ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในไทยทั้งสามค่ายได้รายงานผลประกอบการประจำปี 2554 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในรายงานของแต่ละบริษัทได้สะท้อนทิศทางเดียวกัน คือการใช้บริการข้อมูลผ่านเครือข่ายมีอัตราการเติบโตที่สูงมากเมื่อเทียบกับการใช้งานเสียงแบบเดิม เป็นทิศทางเดียวกับในต่างประเทศ
เอไอเอส
เอไอเอสรายงานผลประกอบการปี 2554 มีรายได้รวม 126,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.6% เมื่อเทียบกับปี 2553 และมีกำไรสุทธิ 22,218 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% มีผู้ใช้บริการในระบบรวมทั้งหมด 33.5 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 2.3 ล้านเลขหมายจากปี 2553
ในส่วนของการให้บริการข้อมูล เอไอเอสระบุว่ามีลูกค้าในระบบมากกว่า 9 ล้านเลขหมายที่ใช้อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 39% โดยมีรายได้เฉพาะส่วนนี้ถึง 19,736 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31% ซึ่งมีการเติบโตที่สูง เพราะหากเทียบกับรายได้ของบริการเสียงแล้วมีการเติบโต 8.3% เท่านั้น ซึ่งรายการส่วนการบริการข้อมูลนี้คิดเป็น 20% ของรายได้รวมจากการให้บริการทั้งหมด โดยในปี 2553 คิดเป็น 17%
เอไอเอสยังระบุว่านับตั้งแต่เอไอเอสเปิดให้บริการ 3G บนคลื่น 900MHz ตอนนี้มีผู้ใช้งาน 3G ในระบบแล้วมากกว่า 1.2 ล้านเลขหมาย และคาดว่าปี 2555 จะมีการเติบโตด้านรายได้จากบริการข้อมูล 25% โดยเอไอเอสเตรียมเงินลงทุนสำหรับขยายสถานีฐาน 3G-900MHz ราว 8,000 ล้านบาท และเตรียมสำรองเงินทุนไว้หากมีการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ใหม่ในอนาคต
ดีแทค
มาดูค่ายใบพัดบ้าง ปี 2554 ดีแทคมีรายได้รวม 79,298 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.6% โดยมีกำไรสุทธิ 11,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% และมีผู้ใช้บริการในระบบรวม 23.2 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านเลขหมายจากปีก่อนหน้า
แนวโน้มของรายได้นั้นก็เหมือนกับเอไอเอส โดยดีแทคมีรายได้จากกลุ่มบริการเสริม (รวมบริการข้อมูล) 10,169 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 34.3% ขณะที่บริการเสียงมีการเติบโตเพียง 3.9% นอกจากนี้ดีแทคยังมีการเติบโตในส่วนของรายได้จากการขายเครื่องโทรศัพท์และชุดเลขหมายที่ดีมากถึง 5,844 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.6% เทียบกับปีก่อน ซึ่งรายได้ส่วนนี้รวมยอดขายทั้งสินค้าของแอปเปิล ซัมซุง และ BlackBerry
ดีแทคประเมินธุรกิจในปี 2555 ว่าจะได้การเติบโตในส่วนของบริการเสริมเป็นปัจจัยหลัก เพราะความนิยมในสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และดีแทคเตรียมเงินในการลงทุนขยายสัญญาณปีนี้ราว 8,000-9,000 ล้านบาท
ทรูโมบาย
ในส่วนของทรู โมบาย ซึ่งประกอบด้วยทรูมูฟ ทรูมูฟเอช และฮัทช์ CDMA ที่ทรูเข้าซื้อหุ้นเมื่อปีที่แล้ว มีรายได้รวม 41,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ขาดทุนสุทธิเฉพาะส่วนที่เป็นของบริษัท 415 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีกำไร 285 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายซื้อคืนหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐรวม 6,293 ล้านบาท
สิ้นสุดปี 2554 ทรูมูฟมีผู้ใช้บริการในระบบรวม 18.65 ล้านเลขหมาย โดยเป็นทรูมูฟเอชราว 5 แสนเลขหมาย รวมแล้วมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2553 อยู่ 1.5 ล้านเลขหมาย ในส่วนของรายได้จากการขายสินค้านั้นเติบโตถึง 112.7% เป็น 5,800 ล้านบาท เนื่องจากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอย่าง iPhone 4S ส่วนรายได้จากการให้บริการส่วนที่ไม่ใช่เสียงเติบโตถึง 50.4% เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับอีกสองค่ายเช่นกัน
ทรูวางเป้าหมายในปี 2555 ว่าจะขยายบริการ 3G+ ของทรูมูฟเอชให้ครอบคลุม 8,000 ตำบลใน 77 จังหวัด และสำรองค่าใช้จ่ายสำหรับขยายการบริการส่วนนี้ 15,000 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทแม่กลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น มีผลการดำเนินงานรวมขาดทุน 2,736 ล้านบาท
ที่มา: เอไอเอส, ดีแทค และ ทรู (ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)
Comments
สัดส่วนกำไรต่อรายได้ของ AIS น้อยกว่า DTAC อีกแฮะ
@TonsTweetings
ปี 54 DTAC อาจจะยังไม่จำเป็น(หรือทำไม่ได้)ต้องลงทุน 3G เหมือนค่ายอื่นๆ
+1 ชัดเจน
ทรู ทั้งขาดทุน และเสี่ยงต่อคำตัดสินสัญญา "ประหลาด" อีกต่างหาก
กลุ่มนี้จ่ายปันผลดุเดือดมาก
อยากให้ true ทำสัญญา กับ sony แล้ว เอา สินค้าของ sony มาขายในลักษณเดี่ยวกับ apple
ไม่น่าเชื่อ True Corp ขาดทุน เห็นจ่ายโบนัสพนักงานอยู่เลย 1-2 เท่าเงินเดือน (ปีนี้)
True จ่ายแค่ 1-2 เท่า แต่ AIS กับ DTAC จ่ายโบนัสมากกว่าเยอะครับ
ถ้าไม่บักโกรกมากจนถึงขีดสุด โบนัสเป็น 1 ในสิ่งที่ต้องจ่ายอยู่ละครับ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้พนักงาน
แต่จริงๆแล้วจ่ายแค่ 1-2 เท่าเงินเดือนนี่แสดงให้เห็นเลยว่าเงินน้อย
ตกใจกะทรู
แฟนพันธุ์แท้สตีฟจ็อบส์ | MacThai.com
True ขาดทุน!!! ><"
ทรูไม่เคยได้กำไร
เน็ต 3G ของ AIS และ DTac เน่ามาก
ของผมปกติดีครับ
ลองเล่นสถานที่คนเยอะหน่อยสิครับ เช่น ย่านธุรกิจ ย่านคนทำงาน คนเดินเล่น สยาม อะไรพวกนี้อะ
ถ้าแบบนั้นเน่าก็ไม่แปลกครับ เพราะสัญญาณไร้สายมีจำกัดมากๆ ครับ ต้องรอประมูล 3G 2100GHz อาการอาจจะดีขึ้นละครับ แต่ยังไง ไรสายคนเยอะๆ ก็เน่าอยู่ดีครับ ไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็ตาม
2100 เป็นข้ออ้างที่ระบบล่มตลอดเวลานะครับ
มันคือข้อเท็จจริงครับ ไม่มีใครอยากลงทุนเพิ่มกับสัมปทานที่จะหมดลงในไม่กี่ปีหรอก และข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และแบนด์วิท ที่ทำยังไงก็สู้ 3G neutral frequency ที่ 2100MHz ไม่ได้ครับ
ทางเลือกของคนไทยก็มีแค่ ไม่พอใจก็ย้ายค่ายครับ ตราบใดที่กสทช.ยังยื้อถ่วงเวลาไม่ยอมเปิดประมูล license ใหม่ๆเสียที เราก็คงต้องจำใจ เลือกมือถือให้ตรงกับค่าย ยกเว้นรวยซื้อตัว TOP จะได้ใช้ได้ทุกคลื่นย้ายค่ายง่ายๆ
ผมอยู่ชานเมือง AIS ไม่ดีปลายๆ สัญญาณมาก หลุดสลับ EDGE
แต่พอเข้าเมืองวิ่งดีเลยนะ
ผมทำงานอยู่สยามครับ อยู่ ดิออฟฟิศ ผมว่าสัญญาณกลางเมืองน่ะดีครับ แต่ออกไปชานเมืองไกลๆ หน่อย ก็แย่เหมือนกัน
3G AIS พอเข้าพื้นที่คนเยอะ ๆ เช่น siam อนุเสารีย์ BTS สัญญาณเต็ม แต่ใช้ไม่ได้
อันนี้เห็นด้วยครับ เจอบ่อยในห้างที่คนเยอะ ๆ เป็น 3G สัญญาณเต็ม แต่ไม่กระดิกเลย
มันก็ไม่แปลกนะ แถบความถี่ที่ใช้ทำแค่ 5 MHz เอง จะพอทำอะไรได้
คนใช้งานตั้งไม่รู้กี่คน
ลองเทียบกับ Wifi 802.11b 11 Mbps ดูสิ ใช้ 5 MHz เหมือนกัน แค่คนใช้พร้อมกัน 5-10 คนก็แทบจะจอดสนิทแล้ว (ความจริงเทียบแบบนี้คงไม่ถูกต้องทีเดียวนัก เพราะคนละเทคโนโลยี แค่เอาพอให้เห็นภาพก็พอ)
แล้ว 5 MHz ของ HSPA มันจะให้บริการคนได้เท่าไหร่กันเชียว
อย่างเจ้าอื่น 10 MHz กันทั้งนั้น ความจุมากกว่ากัน 2 เท่า
อยากทราบว่ามันมีทางแก้ปัญหาคนใช้เยอะนี่มั้ยครับ
เพิ่มสถานีฐานครับ
ถ้าคนรู้ก็ไม่น่าแปลกใจ แต่ AIS ก็รู้ว่าตัวเองมีน้อยแต่พยายามโปรโมตมากเกิน cap ตัวเอง แล้วลูกค้าทั่วไปจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเองต้องเจอกับอะไร เครือข่าวที่ดีที่สุดของเรา เอไอเอส 3G
อคติทำให้คนรับเหตุผลด้านเดียว
ของ AIS มี5 Mhzเอง ขออนุญาตคัดลอกข้อความมาให้อ่านนะครับเห็นว่าเป็นความรู้เอามากจาก http://saran2530.wordpress.com/ บล๊อกของผู้จัดการฝ่ายวางแผนและระบบเครือข่ายของเอไอเอส
สถานีฐานในระบบ 3G ใช้คลื่นความถี่ชุดละ 5 MHz โดยจะแบ่งช่องสัญญาณออกเป็น 16 ช่อง (ทางเทคนิคเราเรียกว่า 16 code แต่ขอเรียกว่า 16 ช่องดีกว่าครับ เข้าใจง่ายดี) ช่องสัญญาณแรกต้องสำรองเอาไว้ให้เครื่องมือถือกับสถานีฐานคุยกันเอง จึงเหลือช่องสัญญาณที่ใช้รับส่ง voice และ data ได้ 15 ช่อง
ถ้าเอาช่องสัญญาณมารับส่ง voice จะรองรับการโทรได้พร้อมๆกัน 8 คนต่อ 1 ช่อง
ถ้าเอาช่องสัญญาณมารับส่ง data ความเร็ว 3.6 Mbps จะต้องใช้ 5 ช่องมาต่อกัน
ถ้าเอาช่องสัญญาณมารับส่ง data ความเร็ว 7.2 Mbps จะต้องใช้ 10 ช่องมาต่อกัน
ถ้าเอาช่องสัญญาณมารับส่ง data ความเร็ว 10.8 Mbps จะต้องใช้ 15 ช่องมาต่อกัน
ปกติในการส่งสัญญาณ HSPA จะมีการส่ง data เพียง 75% ของความจุช่องสัญญาณเท่านั้น อีก 25% เป็นรหัสที่ใส่เพิ่มเข้าไปเพื่อช่วยในการกู้ข้อมูลกลับมาในกรณีที่ข้อมูลเสียหายเนื่องจากถูกสัญญาณรบกวน เปรียบเสมือนกับอ่านเลขทะเบียนรถ “กง1234″ ว่า “ก.ไก่ ง.งู หนึ่ง สอง สาม สี่” แทนที่จะอ่านว่า “กอ งอ หนึ่ง สอง สาม สี่” ซึ่งได้ใจความเหมือนกัน การที่ใส่คำว่า “ไก่” และ “งู” เพิ่มเข้าไปจะช่วยให้ผู้ฟังสามารถรับข้อความได้อย่างถูกต้องถึงแม้ว่าจะฟังบางส่วนของข้อความไม่ชัด Smart phone ที่รองรับความเร็วสูงสุด 14.4 Mbps ใช้ช่องสัญญาณ 15 ช่องเต็มๆ มาต่อกัน และส่งข้อมูลเต็ม 100% ของความจุช่องสัญญาณ นั่นคือเอารหัสที่ใช้กู้ข้อมูลกรณีข้อมูลเสียหายออกหมด ทำให้ช่องสัญญาณ 15 ช่องสามารถส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นจาก 10.8 Mbps เป็น 10.8 x 4/3 = 14.4 Mbps ดังนั้นเราจะได้ความเร็ว 14.4 Mbps ก็ต่อเมื่อมีเราใช้งานอยู่คนเดียวในเซลนั้น ไม่มีใครใช้ voice หรือ data เลย และสัญญาณต้องดีพอสมควร หากสัญญาณถูกรบกวนและมี error เกิดขึ้น ข้อมูลบล็อกนั้นจะต้องถูกส่งซ้ำ จากเร็วอาจจะกลายเป็นช้าได้
Smart phone และ Tablet เหล่านี้ใช้เทคโนโลยี HSPA+ ในการส่งข้อมูลให้ได้ความเร็วสูงสุด 21 Mbps ซึ่งต่างจาก HSPA ธรรมดาตรงที่ HSPA+ เข้ารหัสสัญญาณแบบ 64QAM ในขณะที่ HSPA เข้ารหัสสัญญาณแบบ 16QAM
การเข้ารหัสสัญญาณแบบ 16QAM ของ HSPA นั้น สัญญาณ 1 ลูกจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันได้ 16 แบบ ดังนั้นการส่งสัญญาณลูกเดียวจึงแทนความหมายที่แตกต่างกันได้ 16 ความหมาย หรือเท่ากับ 4 บิท
การเข้ารหัสสัญญาณแบบ 64QAM ของ HSPA+ นั้น สัญญาณ 1 ลูกจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันได้ถึง 64 แบบ ดังนั้นการส่งสัญญาณลูกเดียวจึงแทนความหมายที่แตกต่างกันได้ 64 ความหมาย หรือเท่ากับ 6 บิท แต่ในระหว่างทาง สัญญาณก็อาจผิดเพี้ยนไปจนตีความหมายผิดพลาดได้ง่าย
หากเราต้องการส่งข้อมูล 12 บิทในระบบ HSPA เราต้องส่งสัญญาณ 3 ลูก (ลูกละ 4 บิท) แต่ในระบบ HSPA+ เราส่งสัญญาณเพียง 2 ลูกเท่านั้น (ลูกละ 6 บิท) ดังนั้น HSPA+ จึงส่งข้อมูลได้มากกว่า HSPA ถึง 3:2
อุปกรณ์ที่รองรับ HSPA+ รองรับความเร็ว 21 Mbps โดยการใช้ช่องสัญญาณ 15 ช่องเต็มๆมาต่อกัน ส่งข้อมูลเต็ม 100% ของความจุช่องสัญญาณ นั่นคือเอารหัสที่ใช้กู้ข้อมูลกรณีข้อมูลเสียหายออกหมด และเปลี่ยนการเข้ารหัสแบบ 16QAM เป็น 64QAM ทำให้ช่องสัญญาณ 15 ช่องสามารถส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นจาก 14.4 Mbps เป็น 14.4 x 3/2 = 21.6 Mbps
ดังนั้นเราจะได้ความเร็ว 21 Mbps ก็ต่อเมื่อมีเราใช้งานอยู่คนเดียวในเซลนั้น ไม่มีใครใช้ voice หรือ data เลย และสัญญาณต้องดีมากๆ (โดยทั่วไปคือห่างจากเสาไม่เกิน 500 เมตร) หากสัญญาณไม่ดีพอ เครือข่ายจะปรับลดการเข้ารหัสจาก 64QAM ลงมาเป็น 16QAM เหมือน HSPA ธรรมดา
AIS ของ สิงคโปร์ กำไร
Dtac ของ นอร์เวย์ กำไร
Truemove ของ ไทย ขาดทุน
ปล อยากรู้จริง AIS กับ Dtac จ่ายปันผล หรือนำเงินกลับประเทศไปเยอะขนาดไหนแล้ว
เล่นปันผล100% ขนเงินกลับบ้านกันชิวๆ
+1 สิ่งหนึ่งที่ลืมคิดไป
ผมเป็นคนที่ใช้ Pack เสริมไปหลายหนแล้ว ปริมาณ Package เพิ่มพุ่ง
Coder | Designer | Thinker | Blogger
งงว่าทำไม True ขาดทุนตลอดเลย ดูก็ขายดีอยู่นะ
True เป็นบริษัทที่มีหนี้สินเงินกู้ยืมเยอะครับเมื่อเทียบกับ AIS, dtac ส่งผลให้มีกำไรเท่าไหร่ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ก่อน แล้วแทบทุกครั้งกำไรเท่าไหร่ก็จ่ายดอกเบี้ยหมดหรือจ่ายเกินอีกจนขาดทุนครับ