ประเด็นใหญ่ของวงการไอทีบ้านเราในรอบ 1-2 วันที่ผ่านมา ย่อมเป็นเรื่อง สมาร์ทโฟนแบรนด์ Oppo และ Realme ติดตั้งแอพสินเชื่อ Fineasy และ "สินเชื่อความสุข" เข้ามาให้ในรอมของสมาร์ทโฟนเลย (แถลงการณ์ของ Oppo, แถลงการณ์ของ Realme)
นอกจากประเด็นเรื่องการติดตั้งแอพเงินกู้นอกระบบเข้ามาโดยไม่ได้รับคำยินยอมจากผู้ใช้ ซึ่งเป็นเรื่องของแบรนด์สมาร์ทโฟนทั้ง 2 แบรนด์แล้ว อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ แอพสองตัวนี้มาจากไหน ใครเป็นผู้สร้าง ถึงได้เหิมเกริมบุกรุกเข้ามายังหน้าจอโทรศัพท์ของคนไทยจำนวนมาก
จากการสืบสวนเบื้องต้นโดย Blognone พบว่า Fineasy และ "สินเชื่อความสุข" น่าจะมีที่มาแตกต่างกัน
เริ่มจากแอพชื่อ Fineasy ปัจจุบันยังมีให้ดาวน์โหลดบน Google Play Store มียอดผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านราย ระบุชื่อผู้สร้างแอพว่า OSFineasy ซึ่งเป็นเจ้าของแอพ Fineasy เพียงตัวเดียวบน Google Play Store ไม่มีแอพตัวอื่นเลย
ข้อมูลอื่นบน Google Play Store มีให้เราตามรอยอีกไม่เยอะนัก เช่น อีเมลซัพพอร์ตเป็น fineasy.wecare@gmail.com (สังเกตอีเมลว่าเป็น gmail ไม่ใช่เมลบริษัท)
แอพ Fineasy มีเว็บไซต์ชื่อ finosfin.com มีข้อมูลเพียง 1 หน้าเท่านั้น ระบุชื่อเจ้าของแอพเป็นบริษัท Wealth Hope Pte. Ltd. จดทะเบียนในสิงคโปร์ ที่อยู่จดทะเบียนคือ 138 Market Street #15-03 Capitagreen Singapore 048946
การตามหาข้อมูลของ Wealth Hope Pte. ต่อนั้นไม่ง่ายนัก เพราะสิงคโปร์เป็นที่จดทะเบียนของบริษัทจำนวนมาก ที่อาจไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ในสิงคโปร์ก็ได้ ข้อมูลเท่าที่เปิดเผยต่อสาธารณะในฐานข้อมูลทะเบียนบริษัท (Accounting and Corporate Regulatory Authority หรือ ACRA) ของสิงคโปร์ บอกเพียงว่าจดทะเบียนบริษัทในเดือนมกราคม 2021
ส่วนข้อมูลอื่นของบริษัทแห่งนี้บนอินเทอร์เน็ตนั้นแทบไม่มีเลย ข้อมูลเดียวที่น่าสนใจคือ นอกจากเว็บไซต์ finosfin.com แล้ว เรายังไปเจอเว็บอีกแห่งชื่อ fintechind.com ที่หน้าตาคล้ายๆ กันแต่ยังทำเว็บไม่เสร็จดี ใส่ชื่อบริษัท Wealth Hope Pte. และที่อยู่บริษัท 9 RAFFLES PLACE#26-01 REPUBLIC PLAZA SINGAPORE(048619) ซึ่งน่าจะเป็นที่อยู่เดิมของบริษัทนี้ก่อนย้าย แต่ลงอีเมลซัพพอร์ตไว้เป็น tangtiantian@oppo.com ซึ่งน่าตั้งคำถามต่อว่า บริษัทแห่งนี้มีความสัมพันธ์อย่างไรกับ Oppo หรือไม่ (หรือว่ามันคือบริการเงินกู้ของ Oppo ซะเอง?)
เมื่อลองดูข้อมูลโดเมนเนม finosfin.com ก็ไม่มีประโยชน์มากนักตามแนวทางของโดเมนเนมสมัยนี้ ที่พรางตัวเจ้าของโดเมนได้หมดแล้ว ข้อมูลที่เรารู้มีแค่โดเมนนี้จดทะเบียนในปี 2022, ใช้บริการผู้จดโดเมนชื่อ Key-Systems และชี้ nameserver ไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ AWS
การตามหาข้อมูลของ Fineasy ยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ มีผู้ใช้งาน Oppo ในประเทศอื่นพูดถึงแอพตัวนี้อยู่พอสมควร อย่างใน Google Play Store มีรีวิวในภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาไทยด้วย และเป็นเสียงบ่นในลักษณะเดียวกันว่า ไม่ได้ดาวน์โหลดแอพนี้มาแต่แรก มันมาได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังมีกระทู้ใน Reddit ห้อง Oppo พูดถึงแอพตัวนี้อยู่บ้าง บอกว่าพบแอพ Fineasy หลังการอัพเดตเครื่อง
เว็บไซต์ของประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีพูดถึงแอพตัวนี้ด้วยเหมือนกัน แต่เป็นรูปแบบประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้มาใช้งานแอพตัวนี้กัน
จากภาพหน้าจอในเวอร์ชันเวียดนาม เราจะเห็นการ localized ให้เหมาะกับผู้ใช้ในแต่ละประเทศด้วย เช่นเดียวกับ Fineasy เวอร์ชันที่แปลเป็นภาษาไทย
การตามรอยหาเจ้าของแอพ Fineasy นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพรางตัวมาเป็นอย่างดี สิ่งที่เรารู้ในตอนนี้คงมีแค่ว่า Fineasy เป็นแอพกู้เงินที่จับตลาดลูกค้าในหลายประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศไทย มีการเตรียมตัว localized เนื้อหามาเป็นอย่างดี
สินเชื่อความสุข เป็นแอพอีกตัวที่เป็นข่าวมาคู่กับ Fineasy แต่จากชื่อแอพนั้นคงชัดเจนมากๆ ว่า มีเป้าหมายคือลูกค้าคนไทยล้วนๆ
ตอนนี้แอพ "สินเชื่อความสุข" ถูกลบออกไปจาก Google Play Store แล้ว (ลิงก์บน Play Store ที่ถูกลบไป) ตัวแพ็กเกจใช้ชื่อว่า com.cosyzone.finance ซึ่งยังไม่ชัดเจนอีกเหมือนกันว่า CosyZone ผู้พัฒนาแอพตัวนี้คือใครกันแน่
แอพ "สินเชื่อความสุข" มีเว็บไซต์ใช้โดเมน hizonetech.com ปัจจุบันยังเข้าใช้งานได้อยู่ แต่ลิงก์ไปดาวน์โหลดแอพบน Play Store นั้นเข้าไม่ได้แล้ว
เจ้าของโดเมนเนม hizonetech.com ถูกพรางตัวไว้หลังนายทะเบียนเช่นกัน โดเมนถูกจดเมื่อปี 2021 และใช้ name server เป็น alidns.com ซึ่งเป็นบริการของ Alibaba Cloud
ในหน้าเว็บลงอีเมล "ติดต่อเรา" เป็น kathleeneva7@outlook.com ซึ่งเป็นอีเมลส่วนตัวเช่นกัน อีเมลนี้เป็นอันเดียวกับที่ใช้ในอีเมลซัพพอร์ตบน Google Play Store ก่อนถูกลบไป
ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในหน้าข้อมูลแอพบน Play Store ที่ยังมีเว็บพวกสำเนา APK ดูดเก็บไว้อยู่ (เช่น ApkGk) ได้ลงที่อยู่ติดต่อในประเทศไทยเอาไว้ดังนี้
ที่อยู่ติดต่อ : 1 65/101-103 ซอย สุขุมวิท 64 แขวง บางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร 10260
ตรงนี้คงต้องตรวจสอบกันต่อไปว่าเป็นที่อยู่จริงๆ หรือไม่
แอพ "สินเชื่อความสุข" ถูกพูดถึงในโซเชียลไทยตั้งแต่ราวปี 2565-2566 เป็นต้นมา ตัวอย่างกระทู้ใน Pantip, ตัวอย่างกระทู้ 2 รวมถึงมีคลิป (น่าจะจ้าง) รีวิวใน YouTube อีกจำนวนหนึ่งเช่นกัน
มาถึงตอนนี้ยังมีคำถามอีกมากมายเกี่ยวกับแอพทั้งสองตัวนี้ แต่ในภาพใหญ่แล้ว ปัญหาเรื่องแอพ Fineasy และ "สินเชื่อความสุข" เป็นแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะดันไปพรีโหลดมากับรอมของ Oppo/Realme จนเป็นข่าวใหญ่ สร้างความสนใจให้ผู้คนจำนวนมาก
แต่ในยุคที่ธุรกรรมการเงินสามารถทำได้จากสมาร์ทโฟน มีแอพสินเชื่อให้ดาวน์โหลดเป็นจำนวนมาก แต่แอพสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากธนาคารแห่งประเทศไทย มีแค่ 10 รายเท่านั้น (ให้บริการจริงแค่ 7 ราย) ตรวจสอบได้จาก หน้าเว็บไซต์ ธปท.
ในขณะที่บน Google Play Store มีแอพสินเชื่อส่วนบุคคลให้ดาวน์โหลดหลายตัว ซึ่งผสมปนเปกันทั้งแอพที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ เช่น MoneyThunder ของ Abacus Digital และ Finnix ของ Monix (ทั้งคู่อยู่ในเครือ SCBX) กับแอพสินเชื่อตัวอื่นๆ ที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นของใคร ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่
ตรงนี้คงต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึง Google Thailand เองที่จะต้องตรวจสอบให้เข้มงวดกันต่อไป
Comments
บริษัทไม่ได้จดทะเบียนแต่อยากทำธุรกิจด้านการเงิน มองในแง่บวกไม่ได้เลย
..: เรื่อยไป
นึกถึงสำนวนฝรั่ง rabbit hole ที่หมายถึงเรื่องลึกลับ/แปลกประหลาด/น่ากลัว ที่พอขุดแล้วกลับไม่เจอคำตอบ แต่เจอคำถามมากกว่าเดิมอีก
ร้อยบาทเอาขี้หมากองเดียวว่าเรื่องนี้หาคนผิดไม่ได้ ภาครัฐเงียบ แล้วทุกอย่างก็หายไปกับสายลม
ค่ายมือถือ ต้อง รับผิดชอบ ด้วยมั้ย , เครื่องค่ายที่ล็อคซิมก็มีฝังมา จะร่วมกันขายของก็ควรร่วมกันตรวจสอบรึป่าว .. ทีแรกนึกว่า เป็นเรื่องปกติ ซะอีก , เจอตั้งแต่ได้เครื่องมาร่วมปีละ ตอนนั้นเช็คก็มีคนพูดถึงแต่ไม่เห็นมีการตอบสนองอะไรกัน ( ก็เลยขี้เกียจไล่ตามเชคต่อ ใช้เป็นแค่เครื่องฉุกเฉินไป , ไม่ได้ลงแอพ/ไม่ได้ใช้อะไรมาก เพราะแรมก็แค่ 3 )
อยู่ดีๆ เชื่อเสียงแบรนด์มือถืออันดับหนึ่งก็....
The Dream hacker..
อยากไปใช้ มือถือจีน ใช้ iphone samsungเถอะ
คนที่แต่งตั้งมา มีอำนาจ เค้าเอาไว้ทำอะไรอะครับ พอเจอจีนเทาจีนดำ ต่างด้าว หงอหมด พอเป็นสามกีบร้องโฮกเป็นเสือจะจับยัดลงคุกอย่างเดียว
แปลกดีนะธุรกิจพวกนี้ในไทยถ้าบริษัททำถูกต้องตาม กม. จ่ายกันอ่วม เรียกร้องเอกสารโน่นนั่นนี่ แต่พอเถื่อนดันคนแจ้งเป็นปีปล่อยเบลอไม่สนใจต้องแตกเป็นข่าวนั่นแหละถึงจะมาแล
ว่าแต่ , มีให้บริการอยู่ 7 ราย .. แล้วพวก paylater ใน แอพช้อปปิ้ง/แอพเป๋าตังค์ , ถือเป็น บริการประเภท อะไร ?
Shopee น่าจะเป็น บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด
ส่วน Lazada ไม่แน่ใจ
แอปอื่นไม่แน่ใจ
แต่ถ้า paylater ในแอปส้ม คนให้บริการเป็นซีมันนี่
paylater ในแอปร้านสะดวกซื้อของเจ้าของประเทศตัวจริง คนให้บริการเป็นแอสเซนด์ นาโน
เมลส่วนตัวซะด้วย
อยากดูว่า หนึ่ง หน่วยงานไหนของไทยจะออกมารับผิดชอบว่าเป็นหน้าที่ของตัวเองในเรื่องนี้ (กสทช?) สอง จะมีบทลงโทษที่เข็มแข็งขนาดไหน รึแค่ เสือกระดาษไปวันๆ
ขยะจีนแดงแท้ทรูว์ ไม่เป็นไรครับคนไทยเป็นง่ายๆ พ่วงมาดูดข้อมูลตามรัฐบาลจีนแดงอีกสัก 20 app ก็คงไม่เป็นไร
ห้ามลืมเรื่องนี้นะทุกคน ต้องจี้ให้สุด