ผู้ใช้งาน Reddit ชื่อ AnonymousCerealBowl หรือชื่อจริง John Kellogg เป็นครูสอนภาษาอังกฤษในรัฐออริกอนประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มสอนวิชาวรรณกรรมโดยใช้เกมเมื่อ 1 ปีก่อน ตัวเขาได้สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนโดยถามว่าอยากให้เพิ่มเกมอะไรเข้าไปในหลักสูตร ซึ่งเกม Red Dead Redemption ภาค 1 และ 2 ได้รับเลือกมากที่สุด
ส่งผลให้ John ยื่นขอทุนเพื่อซื้อเครื่องเกมคอนโซลจำนวน 30 เครื่องเพื่อใช้ประกอบในวิชาแบ่งเป็น Xbox Series S จำนวน 24 เครื่อง, PlayStation 5 จำนวน 2 เครื่อง และ Nintendo Switch จำนวน 4 เครื่อง
หลังจากได้รับทุน John สร้างแบบฝึกหัดเวอร์ชั่นแรกของวิชานี้ขึ้นมา มีทั้ง Red Dead Redemption ภาค 1 และ 2 ในแบบฝึกหัดเป็นการวิเคราะห์ตัวละครเอกของเกมทั้ง 2 ภาค นักเรียนต้องติดตามตัวเลือกทางศีลธรรมและสไตล์การเล่นโดยรวมของพวกเขาตลอดทั้งเกม จากนั้นตอบคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ได้พบเจอผ่านแบบฝึกหัดของ John โดยใช้เวลา 4 คาบเรียนสำหรับบทนำของเกม ซึ่ง John จะคอยช่วยเหลือคนที่เล่นไม่ค่อยคล่องอยู่ตลอด
ท้ายที่สุด John จะให้นักเรียนเขียนเรียงความว่า Arthur Morgan ได้รับการไถ่บาป (redeem) ในตอนจบของเกมหรือไม่ ซึ่ง John เซฟเนื้อหาของเกมบางช่วง และจะเล่นภารกิจเหล่านั้นให้นักเรียนดูประกอบการวิเคราะห์
John Kellogg บอกว่าการสอนด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่สนุก แถมนักเรียนยังมีส่วนร่วมในวรรณกรรมและประเด็นทางศีลธรรมโดยตรง ผลคือนักเรียนในชั้นเรียนก็ชอบการสอนแบบนี้มาก แถมยังได้ข้อคิดมากมายกลับไปด้วย
Comments
น่ารัก 555
ด้วยความเคารพเกมนะครับ ผมเองก็เล่นเกมมาเยอะมาก แต่ไม่มีทางเลยครับที่เนื้อเรื่องบทสนทนาในเกมจะสละสลวยลุ่มลึกเท่ากับวรรณกรรมที่เป็นหนังสือจริง ๆ
That is the way things are.
จริงเหรอ ผมว่าเกมหลายเกมมีความลุ่มลึกและสละสลวยของภาษามากกว่าวรรณกรรมซีไรต์บางเรื่องอีกนะ
ถ้าจำกัดความว่าวรรณกรรม (Literature) มันคืองานเขียนเท่านั้น มันก็อาจจะเป็นแบบนั้นครับ
เพราะหนังหรือเกม ใช้วิธีการนำเสนอรูปแบบอื่นๆนอกเหนือจากที่งานเขียนจะทำได้ด้วย ด้วยเหตุนั้นงานเขียนจึงจำเป็นต้องบรรยายมากกว่า เพื่อชดเชยการนำเสนอที่ทำไม่ได้ เราถึงเห็นบทบรรยายและคำเปรียบเปรยที่สละสลวยในภาษามากกว่าสื่ออย่างหนังหรือเกม
แต่จะบอกว่าหนังหรือเกมเอามาเรียนรู้สู้งานเขียนไม่ได้เลยก็ไม่เชิง มันก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการศึกษา หากต้องการเรียนรู้เรื่องการใช้ภาษา ยังไงงานเขียนมันก็เหมาะกว่า แต่หากต้องการจะเรียนรู้เรื่องการคิดวิเคราะห์ ผมมองว่าเกมหรือหนังก็สามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน ถึงบทสนทนาจะไม่ลุ่มลึกเท่า แต่สีหน้าท่าทางและการกระทำตัวละครก็เป็นสิ่งที่สามารถวิเคราะห์และเรียนรู้ได้ (และอาจจะลึกไม่แพ้ตัวหนังสือเลย) โดยเฉพาะเกมที่เปิดโอกาสให้สำรวจหรือเปลี่ยนวิธีเล่น เพื่อสังเกตตัวละครในเหตุการณ์ที่ต่างกันออกไปและนำมาวิเคราะห์ได้มากขึ้น
ซึ่งเกม RDR2 จะทำได้ดีถึงขั้นนั้นไหมผมก็ไม่แน่ใจเพราะผมก็ไม่เคยเล่น แต่ดูจากชื่อเสียงต่างๆนานาและคลิปต่างๆที่ตัดเอาเรื่องราวของ NPC แต่ละตัวมาให้ดู ผมคิดว่ามันก็เป็นเกมที่มีศักยภาพพอสมควรเลยครับ
ผมเข้าใจว่าวิชาวรรณกรรมไม่ได้ดูที่ตัวภาษาเป็นหลักครับ แต่ดูเน้นวิเคราะห์พูดคุยถึงการกระทำของแต่ละตัวละครที่ขับเคลื่อนเรื่องราวเป็นหลัก เป็นวิชาเน้น EQ น่ะครับ.
ชื่อว่าวรรณกรรม แต่จริงๆ มันออกแนววิเคราะห์เชิงมนุษยศาสตร์ สังคม ปรัชญา มากกว่าครับ เหมือนก่อนหน้านี้ที่การวิเคราะห์หนัง ก็เป็นส่วนนึงของวิชาวรรณกรรม วิเคราะห์ว่าสื่อถึงนู่นนี่นั่น เกมที่เรื่องดีๆ ก็อารมณ์เดียวกัน
ส่วนเรื่องความสละสลวย การวิเคราะห์ตัวบท script เทคนิคในการเขียน การเลือกใช้คำเพื่อสื่อความ อันนั้นก็เป็นอีกแขนงนึงที่ก็ทำได้ (แต่ผมคิดว่าอย่าง rd หรือวิดิโอเกมโดยทั่วไป ไม่ได้ดีไซน์มาเพื่อการนั้น)
การเรียนการสอนแบบนี้ดีกับนักเรียนมาก แต่สำหรับครูหลายคนถือเป็นภาระมาก เพราะครูหลายคนไม่ถนัดสอนด้วยวิธีการสอนที่นอกเหนือจากการสอนแบบทำตามๆ กันมา
ตอนประถมเคยเรียนวิทยาศาสตร์แล้วมีครูคนนึงเอาตัวการ์ตูนมาช่วยสอน ครูคนนี้ถึงขั้นได้ขึ้นบอร์ดครูดีเด่นเลยทีเดียว