แม้กูเกิลปิดบริการ Stadia ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ล่าสุด Dov Zimring อดีตผู้บริหารทีม Stadia ต้องไปให้การกับ FTC ในฐานะ "คู่แข่ง" บริการคลาวด์เกมมิ่งของไมโครซอฟท์ เพื่อพิจารณาว่าไมโครซอฟท์มีพฤติกรรมผูกขาดในตลาดคลาวด์เกมมิ่งหรือไม่ ช่วยให้เราได้เห็นข้อมูลของ Stadia เพิ่มอีกหลายอย่าง
Zimring ให้เหตุผลว่ากูเกิลต้องตัดสินใจปิด Stadia เพราะมีคอนเทนต์เกมไม่เยอะพอ แม้จ่ายเงินจ้างนักพัฒนาภายนอกพอร์ตเกมมาลง Stadia แล้วก็ตาม เขาเชื่อว่ากูเกิลมีเทคโนโลยีการสตรีมเกมที่ดีที่สุดในเวลานั้น อีกเหตุผลคือกูเกิลพบว่าการลงทุนพัฒนาเกมระดับ AAA ที่มีระยะเวลาราว 5 ปี ต้องใช้เงินสูงกว่าที่คาดมาก ทำให้ตัดสินใจปิดสตูดิโอเกมที่นำโดย Jade Raymond (ปัจจุบันเธอไปอยู่กับโซนี่)
ข้อมูลใหม่อีกอย่างคือกูเกิลเคยลองทำต้นแบบเซิร์ฟเวอร์ Stadia ที่เป็นวินโดวส์ด้วย แต่สุดท้ายไม่ได้เดินหน้าต่อเพราะเจอข้อจำกัดว่าไม่สามารถควบคุมหรือแก้ไขวินโดวส์ได้ อีกทั้งต้นทุนการรันเซิร์ฟเวอร์วินโดวส์จะสูงกว่าเดิมถึง 2 เท่า
ที่มา - The Verge
Comments
เคยลอง?ทำ
แบบนี้เป็นผลดี หรือ ผลเสีย ต่อไมโครซอฟท์ ครับ
ส่วนผมคิดว่าเป็นผลดีเพราะกูเกิลบอกว่าแพงไม่ได้บอกว่า
แข่งกับจ้าวตลาดไม่ได้หรือโดนกีดกัน
มันมองได้ทั้ง 2 มุมครับ
ผลดีคือ การที่ต้นทุนสูงขึ้น การควบรวมกิจการมันสมเหตุสมผล เพราะสามารถลดต้นทุนได้จากการแชร์ทรัพยากรภายในองค์กรเดียวกัน แต่ผลเสียคือ การแข่งขันจะน้อยลงในตลาด ทำให้มีโอกาสที่จะทำให้สินค้าราคาสูงขึ้นได้ครับ
Coder | Designer | Thinker | Blogger
ผมลืมคิดส่วนนี้ไปเลยครับ ขอบคุณครับ
ในแง่คดีผมมองว่าเป็นบวกเหมือนกันนะครับ
เพราะคำตอบของ Google มันแสดงให้เห็นว่าการทำ Cloud Gaming มันไม่ได้แค่มีเทคโนโลยี Cloud ที่ดีอย่างเดียวมันไปไม่รอด จำเป็นต้องมีคอนเทนต์เกมด้วย และ Google ก็บอกอีกว่าการลงทุนสร้างเกม AAA ใช้เงินสูงมาก
ดังนั้นการควบรวมกันระหว่าง Microsoft กับสตูดิโอเกมเพื่อลดต้นทุนการพัฒนาเกม จึงสมเหตุสมผลเพื่อให้สามารถให้บริการ Cloud Gaming ต่อไปได้
พูดง่ายๆ คำตอบของ Google คือบอกเป็นนัยๆว่าถ้าไม่ทำก็ไม่รอดนั่นแหละครับ
แน่นอนว่าพอควบรวมแล้ว คู่แข่งก็จะหาเกมมาลง platform ตัวเองได้ยากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ Microsoft ได้เปรียบมากเกินไปอย่างที่หลายฝ่ายกังวล แต่เรื่องนั้นมันเป็นผลกระทบจากการควบรวมอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับคำตอบของ Google ซะทีเดียวครับ