Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

Tony Yates นักเศรษฐศาสตร์อิสระและอดีตที่ปรึกษาธนาคารกลางอังกฤษในช่วงปี 1992-2013 แสดงความเห็นลง Financial Times ว่าธนาคารกลางไม่ควรพยายามผลักดันโครงการเงินดิจิทัล แม้ว่าธนาคารกลางหลายชาติจะแสดงความสนใจและพากันสร้างโครงการทดสอบใหญ่น้อยกันออกมาต่อเนื่อง

Yates ระบุว่าในความเป็นจริงธนาคารกลางชาติต่างๆ ก็มีเงินสำรองอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้วเป็นฐานข้อมูลการให้ยืมและการยืมเงินกับสถาบันทางการเงินต่างๆ แต่การทำโครงการเงินดิจิทัล (CBDC) นั้นจะเป็นการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์เช่นนี้ในวงกว้างขึ้น ซึ่งก็จะมีคำถามว่าใครสามารถใช้งานได้บ้าง ตั้งแต่หน่วยตัวกลางที่ไม่ใช่ธนาคาร, ครัวเรือนทั่วไป, ภาคธุรกิจ, ประชาชนบุคคลธรรมดา, หรือแม้แต่ชาวต่างชาติ

เขาระบุว่าธนาคารกลางพยายามแสดงตัวสนใจ CBDC เพราะเหตุผลที่ไม่ชัดเจน บางคนก็พูดลอยๆ ว่า CBDC จะเป็นอนาคต บางคนกลัวว่าถ้าเงินสกุลของตนไม่ออก CBDC แล้วจะเสื่อมความนิยมในเวทีโลก หรือบางทีก็พยายามผลักดันเพราะกลัวเงินคริปโต แม้ว่าในความเป็นจริงเงินคริปโตนั้นใช้งานเป็นเงินได้แย่มากๆ เพราะค่าเงินผันผวนแถมใช้งานลำบาก

เหตุผลที่ดูดีสักหน่อยของ CBDC คือประสิทธิภาพในการจ่ายเงินสูงขึ้น เพราะบริการรับชำระต่างๆ คิดค่าบริการแพง แต่ถ้าให้บริการจริงธนาคารกลางก็ต้องวางระบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เพื่อรองรับธุรกรรมทั้งหมด ทางเลือกที่ดีกว่าคือการไปคุมราคาบริการรับชำระทั้งหลายในตอนนี้ (คำพูดที่ใช้คือ tax the excess เป็นการเก็บภาษีเมื่อบริษัททำกำไรเกินควร) ข้อดีอีกข้อของ CBDC คือการจ่ายดอกเบี้ยทำให้ธนาคารกลางมีเครื่องมือออกมาตรการมากขึ้น เช่น การจ่ายดอกเบี้ยติดลบเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่าย แต่ถ้าทำจริงๆ ก็จะส่งผลกระทบกับความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางอย่างมาก

Yates และ IMF แสดงความกังวลต่อ CBDC คล้ายกันคือหากใช้งานจริงจะเกิดความเสี่ยงทางการเงินกับธนาคารเพิ่มขึ้น เพราะประชาชนอาจจะพากันถอนเงินจากธนาคารไปยัง CBDC อย่างรวดเร็วจนธนาคารขาดสภาพคล่อง และธนาคารกลางเองต้องเข้ามาแทรกแซงในที่สุด

ที่มา - Financial Times

No Description

แผนที่ชาติที่ทดลอง CBDC ในระดับต่างๆ จาก IMF

Get latest news from Blognone