Tags:
Topics: 
Node Thumbnail

ตามสัญญาครับ พบกับ Fedora Core 3 Review โดย Blognone

ก่อนอื่นใครยังไม่มีก็ควรหาติดมือไว้เป็นซีดีสามัญประจำบ้านนะครับ ที่ FTP ของเนคเทค ในประเทศวิ่งเร็วดี ยิ่งถ้าใครมี DVD Writer ขอแนะนำอย่างสูงเพราะเดี๋ยวนี้ดีวีดีแผ่นนึงก็ถูก เวลาลงก็ไม่ต้องเปลี่ยนแผ่นบ่อยด้วย พอโหลดไฟล์มาครบควรเช็ค MD5SUM ด้วยนะครับ เผื่อไฟล์เสีย วิธีการคือ ถ้าอยู่บนลินุกซ์เหมือนกันก็สั่ง md5sum filename.iso แล้วไปเทียบกับไฟล์ MD5SUM ใน FTP ซึ่งเป็นเท็กซ์ไฟล์ปกติว่าเลขตรงกันรึเปล่า ถ้าตรงก็โอเค ถ้าไม่ตรงก็ซวยไป ส่วนบนวินโดว์ต้องหาโปรแกรมช่วยครับ เช่น MD5Summer เป็นต้น ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร โอกาสที่ไฟล์จะเสียมีไม่มากนัก ได้มาครบก็ทำการเบิร์นกันเลย แผ่นที่ 4 อาจจะยังไม่ต้องไรท์ก็ได้เพราะถ้าเลือกแพกเกจตามปกติ มักไม่ค่อยได้ใช้ครับ

ขั้นตอนการลงแทบจะเหมือน Core 1 กับ Core 2 เปี๊ยบ ไม่ขอลงรายละเอียดมากครับ ตัว Installer ก็ยังเป็น Anaconda เช่นเคย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักเนื่องจากลดภาระในการสนับสนุนนั่นเอง สิ่งที่น่าสังเกตคือออพชัน SELinux หรือ Security-Enhanced Linux ของ NSA (สำนักงานความมั่นคงของมะกันเค้า) ถูกสั่งเปิดโดยอัตโนมัติ เท่าที่ลองใช้ดูคร่าวๆ ยังไม่เจอจุดแตกต่างมากนัก แนะนำว่ายุคปัญหาความปลอดภัยครองเมืองอย่างนี้ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็เปิดไว้ละกันครับ

เรื่องแพกเกจก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก เป็น GNOME 2.8 และ KDE 3.3 ที่น่าสนใจคือมี XFCE มาให้ด้วย นอกจากนี้ Firefox ได้กลายเป็นบราวเซอร์หลักแทน Mozilla Suite ไปแล้ว ในที่นี้ใช้ Firefox 1.0PR แนะนำให้อัพเดตเป็น 1.0 ตัวจริงผ่านทาง YUM ฮะ เดี๋ยวมาว่าเรื่องการอัพเดตกันอีกที อย่างอื่นที่เพิ่มเข้ามาคือมี Thunderbird 0.8 มาให้เลือก ส่วนโปรแกรมเมลหลักยังเป็น Evolution อยู่ โปรแกรมมัลติมีเดียก็มีการเปลี่ยนแปลงคือ Rhythmbox กลายมาเป็นโปรแกรมหลักแทน XMMS ไปแล้ว ในขณะที่ Totem โปรแกรมดูหนังของ GNOME ยังไม่เป็น default ที่น่าสนใจมากๆ คือมีการใส่ Helix Player หรือ Real Player ภาคโอเพ่นซอร์สเข้ามาให้ด้วย และลงเป็นปลั้กอินของ Firefox ให้เรียบร้อย เผอิญเน็ตผมต๊องๆ เลยไม่ได้ทดสอบฟังเสียงจากวิทยุออนไลน์ให้ครับ

หลังการติดตั้งผมมีปัญหานิดหน่อยกับ Firstboot คาดว่าเป็นกับการ์ดจอ (เครื่องที่ทดสอบใช้ Matrox G450) เมื่อบูตครั้งแรกไม่ขึ้น ก็เลยใช้วิธีบูตเข้า text mode แล้วสั่ง startx เอาเอง ก็ไม่มีปัญหาอะไร หลังจากนั้นผมก็เปลี่ยนความละเอียดจอใหม่เป็น 1024x768 พอบูตเครื่องคราวต่อมาก็ขึ้นเป็นหน้าจอล็อกอินของ GDM ตามปกติ

Desktop

ธีมของ GDM เหมือนเดิมทุกอย่าง แต่พอล็อกอินเข้ามาปุ๊บ ก็พบกับความเปลี่ยนแปลงของเดสก์ทอปครับ เมื่อ Fedora ตัดสินใจใช้ Panel แบบ GNOME คือทั้งบนทั้งล่าง จากเดิมที่ใช้แบบวินโดว์คือข้างล่างอันเดียว อันนี้ผมไม่ได้ตามข่าวเท่าไรนัก แต่เหตุผลที่เปลี่ยนแปลงคิดว่ามาจากพาเนลล่างอันเดียวมันแน่นไปนั่นเอง ดูรูปประกอบ

สังเกตว่าวอลลเปเปอร์ก็เปลี่ยนด้วยนะครับ โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าแบบเรียบๆ ของ Core2 สวยกว่า ส่วนการเปลี่ยนแปลง Panel แบบนี้ก็เลยทำใช้ชนกับ Ubuntu Linux ที่เน้น GNOME เป็นหลัก และ End User โดยตรงครับ

การใช้งานภาษาไทย วิธีการก็คือให้คลิกขวาที่พาเนลแล้วเลือก Add จะพบหน้าต่างการเพิ่มพาเนลแบบใหม่ของ GNOME 2.8 (จากเดิมที่เป็นเมนู) ให้เพิ่ม Keyboard Indicator หลังจากนั้นจะเห็น USA ปรากฎแล้วใช่มั้ยครับ คลิกขวาเลือก Open Keyboard Preferences เข้าไปเลือกหมวด Layout แล้วเลือกภาษาไทยเพิ่มเข้ามา ถัดมาเลือกแถบ Layout Options หมวด Group Shift/Lock เพิ่ม Alt+Shift Changes group ครับ ลองจิ้มๆ ดูตรง USA ถ้าเปลี่ยนเป็น Tha ได้ก็โอเค ต่อไปเวลาจะเปลี่ยนภาษาก็ใช้ Alt+Shift ด้านซ้ายมือ

เท่าที่ลองใช้มาซักกะแป๊บ พบว่าเร็วกว่า FC2 พอสมควรเลยครับ ค่อนข้างลื่นมาก อาจเป็นเพราะใช้เคอร์เนลตัวใหม่กว่า และ GNOME เวอร์ชันใหม่กว่าด้วย ของใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในเลเยอร์ล่างๆ ยังมีอีกเพียบ ทั้งการใช้ udev ตรวจสอบฮาร์ดแวร์ X ตัวใหม่ X.Org และ GCC เวอร์ชันใหม่ เท่าที่ลองดูก็ยังไม่มีอะไรผิดสังเกต ความรู้สึกในการใช้ก็ยังคล้ายๆ กับของเดิม เดี๋ยวเรามาต่อกันตอนหน้าแบบเจาะลึกครับผม ส่วนถ้าใครรีบวิธีการอัพเดตระบบให้ใช้งาน MP3 ได้ ผ่าน YUM สามารถอ่านได้จาก Fedora Faq ไปพลางๆ ก่อนได้เลย

Get latest news from Blognone