Adobe เปลี่ยนแปลงนโยบายการวิเคราะห์เนื้อหาใหม่โดยจะนำข้อมูลของผู้ใช้ที่เก็บไว้ในบริการ Creative Cloud ทั้งในรูปแบบภาพ เสียง วิดีโอ ตัวอักษรและเอกสารมาใช้ในการเทรนอัลกอริธึมเพื่อปรับปรุงบริการและผลิตภัณฑ์ของบริษัทโดยอัติโนมัติหากผู้ใช้ไม่กด opt-out ออก ส่วนข้อมูลที่อยู่บนอุปกรณ์ของผู้ใช้ไม่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมด้วย
นโยบายนี้ได้รับการอัปเดตในช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ทางฝั่ง Adobe เผยว่าบริษัทให้ผู้ใช้มีสิทธิ์ในการตัดสินใจอยู่แล้วเพราะหากไม่ต้องการให้ทาง Adobe นำข้อมูลไปใช้ก็สามารถกด opt-out ได้ นอกจากนี้ Adobe ไม่ได้นำข้อมูลผู้ใช้ไปเทรน Generative AI ด้วย
ปัจจุบัน Adobe ยังไม่มีบริการสร้างภาพจากข้อความด้วย AI มีเพียง Adobe Stock ที่เป็นแหล่งซื้อขายภาพที่อนุญาตให้มีการซื้อขายภาพที่สร้างจาก AI เท่านั้น
ประเด็นการนำภาพที่เป็นผลงานของมนุษย์จริง ๆ ไปใช้เทรน AI ทำให้ให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ผู้สร้างผลงานเพราะเท่ากับว่าผู้ใช้ DALL-E, Midjourney หรือ Stable Diffusion ก็สามารถสร้างงานโดยลอกเลียนจากผลงานของศิลปินที่เป็นมนุษย์โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของ แม้แต่แพลตฟอร์มซื้อขายภาพยังเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนี้ โดย Getty Imsges ไม่อนุญาตให้มีการซื้อขายภาพจาก AI ขณะที่ Shutterstock ยอมรับจนถึงขั้นร่วมมือกับ OpenAI
ที่มา - The Register
Okay, we know... We made fun of Adobe when its cloud service went down. We've made fun of Corel Painter and Clip Studio. We joined in the protest No AI Generated Images protest. We made our stance on NFT's clear. But this is beyond making fun of. This is EW! EW! EW! pic.twitter.com/40wBWYci7V
— @Krita@mastodon.art (@Krita_Painting) January 4, 2023
Comments
ปัจจุบัน AI สร้างงานโดยลอกเลียนจากผลงานของศิลปินที่เป็นมนุษย์โดยไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของอยู่แล้วครับ
นี่แค่หาความชอบธรรมให้ดูถูกต้องมาขึ้น แค่นั้นเอง
ดีแล้ว จะได้หันไปใช้คลิปสตูเต็มที่ซะที่ แคนเซิลอโดบี้ไปซะ
แหม่ ท่าจะกลัว AI มาก
ถ้าใช้ logic เพี้ยนๆแบบนี้ ทุกคนก็ถือว่าลอกเลียนกันหมด เพราะมนุษย์เราก็รับข้อมูลจากผลงานคนก่อนๆเป็นข้อมูลในการทำผลงานของตัวเองอยู่ดี
คุณสร้างผลงานขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยไม่ได้ดู หรือไม่ได้รับแรงบันดาลใจ จากผลงานเก่าที่มีอยู่ในโลกนี้ได้เลยเหรอ?
ที่ผ่านมาคุณขออนุญาตดูรูปจากเจ้าของผลงานต่างๆหรือไม่? (อย่าบอกว่าดูเฉยๆไม่เอาไปใช้นะ)
ที่มันต่างกันก็คือมนุษย์ต้องใช้เวลาและประสบการณ์นานมาก ในการทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ และข้อจำกัดคือไม่สามารถเสพข้อมูลได้มากเท่า AI ไม่สามารถเรียนรู้จากข้อมูลขนาดใหญ่ได้เร็วเท่า AI และไม่สามารถผลิตผลงานได้เร็วเท่า IA บลาๆๆ
แต่ถ้าคิดแค่เรื่อง process เพียวๆ AI มันต่างกับคนทั่วไปยังไง ช่วยอธิบายที
อ่าน ๆ ละเริ่มงงแล้วว่าใครตรรกะเพี้ยน 555
AI มันลอกแบบมาจากผลงานของคน (pattern matching) มันก็ถูกแล้วไม่ใช่เหรอ เขาพูดถึงคนไปลอกแบบตอนไหนอะ คนจะลอกแบบมันก็เรื่องของคนสิ นี่เขากำลังพูดถึงปัญหาของผู้พัฒนา AI ที่ใช้ข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของ ไม่ได้เกี่ยวกับคนเล้ย
ก็ถ้าอาร์ติสเค้าบอกว่า เค้าโอเคที่จะให้คนมาเรียนงานเค้า (ตราบใดที่ไม่ทำงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์เค้า) แต่เค้าไม่โอเคที่จะให้เอไอมาเรียนงานเค้า (เพราะการก๊อปปี้ไฟล์ให้เอไอโหลดเข้าไปก็เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว) แบบนี้ถือว่าต่างกันหรือยังครับ?
เพราะว่าเรื่องลิขสิทธิ์มันเป็นเรื่องที่เจ้าของเค้าเป็นคนอนุญาต/ไม่อนุญาตให้ทำอะไรกับงานของเขาน่ะครับ
การคุ้มครองของลิขสิทธิ์เองก็มีขอบเขตครับ ไม่ใช่ว่าจะสั่งห้ามอะไรก็ได้ซะทีเดียว และน่าเสียดายที่ลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มครอง "ไอเดีย" ครับ
นั่นก็คือต่อให้เจ้าของไม่ต้องการ แต่คนอื่นก็สามารถลอกไอเดีย (หรือที่เรียกว่าแรงบันดาลใจ) และไปสร้างสรรค์ผลงานต่อได้ โดยลิขสิทธิ์ไม่สามารถคุ้มครองได้ครับ (และเอาจริงๆมันห้ามกันไม่ได้ด้วย)
แต่กรณีของ AI นั้นต่างกัน แม้จะมี AI ที่เก่งถึงขั้นสามารถสร้างสรรค์ผลงานจากไอเดียได้ การสร้างไอเดีย (หรือโมเดล) ของ AI นั้นจำเป็นต้องใช้ผลงานต้นฉบับ และนั่นเข้าใจว่าอยู่ในความคุ้มครองของลิขสิทธิ์ครับ หรือก็คือการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ได้เกิดขึ้นในขั้นตอนการสร้างผลงานใหม่ แต่เกิดขึ้นในขั้นตอนการสร้างโมเดลครับ
ซึ่งถ้าให้ว่ากันตามตรง ในแง่กระบวนการแล้ว จะคนหรือ AI ก็ไม่ต่างกันเลย เพราะคนเองก็ใช้ผลงานต้นฉบับไปสร้างไอเดียเหมือนกัน แต่ความต่างสำคัญก็คือคนห้ามไม่ได้ แต่ AI ห้ามได้นั่นแหละครับ
แล้วก็... ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่ากฎหมายจะเป็นยังไง ผมมองว่าการเคารพต่อเจตนาของผู้สร้างก็เป็นสิ่งสำคัญครับ
+1
ลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มครองทุกอย่าง และท้ายที่สุดแล้วเจ้าของก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่างานที่ตนฟ้องร้องนั้นได้ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นจริง สำหรับกรณีของ AI ก็ไม่ต่างกันเลย แต่ด้วยความที่มันใหม่ และ AI มันก็แค่เครื่องมือประเภทหนึ่ง กระบวนการของมันจึงย่อมไม่ต่างจากการดูดข้อมูลมา manipulate เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ พลังมันน่ากลัวมาก คนที่อยู่ในกลุ่มสายงานนั้นย่อมมีความวิตกกังวลอยู่แล้วว่า งานของตนนั้นจะถูกลอกเลียนไปได้อย่างรวดเร็วด้วยพลังของ AI
ตอนนี้ความวิตกกังวลต่อการใช้ข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ของเครื่องก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และความกระหายต่อข้อมูลขององค์กรเอกชนชั้นนำของโลก และด้วยความที่ "ศิลปะ" เป็นสิ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องของความพยายามในการถ่ายทอดมุมมองของมนุษย์ (หรือสิ่งมีชีวิตใด ๆ) แล้ว งานศิลป์ของ AI มันไม่สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้อย่างสมบูรณ์ (เพียงพิมพ์ข้อความเข้าไปก็ได้รับงานออกมาแล้ว) ทำให้งานของ AI นั้นไม่มีคุณค่าสำหรับคนที่อยู่ในสายนี้โดยตรง เนื่องจากว่ามันดูไม่มีความพยายามมาตั้งแต่แรกนั่นเอง
และช้าก่อน ผมรู้ว่าการ prompt เพื่อให้ได้งานที่ต้องการนั้นมันยากขนาดไหน และยังต้องผ่านกระบวนการปรับแต่งจำนวนหนึ่งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามต้องการ แต่อย่างไรเสีย หากคุณยังใช้บริการสร้างภาพจาก AI ซึ่งใช้ dataset/model สำเร็จรูปมาก่อนแล้ว งานที่ออกมาจาก AI นั้นก็ย่อมลงแรงน้อยกว่า และถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการจะสื่อได้ยากกว่าการสร้างภาพด้วยวิธีการสามัญอื่น ๆ ที่เคยใช้มาอยู่แล้ว
จริงๆผมแอบเห็นต่างเรื่องความพยายามหรือคุณค่าของงานศิลปะอยู่นะครับ
แต่เกริ่นก่อนว่า คุณค่าของงานศิลปะนั้น แต่ไหนแต่ไร มันก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนอยู่แล้ว เพราะงั้นการที่เราเห็นต่างกันไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ไม่มีใครผิดใครถูกทั้งนั้น ผมไม่ได้บอกว่าคุณผิด แต่แค่อยากแชร์เฉยๆว่าผมมองต่างกันอย่างไรครับ
ในส่วนของคุณค่าหรือความพยายามนั้น... จริงอย่างที่คุณว่าความพยายามในการ "ลงมือทำ" ของการใช้ AI มันน้อยกว่าการลงมือวาดด้วยตัวเอง แต่ส่วนตัวผมมองว่าคุณค่าของงานศิลปะมันไม่ได้อยู่แค่การลงมือทำอย่างเดียวแต่รวมถึงการคิดก่อนที่จะเริ่มลงมือทำด้วยครับ และส่วนตัวผมให้คุณค่าในเรื่องความคิดมากกว่าการลงมือทำเสียอีก
หรือก็คือ... ภาพที่ใช้เวลาวาดเพียง 1 วัน เขาอาจจะใช้เวลา 1 เดือนเพื่อคิดก่อนจะเริ่มลงมือวาดก็ได้ และผมก็ให้คุณค่าในช่วงเวลา 1 เดือนตรงนั้นครับ ดังนั้นแล้ว ถึงแม้จะใช้ AI ช่วยร่นเวลาจาก 1 วันเหลือ 1 ชั่วโมง แต่ช่วงเวลาที่เขาต้องใช้เพื่อคิดก่อนจะเริ่มลงมือทำ อาจจะแทบไม่แตกต่างกันเลยก็ได้ เพราะงั้นผมจึงไม่เลือกที่จะตัดสินคุณค่าหรือความพยายามของผลงานจากเครื่องมือหรือวิธีการที่เข้าใช้สร้างครับ
ก็นะ นี่คือมุมมองของผมที่มีต่อคุณค่าของงานศิลปะในฐานะคนเสพคนหนึ่งที่ไม่มีความรู้ใดๆในเรื่องศิลปะ ถ้าเอาไปพูดในกลุ่มศิลปิน ผมอาจจะโดนถล่มก็เป็นได้ 55+
ผมว่ามุมมองของเราใกล้เคียงกันมากเลยนะ และเอาจริง ๆ ผมไม่เคยต่อต้านงานศิลป์ AI เลย ตราบใดที่เจ้าของผลงานสามารถทำให้งานน่าสนใจ ถูกใจ และมีที่มาที่น่าประทับใจ ผมก็ชอบได้เหมือนกับงานอื่น ๆ ผมมีศิลปินที่ติดตามจำนวนหนึ่งที่ใช้ AI และมีประวัติเบื้องหลังที่ดี ผมก็ดูงานของพวกเขาอยู่บ่อย ๆ (บางคนก็ใช้ AI ที่เทรนจากงานของตัวเอง บางคนก็ใช้ AI ช่วงลงสีภาพ เติม background และอื่น ๆ)
เครื่องมือ ยังไงมันก็แค่ส่วนหนึ่งจริง ๆ และปกติแล้วผมก็ไม่ตัดสินความพยายามจากเครื่องมือเหมือนกัน แต่ปัญหาในตอนนี้มันเกิดจากกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่ตั้งใจใช้เครื่องมือ AI มาป่วนศิลปิน พวกที่ใช้ AI มาเพื่อดูดงานศิลปินแล้วปั๊มขาย และบริษัทต่าง ๆ ที่เลือกที่จะใช้วิธีการสีเทาเพื่อให้ได้มาซึ่งภาพวาด (กรณีนี้นี่แหละ) ความวุ่นวายจึงเกิดขึ้น
ผมยังมองว่า เอไอ ณ.ปัจจุบัน ยังมีความอ้างอิงกับผลงานต้นฉบับของศิลปินที่เป็นมนุษย์อยู่ค่อนข้างสูงครับ มันยังเหมือนเอาไทล์ที่มีคีย์เวิร์ดตรงกับที่ป้อนไว้มาเรียงต่อกัน แล้วเอามาประมวลเพื่อให้มันดูเป็นชิ้นเดียวกันเท่านั้นเอง
ในขณะที่มนุษย์ยังรับอินพุตจากอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานวาดมาใช้ในผลงานตัวเองได้ อย่างเรื่องทฤษฎีที่อยู่เบื้องหลังงานบางอย่าง (เช่นพวก อนาโตมี่สำหรับศิลปิน พวกเอไอนี่ดูแล้วไม่ได้เอาตรงนี้มาใช้เลย เน้นถมอย่างเดียว ในตอนแรกเลยยังเจอปัญหามือเพี้ยน เพราะเอไอไม่รู้จักอนาโทมี่)
ผมคิดว่า ในอนาคตที่ general purpose ai เข้ามามีบทบาทด้วยนี่ งานจะยิ่งดูมีความลึกยิ่งกว่างานปัจจุบันอีกครับ
ทั้งนี้ผมก็เข้าใจแหละว่า ลิขสิทธิ์มีขอบเขตครับ แต่ก็ยังคิดว่าการนำงานไปใช้ในเชิงพาณิชย์ (เช่นเอาไปเทรนเอไอเพื่อสร้างโปรดักท์มาสร้างรายได้) น่าจะยังเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ครับ
การ copy กับนำผลงานมาเป็นแรงบัลดาลใจ มันต่างกันนะครับ คอมพิวเตอร์ไม่มีความสามารถในการสร้างแรงบัลดาลใจหรอกครับ มันแค่เอาโครงสร้างการวางตัวเม็ดพิกเซลเดิมของผลงานต้นฉบับมา merge รวมกับอีกผลงานนึง แล้วใช้ algorithm ปรับภาพให้เข้ากัน ซึ่งตรงนี้เรานิยามกันว่าเป็น Computer Vision ซึ่งเป็น่ส่วนหนึ่งของ Ai
แต่ถ้าเป็น robot ก็ไม่แน่ เพราะมันมี sensor ที่จับภาพ และ "นำโครงสร้างภาพมาใช้เพื่อบังคับแขนตัวเองให้วาดแปรงไปตามโครงสร้างนั้น" อันนี้ถือว่าใกล้เคียงแรงบัลดาลใจแต่ก็ยังไม่ถือว่าเทียบเท่ามนุษย์ และก็ยังมีปัญหาด้านลิขสิทธิ์อยู่ดีเพราะมีการสำเนาขึ้นมาจังหวะนึงในขั้นตอนการบันทึกของ sensor เพื่อนำไป train
https://www.youtube.com/watch?v=GrEttzMCneo
อันนี้ถือว่าใกล้เคียงสุดแล้ว ณ ปัจจุบันผมยังไม่เจอ robot ตัวไหนที่จับภาพได้แบบ real time แบบมนุษย์ แล้วสามารถถอดโครงสร้างภาพทันที เพื่อนำมาใช้กับแขนหุ่นยนต์วาดบนผืนผ้าใบได้เลย
ในมุมศิลปินเขาไม่ต้องการให้ใครมาก็อปผลงานของตัวเองโดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งหมดครับไม่ว่าคนหรือAi
ต่างกันตรงที่กับคนมันพิสูจน์ไม่ได้แต่กับAiมันป้องกันได้
ปัญหาไม่ใช่เรื่อง process แต่ปัญหาคือมันกระบวนการทำ ที่นำงานชิ้นที่สำเร็จแล้ว และที่ทั้งมีและไม่มีมีลิขสิทธิ์ ไป"ย่อย" เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลนั้น...โดยที่เจ้าของงานไม่ได้อนุญาตครับ
จะอ้างว่าสุดท้ายมันก็เป็นจุดในจุดที่ดูไม่ออกว่ามาจากไหน แต่ point ยังคงอยู่ คือ คุณเอาข้อมูลที่ไม่ได้รับความยินยอมมาเทรน AI คุณ
เรื่องคือ ถ้าบอกแต่แรก เชื่อว่าคนโอเคนะ เพื่อการ research แต่มันมารู้ทีหลังนี่ไง...
คุณก็พูดไป อย่าใช้คำว่า "ลอกเลียน" ต้องใช้คำว่า "แรงบันดาลใจ"
ตอน Adobe ใช้ AI ช่วยทำ Content-Aware Fill แบบเนียนๆ เห็นชื่นชมกันใหญ่
พอมาตอนนี้ดันกลัว AI ซะงั้น
Don't be evil 🤫
my blog
อัติโนมัติ => อัตโนมัติ
ทำให้ให้ ?
คือ จะส่งไฟล์งานของลูกค้ากลับไปที่เซิร์ฟเวอร์ของ Adobe เพื่อใช้สร้างโมเดลด้วยหรือเปล่า
หรือว่าจะใช้ HW ของลูกค้าแล้วส่งข้อมูลกลับไปกันนะ?
คือใช้งานจากไฟล์ที่อยู่บน Creative Cloud อยู่แล้วไม่น่าใช้เครื่องของลูกค้าประมวลผลนะ คือตอนนี้ลูกค้าก็อาจจะย้ายไปเก็บที่อื่นแทนเพราะกลัวงานที่ยังไม่เสร็จถูกเอาไปใช้ก่อนงานตัวเองจะเสร็จซะอีก
ผมไม่ได้ใช้ CC มานาน เลยลืมไปเลยว่ามันมี storage ให้ด้วย 555 ขอบคุณครับ
ก็ ข้อมูลไม่ได้อยู่กับเรา ก็อาจจะมองว่าไม่ใช่ของเราก็ได้นะ เหมือนที่เราไม่ได้ถือคีย์ Crypto อะไรงี้มั้ง 555
ดูดเฉพาะงานที่อยู่บน Creative Cloud ไปเทรน ผมจึงไม่คิดว่า Adobe จะใช้เครื่องของผู้ใช้ประมวลผลก่อน