ทีมนักวิจัยของ Netflix เผยแพร่วิธีการซ้อนภาพด้วยฉากหลังสีเขียวแนวทางใหม่ สำหรับภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ ซึ่งทำให้ได้ภาพที่สมจริงมากขึ้นในด้านสีสันและรายละเอียด
ฉากหลังสีเขียวเป็นวิธีการถ่ายทำเพื่อซ้อนภาพสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ให้เข้ากับฉากหลังที่ต้องการใส่เข้าไป ซึ่งเป็นที่นิยมในกระบวนการผลิตทั้งภาพยนตร์และโทรทัศน์ อย่างไรก็ตามวิธีการนี้มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น เครื่องแต่งกายต้องไม่มีสีเขียว รวมทั้งวัตถุที่มีความละเอียดสูงอย่างเส้นผมอาจมีปัญหาการแสดงผลให้ครบถ้วน วิธีการดังกล่าวสามารถปรับแก้ไขได้ แต่ต้องใช้เวลาในการปรับแต่งทีละช็อต
วิธีที่ทีมวิจัยของ Netflix นำเสนอเรียกว่า MGS ย่อมาจาก Magenta Green Screen หรือ ฉากสีมาเจนต้า-เขียว โดยใช้ฉากหลังสีเขียวเหมือนเดิม แต่นักแสดงในฉากหน้าจะถูกส่องด้วยแสงสีแดงและสีน้ำเงิน เกิดเป็นเฉดสีมาเจนต้า
กระบวนการแยกแยะวัตถุจะเริ่มด้วยการจับฉากหลังเฉพาะสีเขียว ทำให้วัตถุฉากหน้าทั้งหมดที่ถูกย้อมสีจะมองเป็นสีดำ อีกขั้นตอนคือการซ้อนด้วยภาพที่แยกด้วยสีแดง-น้ำเงิน เพื่อหาวัตถุฉากหน้า ตำแหน่งต่าง ๆ จึงมีความชัดเจนมากขึ้น ขั้นตอนสุดท้ายคือการถอดวัตถุฉากหน้าที่ย้อมสีมาเจนต้าให้ออกมาเป็นสีปกติ โดยใช้ AI รวบรวมฟุตเทจภาพในแสงสีขาวปกติก่อน นำมาประมวลผลรวมกัน ทำให้แม้นักแสดงใส่ชุดสีเขียว ถือขวดแก้วใส สยายผม ภาพที่ซ้อนออกมาทั้งหมดก็คงความสมจริงมากขึ้น
อย่างไรก็ตามงานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัดในการนำมาใช้จริงตอนนี้ เพราะ AI ยังไม่สามารถประมวลผลได้เรียลไทม์ จึงอาจใช้งานสำหรับในกองถ่ายเพื่อประเมินผลลัพธ์ได้เท่านั้น แต่ยังใช้กับงานถ่ายทอดสดไม่ได้ รวมทั้งการใช้งานต้องทำในสภาพแวดล้อมปิดที่ควบคุมแสงได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นความท้าทายมากในหลายสถานการณ์
ที่มา: Editorialge และ GitHub: Dmitriy Smirnov
วิดีโอสาธิต
Comments
อีกวิธีที่แก้ไขปัญหากรีนสกรีนได้ซึ่งใช้จริงกันไปแล้วคือ xr stage ยกตัวอย่างงานที่ดัง ๆ เลยคือ Mandalorian หรือของ NF ก็จะมีเรื่อง 1899 เผื่อใครเคยผ่านตา
ช่ายอันนั้นคือเนียนมาก ดูไม่ออกเลย ไปดูเบื้องหลังมายิ่งว้าวมาก
แต่ก็น่าจะยังแพงกว่า greenscreen มากนะครับ แนวทางของ netflix นี่ถ้าใช้จริงน่าจะถูกกว่าแบบเป็นเท่าตัวเหมือนกัน
lewcpe.com, @wasonliw
นักแสดงต้องเจอแสงสีแบบนี้ตลอดเวลาที่ทำงาน ตาน่าจะล้ามากเลยนะ
ถ้าไม่ต้องฉายแสง แต่ให้ใส่ filterสี ไว้ที่กล้อง จะให้ผลเหมือนกันไหมนะ
มันก็จะไปมีผลกับสีเขียวด้านหลังด้วยรึเปล่าครับ เดานะ
ตามคอมเมนต์บนครับ มันคงกระทบภาพที่ได้คือฉากหลังหาย
ผมคาดว่าที่เลือกยิงแสงแดงกับน้ำเงินคือยิงแม่สีที่ไม่กระทบกับฉากหลังแหละครับ แล้วตัว AI จะได้ทำหน้าที่เติมแค่สีเขียวลงในภาพแทนโดยตัดสินใจว่าตรงที่เห็นเป็นความมืดนี่มันเป็นสีดำจริงหรือเป็นสีเขียว 😅