเคยและคลุกคลีกับมันบ่อยๆ ควรฝึกควบคู่ไปกับการเรียนภาษาโค้ดดิ้งแค่ไหน อย่างไร

ถ้าโจทย์แบบ algorithm เพียวๆ หลายคนอาจจะเรียกว่า leetcode ล้อไปกับชื่อเว็บฝึกเขียนโปรแกรมชื่อดังที่ใช้ฝึกสัมภาษณ์งานบริษัทใหญ่ๆ คุณลิ่วแนะนำว่า ถ้าเป็นคนทำงานเขียนโปรแกรมอยู่แล้วก็ควรฝึกพวกนี้เป็นช่วง ๆ เพราะหลายครั้ง การฝึกพวกนี้ต้องคลุกคลี การฝึกเป็นช่วง ๆ จะทำให้เราเจอปัญหาใหม่ ๆ แล้วนึกออกว่าถ้าจะแปลงปัญหาให้กลายเป็นคำสั่งที่คอมพิวเตอร์เข้าใจจะแปลงอย่างไร

อย่างไรก็ตาม คุณลิ่วบอกว่าไม่น่าจะต้องกังวลกับการออปติไมซ์ หรือต้องเขียนโปรแกรมให้ทำงานเร็วที่สุด งานส่วนมากไม่ต้องการความรู้ algorithm ขนาดนั้น ขนาดข้อมูลที่เจอ ถ้าไม่ใช่องค์กรขนาดใหญ่จริงๆ เช่น ธนาคาร เราอาจจะไม่ได้เจอปัญหาระดับที่ต้องออปติไมซ์มาก แม้จะเขียนไม่ดีไปบ้างแต่ก็พอชดเชยด้วยการขยายขนาดเซิร์ฟเวอร์ไปได้ แต่แน่นอนว่าคนที่ทำได้ดีก็ได้เปรียบในงานที่ยากขึ้นไปมากกว่า ถ้าฝึกข้อยากๆ ได้ก็ฝึก แต่คุณลิ่วมองว่าทำข้อระดับที่ไม่ยากมากแต่ฝึกเพื่อให้ใช้ภาษาได้อย่างคล่องแคล่ว เข้าใจข้อจำกัดและฟีเจอร์ของภาษาได้ดีก็เพียงพอกับการทำงานส่วนมาก

อีกจุดหนึ่งคือแพลตฟอร์มฝึกเขียนโปรแกรมอย่าง LeetCode หรือ ​CodeWar นั้นเมื่อเราทำโจทย์เสร็จแล้ว ตัวแพลตฟอร์มจะมีเฉลยที่เขียนมาเป็นอย่างดีให้อ่าน ทำให้ได้เรียนรู้โค้ดจากคนอื่น เราอาจจะไม่เคยรู้ว่าภาษาที่เราใช้มีฟังก์ชั่นในตัวที่ไม่ต้องเขียนเอง หรือเทคนิคการเขียนบางอย่างที่ไม่ใช่แค่โค้ดเร็วขึ้น แต่อาจจะทำให้โค้ดสวยขึ้น อ่านง่ายขึ้นอีกด้วย

No Description

กระบวนการเรียนรู้ควรเป็นยังไง? หรือจะเลือกคอร์สเรียนยังไงดี?

เลือกวิธีเรียนให้เหมาะกับรูปแบบที่ตัวเองชอบ บางคนชอบฟัง Lecture หรือดูคนสอนทางวิดีโอ บางคนชอบอ่านเองจะได้ปรับระดับความเร็ว-ช้าในการเรียนได้ แต่การอ่านหนังสือก็จะมีข้อจำกัดเพราะอาจข้ามขั้นตอนไปบ้างทำให้ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ ส่วนการดูวิดีโอเราจะเห็นทุกขั้นตอนในการทำอยู่แล้ว

ส่วนเวลาที่เรามีคำถามและค้นหาใน Google โดยเฉพาะใน Stack Overflow ต้องระวังปัญหาอย่างนึงคือการสนใจแค่การหาคำตอบและ Copy & Paste คำสั่งมา แต่กลับไม่สามารถทำความเข้าใจว่าคำตอบที่คนมาตอบเขาเสนอแนวทางมาให้นั้นเขากำลังทำอะไร ทำให้หลายคนมองการเขียนโปรแกรมกลายเป็นการลองหาเฉลยมาลองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ผลที่ต้องการ แต่กลับมองข้ามข้อสำคัญคือการ Copy & Paste คำตอบนั้นเราต้องการเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนที่เคยเจอปัญหาเดียวกับเราว่าเขาแก้ปัญหาอย่างไรหากเราเข้าใจเราก็จะปรับเปลี่ยนได้เวลาที่เราเจอปัญหาใหม่ ๆ หรือได้โจทย์ใหม่ ๆ ซึ่งการประยุกต์ใช้เป็นเรื่องสำคัญเพราะงานโปรแกรมมิ่งถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์

การค้นหาคำตอบโดยไม่พยายามเข้าใจคอนเซปต์ว่าแต่ละอันมีที่มาที่ไปยังไงเชื่อมโยงไปถึงการศึกษาไทยที่เน้นการให้คำตอบมากกว่ากระบวนการคิดด้วย

เลือกเรียนภาษาโปรแกรมมิ่งจากอะไร?

ภาษาที่เลือกเรียนจะเป็นตัวกำหนดว่าจะเจองานประเภทไหน เพราะฉะนั้นคนที่สนใจควรศึกษางานที่ต้องการทำก่อน แต่แนะนำว่าในช่วงแรก ควรเลือกเรียนแค่ภาษาใดภาษาหนึ่งก่อน

ภาษายุคใหม่ส่วนมากจะเป็น JavaScript และ TypeScript เพราะเป็นภาษาที่มีคนใช้เยอะและมักใช้กับการทำงานเป็น Full Stack Developer แต่งานจำนวนมากในโลกความเป็นจริงก็ยังใช้ภาษา PHP กันเยอะมากทั้งงานเว็บและอีคอมเมิร์ชทั้งหลาย ถ้าทำงานในระดับองค์กรก็ใช้ Java ส่วนด้าน Data หรือ AI นั้นก็แทบจะจำเป็นต้องเรียนภาษา Python ยืนพื้นไว้

ข่าวดีก็คือในตลาดแรงงานยังขาด Developer ในทุก ๆ ภาษาอยู่ และภาษาโปรแกรมมิ่งต่าง ๆ ก็มักมีแนวคิดที่หยิบยืมกันไปมาได้ การเรียนภาษาใหม่หลังจากคล่องภาษาแรกแล้วจึงง่ายขึ้นพอสมควร

หลังจากภาษาได้แล้ว เข้าใจ syntax แก้ปัญหาต่าง ๆ แล้ว ควรเรียนรู้อะไรต่อ เช่น เฟรมเวิร์ค ทูลส์ต่างๆ

โดยทั่วไปแล้วการทำงานมักจะไม่สามารถหยุดที่การเขียนโปรแกรมภาษาใดภาษาหนึ่ง ยกตัวอย่าง ถ้าคนอยากทำงาน Full Stack Developer เราอาจจะเขียน TypeScript ได้คล่องพอสมควรก็ต้องไปเรียน SQL ต่อ สำหรับเฟรมเวิร์คต่าง ๆ ถ้าตอนนี้เองที่ครองตลาดอยู่ก็คงเป็น React หรือ Vue ก็สามารถเลือกฝึกได้

สำหรับคนทำเว็บไซต์ เครื่องมือหนึ่งที่ควรฝึกให้คล่อง ๆ คือ Inspector Tools ในเบราว์เซอร์เราเอง เพื่อให้เราตอบคำถามได้ว่าเบราว์เซอร์เราส่งข้อมูลอะไรไปกลับเซิร์ฟเวอร์บ้าง

เครื่องมือที่ควรเรียนค่อนข้างแน่นอนทุกวันนี้ เช่น Git หรือ Docker/Docker-Compose ก็เป็นสิ่งที่ Developer หนีกันไม่พ้น

Soft Skills อะไรบ้างที่เป็นประโยชน์และคนจบไม่ตรงสายสามารถพัฒนาได้?

ทักษะที่เป็นประโยชน์กับการเป็น Developer อย่างแรกคือการทำงานด้วยความแม่นยำและความชัดเจน เพราะการทำงานกับคอมพิวเตอร์เป็นการทำงานกับอุปกรณ์ที่ทำงานแบบตายตัว การสื่อสารกับคอมพิวเตอร์เลยไม่เหมือนกับการสื่อสารกับคนปกติที่ไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น เวลามีปัญหาเราต้องอธิบายปัญหาในรูปแบบที่ชัดเจนที่สุด ไม่ใช่แค่บอกว่ารันโค้ดแล้วคอมพิวเตอร์ไม่ทำงาน ถ้าเราขอความช่วยเหลือในอินเทอร์เน็ต เราจำเป็นต้องบอก error code ตรง ๆ ต้องบอกขั้นตอนการทำงานว่าทำอย่างไรจึงเกิด error นั้น เราไม่สามารถสื่อสารได้ว่า มันทำไม่ได้ หรือบอกว่าเราเจอ error โดยไม่บอกว่า error อะไร

การฝึกสังเกตและความละเอียดก็เป็น Soft Skills อีกอย่างหนึ่ง อย่างถ้าเกิด error ขึ้น เราต้องดูสิ่งที่โชว์บนหน้าจอให้ละเอียดจะได้รายงานปัญหาได้ถูก และต้องรู้วิธีสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ รู้ว่าเวลามีปัญหาแล้วเราต้องจัดการยังไง

No Description

คนที่จบไม่ตรงสายจะเตรียมความพร้อมยังไงให้เป็น Candidate ที่น่าสนใจพอ ๆ กับคนที่จบตรงสาย?

ถ้านับงานเฉพาะด้านแล้ว คนจบตรงสายไม่ได้ได้เปรียบขนาดนั้นเพราะเทคโนโลยีที่ใช้งานมักต้องการความเชี่ยวชาญกับเทคโนโลยีบางตัว เช่น React, NodeJS ที่ได้รับความนิยมทุกวันนี้ หรืองานจำนวนมากต้องการผู้ที่ปรับแต่ง Wordpress ได้คล่อง ๆ ซึ่งไม่ใช้ความรู้ที่เรียนในมหาวิทยาลัยนัก แม้แต่มหาวิทยาลัยเองก็เริ่มปรับหลักสูตรมากขึ้น ช่วงหลังเราเริ่มเห็นวิชาที่สอนเนื้อหาตรงเพื่อใช้ในการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่น บางที่ก็มีวิชาที่สามารถนำไปใช้ทำงานเป็น Full Stack Developer ที่กำลังได้รับความนิยม โดยรวมก็เป็นคำถามว่าการออกแบบหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัยควรจะมีวิชาพื้นฐานเยอะ ๆ หรือจะเน้นไปที่ทักษะที่ได้ใช้ในการทำงานโดยตรง

ส่วนคนจบไม่ตรงสายแล้วมาเรียนเปลี่ยนสายงานสามารถเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่ตรงกับการทำงานจริงๆ อาจจะสามารถเรียนจบภายใน 3 เดือนก็ได้

ทั้งนี้ เมื่อเจองานที่ลึกมากขึ้น ตรงนี้คนจบตรงสายจะได้เปรียบมากกว่า เช่น ถ้าโจทย์คือการสร้างเว็บไซต์ที่รองรับผู้ใช้จำนวนมาก ๆ คนจบตรงสายจะรู้วิธีสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ได้มากกว่าเพราะรู้เรื่องการทำงานและเครือข่ายของคอมพิวเตอร์ ไม่ได้รู้แค่งานเฉพาะด้าน เช่น การเขียนโปรแกรม อย่าง Front End หรือ Back End เท่านั้น แต่สามารถทำความเข้าใจว่าคอขวดของการทำงานคืออะไร หรืออย่างประเด็นความปลอดภัยทางไซเบอร์ คนที่เข้าใจพื้นฐานของโปรโตคอลต่าง ๆ ก็จะเห็นภาพได้ง่ายกว่าว่าคนร้ายโจมตีอย่างไร จุดใด หรือเข้าใจระบบป้องกันต่าง ๆ เช่น ไฟร์วอลล์นั้นทำงานอย่างไร จนสามารถออกแบบหรือพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ทำงานร่วมกับระบบเหล่านั้นได้ดีขึ้น

คนที่จบไม่ตรงสายเมื่อต้องการทำงานที่ลึกขึ้นอาจจะต้องกลับไปเรียนความรู้พื้นฐานไปด้วยขณะที่ทำงาน ซึ่งอาจจะใช้เวลามากหน่อย ไม่ใช่เหมือนตอนเรียนเขียนโปรแกรมที่จบ 3 เดือนแล้วทำงานได้เลย

No Description

ปัญหาที่คนไม่ได้จบตรงสายอาจจะเจอมีอะไรบ้าง และจะแก้ได้ยังไง?

อย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าการเรียนคอร์สเฉพาะทางเพื่อเขียนโปรแกรมทำให้สามารถเริ่มทำงานได้เลยก็จริง แต่มักมีปัญหาจากการขาดความรู้พื้นฐานบางอย่าง ทำให้มีข้อจำกัดในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการที่เราจะไม่รู้ว่าปัญหานั้น ๆ เกิดขึ้นมาจากส่วนไหน บางครั้งอาจจะอธิบายปัญหาด้วยคำเรียกเฉพาะทางไม่ถูก เช่น ทำเว็บได้แต่ไม่ได้เข้าใจว่า HTTP Request หน้าตาเป็นอย่างไร เห็น error แล้วแต่บอกไม่ได้ว่า error มันเกิดจากตรงไหน

วิธีแก้ปัญหาคือต้องไปหาความรู้พื้นฐานมากขึ้นระหว่างทำงานไปด้วย ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหลายแห่งก็มีโครงการเปิดให้คนทำงานลงเรียนบางวิชากันได้แล้ว

เป็นไปได้ไหมที่คนจบไม่ตรงสายจะเก่งเท่าหรือเก่งกว่าคนที่จบตรงสาย?

เป็นไปได้ เพราะถ้าเราทำงานกับเรื่องเฉพาะทางที่เราทำอยู่ตลอด เราก็จะทำงานได้คล่องกว่าและดีกว่า ยกตัวอย่างคนเรียนตรงสายอาจจะได้ใช้ React อยู่เทอมเดียว แต่คนจบไม่ตรงสายอาจจะเรียนทำเว็บอย่างเดียว 3 เดือนเต็ม เจอ error ทุกรูปแบบ ทำให้แก้ปัญหามาทุกรูปแบบก็ทำให้จัดการกับงานได้คล่องกว่า

มองว่าอนาคตของสาย Developer จะเป็นอย่างไรบ้าง

คำว่า Developer จะถูกใช้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ เพราะปัจจุบันก็มีคนจบไม่ตรงสายที่เรียนเขียนโปรแกรมมากขึ้นและจะมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งในอนาคตน่าจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้การเขียนโค้ดเป็นเรื่องง่ายขึ้น อย่างตอนนี้ที่มีการเอา AI มาช่วยเขียนโค้ด ทำให้คนเข้าถึงการสายงาน Developer ได้มากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ตำแหน่งงานในสายอื่นอาจจะควบตำแหน่ง Developer มากขึ้นเรื่อย ๆ ในบางระดับ อย่างทุกวันนี้เองเราเห็นการใช้งาน Excel กับซับซ้อนมากในโลกธุรกิจ ซึ่งคนพัฒนาไฟล์ Excel เหล่านั้นก็มักไม่ใช่คนจบคอมพิวเตอร์โดยตรงเหมือนกัน รูปแบบเดียวกันนี้ในอนาคตคนทำงานที่เชี่ยวชาญหน้าที่เฉพาะอื่น ๆ ก็น่าจะมีเครื่องมือที่ทำให้ทำงานเหมือนเป็นคนพัฒนาซอฟต์แวร์ไปในตัว คนทำงานตำแหน่งต่าง ๆ จะควบคุมการทำงานของคอมพิวเตอร์ในรูปแบบที่ซับซ้อนขึ้น จนหลายครั้งก็กลายเป็นซอฟต์แวร์เต็มตัวใช้งานกันในองค์กร

ในช่วงนี้ก็เริ่มมีกระแส No Code/ Low Code เข้ามาด้วยที่ทำให้เราสามารถเขียนโค้ดจำนวนน้อย ๆ แบบเดียวกับการใช้ Excel แต่สร้างซอฟต์แวร์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น โดยที่ตำแหน่งของเขาอาจจะไม่ใช่ Developer โดยตรง

สำหรับ Developer แบบเต็มเวลาจริง ๆ ก็จะเจอกับความเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น เราอาจจะต้องเตรียมตัวว่าภาษาหรือเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมสูงอยู่ช่วงหนึ่งอาจจะเปลี่ยนไปภายในเวลาไม่กี่ปี แล้วเราก็ต้องเรียน stack ใหม่อีกครั้ง แต่ความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ก็อาจจะไม่จริงกับทุกคนนัก ทุกวันนี้บริการจำนวนมากที่เราใช้งานกันก็ยังเป็นเทคโนโลยีเดิม ๆ ที่ใช้มาแล้วหลายสิบปี PHP ยังมีการใช้งานสูงมาก หรือฐานข้อมูลที่หลายคนอาจจะตื่นเต้นกับ NoSQL กันพักใหญ่แต่ความรู้ SQL ก็ยังใช้งานกันจนทุกวันนี้ และอาจจะได้ใช้มากขึ้นเรื่อยๆ อยู่ดี

คำแนะนำในการหางาน โปรโมทตัวเองลง Resume เช่น อัพผลโหลดงานลง Github ฯลฯ

สำหรับคนที่ยังไม่เคยทำงานเลยคิดว่าควรเขียนให้ชัดว่าถนัดเทคโนโลยีตัวใด การอัพโหลดผลงานลง GitHub สามารถทำได้เลยและถ้าคิดว่าเป็นโปรเจคที่ใหญ่พอก็อาจจะใส่ไว้ใน Resume ได้ด้วย แต่ควรระวังว่าเราเข้าใจโปรเจคครบถ้วนดีไหม ถ้าใส่โปรเจคลงไปแต่คนสัมภาษณ์ขอเปิดโค้ดมาถาม หรือขอให้ไล่กระบวนการทำงานแล้วตอบไม่ได้ก็จะดูไม่ดี ตอนเรียนเราอาจจะแบ่งกลุ่มหรือแบ่งงานกันทำ แต่หลังจากเสร็จแล้วก็ควรรู้ว่าเราจำเป็นต้องเข้าใจทั้งโปรเจคโดยเฉพาะโปรเจคที่ขนาดไม่ได้ใหญ่มากในวิชาเรียน เราอาจจะต้องลองเปิดโค้ดเพื่อนมานั่งดูให้เข้าใจว่าทำงานอย่างไรและให้เพื่อนอธิบายกันในกลุ่มให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าทำอะไรไปบ้าง

เรื่องหนึ่งคือแพลตฟอร์มฝึกเขียนโปรแกรมอย่าง CodeWar หรืองานแข่งเขียนโปรแกรมอย่าง Google CodeJam ตลอดจนเว็บสอนเขียนโปรแกรม นั้นมักมี profile ของผู้ใช้เหมือนกัน เราสามารถใส่ข้อมูลพวกนี้เข้าไปเพื่อให้คนอ่านเห็นว่าเราเรียนอะไรมาแล้วบ้าง รูปแบบก็คล้ายๆ การแนบใบรับรองที่ได้จากการอบรม แต่คนอ่านจะเข้าไปดูโค้ดที่เราเคยเขียน หรือระดับคะแนนได้เลย

ใครที่มีประสบการณ์ด้านนี้หรือเป็น Developer / Engineer มานานแล้วมีคำแนะนำให้กับคนนอกสายที่สนใจ สามารถคอมเมนท์ไว้ได้เลยครับ

ส่วนใครที่สนใจหางานประจำด้านโปรแกรมมิ่งและด้านเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้ามาดูงานได้เลยที่ Blognone Jobs

Get latest news from Blognone

Comments

By: N Pack on 23 November 2022 - 18:48 #1270008
N Pack's picture

ลุงคนนี้ใช่คุณ mk หรือ lew ครับ

By: hisoft
ContributorWindows PhoneWindows
on 24 November 2022 - 13:45 #1270060 Reply to:1270008
hisoft's picture

ตามหัวข่าวเลยครับ

By: osmiumwo1f
ContributorWindows PhoneWindows
on 24 November 2022 - 15:30 #1270066 Reply to:1270008
osmiumwo1f's picture

ลุงคนนี้ใช่คุณ mk หรือ lew ครับ

อุ้ย

By: iannnnn
WriterAndroid
on 23 November 2022 - 23:00 #1270022
iannnnn's picture

ตัวจริงหล่อมาก!


@iannnnn

By: nismod
TraineeWriteriPhoneAndroid
on 24 November 2022 - 10:26 #1270039 Reply to:1270022
nismod's picture

เซเลปทวิตให้เกียรติมาเม้น

By: pawinpawin
Writer
on 24 November 2022 - 13:56 #1270062 Reply to:1270022

หล่อฝุดๆ

By: acitmaster
AndroidUbuntuWindowsIn Love
on 24 November 2022 - 15:05 #1270064 Reply to:1270022
acitmaster's picture

ถึงกับต้องคารวะ

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 25 November 2022 - 08:41 #1270131 Reply to:1270022
btoy's picture

ยังไม่เคยเจอตัวจริง แต่ดูรูปแล้ว ระดับนายแบบ เอิ๊กๆ


..: เรื่อยไป

By: sukjai
iPhoneAndroidRed HatUbuntu
on 24 November 2022 - 08:16 #1270030

ผมเริ่มทำงานเพราะเขียน delphi7 เป็นและต่อมาก็เขียน vb6,foxpro,visual foxpro เพราะเพื่อนดึงไปทำงานด้วย ในช่วงนั้นเลยเปิดเว็บหางานดูว่าตอนนี้เขานิยมใช้อะไรแล้วได้มาเจอ java เพราะตอบโจทย์ว่าทำเสร็จแล้วเอาไปรันบน linux ได้(ตัวเองชอบ linux อยู่แล้ว) ตอนนั้นเวียนหัวกับ oop มาก แต่ก็กัดฟันศึกษาและลองผิดลองถูกเพราะความยากรู้ว่าทำไมเขาชอบใช้กันจัง มันต้องมีดีนอกจากทำงานได้หลายแพลตฟอร์มซิ สุดท้ายที่บริษัทโยนงานให้ศึกษาโปรเจคเดิมที่เขียนด้วย java ได้ลงทำจริงจังจึงเริ่มเข้าใจมากขึ้น สุดท้ายลาออกไปทำงานที่อื่นกับ java โดยตรงจนถึงปัจจุบัน และหลังจากนั้นภาษาอื่นๆ ก็ศึกษาง่ายขึ้นเยอะหลังจากเข้าใจ java แล้ว

By: Peberm on 24 November 2022 - 12:27 #1270049

เป็นแรงบันดาลใจให้ได้มากเลยครับ จากคนที่กำลังจะลองเปลี่ยนสาย

By: suriyan2538 on 24 November 2022 - 12:29 #1270050
suriyan2538's picture

พออ่านถึงใจความที่ว่า คนที่ไม่ได้จบสายตรง มักจะมีปัญหากับอะไรที่ลึกๆ ผมเห็นภาพตัวเองเลย 55

ทุกวันนี้ทำเว็บเล็กๆ ทำไม่ยาก อย่างเช่นเว็บสำหรับลงบทความ

แต่ถ้าลองไปจับเว็บที่ซับซ้อนขึ้น ปัญหาก็จะตามมา เช่นเว็บที่มีมากกว่าคอมเม้นต์และโพสต์

หรือเวลาที่เว็บขึ้น error ก็มักจะต้องค้นหาข้อมูลในเน็ตเพื่อแก้ปัญหา บางครั้งเจอ บางครั้งไม่ หลายครั้งต้องมานั่งไล่ปิดส่วนเสริม (กรณีที่ใช้ CMS) บางตัวก็งงๆ ว่าเปิดใช้ตัวนี้แล้วทำไมเกิดปัญหา ถ้าคนเก่งๆ หรือเรียนสายตรงมา ก็คงแก้ปัญหาที่ต้นตอเลย

แต่ถ้าเป็นมือสมัครเล่นอย่างผม คงถอดส่วนเสริมตัวที่เป็นปัญหาออก แล้วไปหาตัวใหม่ที่ใช้งานได้ใกล้เคียงกันมาใช้แทน 555

By: 0FFiiz
Windows PhoneAndroidWindows
on 24 November 2022 - 13:20 #1270057
0FFiiz's picture

เรื่องพื้นฐาน เอาจริง ๆ จบตรงสายก็ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหาหรอกครับ
ส่วนใหญ่ได้มาจากตอนทำงานทั้งนั้น

งาน software developer พร้อมต้อนรับเสมอ
ไม่ว่าจะตรงสาย ไม่ตรงสาย ไม่มีดราม่าแย่งงานแน่นอน
ปัญหาตอนนี้มีแต่งานเยอะ ขาดคนทำ 55555

By: forl on 25 November 2022 - 18:06 #1270199 Reply to:1270057

จริงนะ ตอนนี้คือมีแต่ "ขอให้มีคนมาช่วยทำทีเถ๊อะ"

By: Architec
ContributorWindows PhoneAndroidWindows
on 24 November 2022 - 17:02 #1270088

คำว่า "ไม่ตรงสาย" เป็นเรื่องเล็กในวงการคอม แต่ในวงการครูเถียงสามวันยังไม่จบครับ

By: xxa
Android
on 24 November 2022 - 17:36 #1270098

ไม่ตรงสายแต่มี skill ไม่เป็นปัญหา แล้วถ้าอายุเยอะ เป็นปัญหาในการหางานสายนี้ในไทยไหมครับ สมมุติ อายุ 35 ปี

By: whitebigbird
Contributor
on 24 November 2022 - 21:21 #1270107 Reply to:1270098
whitebigbird's picture

งงคำถามครับ หมายถึงจะเปลี่ยนสายงานมาทำสายนี้ตอนอายุ 35 เหรอ

ถ้าใช่ คนคัดกรองอาจไม่อยากได้ ถ้าได้คุยกับ senior dev ตอนสัมภาษณ์หรือตอนทำแบบทดสอบก็จะเป็นอีกเรื่องครับ เพราะอายุระดับนี้ต้องเป็น senior แล้ว ถ้าเป็น junior คนคัดกรองจะมองว่า team fitting ยากครับ

By: xxa
Android
on 24 November 2022 - 23:34 #1270117 Reply to:1270107

เข้าใจถูกแล้ว ขอบคุณคับ

By: whitebigbird
Contributor
on 25 November 2022 - 09:27 #1270143 Reply to:1270117
whitebigbird's picture

ขยันทำพอร์ทครับ ถ้าได้คุยกับสายเทคนิคตอนสัมภาษณ์ก็จะได้งานตามความสามารถ ไม่ค่อยสนเรื่องอายุครับ

By: btoy
ContributorAndroidWindows
on 25 November 2022 - 08:46 #1270134 Reply to:1270098
btoy's picture

ผมว่าถ้าอายุเยอะแล้วแต่อยากทำจริงๆ มีสองทางเลือกคือ

  1. ทำอิสระ เริ่มจากรับงานเล็กๆ แบบเล็กจริงๆ จิปาถะ ค่อยๆขยายฐานลูกค้าไปเรื่อยๆ
  2. งานซัพพอร์ตแบบคุยกับระบบอยู่หลังบ้านเลย น่าจะยังเป็นอีกจุดที่เหมาะ เพราะ Dev ที่พัฒนาโปรเจคส่วนใหญ่ ไม่ค่อยอยากนั่งซัพพอร์ตกันเฉยๆนะผมว่า มีแต่อยากทำโปรเจคใหม่ต่อไปเรื่อยๆ

..: เรื่อยไป

By: lew
FounderJusci's WriterMEconomicsAndroid
on 25 November 2022 - 23:53 #1270223 Reply to:1270134
lew's picture

ข้อ 1 นี่จริง รับ parttime รับจ็อบนอก 1-2 งาน แล้วเอาเป็น resume ว่าทำได้จริง โอกาสจะเพิ่มขึ้นมาก


lewcpe.com, @wasonliw

By: Choblizz
iPhone
on 26 November 2022 - 12:47 #1270252

สำหรับคนที่อยู่คนละสายงานกันเลย เช่น ทำงานสายบัญชี สายสุขภาพ แต่มีความสนใจ อยากเรียนรู้

สามารถที่จะทำได้ไหมครับ (ไปเรียนแบบ ป.ตรี ป.โท ไม่ได้ เรียนได้จากออนไลน์,คอร์สสั้นๆ)

และในการสมัครงานในอนาคต ถ้าเรามีงานที่เคยทำเป็นพอร์ต แต่ไม่มีวุฒิสายตรง มีโอกาสได้เข้าทำงานในบริษัทมั้ยครับ

By: whitebigbird
Contributor
on 26 November 2022 - 19:38 #1270278 Reply to:1270252
whitebigbird's picture

บ.ผมมีมาจากโยธา จากคนไม่ได้เรียนครับ ถ้าลอจิคได้ พื้นฐานได้เชื่อว่าหลายบ.จะยอมรับครับ ยิ่งถ้ามีพอร์ทจะทำให้สัมภาษณ์ง่ายขึ้น ยิ่งถ้าอธิบายผลงาน และแนวคิดที่ใช้กับพอร์ทได้ จะยิ่งง่ายต่อการพิจารณา

By: l2aelba
iPhoneAndroid
on 29 November 2022 - 19:07 #1270603
l2aelba's picture

ฝึกเรียนและใช้ภาษาอังกฤษด้วย ผมว่าสำคัญเหมือนกัน

By: dheerapat on 21 January 2023 - 20:25 #1275327

สิ่งสำคัญที่สุดผมว่ามันคือ real world project ครับ ต้องลองหาโปรเจคที่ตัวเองสนใจจริงๆ ไม่ยากไม่ง่ายไป แล้วสร้างมันตั้งแต่ต้น โดยไม่ต้องดู tutorial เราจะได้ลองคิดเอง เปิด doc เอง เชื่อมโยงเอง จบแล้วได้เก็บเป็นพอร์ทไว้ด้วย ทำสักสองสามโปรเจ็ครับรองว่าเก่งกว่าดู tutorial ล้วนๆเป็นเดือน